ชมรมพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มต้น ตั้งอยู่ เป็นไป.....อย่างไร



ผศ.พิเชษฐ เรืองสุขสุด ประธานชมรมพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น คนที่ 1


ไม่รู้ว่าผมโชคดีหรือดวงซวยที่ได้มาทำหน้าที่ในชมรมพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น.... ย้อนไปเมื่อปี 2551 พี่ชายที่นับถืออย่าง อ.บัญชา พระพล ชวนและบอกว่า ไปช่วยกันทำงานชมรมพนักงานหน่อย ผมก็ตกปากรับคำ....ทั้งๆที่ตอนนั้นก็เพิ่งจะบรรจุเข้าทำงานที่ มข. ได้ไม่นาน (1 ปี) แต่ก็ยินดีเพราะคิดว่า คงเป็นเวทีของตัวแทนที่มาช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประชาคมพนักงานทั้งมหาวิทยาลัย และบางอย่างอาจเป็นเวทีที่มาช่วยกันสร้างสวัสดิการให้เกิดมีขึ้น เพราถ้าใครพอจะทราบว่าพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นลูกจ้างของรัฐอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ลุกจ้างชั่วคราว แต่ก็กึ่งๆแล้วค่อนไปทางลูกจ้างชั่วคราว ... สวัสดิการก็ไม่มีอะไรเลย นอกจาก “ประกันสังคม” กับ เงินค่าจ้างที่มีฐานสูงกว่าการบรรจุข้าราชการ .... พนักงานมหาวิทยาลัยเริ่มมีขึ้นเมื่อปี 2542 เป็นต้นมา.... กรรมการมีวาระ 2 ปี ผมทำหน้าที่กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ แต่ก็เหมือนได้ทำหน้าที่เลขานุการเต็มตัวเพราะอาจารย์ที่เป็นเลขานุการ ท่านลาศึกษาต่อหากจำไม่ผิด พอหมดวาระ ยังไม่มีการเลือกตั้ง ทางชมรมกับมหาวิทยาลัย หารือกันแล้วใช้วิธีเสนอชื่อกรรมการในชุดที่ 2 เช่นเดียวกับชุดแรก มี อ.พิเชษฐ ทำหน้าที่ประธานทั้ง 2 ชุด แต่กรรมการเปลี่ยนไปบ้าง ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการเต็มตัว พอชุดที่ 3 การได้มาของกรรมการมาจากการเลือกตั้ง ผมได้รับความไว้วางใจจากประชาคมพนักงาน มข. จนได้เข้ามาทำหน้าที่อีกสมัยหนึ่ง แต่รอบนี้เปลี่ยนประธานจาก อ.พิเชษฐ มาเป็น อ.รัชพล ผมก็ถูกมัดมือชกให้เป็นกรรมการและเลขานุการเช่นเคย เพราะที่ประชุมบอกว่า “เหมาะสมแล้ว” ทั้งๆที่ผมเองกระอักกระอ่วนใจที่จะทำหน้าที่เลขานุการ..... เมื่อหมดวาระของการทำหน้าที่ของชุดที่ 3 อ.รัชพล และทีมพี่ๆที่ทำมาด้วยกันขอว่า ลงอีกสักสมัยเถอะ ผมจึงตกลงปลงใจ เพราะไหนๆ ผมก็ผ่านมาถึง 3 วาระแล้ว อีกสักวาระจะเป็นไรไป....เมื่อยื่นใบสมัครเสร็จ เพิ่งมาเห็นว่ามหาวิทยาลัย เปลี่ยนเงื่อนไขว่า วาระชุดนี้ต้องทำหน้าที่ 4 ปี.... เมื่อประชุมนัดแรกเพื่อเลือกกรรมการแต่ละตำแหน่ง ผมพุดเชิงบ่นว่าไม่ขอรับตำแหน่งเลขานุการ ที่ประชุมเห็นใจ จึงถีบผมขึ้นไปนั่งเป็นรองประธาน คนที่ 4 ทำหน้าที่ไปได้สักระยะ เข้าสู่ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนสถานภาพจากหน่วยงานราชการไปเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ (ม.ในกำกับ/ม.นอกระบบ) เมื่อกฎหมายมีผลให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น แปรสภาพไป ในบทบัญญัติใหม่ กำหนดให้มี “สภาพนักงาน” เกิดขึ้น มีการจัดการเลือกตั้ง ผมไม่ลงสมัคร ยอมถอยมาอยู่ในฐานที่มั่น เพราะคิดว่า ขอพักดีกว่า เหนื่อยมา 6-7 ปีแล้ว ในช่วงรอยต่อของการแปรสภาพจาก “ชมรมพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ไปเป็น “สภาพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ก็มีการหารือ พูดคุย และส่งต่อภารกิจของทั้ง 2 องค์กร หากมองดูเล่นๆในทางนิตินัย การมีอยู่ของชมรมพนักงาน ยังคงดำเนินอยู่ ยังคงอยู่ เพราะยังไม่ครบวาระ 4 ปี แต่ในทางพฤตินัยนั้น พวกเราเหล่ากรรมการชมรม ก็ได้ถ่ายโอนไปให้สภาพนักงาน ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ตามบทบัญญัติใหม่ภายใต้ พรบ.ม.ในกำกับของรัฐ


เกลร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้จากการทำหน้าที่เลขานุการมา 3 วาระ เรื่องที่ยังค้างคาอยู่นับตั้งแต่มีการรับพนักงานกลุ่มแรกตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก คลี่ไม่ออก บอกใครไม่ได้ หมายถึงบอกไปแล้ว ก็ไม่รู้จะดำเนินการอย่างไรหรือดำเนินการไม่ได้....ด้วยอะไรก็ตาม

ปัญหาที่ยังค้างคาอยู่ เช่น การแบ่งจำพวกของพนักงานมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ พนักงานมหาวิทยาลัย (ที่จ้างโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน) พนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ พนักงานองค์กรในกำกับ (นี่ยังไม่นับรวมข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงาน) 3 กลุ่มนี้ มีการถูกจำแนกและมีแนวปฏิบัติ สวัสดิการที่แตกต่างกันไปตามที่มาของเงินที่ใช้จ้าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าตลก ที่ว่าอย่างนั้นเพราะอะไรรู้ไหมครับ.... มีหลายครั้งที่ชมรมพนักงานไปช่วยทำระเบียบ/แนวปฏิบัติ/ข้อบังคับ เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงาน แต่ระเบียบ/ข้อบังคับเหล่านั้นมีผลดีแค่กับพนักงานเงินงบประมาณ หลายเรื่องก็ต้องต่อสู้กันอีกหลายระรอก แม้แต่เรื่องง่ายๆอย่างเครื่องแบบพนักงานที่พนักงานองค์กรในกำกับสวมใส่ไม่ได้ จนต้องแก้ไขข้อบังคับอีกรอบ... อีกเรื่องคือ เรื่องเครื่องราชฯ ระเบียบกระทรวง/สำนักฯ และแนวปฏิบัติจากการตีความ บลา บลา บลา ให้ได้เฉพาะกับพนักงานที่จ้างโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน... เวลาถึงห้วงของการได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ พวกพนักงานเงินรายได้กับพนักงานองค์กรในกำกับ ทำหน้าอย่างไรครับ? ...เรื่องสุดท้ายที่จะเล่าเป็นเรื่องเล็กๆแต่มีผลกระทบต่อจิตใจ เพราะในทางเศรษฐศาสตร์ เรื่องเงินแม้เพียง 1 หน่วยที่ต่างกัน ก็สร้างความรู้สึกด้านลบด้านบวกได้ ในยุคที่ มข. ให้เงินตอบแทนพิเศษ (โบนัส) แก่พนักงาน การได้รับเงินโบนัสของพนักงานเงินงบประมาณ กับพนักงานเงินรายได้ ก็ดูแตกต่างกันลิบลับ โชคดีหน่อยที่พนักงานองค์กรในกำกับ ถ้าหากมีผลประกอบการดี ก็ได้มากตามที่คณะกรรมการบริหารองค์กรนั้นๆจะอนุมัติให้ตามสภาพคล่อง............. แม้ในตอนนี้ บทบาทของชมรมพนักงานได้ลดลงและค่อยๆหายไปตามสายลม แสงแดด และกาลเวลาที่เคลื่อนคล้อย โดยมีสภาพนักงาน มารับช่วงต่ออย่างเข้มข้น แต่เรื่องของพนักงานก็ยังมีปัญหาเดิม เพิ่มเติมปัญหาใหม่อยู่มิขาด ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน มากคน มากความ แต่ก็ต้องให้กำลังใจเพื่อส่วนรวม


ที่เล่ามาเสียยืด แค่อยากจะเล่าเรื่องราวของชมรมพนักงานที่เห็นและเป็นไป ยังมีเกร็ดเล็กน้อยอีกมากที่ได้ทำงานมา 3 วาระครึ่ง จนอดคิดถึงเหตุการณ์น่ารักๆที่ตอนนั้น ชมรมพนักงานนัดประชุมกัน และขอพบท่านอธิการบดีไปพร้อมด้วย ก่อนประชุม เจ้าหน้าที่ รปภ. ห้อมล้อมตึกไว้เต็มอัตรากำลังศึก พวกเราไปประชุมก็อดหัวเราะไม่ได้ ทั้งๆที่พวกเราไม่เคยคิดจะประท้วงเลยแม้แต่ครั้งเดียว......ประชุมไปก็ตื่นเต้นไป คิดในแง่ดี คือ การมีคนมาดูแลความสงบเรียบร้อยรอบตึกอธิการบดี


ส่วนบันทึกเรื่อง https://www.gotoknow.org/posts/630703 เป็นพัฒนาการของชมรมพนักงานที่เขียนไว้เมื่อมกราคม 2554..... จากนั้นก็ไม่ได้เขียนอีกเลย แม้ว่าระหว่างนั้นมีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 





รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ประธานชมรมพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น คนที่ 2


เรื่องทั้งหมดที่เขียนบันทึกนี้ เป็นทัศนะส่วนตัวที่อยากบันทึกไว้ อาจจะมีพาดพิงบางท่านไปบ้างก็ต้องขออภัย แต่ก็เพื่อเป็นวิทยาทาน

หมายเลขบันทึก: 630702เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2017 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2017 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท