วันเข้าพรรษา


วันเข้าพรรษา

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต ๔

ความเป็นมาของการเข้าพรรษา

มีเรื่องเล่าว่า ในประเทศอินเดียในสมัยโบราณ เมื่อถึงฤดูฝน น้ำมักท่วม ผู้ที่สัญจรไปมา ระหว่างเมือง เช่น พวกพ่อค้า ก็หยุดเดินทางไปมาชั่วคราว พวกเดียรถีย์ และปริพาชก ผู้ถือลัทธิต่าง ๆ ก็หยุดพัก ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดฤดูฝนทั้งนี้เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทางเป็นหลุมเป็นโคลน เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จจาริก เผยแพร่ พระศาสนาต่อไป นับเป็น
พุทธจริยาวัตรและในตอนแรกที่ยังมีพระภิกขุสงฆ์ไม่มาก พระภิกษุ สงฆ์ปฏิบัติประพฤติตาม
พระพุทธเจ้า ความครหา นินทาใด ๆ ก็ไม่เกิดมีขึ้น จึง ไม่ต้องทรงตั้งบัญญัติพิธีอยู่จำพรรษา

ครั้นพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปกว้าง พระภิกขุสงฆ์ได้เพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้น วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีพระภิกษุ ๖ รูป ฉัพพัคคีย์ แม้เมื่อถึงฤดูฝน ก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าวิบัติเสียหาย และสัตว์เล็กสัตว์น้อย ให้เกิดความเสียหาย และตายไป ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า ไฉนพระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ ตลอดจนทั้งสัตว์มากหลายตายจำนวนมาก แม้พวกเดียรถีย์และปริพาชก ก็ยังหยุดพักในฤดูฝน หรือจนแม้แต่นกก็ยังรู้จักทำรัง เพื่อพักหลบฝน

อาจเป็นไปได้ว่า พระภิกษุรูปอื่น นอกจากพวกฉัพพัคคีย์ ก็อาจจะมีบ้าง ที่ไม่ได้หยุดการจาริกในพรรษา แต่จะหมายความว่า พระภิกษุเหล่านั้น ท่านจะเผลอไผลไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านโดยไม่รู้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความที่ว่า พากันเหยียบย่ำ ข้าวกล้าของชาวบ้าน เป็นสำนวนพูด ซึ่งหมายถึง หากพระภิกษุเที่ยวจาริกไปที่ไหน ชาวบ้านที่มีศรัทธา ก็จะต้องมาคอยถวาย ความอุปถัมภ์ ทำให้ไม่สามารถจะดูแลพืชผล เรือกสวนไร่นา ได้อย่างเต็มที่ ในฤดูฝน จึงเหมือนกับ ทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่ดีนัก จึงเป็นเหมือนกับว่า พระภิกษุเดินเหยียบย่ำข้าวกล้า

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ได้ทราบถึงพระกรรณของพระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้ประชุมสงฆ์ มีพุทธบัญญัติ ว่า ให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียว ตลอด ๓ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ห้ามมิให้ พระภิกษุ เที่ยวไปค้างคืนที่อื่น หากมีธุระอันชอบด้วยพระวินัย จึงไปได้ด้วยการทำสัตตาหกรณียะ คือต้องกลับมา ที่พักเดิมภายใน ๗ วัน นอกจากนั้นห้ามเด็ดขาด และปรับอาณัติแก่ผู้ฝ่าฝืนล่วงละเมิดพระบัญญัติพิธีการปฏิบัติในวันเข้าพรรษา มีความเป็นมา ดังกล่าวนี้

ความหมายวันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา (บาลี: วสฺส, สันสกฤต: วรฺษ, อังกฤษ: Vassa, เขมร: វស្សា, พม่า: ဝါဆို) เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา ๓ เดือนตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือภาษาปากว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่)

การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง พระสงฆ์จะไม่จำพรรษาไม่ได้ เนื่องจากรูปใดไม่จำพรรษาถือว่าต้องอาบัติทุกกฎตามพระวินัย

การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี (หรือเดือน ๘ หลัง ถ้ามีเดือน ๘ สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด ๓ เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง ๓ เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฎก) แด่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (๒๐ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง ๓ เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐบาลได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย

การปฏิบัติตนของชาวพุทธในช่วงเข้าพรรษา

ในช่วงเข้าพรรษา พระเก่าพระใหม่ ท่านอยู่กันพร้อมหน้า เมื่ออยู่พร้อมหน้ากันอย่างนี้ ก็เป็นโชคดีของญาติโยม ที่มีเนื้อนาบุญอยู่กันพร้อมหน้า ญาติโยมตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด ท่านไม่ปล่อยให้พระเข้าพรรษาเพียงลำพัง ญาติโยมก็พลอยเข้าพรรษาไปด้วยเหมือนกัน แต่ว่าเข้าพรรษาของญาติโยมนั้น เข้าพรรษาด้วยการอธิษฐานจิต

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา

๑. ละชั่ว

๒. ทำดี

๓. กลั่นใจให้ผ่องใส

เมื่อพระอยู่จำพรรษา ท่านก็มีหน้าที่ของท่านว่า ละชั่ว คำ ว่า ละชั่วของพระนั้น ไม่ใช่ ชั่ว หยาบๆอย่างที่มนุษย์เป็นกัน แต่ว่าละชั่วของท่านในที่นี้หมายถึงละกิเลส ซึ่งแม้ในเรื่องนั้นโดยทางโลกแล้ว มองไม่ออกหรอกว่ามันเป็นความชั่ว ความไม่ดี เช่น มีจิตใจฟุ้งซ่าน ความจริงก็อยู่ในใจของท่าน คนอื่นมองไม่เห็น ถึงขนาดนั้น ท่านก็พยายามจะละความฟุ้งซ่านของท่านให้ได้ ด้วยการเจริญภาวนา หรือทำสมาธิให้ยิ่ง ๆขึ้นไป เป็นต้น ท่านก็ละกิเลสหรือละชั่วที่ละเอียดๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สมกับภูมิแห่งความเป็นพระของท่าน

ความสำคัญของวันเข้าพรรษา

ความดีท่านก็ทำให้ยิ่งๆ ขึ้น ตัวอย่างเช่น อยู่ที่วัดพระเก่าก็เทศน์อบรมให้พระใหม่ พระใหม่ก็ตั้งใจศึกษาให้เป็นความรู้ความดี เพิ่มพูนความดีให้กับตัวของท่านไป แล้วก็ทำใจให้ใส พร้อมๆ กัน ด้วยการสวดมนต์ภาวนา แต่เช้ามืด ท่านตื่นกันขึ้นมาตั้งแต่ตีสี่ ตื่นขึ้นมาสวดมนต์กันแต่เช้า เป็นต้น

สำหรับญาติโยมทั้งหลาย แต่โบราณ พอวันเข้าพรรษาก็อธิษฐานพรรษากันเหมือนกัน อธิษฐานอย่างไร อธิษฐานอย่างนี้ พรรษานี้ สามเดือนนี้ ที่รู้ว่าอะไรเป็นนิสัยที่ไม่ดีในตัวเองที่มีอยู่ ก็อธิษฐานเลย พรรษนี้ (เลือกมาอย่างน้อยหนึ่งข้อ) เราจะแก้ไขตัวเองให้ได้ เช่น บางคนเคยกินเหล้า เข้าพรรษาแล้วก็อธิษฐานว่า พรรษนี้เลิกเหล้า เลิกเหล้าให้เด็ดขาด บางคนเคยสูบบุหรี่ ก็อธิษฐานว่า อย่างน้อยพรรษานี้จะเลิกบุหรี่ให้เด็ดขาด เป็นต้น เขาก็มีการอธิษฐานกันในวันเข้าพรรษา พรรษานี้จะละความไม่ดีอะไรบ้าง ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ให้พยายามละกัน คือ ทำตามพระให้เต็มที่นั่นเองในระดับของประชาชน

สิ่งใดที่เป็นความดี ก็พยายามที่จะทำให้ยิ่งๆขึ้นไป เช่น เมื่อก่อนนี้ ก่อนจะเข้าพรรษา ตักบาตรบ้าง ไม่ตักบาตรบ้าง วันไหนมีโอกาสก็ทำ วันไหนชักจะขี้เกียจก็ไม่ทำ เมื่อพรรษานี้ พระอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาดีแล้ว ตั้งใจเลยที่จะตักบาตรให้ได้ทุกเช้า เมื่อก่อนไม่ทุกเช้า แค่วันเสาร์ วันอาทิตย์หรือวันโกนวันพระ พรรษานี้

พระอยู่พร้อมหน้า อธิษฐานเลย จะตักบาตรทุกเช้าตลอดสามเดือนนี้ที่เข้าพรรษา นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่ปู่ย่าตาทวดทำกัน

บางท่านก็ยิ่งกว่านั้น ธรรมดาเคยถือศีลห้าเป็นปกติอยู่แล้ว พรรษานี้เลยถือศีลแปดทุกวันพระไปเลย แถมจากศีลห้ายกขึ้นไปเป็นศีลแปด จากวันเข้าพรรษาบางท่านเคยถือศีลแปดทุกวันพระ ถืออุโบสถศีลมาทุกวันพระแล้ว เมื่อพรรษาที่แล้ว พรรษานี้ถือศีลแปด ถืออุโบสถศีล ทั้งวันโกนวันพระ เพิ่มเป็นสัปดาห์ละสองวัน บางท่านเก่งกว่านั้นขึ้นไปอีก พรรษานี้จะรักษาศีลแปด รักษาอุโบสถศีล กันตลอดสามเดือนเลย

ใครมีกุศลจิตศรัทธามากเพียงไหน ก็ทำให้ยิ่งๆขึ้นไปตามนั้น บางท่านยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ถึงกับอธิษฐานว่า พรรษานี้นอกจากถือศีลกันตลอด ถือศีลแปดกันตลอดพรรษาแล้วยังไม่พอ อธิษฐานที่จะทำสมาธิทุกวัน วันเข้าพรรษาทุกคืนก่อนนอนวันละหนึ่งชั่วโมง ใครที่ไม่เคยทำก็อธิษฐานจะทำสมาธิวันละหนึ่งชั่วโมง คืนละหนึ่งชั่วโมง บางท่านเพิ่มเป็นคืนละสองชั่วโมง สามชั่วโมง ก็ว่ากันไปตามกุศลศรัทธาอย่างนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ปู่ย่าตาทวดของเราทำกันมา

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากเกี่ยวกับวันเข้าพรรษาก็คือ เนื่องจากปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนไป ญาติโยมประชาชนส่วนมากหยุดงานกันวันเสาร์ วันอาทิตย์ แต่พระนั้น แต่เดิมก็เทศน์กันวันโกนวันพระเป็นหลัก เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ที่ไปฟังเทศน์ในวันโกนวันพระ

แต่เข้าพรรษานี้ ขอฝากหลวงพ่อ หลวงพี่ ด้วยก็แล้วกัน ถ้าจะเพิ่มวันเทศน์วันสอนธรรมะให้กับประชาชนในวันเสาร์-วันอาทิตย์ ซึ่งญาติโยมเขาหยุดงานกันอีกสักวันสองวันก็จะเป็นการดี แล้วก็ญาติโยมด้วยนะ รู้ว่าพระเทศน์วันโกนวันพระ แล้วครั้งนี้เข้าพรรษา ท่านแถมวันเสาร์-วันอาทิตย์ให้ด้วย อย่าลืมไปฟังท่านเทศน์ด้วยนะ ถ้าขยันกันอย่างนี้ มีแต่บุญกุศลกันตลอดทั้งพรรษาเลย แล้วความเจริญรุ่งเรืองทั้งตัวเอง ทั้งพระพุทธศาสนา ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ก็จะบังเกิดขึ้นตลอดปี ตลอดไป

ประเพณีการบวชช่วงเข้าพรรษา

ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะบวชในฤดูกาลไหน หรือจะบวชช่วงสั้น ช่วงยาวแค่ไหนก็ตาม มีวัตถุประสงค์ในการบวชเหมือนกัน คือ มุ่งที่จะกำจัดทุกข์ให้หมดไป แล้วก็ทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือ พูดกันภาษาชาวบ้านว่า มุ่งกำจัดกิเลสเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกันอีก

อย่างไรก็ตาม เมื่อบวชแล้ว ไม่ว่าบวชช่วงสั้นช่วงยาว ตั้งใจอย่างนี้ ทำตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างนี้เต็มที่ ไม่ว่าบวชช่วงไหนก็ได้บุญเท่าๆ กันทั้งนั้น อันนี้โดยหลักการ

แต่ว่าเอาจริงๆ เข้าแล้ว เนื่องจากเรานั้น ยังเป็นคนที่เข้ามาสู่ศาสนากันใหม่ๆ แล้วก็ยังต้องการสภาพที่เหมาะสมพิเศษๆ ในการที่จะศึกษาธรรมะ ในการที่จะขัดเกลาตัวเอง ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าได้บรรยากาศพิเศษๆขึ้นมา ก็จะช่วยให้การบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชนั้นง่ายขึ้นและดีขึ้น ปู่ย่าตาทวดของเราจึงได้เลือกแล้วว่า ฤดูเข้าพรรษาเป็นบรรยากาศพิเศษ เหมาะที่จะให้ลูกหลานของตัวเองจะเข้ามาบวช พิเศษอย่างไรในฤดูนี้

บวชช่วงเข้าพรรษาดีอย่างไร

ประการที่ ๑ ดินฟ้าอากาศเป็นใจ คือ ในฤดูร้อนของประเทศไทย เรารู้ๆ กันอยู่ว่า ถึงคราวร้อนก็ร้อนเหลือหลาย ร้อนจนกระทั่งแม้ในทางโลก เด็กนักเรียนก็ปิดเทอมกันภาคฤดูร้อน ฤดูร้อนเรียนกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อากาศมันร้อนหนัก เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็ปิดเรียน ในทางธรรมก็เช่นกัน ถ้าจะให้พระใหม่มาเรียนธรรมะในฤดูร้อนคงย่ำแย่

ในฤดูหนาวก็เช่นกัน สมัยเราเป็นเด็ก ไปโรงเรียนกันในฤดูหนาว เป็นเด็กนักเรียนก็ไปนั่งผิงไฟกันด้วยซ้ำ ไปนั่งงอก่องอขิงกัน บรรยากาศในการเรียนมันหย่อนๆ ไปเหมือนกัน ร้อนไปก็ไม่ดี หนาวไปก็ไม่ดี ฤดูที่ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เห็นมีอยู่ฤดูเดียวสำหรับประเทศไทย คือ ฤดูฝน หรือฤดูเข้าพรรษานั่นเอง เพราะฉะนั้นช่วงเข้าพรรษา ดินฟ้าอากาศมันพร้อม มันดีพร้อม มันเป็นใจ เหมาะแก่การศึกษาธรรมะ การค้นคว้าธรรมะ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ประการที่ ๒ ครูก็พร้อม เพราะว่าพระภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านถูกพระวินัยกำหนดแล้วว่า ห้ามไปไหน ต้องพักค้างอยู่ในวัดตลอดพรรษา ดังนั้น ครูบาอาจารย์จึงพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษานี้ เพราะฉะนั้นถ้าใครมาเป็นลูกศิษย์ ก็จะได้พบหน้าพระที่เป็นครูบาอาจารย์ทุกองค์เลย โอกาสจะได้รับการถ่ายทอดธรรมะจึงเต็มที่มากกว่าฤดูอื่น

ประการที่ ๓ เป็นเพณีนิยมกันแล้วว่าควรจะบวชในฤดูเข้าพรรษา เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าฤดูนี้ ดินฟ้าอากาศเป็นใจ ครูบาอาจารย์ คือ พระเก่าก็พร้อม ลูกศิษย์ คือ พระใหม่ก็พร้อมหน้าพร้อมตากันมาบวชในฤดูนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ความคึกคักในการเรียนมันก็มีความพร้อม

ประการที่ ๔ ได้ใช้เวลาศึกษาหลักธรรมอย่างจริงจัง ในส่วนของญาติโยม เมื่อลูกหลานมาบวช ญาติโยมก็เกิดความคึกคักเหมือนกันที่จะมาฟังเทศน์ด้วย เพราะว่ามาด้วยความห่วงพระลูกพระหลานของตัวเอง อีกทั้งยังนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญ มาเลี้ยงพระลูกพระหลาน แล้วก็เลยเลี้ยงกันไปทั้งวัดอีกด้วยและได้ร่วมกันเสวนาธรรม

กิจกรรมวันเข้าพรรษา

๑. การแห่เทียนพรรษา ประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่า สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันดังปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมาก ๆ ก็จะต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบคํ่า การศึกษาพระปริยัติธรรม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่าง โดยเฉพาะแสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัย และเพื่อต้องการใช้แสงสว่างโดยตรง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชน จึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ กะว่าจะจุดได้ตลอดเวลา ๓ เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ ๆ บ้าน เป็นพุทธบูชา เทียนดังกล่าวเรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา”

ก่อนจะนำเทียนไปถวายนี้ ชาวบ้านมักจัดเป็นขบวนแห่แหนกันไปอย่างเอิกเกริก สนุกสนาน เรียกว่า “ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา” ดังขอสรุป เนื้อหาจากหนังสือนางนพมาศดังนี้ เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ คํ่าทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้ว ก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถหอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้น ๆ ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม ในวัดราษฎร์ทั้งหลาย ก็มีพิธีทำนองนี้ทั่วพระราชอาณาจักร

ปัจจุบันประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษานี้ ยังถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปหลายจังหวัดที่ทำกันอย่างมีชื่อเสียง เช่น อุบลราชธานี นครราชสีมา เป็นต้น ถือให้เป็นประเพณีเด่นประจำจังหวัดตน ได้จัดประดับตกแต่งต้นเทียนใหญ่ๆ มีการประกวดแข่งขันแล้วแห่แหนไปถวายตามวัดต่าง ๆ

๒. ประเพณีถวายผ้าอาบนํ้าฝน

การถวายผ้าอาบนํ้าฝนนี้เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือ มหาอุบาสิกาชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระสงม์ได้มีผ้าอาบนํ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงนํ้าฝน ระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรก ที่ได้รับพุทธานุญาตให้ถวายผ้าอาบนํ้าฝนแด่พระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จึงนิยมนำผ้าอาบนํ้าฝน ไปถวายพระสงฆ์ผู้จะอยู่จำพรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็ยังคงปฏิบัติกิจกรรมอย่างนี้อยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลาประกอบพิธีถวายผ้าอาบนํ้าฝน (วัสสิกสาฎก) หรือผ้าจำนำพรรษาและเครื่องใช้อื่น ๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้านตน

๓. เข้าวัดปฏิบัติธรรม

ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัดถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่ว บำเพ็ญความดีและชำระจิตใจให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุนคุณความดีดังกล่าวก็คือ “วิรัติ” คำว่า “วิรัติ” หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จักเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป วิรัต การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออก ได้เป็น ๓ ประการ คือ

(๑) สัมปัตตวิรัติ

การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป (โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่มิได้สมาทานศีลไว้เลย เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ยอมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธ จะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา

(๒) สมาทานวิรัติ

การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหว หรือเอนเอียง

(๓) สมุจเฉทวิรัติ

การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้วแม้ออกพรรษาแล้ว ก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุรา และสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น

๔. กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว

(๑) ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักรจัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน

(๒). ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวได้ศึกษาเอกสารหรือสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของวันเข้าพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติในครอบครัว

(๓) สมาชิกในครอบครัว ปรึกษา หารือหาแนวทางในการป้องกันการแก้ปัญหาโดยใช้หลักธรรม วิรัติ ๓ และส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิก อบายมุขตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติเพื่อจะได้เป็นวิถีชีวิตของคนในครัวเรือนต่อไป

(๔) นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมเจริญภาวนา

๔. กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา

สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูนำนักเรียนนักเรียน

(๑) ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา

(๒) ร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันเข้าพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา

(๓) จัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม

(๔) จัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดี กับพฤติกรรมที่ไม่ดี และวางแผนพัฒนาพฤติกรรมของตน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาพฤติกรรมที่ดีให้มากขึ้น และลดพฤติกรรมที่ไม่ดีให้น้อยลง

(๕) ประกาศเกียรติคุณของนักเรียนที่ ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

(๖) ร่วมกิจกรรมกับชุมชน ที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทานรักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เจริญภาวนา

๕. กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน

(๑) ทำความ สะอาดบริเวณที่ทำงานประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา

(๒) ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันเข้าพรรษารวมทั้งหลักธรรม เรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงาน

(๓) จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม

(๔) ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต

(๕) หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม

(๖) จัดทำป้ายนิเทศเกี่ยวกับอุดมการณ์ในการทำงาน โดยมีเป้าหมายจะละเว้นการกระทำชั่วและส่งเสริมนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ช่วงเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ

๖. กิจธรรมเกี่ยว กับสังคม

(๑) วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชนประชาสัมพันธ์เรื่องวันเข้าพรรษา โดยใช้สื่อทุกรูปแบบและเชิญชวนให้บุคลากรในหน่วยงานได้สนองนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้วันเข้าพรรษาวันงดดื่มสุราแห่งชาติ

(๒) จัด พิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญ ของวันเข้าพรรษารวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและตามสถานที่ชุมชน เช่น สนามบิน สถานี รถไฟ สถานีขนส่ง โรงธรรม ศูนย์การค้า รวมทั้งบนยานพาหนะต่าง ๆ

(๓) เชิญ ชวนให้ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา เช่นทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์

(๔) รณรงค์ทางสื่อ มวลชนต่าง ๆ ให้ลด ละ เลิก อบายมุขและให้งดจำหน่ายสิ่งเสพติดทุกชนิด

(๕) ประกาศ เกียรติคุณสถาบัน หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม

(๖) รณรงค์ให้มี การรักษาสภาพแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ

(๗) จัดประกวด สวดสรภัญญะ บรรยายธรรม คำขวัญ บทร้อยกรอง บทความเกี่ยวกับวันเข้าพรรษา

ประโยชน์ที่จะได้รับ

(๑) พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ความสำคัญของวันเข้าพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติการลดละ เลิกอบายมุข การงดดื่มสุราตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเป็นการงดดื่มสุราแห่งชาติ

(๒) พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันเข้าพรรษา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม คือวิรัติการได้ปวารณางดเว้นจากอบายมุขทั้งปวง

(๓) พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้ง และ ตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนาในเรื่องละชั่ว ทำดี และทำใจให้ผ่องใส

(๔) พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีรู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้องตามหลักธรรมอย่างแท้จริง

สรุป

      การเข้าพรรษา คือข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรงว่าจะจำพรรษาณวัดใดวัดหนึ่งเป็นเวลา ๓ เดือนตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี (หรือเดือน ๘ หลัง ถ้ามีเดือน ๘ สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษาเป็นวันที่จะได้เสริมสร้าง
คุณงามความดีโดยการปวารณาตนว่าในสามเดือนจะละเลิกอบายมุขและความชั้่วทั้งหลายทั่งปวงและวันเข้าพรรษานี้ รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราทุกคนจะได้ปวารณาตนเองในการสั่งสมคุณงามความดีไว้ ทำดี ละชั่ว และทำใจให้ผ่องใส จะทำให้ชีวิต
มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นเอง





คำสำคัญ (Tags): #วันเข้าพรรษา
หมายเลขบันทึก: 630901เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2017 01:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2017 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท