การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 7 : คุณภาพการศึกษา


การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 7 : คุณภาพการศึกษา

13 กรกฎาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

 

นโยบายนายกรัฐมนตรีปฏิรูปการศึกษา “มั่นคง มั่งคง ยั่งยืน

จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดแนวทางในการปฏิรูปด้านการศึกษาว่า รัฐต้องลงไปดูแลเด็กตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ ถึงอนุบาล โดยให้เป็นภารกิจของท้องถิ่นเวลา 2 ปีในการวางแผนการปฏิรูป [2] ตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของนายกรัฐมนตรีใน 8 ประเด็น [3] ได้แก่ (1) พัฒนาคุณภาพผู้เรียนและส่งเสริมการเรียนรู้ (2) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และยกระดับมาตรฐานการศึกษา (3) ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ (4) พัฒนาครู (5) ผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ (6) เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (7) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (8) ส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในวงการการศึกษา 

 

ปรัชญาการถ่ายโอนภารกิจหรือการกระจายอำนาจ

เชิงชาญ จงสมชัย (2558) [4] ได้สรุปทิศทางการปฏิรูปการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นหลังการรัฐประหาร 2557 ว่า การกระจายอำนาจที่ผ่านมาของไทยเป็น (1) การกระจายอำนาจตามแนวคิด “กระแสหลัก” ที่เน้นความสำคัญของรัฐมาโดยตลอดส่งผลให้เกิดการปกครองท้องถิ่น “แบบรัฐกิจ” ที่เน้นไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐจัดตั้งขึ้นเป็นกลไกหลักในการบริหารงานของท้องถิ่นมากกว่าการเน้นไปที่ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่น และ (2) การกระจายอำนาจตามแนวคิด “กระแสรอง” เป็นการปกครองท้องถิ่น “แบบประชากิจ” ที่เน้นความสำคัญของท้องถิ่นการให้ความสำคัญในอำนาจของท้องถิ่นในการตัดสินใจในอนาคตของตนเองได้อย่างมีอิสระเน้นว่าเป็น”การกระจายอำนาจที่แท้จริง”แนวคิดกระแสนี้เชื่อว่าอำนาจการปกครองนั้นเป็นของท้องถิ่นหรือของชุมชนมาแต่ดั้งเดิมแต่ต้องมาถูกรัฐยึดเอาไปรวมกันไว้ที่ส่วนกลางในอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้วอำนาจที่รวมอยู่ที่ศูนย์กลางก็ควรกระจายกลับคืนให้แก่เจ้าของอำนาจเดิมคือท้องถิ่นหรือชุมชนดังนั้นท้องถิ่นหรือชุมชนควรมีอำนาจในการตัดสินใจในอนาคตของตนเองมีอำนาจในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำกิจกรรมสาธารณะใดๆที่กระทบต่อท้องถิ่นหรือชุมชน

 

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้นเหตุคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ

มีอาจารย์ชาวต่างชาติได้เขียนบทความจากประสบการณ์วิพากษ์มาแต่ปี 2008 (พ.ศ. 2551) ว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นหนึ่งในระบบการศึกษาที่ล้มเหลวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตกต่ำลงทุกปี [5] มาถึงบัดนี้ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการศึกษาประเด็นที่ถกเถียงกันมานานที่ต้องหยิบยกก็คือ “ความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา” [6] ที่มีนัยยะว่า การจัดการศึกษาของไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำที่หลากหลาย ที่ส่งผลถึงมาตรฐาน หรือ “คุณภาพการศึกษา” ของประเทศที่แตกต่างกัน

ในแง่ของ “มิติคุณภาพการศึกษา” นั้น หากจะกล่าวกันตรง ๆ ก็คือ ทำอย่างไรให้ สถานศึกษา หรือ รร. ทุกแห่ง มีสภาพที่เหมือน ๆ กัน ไม่มีความแตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใด ๆ ในเชิงบริหาร เช่น เรื่องบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การบริหารจัดการ ซึ่งจะส่งผลให้การศึกษามี “คุณภาพที่ไม่แตกต่างกันหรือเหมือนกัน” นั่นเองประเทศไทยใช้งบประมาณทางด้านการศึกษามากถึงหนึ่งในสี่ของงบประมาณประจำปี แม้ว่าการลงทุนกับการศึกษาเป็นอะไรที่คุ้มค่าที่สุดก็ตาม แต่การศึกษาไทยเมื่อเปรียบคุณภาพกับต่างประเทศยังถือว่าล้าหลังกว่าประเทศที่ใช้งบประมาณการศึกษาในสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศไทย ยิ่งคุณภาพการศึกษาหากจะเปรียบเทียบกันในระหว่างสถานศึกษาภายในประเทศก็ยังแตกต่างกัน

และเมื่อกล่าวถึง “คุณภาพการศึกษา” จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ท้องถิ่นต้องเข้าเกี่ยวข้อง เพราะว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) มีหน้าที่จัดการศึกษาตามกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งประเด็นปัญหาประการสำคัญที่เป็นผลมาจาก “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ก็คือเรื่อง “คุณภาพการศึกษา” นั่นเอง นอกจากนี้สถานศึกษาและ รร. อปท. มีหลายประเด็นที่น่าศึกษา โดยมีบริบทที่แตกต่างไปจาก สถานศึกษาหรือ รร. ที่สังกัดหน่วยงานอื่น อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.), มหาวิทยาลัย หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 

 

ข้อเสนอของนักการศึกษา

          ในภาพรวมการศึกษาทั้งหมด ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นักการศึกษากล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดคือ “คุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ” มีเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันจำนวน เพิ่มมากขึ้น เด็กและเยาวชนที่ผ่านการศึกษาในระบบขาดทักษะ ชีวิตขาดคุณธรรม และขาดจิตอาสามีชีวิตที่อยู่บนความเสี่ยง [7]

สนิท จรอนันต์ เสนอควรปรับแผนปฏิบัติการโดยให้ อปท. ทุกระดับร่วมกันบริหาร และจัดการศึกษาในรูปแบบสหการ โดยกระบวน “การถ่ายโอนการศึกษา” ที่จะเกิดประสิทธิภาพเร็วที่สุดมี 2 ขั้นตอนคือ (1) ให้ อปท. ร่วมกันบริหารและจัดการศึกษาใน “รูปสหการ”คือ “ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ไม่ว่าชุมชนเมืองหรือชุมชนท้องถิ่นจะต้องเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นจาก อปท. ที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือครู ซึ่งเป็นผู้ผลักดันในการสร้างคน และส่วนอื่นๆ ของสังคม ที่จะเป็นตัวหล่อหลอมคนในสังคมท้องถิ่น” โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดขึ้นเป็นองค์กรหลักในลักษณะไตรภาคี ประกอบด้วย อบจ. อปท. และเทศบาล โดยยึดเขตพื้นที่การศึกษาเป็นหน่วยในการบริหารและจัดการศึกษา (2) ภายหลังการดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1 ให้ยึดเขตจังหวัดเป็นหน่วยในการบริหารและจัดการศึกษาของ อปท. และกำหนดให้การจัดการศึกษาในระบบเป็นภารกิจของ อบจ. เพียงองค์กรเดียว นอกจากนี้ควรมีการจัดภารกิจใหม่ โดยในส่วนของ อบจ. ควรจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุปริญญาลงมา และ ในระดับ อบต. และเทศบาล ควรดูแลรับผิดชอบในการจัดการศึกษา โดยมีข้อเสนอจากการเสวนา 2 ประการ คือ  (1) ท้องถิ่นควรร่วมมือกันแก้ปัญหาท้องถิ่น ลดการพึ่งพาจากส่วนกลาง (ภาครัฐและภายนอก) เพื่อที่ท้องถิ่นจะทำงานตรงกับความต้องการของตนเองได้อย่างเหมาะสมและ (2) การศึกษาในท้องถิ่นต้องปลูกฝังทัศนคติให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิต สร้างความรู้ และจัดการความรู้ได้จากที่มีอยู่ในท้องถิ่น [8]

 

การจัดการศึกษาปฐมวัยที่เหลื่อมล้ำสับสน

ล่าสุดข่าวการจัดการศึกษาปฐมวัยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็ก 3 ขวบที่มีอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าคนซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งเวียนซักซ้อมแนวทางการจัดการศึกษาให้ อปท. โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) สามารถจัดการเรียนการสอนเด็กปฐมวัยอายุ 2-5 ปี [9] แม้ว่าในความเห็นของนักการศึกษาเห็นว่าไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 [10] นอกจากนี้โรงเรียนเอกชนได้โวยว่า [11] โรงเรียน สพฐ.ไม่ทำตามกติการับเด็กก่อนวัยเรียน 3 ขวบ ซ้ำซ้อนกับที่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)และ อปท. ได้จัดอยู่ก่อนแล้วแม้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะสรุปว่าต้องเป็นความร่วมมือระดับจังหวัดมี ศธจ.เป็นหลักในการประสานงาน และจัดสรรการรับเด็กด้วย  ตามแนวปฏิบัติการรับนักเรียนอนุบาล 3 ปีเข้าศึกษาปีการศึกษา 2560 โดย “แบ่งโซนการรับเน้นให้ท้องถิ่นดำเนินการ และ สพฐ.เข้าไปเสริมในส่วนที่ไม่มีหน่วยงานใดจัด” และ จะพยายามรักษาสัดส่วนการรับเดิมไว้ เช่น อปท.จัดการศึกษาระดับอายุ 1-3 ขวบก็จะไม่ขยายมาจัดระดับอายุ 4 ขวบ เว้นแต่เป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมอย่างมาก ขณะที่ สพฐ.ก็จะไม่ขยายชั้นเรียนระดับอายุ 3 ขวบ นอกจากพื้นที่ที่ไม่มีสถานศึกษาของ อปท. หรือ สช.จัดการศึกษาระดับอายุ 3 ขวบ หรือพื้นที่นั้นมีเด็กอายุ 3 ขวบมากเกินกว่าที่ สช.และ อปท.จะรับได้

ความพยายามจัดมาตรฐานการศึกษาเด็กปฐมวัย ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) แม้จะมิใช่การศึกษาในระบบ รร. มิใช่สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เป็นการศึกษานอกระบบ ที่มีประมาณ 20,000 แห่งทั่วประเทศ (เกือบทั้งหมดสังกัด อปท.) โดยนำกรอบมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งชาติมาบังคับใช้และประเมินมาตรฐานใน 5 ด้าน 10 มาตรฐานย่อย และ 32 ตัวบ่งชี้ มีมาแต่ครั้งสมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ [12]

ถึงปัจจุบันการประเมินคุณภาพสถานศึกษา ในแต่ละสังกัด ทั้งก่อนวัยเรียน ระดับการศึกษาขั้น พื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาจะไม่มีการประเมินเพื่อรับรองหรือไม่รับรองคุณภาพสถานศึกษา แต่จะเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในการประเมินจะดำเนินการตามกรอบมาตรฐานที่ตกลงร่วมกันระหว่าง ศธ.กับ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งจะเป็นกรอบมาตรฐานกว้างๆ และให้สถานศึกษาแต่ละสังกัดไปจัดทำรายละเอียดการประเมินของตนเอง สรุปต่อไปจะไม่มีมาตรฐานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของแต่ละสังกัดอีกแล้ว จะมีเพียงมาตรฐานเดียวที่ ศธ.และ สมศ.เห็นชอบร่วมกัน [13]

 

ว่ากันว่าการจัดการศึกษาในท้องถิ่น ถือเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องจัดทำ “ยุทธศาสตร์” ให้ได้ เพราะ “ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น” ก็คือ “ยุทธศาสตร์ประเทศ” นอกจากนี้ ฤทธิอานุภาพของการศึกษานั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างประเทศท่านหนึ่งได้เปรียบว่า “... การลดคุณภาพการศึกษา เป็นความล้มเหลวที่หมายถึงการล่มสลายของชาติได้...” [14]

 

นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงพฤติกรรมการบริหารการศึกษาในทางทุจริตคอร์รัปชั่นอื่น ที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การโกงข้อสอบ, การซื้อขายประมูลตำแหน่งรวมถึงการโยกย้ายที่แลกผลประโยชน์ฯ, การรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ หรือ เงินใต้โต๊ะ หรือ การรับเงินกินเปล่าจากผู้ปกครองด้วยวงเงินมหาศาลถึงสี่หมื่นล้านบาทต่อปี [15] เหล่านี้เป็นรากเหง้าของปัญหาที่ส่งผลถึงคุณภาพการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก หากคิดจะปฏิรูปการศึกษาก็คงไม่สายเกินกว่าที่จะแก้

 

 

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Arnon Changchai, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 44วันศุกร์ที่ 14วันพฤหัสบดีที่ 20กรกฎาคม2560, หน้า 66

[2]มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี  ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน

ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

มาตรา 57 รัฐต้อง

(1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู  และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ  วัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

...

มาตรา 261 ในการปฏิรูปตามมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

[3]นโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา), 30 พฤษภาคม 2559, รักครู.com, http://www.xn--12cg5gc1e7b.com/5468

[4]เชิงชาญ จงสมชัย, ทิศทางการปฏิรูปการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นหลังการรัฐประหาร2557, วารสารสังคมศาสตร์ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย.2558) หน้า 29-51, www.socsci.nu.ac.th/jssnu/file...

[5]ระบบการศึกษาไทย ความล้มเหลวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จาก CNN iReport เก่าแล้ว ปี 2008 (พ.ศ. 2551) แต่นำมาโพสต์ใหม่ปี 2013 (พ.ศ. 2556) ดูได้ ... Education System in Thailand: A Terrible Failure in S.E. Asia, By Sivarnee, Posted June 8, 2013, Bangkok, Thailand, เป็นข้อเขียนจากประสบการณ์ของอาจารย์ชาวต่างชาติ คาสซานดรา เจมส์ เขียนขึ้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2008 บริบท เหตุการณ์ นโยบายต่างๆในการวิจารณ์คือช่วงเวลานั้น นำเสนออีกครั้งผ่าน iReport ของเว็บไซต์ CNN (ซึ่งเป็นการนำเสนอบทความโดยบล็อกเกอร์บุคคลทั่วไป) เมื่อ 8 มิถุนายน 2013 ถ่ายทอดและสรุปเป็นภาษาไทยโดย New Culture, http://ireport.cnn.com/docs/DOC-985267     

[6]รองศาสตราจารย์ ดร. เปรื่อง กิจรัตน์ภร, ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย : ที่มาและทางออก, บรรยาย ยกเครื่องการศึกษาไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต 23 กุมภาพันธ์ 2555,  

http://rajabhatnetwork.com/upl...ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย.pdf  

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาจาก 2 แหล่งคือ (1) ความเหลื่อมล้ำจากสภาพทางสังคมไทย (2) ความเหลื่อมล้ำจากการจัดการศึกษาชาติ

ความเหลื่อมล้ำจากการจัดการศึกษาชาติ การบริหารจัดการศึกษาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมต่อการศึกษาของชาติโดยตรง ใน 3 ประเด็น ดังนี้ (1) การจัดสรรงบประมาณและกำลังคนทางการศึกษา (2) การจัดสรรอัตราครูและบุคลากรทางการศึกษา (3) ระบบการประเมินคุณภาพการศึกษา

& การศึกษาไทยในยุค 4.0: FULL EP, ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล และ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ, รายการ Big Dose ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2560, http://shows.voicetv.co.th/bigdose/493441.html 

การศึกษาไทยจะพัฒนาต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนชนบทและเมือง ส่วนเด็กไทยต้องสอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ เลิกได้แล้วกับการสอนให้ท่อง

[7]ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศไทย, Ravin  Thomya UPLOADED BY Ravin Thomya 185 หน้า, 2555, http://www.academia.edu/5792922/ปฏิรูปการศึกษา_ปฏิรูปประเทศไทย

[8]ในการเสวนาทิศทางการกระจายอำนาจที่จังหวัดเชียงราย และกาฬสินธุ์ เมื่อ 14 สิงหาคม 2552 และ 18 สิงหาคม 2552  ดู ใน การปฏิรูปการศึกษาในมุมมองของโรงเรียน อปท., Siam Intelligence, 26 พ.ค. 2557, www.siamintelligence.com/local... & การจัดการศึกษาในท้องถิ่น, http://www.fpps.or.th/news.php...

[9]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.4/ ว 1320 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการจัดการศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2017/7/18411_1_1499153393452.pdf?time=1499866265686

ข้อมูล : ปี 2559 มีคนเกิด 704,058 คน 

[10]ขัดกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1 พฤษภาคม 2546 หน้า 23  เพราะ ศพด. ไม่ใช่สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ ศพด. เป็นสถานศึกษาตามความในมาตรา 4 ของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบริหารจัดการศึกษาปฐมวัย ตามมาตรา 18 (1) ในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ตามความในมาตรา 15 (2) เมื่อ ศพด. ไม่ใช่สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้วไปรับเด็ก 3-5 ขวบ ซึ่งจัดเป็นเด็กปฐมวัยที่จะต้องได้รับการศึกษาในระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ1 (1) นั้น ย่อมเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ  

[11]จัดอนุบาล3ขวบยังเคลียร์ไม่ลงตัว, ข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2560, http://www.kroobannok.com/8226... 

[12]คกก.พัฒนาเด็กปฐมวัย ผุดกรอบ TQF วัดมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กทั้งประเทศ, 4 พฤศจิกายน 2552, www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000132509   

[13]จริงไหม... ประเมินสถานศึกษารอบ 4 ต.ค.นี้ โละรับรอง-ไม่รับรอง” -เน้นเพื่อพัฒนา เตรียมยกเลิก ประกันคุณภาพภายใน”, 7 กรกฎาคม 2560, http://www.kroobannok.com/82405   

[14]ไม่ต้องใช้อาวุธชาติก็ล่มจมได้ แค่!ลดคุณภาพการศึกษา ข้อคิดจากอ.มหาลัยในแอฟริกาใต้, 3 มิถุนายน 2560, http://www.winnews.tv/news/16101  &  http://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=angelonia17&month=06-2017&date=03&group=46&gblog=18  

[15]เปิดวงจรอุบาทว์เงินใต้โต๊ะ บ่อนทำลายการศึกษาไทยเรื่องโดย ทีมข่าวชั่วโมงสืบสวน, Nation TV - เว็บไซต์สถานีข่าวอันดับ 1 ของเมืองไทย, 8 กรกฎาคม 2560, 20:09 น.  http://www.nationtv.tv/main/program/Investigation-hour/378555799/

หมายเลขบันทึก: 631011เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2017 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2017 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Thank you for this very informing article.

May I ask for your thoughts on the possibility of having 'police' under local administration (as speculated in the media) as a part of Police Reform (for Thailand 4.0)?

Thanks for your opinion. I really think so that. Because Police reform and Education reform are the highlight  issue of the 2017's Constitution. See Section 258, 260, 261.

Section 260 is the Justice Process reform. 

The revision of laws within one year as from the date of promulgation of the Constitution.

Section 261 is the Educational Structure reform. 

By establish an independent committee and the committee shall complete its studies, recommendations and draft laws and present to the Council of Ministers within two years as from the date of its appointment.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท