ย้อนรอยการนิเทศการศึกษา


       ย้อนรอยเมื่อปี พ.ศ.2495 กรมวิสามัญศึกษาตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา จึงได้จัดอบรมครูเก่งๆเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำและปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2495 – 14 มกราคม 2496 เรียกการอบรมครั้งนี้ว่า “การอบรมศึกษานิเทศก์” ณ โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย หลังฝึกอบรมได้ไปฝึกปฏิบัติงานที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดสงขลา และในปี พ.ศ.2496 ได้กำหนดตำแหน่งและแต่งตั้ง “ศึกษานิเทศก์”ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังเคยกล่าวมาแล้วนั้น
วันเวลาผ่านมา ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องการนิเทศการศึกษาและ ศึกษานิเทศก์หลายครั้ง ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและการทำงานของศึกษานิเทศก์แบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินก็ในปี พ.ศ.2546 ที่ศึกษานิเทศก์ต้องไปอยู่เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด จนถึง พ.ศ.2560 ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารอีกครั้ง ให้มีศึกษานิเทศก์ทั้งส่วนกลาง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ประถม-มัธยม)
จากปี พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน มีศึกษานิเทศก์เกิดขึ้นและทยอยเกษียณอายุราชการ แล้วก็จากโลกนี้ไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ผมเองที่เคยคิดว่ายังหนุ่มแน่น ทำงานสนุก ก็เกษียณอายุราชการมาหลายปี ยุคสมัย นโยบายทางการศึกษา บริบทต่างๆเปลี่ยนไป แต่ด้วยความรัก ความห่วงใยและปรารถนาดีต่องานนิเทศการศึกษา ของคนเกษียณราชการอย่างผม เลยพยายามย้อนรอยสืบค้นเรื่องราว ประวัติ และความดีงามของศึกษานิเทศก์รุ่นเก่าๆมาเล่าให้น้องๆรุ่นหลังได้รับรู้ ว่าอดีตศึกษานิเทศก์ รุ่นปู่ รุ่นย่า รุ่นตา รุ่นยาย เขาทำงานกันยังไง ไม่ต้องการให้เอาอย่างทั้งหมด เพราะวันเวลา ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่อยากให้เลือกเอาเยี่ยง ในเรื่องที่ดีไม่มีวันตาย มาเทียบเคียงปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทในยุคปัจจุบัน ... แม้ยุคนี้เทคโนโลยีจะรุดหน้าก้าวไกลไปมากแล้ว แต่วิธีสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ด้วยวิธีโบร่ำโบราณ ก็ยังขลังและฉมังพอจะใช้ได้อยู่มิใช่หรือ
ก่อนหน้านี้ผมได้บันทึกย้อนรอย อดีตศึกษานิเทศก์ไปแล้วหลายท่าน ทยอยตีพิมพ์ในวารสารวิทยาจารย์อย่างต่อเนื่อง เช่น ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ หม่อมหลวงบุญเหลือ กุญชร(เทพยสุวรรณ) ดร.สาย ภาณุรัตน์ ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ดร.อาคม จันทสุนทร และนายวินัย เกษมเศรษฐ เป็นต้น

       เกษียณแล้วพอมีเวลาว่าง เลยไปสืบค้นรายชื่ออดีตศึกษานิเทศก์จากบัญชีผู้สอบ ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครู(ครูมูล, ป.ป.,ป.ม.) จากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ต่างๆในแต่ละปี ตั้งแต่ปีที่ 1 พ.ศ.2437 เป็นต้นมา และจากหนังสือประวัติครูของคุรุสภาแต่ละปี ได้รายชื่ออดีตศึกษานิเทศก์ มาให้คนรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน ได้ย้อนรอยกันอีกหลายท่าน(ที่จริงคงมีมากกว่านี้อีก) เช่น
1)นายสมาน แสงมลิ 2)หลวงนนทพิทย์พิลาศ(สิน โรจนสมิต) 3)ขุนชำนิอนุสาสน์(เส่ง เลาหะจินดา) 4)นางผจงวาด วายวานนท์(วาด คชเสนีย) 5)นางผดา ประภาวิวัฒน์(เนื่อง ฤทธาคนี) 6)นายเปลื้อง ณ นคร 7)นายจรัส จันทร์สุคนธ์ 8)นายฉลอง ศรีจันทร์ 9)นายเดี่ยน ศรีวิโรจน์ 10)นายเวียน โสมกุล 11)นายขวัญ จันทนปุ่ม 12)นายคณิต พุทธิรัตน์(ทองดี แก้วจีน) 13)นางเสนาะจิต สุวรรณโพธิ์ศรี (เสนาะจิต เทพหัสดิน ณ อยุธยา) 14)นายถวิล สุริยนต์ 15)นายแนบ บุญสิทธิ 16) นางสาวเศวต จึงเจริญ 17)นางประยูรสิริ เปรมบุตร 18)นางปราณี พุกภักดี 19)นางสาวรองรัตน์ อิศรภักดี 20)นางนิตยา จุฑามาตย์ 21)นางเย็นจิต ฉายทองคำ(เย็นจิต ณ ตะกั่วทุ่ง) 22)นายประพันธ์ คูหามุกต์ 23)นายเนย วงศ์อุทม 24)นายธวัช วิจิตรภาพ 25)นายปลองพล อินทพันธุ์ 26)นายอมร ฤาชา 27)นายวิบูลย์ เภาวิเศษ 28)นางสาวถวิลวดี โชชัย 29)นางจงกล วิทยาวิกรณศักดิ์ 30)นายสมัย ทิพย์ธารา 31)นางอุไรกาญจน์ แสนสุข(อุไร ศรีหิรัญ) 32)นางสุมนา คำทอง 33)นางบุญชื่น ทองอยู่ 34)นางรัชนี ศรีไพรวรรณ 35)นายนิรันดร์ นวมารค 36)ศาสตราจารย์เกหลง ปภาวสิทธิ์ 37)นางดุษณี แก้วกำเนิด 38)นายจรูญ เอกอินทร์ 39)นายจันทรโชติ รอดโพธิ์ทอง 40)รองศาสตราจารย์บรรเทา กิตติศักดิ์ 41)นายแผ้ว พัฒนวิบท 42)ดร.โสภี วงศ์ทองเหลือ 43)นางจุฑามาศ สุวรรณโครธ 44)ดร.ดนัย ดิษยบุตร 45)นายประสงค์ พวงดอกไม้ 46)ดร.เรือง เจริญชัย 47)นางลออศรี ชุมวรชาติ 48)ร.อ.สมมาศ ศรีนพคุณ 49)นายชัยวัฒน์ ตระกูลสุนทร 50)ดร.สมจิตร สร้อยสุริยา 51)นายบัญญัติ บูรณะหิรัญ เป็นต้น


หมายเลขบันทึก: 631122เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2017 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2020 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท