การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 6 : การถ่ายโอนการศึกษา (ต่อ)


การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 6 : การถ่ายโอนการศึกษา (ต่อ)

6 กรกฎาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

มาต่อข้อมูลการถ่ายโอนการศึกษา หรือ หากจะเรียกให้ถูกต้องเรียกว่า “การกระจายอำนาจการศึกษาการถ่ายโอนบุคลากรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”  [2] หรือ “การกระจายอำนาจ โดยการถ่ายโอนภารกิจการศึกษาให้แก่ท้องถิ่น”  ซึ่งคาดกันว่าตามแผนการถ่ายโอนการศึกษา ปี 2548 จะมีครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนไม่น้อยกว่า 3.9 แสนคน จะถูกถ่ายโอนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น [3] การถ่ายโอนดังกล่าวจะมีลักษณะเป็น (1) การถ่ายโอนเฉพาะภารกิจ ซึ่งเป็นการแบ่งภารกิจ ให้แก่องค์กรที่ได้รับการกระจายอำนาจดำเนินการ หรือ (2) เป็นการถ่ายโอนโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเป็นการแบ่งพื้นที่เป็นหน่วยงานย่อยในการดำเนินการ สรุปว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จึงเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจหน้าที่ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับสภาพการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลง

ประชาชนและท้องถิ่นได้รับประโยชน์อะไรจากการถ่ายโอนการศึกษา  [4]

         ในที่นี้รวมถึงการถ่ายโอนการศึกษาในระดับประถมศึกษา (เด็กเล็ก) และ มัธยมศึกษา (เด็กโต) ด้วย ประโยชน์สองด้าน คือด้านประชาชน ได้แก่ (1) ได้รับการบริการสาธารณะที่ดีขึ้น มีคุณภาพมาตรฐานและสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (2) มีบทบาทในการตัดสินใจการกำกับดูแล และการตรวจสอบ ตลอดจนการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ (3) มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การไปเลือกตั้ง การเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกท้องถิ่น

ด้านท้องถิ่น ได้แก่ (1) ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริการจัดการ การบริหารงานบุคคล และการเงินการคลังของตนเอง (2) เข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2550 คิดเป็นร้อยละ 23 ของรายได้รัฐบาล และร้อยละ 35 ของรายได้รัฐบาล ในปี พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบภาษี การขยายฐานภาษี ฯลฯ ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยิ่งขึ้น (3) ความสัมพันธ์ในอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง และระหว่างรัฐและมีความชัดเจน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะ และมีบุคลากรที่เพิ่มขึ้นด้วย (4) ประชาชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง โดยการเสนอความคิดเห็นสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียง และตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น

ปัญหาการถ่ายโอนการศึกษา ครูมัธยมคือ ครู อบจ.

ครูท้องถิ่นมีสองกลุ่มใหญ่ คือ (1) “กลุ่มครูเด็กเล็ก” หรือครูประถม ซึ่งเป็นระดับ ประถมศึกษา (ป.1-ป.6) มีส่วนน้อยที่เป็น รร.ขยายโอกาสถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) และ (2) “กลุ่มครูเด็กโต” หรือ ครูมัธยม ซึ่งเป็นระดับ มัธยมศึกษา (ม.1 – ม.6) ในที่นี้มาดูกลุ่มครูมัธยมศึกษากัน

ในเรื่องการถ่ายโอนการศึกษาค่อนข้างเป็นนิยายที่มีความเป็นมายาวนาน ที่บรรดานักการศึกษารุ่นก่อน ๆ ทราบดีว่ามีทั้งยื้อทั้งยุดฉุดกระชากลาก ไม่ว่าจะเป็นครูท้องถิ่นสังกัดใดก็ตาม ขอเล่าความว่า แต่เดิมก่อนปี 2545 [5] ครูมัธยมสังกัด “กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ” ได้ขอโอนสังกัดมาเป็น “ครูข้าราชการส่วนจังหวัด” หรือ ครูสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขอเรียกง่าย ๆ ว่า “ครู อบจ.” โดยไม่โอนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งแต่วันแรกที่ถ่ายโอนมา เจอปัญหากันมาตลอดกับโรงเรียนที่ถ่ายโอน  มาดูตัวอย่างปัญหา ครู อบจ. กัน อาทิเช่น

(1) โอน รร. มาแล้วก็จะขอโอนกลับ เป็นต้น ซึ่งมันออกจะแปลก เพราะบางจังหวัดขอโอนกลับกันเกือบหมดเลย ไปสังกัดอยู่ อบจ. แต่บางจังหวัด มีปัญหาโดยเฉพาะช่วงตอนเปลี่ยนถ่ายนายก ที่นายกคนใหม่ไม่ใส่ใจโรงเรียน ไม่ให้โบนัส แถมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่จัดสรรอัตราครูให้ จึงเกิดกระแสพลิกกลับ ที่ทำให้ข้าราชการครูขอโอนกลับไปอยู่ สพฐ. ในช่วงนั้นบางจังหวัดโรงเรียนกับนายกขัดแย้งกันแรง ถึงขนาดผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้ามาดูแล เหมือนเล่นปาหี่ทีแรกบอกอยู่ท้องถิ่นไม่ดี พอไปรวมกับ สพฐ. ก็มีปัญหาเช่นว่า ครูประถมเอาเปรียบฯ ก็เลยขอโอนคืนมา อปท. มาอยู่ อบจ.หมด เหมือนเดิม เป็นการชักเข้าชักออก หลายจังหวัดครู อบจ. แฮปปี้ เพราะได้โบนัสเยอะทุกปี จึงไม่มีกระแสขอโอนย้ายกลับ ในช่วงนั้นว่ากันว่าเป็นเทคนิค “การนำเงินโบนัสมาล่อใจ” อย่างได้ผล มีเรื่องจริงว่าก่อนการโอนย้าย รร.มัธยมมาสังกัด อบจ. นั้น มี ผอ.หลายโรงเรียนเป็นหัวหอกในการขอถ่ายโอนภารกิจมายัง อบจ.โดยนักการเมืองท้องถิ่น ใช้เงินโบนัสเป็นตัวล่อ ทั้งๆ ที่ครูส่วนใหญ่แอนตี้กับการมาอยู่ภายใต้อำนาจนักการเมือง แต่เมื่อมองเห็นเงินโบนัส 5 เท่า ครูเกือบร้อยละ 70 จึงสมัครใจถ่ายโอนลงมาทันที ด้วยเหตุผลที่อ้างว่า พรบ.กระจายอำนาจฯ ระบุว่า ให้ทดลองมาอยู่กับ อปท.ได้ 5 ปี มาอยู่แล้วไม่ดีก็สามารถขอโอนกลับได้ แต่อนิจจา ในระบบปัจจุบันคงไม่หวนกลับคืนเดิมอีกแล้ว เพราะ ระบบโบนัสท้องถิ่นถูกตีกรอบจนหมดโอกาสที่ได้โบนัสเช่นดังเดิม (คือไม่มีโอกาสได้โบนัสต่อไปอีกแล้ว) เท่ากับว่า บรรดาครูมัธยมถูกหลอกให้โอนก็ไม่ปาน

(2) ครู อบจ. สร้างอำนาจต่อรอง และครูส่วนใหญ่ขาดการเคารพหลักการบริหาร ผอ.โรงเรียน สร้างอำนาจต่อรองว่า เมื่อโอนมาอยู่แล้ว รร. ต้องได้ ต้องมี ต้องเอา ต้องทุกอย่าง ตามที่ครูปรารถนา ทำให้เกิดปัญหาการปกครองบังคับบัญชาของ นายก และปลัด ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงตามกฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หากนายก และปลัดไม่ให้ความสำคัญ รร. ด้วย ปัญหาอาจยิ่งทับทวี เช่น ปลัดไม่เข้าประชุมงานที่เกี่ยวกับโรงเรียน ไม่ค่อยรับรู้งาน ซึ่งได้มอบหมายให้รองปลัดดูแลไปแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นอีก ที่เป็นปัญหาเชิงการบริหารอีกประการหนึ่งก็คือ ครูส่วนใหญ่มีเงินเดือนที่มากกว่า ผอ.กองการศึกษาและ ข้าราชการท้องถิ่นส่วนอื่นๆ แม้ว่างบประมาณเงินเดือนจะแยกต่างหากจากของท้องถิ่นก็ตาม เป็นปัญหาหนึ่งในเรื่องความยำเกรงต่อผู้บังคับชา ที่ทำให้เกิดปัญหาการบริหารที่ตามมา อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นความฝังใจครูรุ่นเก่าที่มีความทรงจำที่เลวร้ายจากอดีต ครูจะถูกเกณฑ์ไปบริการในงานเลี้ยงงานรับรองต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าครูสาวเป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้น อันเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ฝังใจครูมาแต่เดิม ฉะนั้น เมื่ออยู่ในสถานะที่พอจะอ้างสิทธิได้ ครูส่วนหนึ่งจึงเรียกร้องสิทธิขึ้น

(3) ปัญหาในทางกลับกัน ตัวนายก อาจสร้างฐานอำนาจกับบางโรงเรียนและไม่ให้ความสำคัญกับอีกหลายโรงเรียน จึงเกิดเป็นปัญหาที่ไม่จบไม่สิ้นอันสืบเนื่องมาจากปัญหาที่ (1) และ ปัญหาที่ (2) ในมุมมองนี้ฝ่ายบริหาร (การเมืองท้องถิ่น) จะถูกมองว่าไม่มีคุณวุฒิด้านการศึกษา แม้ฝ่ายการเมืองจะได้มีการเลือกสรรรองนายกที่เคยเป็นนักการศึกษามาก็ตาม เพราะ เขามองไปที่ตัวนายก ยิ่งผู้บริหารท้องถิ่นมองโรงเรียนเป็นส่วนเกินขององค์กร งบประมาณก็ไม่จัดสรรให้ โบนัสก็ไม่จ่าย หนำซ้ำเงินอุดหนุนโรงเรียนที่ได้มาจากเงินจัดสรรเป็น “เงินอุดหนุนทั่วไป” นายกก็สามารถเอามาดำเนินการกับถนน กับโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งเรียกว่า “เป็นการฮุบเงินอุดหนุนของนักการเมืองท้องถิ่น” ทำให้โรงเรียนไม่มีเงินงบประมาณบริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงเริ่มขัดแย้งกับนายก เมื่อเป็นปัญหากันหลาย ๆ โรงเรียนก็พากันไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้แก้ไขปัญหานี้ แต่เรื่องก็ไม่คืบหน้า เพราะสายโยงใยการเมืองเข้มแข็งกว่าสายข้าราชการประจำ ก็ต้องไปยื่นหนังสือต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้แก้ไข  แต่กรมฯ ก็ให้ต้องให้มาไกล่เกลี่ยประนีประนอมกัน แม้ต่อมา รร. ได้เรียกร้องให้แก้ไข “เงินอุดหนุนทั่วไป” เป็น “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” ที่นายกไม่สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้ ก็มิวายที่นายกก็ยังมีช่องทางอื่นที่กีดกัน รร. ได้อีก สุดท้ายเมื่อเหลืออดเหลือทนโรงเรียนที่โอนมา อบจ. จึงพร้อมใจกันขอโอนกลับ แต่ปัญหาอยู่ที่ “ไม่มีกฎหมายมารองรับการโอนกลับ” พูดง่ายๆ เหมือนถูกหลอกมาเต็มๆ เมื่อไม่มีกฎหมายข้อใดเขียนไว้ว่าให้ถ่ายโอนกลับได้ หากจะโอนกลับ “ก็โอนได้แต่ตัวคน สำหรับภารกิจโรงเรียนนั้น โอนกลับไม่ได้”

(4) ปัญหาพัสดุโรงเรียน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการนำเงินรายได้ของสถานศึกษาไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2551 [6] แม้ระเบียบพัสดุสถานศึกษา จะให้อำนาจ ผอ. รร. วงเงินไม่เกินแสน แต่พอรวมหลายโรงเรียนวงเงินจะเกินแสน นายกจะเอามาซื้อเอง จะว่าไปก็เป็นช่องทางในการแก้เกมส์การใช้จ่ายงบประมาณช่องทางหนึ่งของนายกที่ไม่สามารถใช้เงินอุดหนุนทั่วไป (แต่เดิมเงินส่วนนี้เป็นเงินส่วนหนึ่งของ รร.) เพราะมีการเปลี่ยนเม็ดเงินเป็น “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้ รร.”  ปัญหาเช่น การกำหนดหนังสือที่จะนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนเอง เป็นของพวกพ้องนักการเมือง หนังสือที่ซื้อมาไม่สอดคล้องกับหลักสูตร แต่นายกอยากเอางบมาบริหารเอง ซื้อหนังสือเอง ทั้งที่หนังสือไม่ได้อยู่ในหลักสูตรแต่นายกจะซื้อ แถมซื้อมาหลังจากที่โรงเรียนสอนไปจนจะปิดเทอม กล่าวคือ หนังสือไม่ได้เข้าโรงเรียน ไม่ได้ใช้สอน ไม่ได้แกะกล่องด้วยซ้ำ หรือ ในกรณีที่ซื้อสื่อการสอนมาแล้ว แต่ไม่เข้ากับบริบท มี ปปช.และหรือ สตง.เข้าตรวจสอบ ก็จะปัดสวะโยนเรื่องกันได้ง่าย ๆ ตกลงก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกันนั่นเอง เพราะทุกโรงเรียนทุกระดับ ผอ. มีผลประโยชน์จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ลูกหลานรับกรรมไปเต็มๆ

(5) มองในมุมกลับ ต้องยอมรับว่าการจัดการศึกษาของ อปท ไม่ใช่มืออาชีพ ตามหลักการที่โรงเรียนควรมีผู้กำกับดูแลอย่าง “มืออาชีพ” มีสังกัดอยู่ให้ถูกที่ถูกทาง อยู่กับคนที่เชี่ยวชาญ  ในที่นี้คือสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือ สพฐ. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าราชการครูในสถานศึกษา และเด็กจะได้มีความรู้ เพราะ โรงเรียนท้องถิ่นปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ผ่านมาตรฐานการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) [7]  แม้บางจังหวัดมีหลายโรงที่ผ่านมาตรฐาน สมศ. ส่วนหนึ่งก็เพราะโชคดีได้ ผอ.ดี จึงมีผลงานออกมาหลายด้าน หรือ ปัญหาสวัสดิการเด็กขาดระบบติดตามดูแล โดยเฉพาะในเด็กโต (มัธยมศึกษา) ในสถานการณ์โลกยุคไอที 4.0 ที่น่าเป็นห่วง เป็นต้น

         (6) ขอสาธยายเล็กน้อยเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ปัญหาบริบทของผู้บริหารโรงเรียนที่เป็น “ผู้ทรงความรู้” ที่มีทัศนคติเชิงชอบรู้ดี ที่ รร.ต้องได้สิทธิโน่นนี่ ประหนึ่งว่า ผอ.รร. เป็นผู้ตัดสินชะตาชีวิตของครูทุกคน  เมื่อครูไม่เข้าใจการบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น และท้องถิ่นเองก็ไม่รู้บริบทของการบริหารงานบุคคลของครู จึงมักมีเรื่องขัดแย้งกันเสมอมา โดยเฉพาะเรื่องประกาศหลักเกณฑ์ที่ ก.จ.ล้อตาม ก.ค.ศ.เดิม ยิ่งล่าช้ามาก ไม่ทันการณ์ ปัญหาจึงยิ่งเกิดหนัก ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น อปท. หรือโรงเรียนที่ถ่ายโอน หรือกรมได้กระจายอำนาจ ล้วนแล้วแต่ไม่สันทัดในกรณีงานบริหารงานบุคคลเหล่านี้  ครูจึงเกิดความน้อยใจว่าที่จริงแล้วครูต้องอยู่กับ ศธ. ตามหน้าที่โดยตรงของพวกเขา ความน้อยเนื้อต่ำใจของครู อปท. บรรจุปริญญาตรี แต่ใส่อินทนูเครื่องแบบ ซี. 3 ระดับปฏิบัติการ แต่ ครู สพฐ. หรือ เดิม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ใส่ขีดซี. 5 นี่คือความแตกต่างที่ไม่รู้จบสิ้น

         (7) ปัญหาการรับเงินกินเปล่าจากผู้ปกครองเพื่อการช่วยเหลือให้เด็กได้เข้าโรงเรียนดี ๆ [8] หรือที่เรียกกันว่า “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” [9] หรือ “เงินกินเปล่า” หรือ “เงินสนับสนุนการศึกษา(นอกหรือในระบบ)” ในส่วนของ รร.ท้องถิ่นยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง ด้วยอาจเป็นเพราะเพิ่งเป็น รร.ตั้งใหม่ แต่ยอมรับว่าในระดับหนึ่งนี่คือปัญหาหนึ่งของวงการศึกษาไทยที่ รร. ที่ดีมีคุณภาพ (ตามความเชื่อถือของสาธารณชน) ที่ต้องมีระบบการแย่งกันเข้าชั้นเรียน


เสือลำพองที่หยิ่งผยองสุดท้ายก็เป็นเสือหมอบ

         ใช่ว่า อปท.จะบริหารโรงเรียนได้ไม่ดี หากแต่การถ่ายโอนมานั้นมีแต่เสือที่ซ่อนเล็บโอนมา ชนิดที่ สพม. (ปัจจุบันโอนมารวมกับ สพฐ.) ได้ตัดหาง เมื่อมาอยู่ อปท.จึงผยองเพราะคิดว่าตนเองแน่ สุดท้ายระบบนี้ก็หมดไปเมื่อ ผอ.ถ่ายโอนรุ่นเก่าเกษียณอายุไป รุ่นใหม่เข้ามาจึงจะเป็นเลือด อปท.ใหม่อย่างแท้จริง

         มีข้อสรุปว่า หาก อปท.จะบริหารจัดการโรงเรียนได้ดี ควรเป็นโรงเรียนที่ อปท.จัดตั้งขึ้นมาเอง และสรรหาคนเข้ามาในระบบที่ไม่ใช่มาจากการถ่ายโอน การเป็นหนูลองยาให้แก่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ลองผิดลองถูก สุดท้ายพบสัจจะข้อหนึ่งว่า หน่วยงานใดก็ตามที่เขาเกิดมาจากที่ใด ก็ควรให้เขาได้อยู่ในสังกัดเดิม หรือในอ้อมอกพ่อแม่เขานั่นแหละ จึงจะถูกต้องที่สุด ส่วนเราหากอยากจะมีลูกและอยากเห็นลูกเราได้ดี เราต้องสร้างเอง ปั้นเองให้เกิดนวตกรรมที่เป็นบริบทของเราเอง เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของท้องถิ่นเราเองจึงจะดี

         อย่างไรก็ตามปัญหาการถ่ายโอน คงมิใช่ปัญหา หากมีการตั้งหลัก และควานหาปัญหาที่ถูกจุด สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปัญหาที่มองจากภายนอก แม้จะเป็นภาพลบใน อปท. ที่ยากจะทำใจ เพราะมีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีมาตรฐานมากกว่าเป็นตัวคอยเปรียบเทียบ ถึงเวลาแล้วที่ อปท. ต้องยอมรับความจริงว่าล้าหลังกว่า ศธ. ในหลาย ๆ ด้านจนเกือบทุกด้านแล้วหันมาใส่ใจในความเป็น อปท. ที่ดูแลประชากรในท้องถิ่นโดย “การพัฒนาระบบการให้บริการทางการศึกษาที่เปิดกว้าง” และ “แตกต่างจาก ศธ.” โดยการเพิ่มศักยภาพระบบบริการและบุคลากรพัฒนาให้เหมือนดังที่ รร. เอกชนดำเนินการ และต้องทำให้ดีกว่า เมื่อถึงเวลานั้นก็คงไม่ต้องมาถกกันเรื่องถ่ายโอน  การถ่ายโอนมีปัญหาก็เพราะครู ศธ. ไม่เชื่อมั่นในระบบท้องถิ่น เอวัง





[1]Phachern Thammasarangkoon & Nut Saijunteuk & Borwon Uppachaitai & Arnon Changchai, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23453 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 43 วันศุกร์ที่ 7– วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2560, หน้า 66

[2] การกระจายอำนาจ คืออะไร, http://polsci.pn.psu.ac.th/int...

& การติดตามผลการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2546 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาณุ ธรรมสุวรรณ, http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_...  

& การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการถ่ายโอนบุคลากรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของก.ถ.และคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น, 2548, http://www.local.moi.go.th/dev...

& ถ่ายโอนการศึกษาสู่ท้องถิ่น...ครูคิดอย่างไร - thecityedu - GotoKnow, ธนสาร บัลลังก์ปัทมา, พิมพ์ครั้งแรก The City Journal ฉบับวันที่ 1-16 พฤศจิกายน 2551, https://www.gotoknow.org/posts...       

& การกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่น, กระทรวงศึกษาธิการ, 2 เม.ย. 2553, www.moe.go.th/moe/th/news/deta... 

& ศักยภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดปทุมธานี โดย เกศนภา ลือดารา, วารสารคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2556, รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, http://www.bus.rmutt.ac.th/jou...

[3] นายกฯ วอน ครู 3.9 แสนคน อย่าด่วนประท้วง ย้ำยังไม่ถึงเวลาถ่ายโอนไป อปท., 7 พฤษภาคม 2558, http://www.manager.co.th/Polit...   

& ถวิล ไพรสณฑ์, บทความพิเศษ: โอนการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ อปท.เพื่อแก้ปัญหาความล้าหลังการศึกษาของไทย, ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ พฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2558 00:00:49 น., http://www.ryt9.com/s/tpd/2164...

[4] นโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา), รักครู.com, 30 พฤษภาคม 2559, http://www.xn--12cg5gc1e7b.com...

& สโรช สันตะพันธุ์, ปัญหาการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาวิชากฎหมายมหาชน) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (สาขาวิชาการปกครอง), 2548, http://www.sobkroo.com/img_new...   

[5]พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545, http://www.ratchakitcha.soc.go...

[6]ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการนำเงินรายได้ของสถานศึกษาไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 112 ง วันที่ 4 กรกฎาคม 2551,  http://www.ratchakitcha.soc.go...

[7]ความเป็นมา สมศ., http://www.onesqa.or.th/th/pro...  

[8]หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04273/ว3723 แนวทางการส่งเสริมการปฏิบัติกรณีการให้หรือรับของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดและกรณีเรี่ยไร ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2560, http://www.kroobannok.com/8229...  

& หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04273/ว3708 แนวทางปฏิบัติกรณีการรับหรือให้ของขวัญในเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2561 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560, http://www.kroobannok.com/8229...      

[9]ชาวเน็ต ชื่นชม รร.เทศบาลหางดง ไม่ต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ สอนดีเด็กมีความสุข, ทีวีช่องสาม เรื่องเด่นเย็นนี้ รร.ท.หางดง, 21 มิถุนายน 2560, http://www.krobkruakao.com/ind...   

หมายเลขบันทึก: 630752เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2017 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2017 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท