CI Diary


Clinical teachers are our students’ role model. Patients are our best teachers.

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนนำเสนอมุมมองการพัฒนาครูผู้สอนทางคลินิกของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ในงาน WCPT-AWP & PTAT Congress 2017

แม้จะไม่ได้ตั้งใจจะร่วม Focus Symposium เรื่องนี้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อมีคำขอมาเพื่องานที่พวกเราเป็นเจ้าภาพก็เลยรับปากเขาไปแบบหนักหน่วงหัวใจพอสมควร ชื่อหัวข้อที่เขาตั้งขึ้นนั้นทำให้นึกกังวลไม่น้อย เพราะเขาใช้ชื่อว่า Best Practices to Transform Physiotherapists from Clinicians to Exemplary Clinical Instructors in the 21st Century --- โอ้โห ถอนใจเฮือกใหญ่ แล้วตั้งสติว่าจะเอาอะไรไปเล่าปะทะฝั่งอเมริกาเหนือดี

ในที่สุดก็ใช้วิชา R2R (ที่ขอสารภาพว่าไม่ค่อยตั้งใจเรียน)เอาตัวรอดมาได้ ด้วยความน่ารักของทีมอาจารย์กระบวนกรที่ช่วยกันจัด workshop ประจำปีให้แก่ครูทางคลินิกหรือที่เราเรียกกันในคณะว่า พี่ CI (Clinical Instructor) และนักกายภาพบำบัดด้านกระดูกและกล้ามเนื้อของศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลทุกคน ที่ปีนี้นอกจากจะช่วยสอนนักศึกษาตามปกติแล้วยังช่วยลงบันทึกประจำวันงานสอนที่ทำให้ด้วย

เริ่มต้นก่อนนักศึกษาลงฝึกงานจริง เราจัดอบรมให้ CI ทุกคนของคลินิกเต็มหนึ่งวัน เริ่มจากตอนเช้าทบทวนกันเรื่องการใช้แบบประเมินแบบ ICF ที่ปีนี้ดูจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น พอตอนบ่ายเราก็ทำกระบวนการว่าด้วย Theme “Reflective Practice” และ “Reflective Learning” กัน

อาจารย์กระบวนกรของคณะเตรียมคลิปวีดีโอเปรียบเทียบการเรียนการสอนแบบเดิมที่เรามักใช้คำถามเชิงทวนสอบความรู้ ความเข้าใจ และกระบวนการคิด เทียบกับตัวอย่างการใช้ reflection ในการสอน ทั้ง reflect on, reflect in, และ reflect for พอ CI ดูเสร็จก็เปิดวงไดอะล็อกกันพอหอมปากหอมคอ ซักซ้อมกันนิดหน่อยจนทุกคนเรียนรู้เข้าใจกระบวนการและวิธีใช้ reflection กันเบื้องต้น

แล้วอาจารย์มัณฑนาก็นั่งคุกเข่าและขอร้อง รบกวนให้ทุกคนช่วยกันทำบันทึกประจำวัน ที่เราตั้งชื่อว่า CI Diary หลังการสอนทุกวัน เพื่อบันทึกข้อมูลการใช้งานที่เกิดจริง และความรู้สึกในการสอน

เวลาผ่านไป 8 สัปดาห์ ตลอดการลงคลินิก กภกภ 270 ครั้งแรกของนักศึกษารุ่นสุดท้ายที่เรียนหลักสูตร module อันแสน hardcore พี่ๆ CI ที่น่ารักเขียน diary ทั้งแบบกรอกออนไลน์ใน google doc และแบบแผ่นกระดาษ สิริรวมได้ 202 แผ่น (ในใจอยากจะคลานต่ำไปกราบ) เราได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย ขอเล่าเฉพาะที่เอาไปนำเสนอในงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 

• สามในสี่ของ CI ที่บันทึก diary ดูแลนักศึกษาเต็มวัน ที่เหลือประมาณครึ่งหนึ่งดูแลช่วงเช้า (8-12 น.) หรือช่วงบ่าย (13-16 น.)

• ในวันที่ดูแลนักศึกษาจำนวน 2 คนเต็มทั้งวัน CI ของคณะฯมีผู้ป่วยที่ต้องบริการเฉลี่ยประมาณ 9 คน โดยมอบหมายให้นักศึกษาดูแลประมาณครึ่งหนึ่งคือ 4 คน

• ช่วงเวลาที่ CI สอนนักศึกษาโดยมีผู้ป่วยอยู่ด้วยเฉลี่ยมากกว่า 2 ชั่วโมงเล็กน้อย (136 นาที) และสอนนักศึกษาแบบไม่มีผู้ป่วยอยู่ด้วยมากกว่าหนึ่งชั่วโมงเล็กน้อย (73 นาที) (แต่ห้ามถามนะว่าที่เหลือทำอะไรกัน---ฮา)

• CI ให้คะแนนความพึงพอใจในการสอนของตัวเอง และการเรียนรู้ของนักศึกษาประมาณ 7.1 จากคะแนนเต็ม 10 ถ้าสอนเฉพาะช่วงบ่ายคะแนนจะตกลงไปอีกนิดหน่อย 

ที่น่าสนใจคือ เมื่อดูคะแนนความพึงพอใจที่นักศึกษาให้สำหรับการสอนของ CI นั้นมากกว่าที่ CI ให้ตัวเองคือขึ้นไปถึง 8.6 แม้แต่ความพึงพอใจของนักศึกษาในการเรียนรู้ของตัวเองก็มากกว่าที่ CI ประเมินเล็กน้อยคือ 7.5 จาก 10 

ข้อมูลนี้ทำให้คิดไปว่า CI ของเรานี่มาตรฐานสูงใช้ได้ หรือเพราะเป็นพวกเอาใจยากก็ไม่รู้ (ฮา)

• CI นำสิ่งที่ได้จากการอบรมไปใช้มากทีเดียว โดยตอบว่า ระหว่างการสอน CI ทำ Reflection on (หลังการสอนกับผู้ป่วย) และ Reflection for (ก่อนการสอนกับผู้ป่วย) ประมาณร้อยละ 90 ของวันที่บันทึก ในขณะที่การกระตุ้นให้นักศึกษาทำ Reflection in (ระหว่างอยู่กับผู้ป่วย) นั้นได้ทำน้อยกว่า แต่ก็ได้ทำเกือบร้อยละ 80 

การสุ่มสัมภาษณ์เชิงลึกหลังการใช้งาน CI Diary นี้พบว่า CI ใช้ reflection ในการสอนและการทำงานของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และการใช้คำถามสะท้อนคิดช่วยให้เกิดความเป็นกันเองกับนักศึกษา และรู้สึกเข้าใจนักศึกษามากขึ้น และยังพอใจกับการสอนของตัวเองมากขึ้นกว่าในปีก่อนๆด้วย

อย่างไรก็ตาม CI คิดว่าสิ่งที่ขัดขวางประสิทธิภาพการสอนของตัวเองมากที่สุดก็คือภาระการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก และเวลาการสอนที่จำกัด นอกจากนั้นยังต้องการเพิ่มพูนทักษะในการสอนและการใช้การสะท้อนคิดในคลินิกด้วย

ยังมีข้อมูลเชิงคุณภาพอีกหลายอย่างที่ได้จาก CI Diary ที่นักกายภาพบำบัดช่วยกันบันทึกในครั้งนี้ ซึ่งน่าจะกลายเป็นภาระของผู้จัดการศึกษาและผู้บริหารว่าจะทำให้เกิดความสมดุลของภาระงานหลายด้านเหล่านี้ได้อย่างไร

ที่สนุกอีกอย่างคือ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ได้ให้นักศึกษากรอกบันทึกประจำวันที่เรียกว่า student diary ทุกวัน ก็ได้ข้อมูลมันๆอีกเยอะพอสมควร เช่น ดูแล้วบางวันสิ่งที่ CI บันทึกว่าได้สอน ไม่ยักกะตรงกับสิ่งที่นักศึกษาบันทึกว่าได้เรียน (ฮา)


การได้อ่านบันทึกแต่ละวันของน้องๆที่เป็นครูผู้สอนทางคลินิกของเรา ทำให้ได้รู้ว่า คณะของเราโชคดีมากที่มีนักกายภาพบำบัดที่มีความสามารถและความตั้งใจในการสอน และเต็มอกเต็มใจที่จะร่วมกันสร้างนักกายภาพบำบัดรุ่นใหม่ๆที่ดีที่สุด เพื่อให้ออกไปรับใช้ดูแลสุขภาพของผู้คนในสังคมไทย 


ด้วยความเชื่อที่โปรยไว้ท้ายการนำเสนอในงานประชุมวิชาการว่า 

Clinical teachers are our students’ role model.

Patients are our best teachers.



และด้วยจิตคารวะครูผู้สร้างทุกคน


หมายเลขบันทึก: 630694เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2017 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2017 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท