ความสงบมี 2 อย่างคือ สงบทางกาย กับสงบทางใจ
สงบทางกายคือการได้อยู่ในที่เงียบๆ การได้อยู่กับธรรมชาติที่สงบ หรือการได้อยู่ในห้องที่ไม่มีเสียงรบกวน
สงบทางใจคือ ภาวะที่ใจไม่ฟุ้งซ่าน ภาวะที่ใจไม่ถูกบีบคั้น เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับความเครียด เป็นภาวะที่ใจเบาสบาย
สงบทางใจนี้เป็นภาวะที่มีประโยชน์ เป็นสภาวะที่สมองและร่างกายได้รับการพักผ่อนและซ่อมแซมตัวเอง
สงบทางใจนี้บางทีก็ไม่เกี่ยวกับความสงบทางกาย คือแม้ว่าอาจจะอยู่ในที่มีผู้คนมากมาย หรือมีเสียงดัง ความสงบทางใจก็อาจเกิดขึ้นได้
มีเรื่องเล่าว่าหลวงปู่บุดดาท่านได้รับกิจนิมนต์ไปที่กรุงเทพฯ หลวงปู่อายุมากแล้วลูกศิษย์จึงจัดห้องให้ท่านพักอยู่เงียบๆ บรรดาลูกศิษย์ก็นั่งเฝ้ากันอยู่หลายคนโดยไม่มีใครส่งเสียงดัง สักพักก็ได้ยินเสียงเกี๊ยะดังกระทบพื้นเป็นระยะมาจากห้องข้างๆ ศิษย์คนหนึ่งรู้สึกรำคาญจึงบ่นขึ้นมาเบาๆว่า “แหม ไม่เกรงใจกันเลย เดินกระทบพื้นเสียงดังจัง” หลวงปู่ซึ่งนั่งเอนกายหลับตาอยู่จึงพูดขึ้นมาว่า “เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ โยมเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาทำไม......”
หลวงปู่บอกอะไรกับลูกศิษย์ของท่าน ท่านต้องการบอกว่า ความสงบนั้นไม่ได้อยู่ที่ภายนอก ความสงบนั้นอยู่ที่ใจ ถ้าหากรอบกายไม่สงบก็ไม่เป็นไร สร้างความสงบได้ที่ใจของเรานี่เอง
วิธีสร้างความสงบในใจทำได้ง่ายๆคือการรู้ทันความคิด ความคิดมีประโยชน์ก็จริงอยู่แต่บางทีความคิดก็ให้โทษได้เช่นกัน ให้โทษก็คือว่าเวลามันคิดไม่หยุด เหมือนม้าที่ทะยานออกจากคอกวิ่งเตลิดไปห้ามไม่อยู่ ความคิดที่มากเกินไปอาจทำให้เรานอนไม่หลับ หรือทำให้เราต้องไปหาหมอ
การรู้ทันความคิดไม่ได้หมายถึงการรู้ว่าจิตคิดเรื่องอะไร คิดถึงใคร แต่หมายถึงการรู้ว่าจิตกำลังคิด เท่านี้เองจิตจะมีความสงบแทรกเข้ามาทีละเล็กน้อย รู้ทันความคิดบ่อยๆความสงบจะเพิ่มขึ้นๆเอง เพราะขณะที่รู้ จิตจะไม่คิด หากเรารู้ทีละขณะ จิตก็จะหยุดคิดทีละขณะเช่นกัน คิดแล้วรู้....ๆ......ๆ..... คิดใหม่ก็รู้ใหม่.... ทำเช่นนี้ให้ต่อเนื่องในยามที่เราต้องการความสงบ
ภาวะที่จิตหยุดคิดนี้คือสภาวะที่ว่าง สงบ คือสงบจากความคิด และเมื่อจิตสงบจากความคิด ความสุขก็แทรกขึ้นมาเป็นอัตโนมัติ เป็นความสุขแผ่วๆ เบาๆ โชยขึ้นมาโดยที่เรารับรู้ได้ด้วยตนเอง
ไม่มีความเห็น