ถ่ายโอนการศึกษาสู่ท้องถิ่น...ครูคิดอย่างไร


การถ่ายโอนการศึกษาสู่ท้องถิ่น ควรให้ครูมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้อิสระกับโรงเรียนในการบริหารงาน

ถ่ายโอนการศึกษาสู่ท้องถิ่น...

ครูคิดอย่างไร          

ธนสาร  บัลลังก์ปัทมา 

พิมพ์ครั้งแรก The City Journal ฉบับวันที่ 1-16 พฤศจิกายน 2551

 

                การถ่ายโอนการจัดการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นข่าวคึกโครม ท่ามกลางการคัดค้านของครูส่วนใหญ่ดังที่เป็นข่าวไปเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะการถ่ายโอนการจัดการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีโรงเรียนนำร่อง และไม่มีงานวิจัยรองรับ ดังนั้นคุณเกษร  อุบล จึงได้วิจัยเรื่องความคิดเห็นของข้าราชการครูที่มีต่อการถ่ายโอนการจัดการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งนับเป็นแนวทางสำหรับครูและผู้สนใจทั่วไปที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับความความคิดเห็นของข้าราชการครูที่มีต่อการถ่ายโอนการจัดการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 การถ่ายโอนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นกระแสที่ทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เกิดความไขว้เขวและหวั่นไหวต่อสถานภาพ และเสถียรภาพการคงไว้ซึ่งคำว่า ข้าราชการครู  เพราะหากถ่ายโอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะดำรงตำแหน่งพนักงานครู  ซึ่งยังไม่รวมไปถึงสวัสดิการและสวัสดิภาพอื่น ๆ ที่ครูพึงได้รับ  แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายโอนการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดไว้หลายฉบับ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 81 ที่ได้กำหนดให้มี  กฎหมายการศึกษาแห่งชาติ  เพื่อใช้เป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและจัดการการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ขึ้น  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)  พ.ศ.2545  มาตรา 9(2)   ที่กำหนดให้มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 41 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับ ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการภายใน

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง   ส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542  เรื่องการจัดการศึกษา เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นตนเอง และภารกิจการจัดการศึกษา ได้ถูกกำหนดเป็นภารกิจที่ต้องถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ  ทั้งการจัดการศึกษาในระบบและนอกระบบ

แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2544  กำหนดให้ภารกิจการจัดการศึกษาในระบบของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นภารกิจที่จะต้องถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายหลังจากแผนปฏิบัติการฉบับนี้เผยแพร่ออกมาไม่นาน ก็เกิดกระแสการเคลื่อนไหวคัดค้านในการนำไปสู่การปฏิบัติ โดยกระแสต่อต้านได้ขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว มีการจัดกิจกรรม เคลื่อนไหวขององค์กรครู  เพื่อคัดค้านอย่างชัดเจน

                จากงานวิจัยเรื่องความคิดเห็นของข้าราชการครูที่มีต่อการถ่ายโอนการจัดการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พบว่าความคิดเห็นของข้าราชการครูที่มีต่อการถ่ายโอนการจัดการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีดังนี้

1. ด้านการบริหารงานวิชาการ  สถานศึกษาที่ถ่ายโอนควรจะมีอิสระในการพัฒนางานวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้การสนับสนุนและร่วมกิจกรรมวิชาการของโรงเรียนเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง   และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในงานด้านการศึกษาเป็นอย่างดี 

2. ด้านการบริหารงบประมาณ   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการจัดทำบัญชีการเงินและพัสดุอย่างเป็นระบบ โปร่งใสและตรวจสอบได้ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดสรรงบประมาณ สำหรับการจัดการศึกษาอย่างเพียงพอและอย่างมีคุณภาพ   และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรเงินรายได้สนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับสถานศึกษาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน    

                3. ด้านการบริหารงานบุคคล  การถ่ายโอนบุคลากรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำด้วยความสมัครใจ คณะกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีผู้แทนสถานศึกษาร่วมเป็นคณะกรรมการ  และการดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม    

                ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ มีข้อเสนอแนะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรดำเนินการ ดังนี้

                 1. ควรจะให้อิสระในการพัฒนางานวิชาการต่อสถานศึกษาที่รับโอน  และควรสนับสนุนและร่วมกิจกรรมของโรงเรียนเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง   ผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมอบอำนาจการบริหารงานวิชาการให้สถานศึกษาดำเนินการเอง และจัดหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญทางวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าราชการครูในสถานศึกษา

                2.  ควรดำเนินการในเรื่องการเงินการบัญชีและพัสดุด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรเงินรายได้สนับสนุนการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบและเท่าเทียมกัน ตลอดจนควรจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้มากขึ้นและต่อเนื่อง  ดังนั้น ผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรสร้างระบบการเงินการบัญชีและพัสดุให้เข้มแข็ง โปร่งใส และให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณทางด้านการศึกษาให้มากขึ้น

                3.  การถ่ายโอนการจัดการศึกษาไปสู่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นควรทำด้วยความสมัครใจของทุกฝ่าย และในการบริหารงานบุคคลต้องมีผู้แทนทางการศึกษาร่วมเป็นกรรมการด้วย  ดังนั้น ผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรสร้างความมั่นใจในการบริหารงานบุคคลโดยดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม  ให้สถานศึกษาและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการบริหารงานบุคคล

 

เอกสารอ้างอิง

เกสร  อุบล. (2551). ความคิดเห็นของข้าราชการครูที่มีต่อการถ่ายโอนการจัดการศึกษา

                ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม.

                ภาคนิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ

                บ้านสมเด็จเจ้าพระยา.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท