บันทึกการเดินทาง Japan Spring 2017: Uji อูจิ ได้รู้จักแล้วจะรักเธอ /วัดเบียวโดอิน- Byodo-in วัดแห่งแดนสุขาวดี


จาก “ถนนชาเขียว” ในตอนที่แล้ว ที่คณะของเราเดินเอ้อระเหยแวะเวียนชม ชิม ขนมที่มีส่วนผสมของชาเขียวมัทฉะ ในที่สุดก็เดินมาถึงหน้าวัดเบียวโดอินค่ะ



ต้องซื้อบัตรผ่าน แค่ที่หน้าประตูเราก็แสนยินดีที่ได้เห็นซุ้มวิสทีเรีย Wisteria - ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Fuji No Hana ดอกกำลังบาน ระย้าแกว่งไกวในสายลมอ่อนๆหอมกรุ่น

ต้นวิสทีเรียที่วัดเบียวโดอินนี้มีอายุราว 280 ปี


การเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะได้เห็นดอก Wisteria ห้อยช่อระย้าแทบทุกแห่งค่ะ




คนที่ใจตรงกันมาชม วัดเบียวโดอิน ค่อนข้างเยอะ แน่นอนค่ะ ก็เป็นสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ต้องมีอะไรที่สำคัญคุ้มค่าน่าชม



กำลังจะเดินเข้าบริเวณวัดสำคัญขนาดนี้ อย่างน้อยทำความรู้จักความเป็นมากันสักนิดค่ะ



ภาพแสดงบริเวณวัด จะเห็นว่ามีแม่น้ำอยู่ด้านซ้ายบน คือ แม่น้ำอูจิ



ดังที่เคยเกริ่นไว้ในตอนที่แล้วว่าอูจินั้นอยู่ระหว่างเมืองหลวงเก่าสองเมืองและมีภูมิศาสตร์ทำเลสวยงาม บรรดาขุนนางและชนชั้นสูงจึงนิยมมาสร้างบ้านพักผ่อน หรือจะเรียกให้หรูคือเป็น วิลล่า ที่เมืองอูจิ น่าอิจฉาจริงๆ



วัดเบียวโดอินนี้ แรกเริ่มไม่ได้มาจากการจะสร้างวัด หากแต่ถูกเปลี่ยนจากบ้านพักผ่อนของขุนนางคนหนึ่งจากตระกูลขุนนางที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคนั้น ให้เป็นวัดด้วยความศรัทธาค่ะ

สมบัติตกทอดกันมาหลายทอดนะคะ



ทอดแรกเสนาบดีฝ่ายซ้าย Minister to the Left นาม Minamoto-no-Toru ได้รับเป็นมรดกมาจากภรรยา ว่ากันว่าเขาคนนี้เป็นบุคลิกของพระเอกในเรื่อง A Tale of Genji นิยายเรื่องแรกๆของโลก ซึ่งจะเล่าถึงในภายหลัง (เกนจิเป็นพระเอกที่หล่อเหลาเอาการและชีวิตเต็มไปด้วยผู้หญิงค่ะ)

จากนั้นวิลล่าได้ตกมาสู่มือ Fujiwara-no-Michinaga จนมาถึงลูกชายคือ Fujiwara-no-Yorimichi ซึ่งเป็นใหญ่เป็นโต มีตำแหน่งถึง หัวหน้าเสนาธิการของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ หรือ Chief Advisor to the Emperor เป็นตำแหน่งขุนนางที่มีอิทธิพลมากที่สุดทีเดียว และลูกชายนี่ล่ะค่ะที่มอบมรดกบ้านพักผ่อนอลังการของตนให้เป็นวัด


นอกจากนี้ยังสร้างอาคารใหญ่ สง่างาม ประณีต แสดงถึงสถาปัตยกรรมแนวราชสำนัก (Imperial Court) ที่ยังคงอยู่โดดเด่นจนทุกวันนี้คือ Phoenix Hall




ภาพหอฟีนิกซ์ ซึ่งปรากฏอยู่ด้านหลังของเหรียญ 10 เยนด้วย



ผู้เขียนเป็นคนช่างสงสัยว่าอะไรจึงทำให้เกิดการมอบบ้านพักที่ต้องหรูหราสมฐานะขุนนางให้เป็นวัด และ วัดเบียวโดอินนั้นมาถึงยุคนี้ ผ่านไปร่วม1000 ปี ยังสำคัญถึงกับได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกแน่ะ คนชอบตั้งคำถามค่ะ เลยต้องไปค้นคว้าหาอ่านเรื่องราวที่จะทำให้เข้าใจ


เรื่องราวน่าสนใจมากจริงๆค่ะ


อย่างแรกเลยข้อมูลที่ค้นคว้าทำให้ได้ทราบว่าการเกิดขึ้นของ วัดเบียวโดอิน นี้อยู่ในช่วงยุคเฮอัน Heian Period (ค.ศ.794-1185)

ที่จริงยุคเฮอันเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองมากทางศิลปวัฒนธรรม โดยมี Heian-kyo เป็นเมืองหลวง(ย้ายเมืองหลวงจากนารา) ซึ่งคือ เกียวโต ในปัจจุบัน ทว่าทุกสิ่งเมื่อมีความเจริญ ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา


จากเริ่มแรกที่พุทธศาสนาซึ่งเข้ามาผ่านทางเกาหลีจนเจริญรุ่งเรืองมากใน ยุคนารา ซึ่งเมืองหลวงอยู่ที่ นารา (ก่อนจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคเฮอัน และย้ายเมืองหลวง) ช่วงดังกล่าวพุทธศาสนามุ่งในพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับราชวงศ์และชนชั้นสูง คนธรรมดาไม่ได้เข้าใจหรือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานัก


พอถึงปลายๆยุคนารา เริ่มมี พุทธแนววัชรยานเข้ามาอีกสองนิกาย คือ เทนได Tendai และ ชินง่อน Shingon จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่นมีหลายนิกายเหลือเกินค่ะ และแต่ละนิกายจะรุ่งเรืองหรือเสื่อมนั้นภาวะการเมืองมีอิทธิพลอย่างมาก


ถึงปลายๆยุคเฮอัน ปี ค.ศ. 1052 ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นถือว่าเป็นปีแรกของ ยุคเสื่อม-ยุคมืด ของธรรมะที่อยู่ในสังคมช่วงยุคนั้น รอวันสว่างในอนาคต ในโลกหน้า



พุทธศาสนานิกาย โจโด Joudo หรือ Pure Land Buddhism หากเรียกเป็นไทยก็น่าใช้คำว่า นิกายแดนสุขาวดี จึงได้กำเนิดขึ้นและแพร่หลายไปในหมู่คนทั่วไปทุกชนชั้นไม่จำกัด เพศ อาชีพ ใครก็สามารถเข้าถึงธรรมะได้ ด้วยแนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะในตน หากผู้นับถือ ปฏิบัติ มีศรัทธาแน่วแน่ย่อมได้รับความเมตตาจากพระพุทธเจ้า เป็นแนวคิดที่มีรากฐานความศรัทธาเรื่อง พระโพธิสัตว์ในพุทธแบบมหายานนั่นเองค่ะ


ยุคเฮอันนี้ตระกูลขุนนาง Fujiwara คือผู้มีอำนาจในการปกครองแท้จริง จักรพรรดินั้นเพียงปกครองในนาม ก็ตระกูลฟูจิวาระใช้กลยุทธ์ให้ตระกูลของตนแต่งงานกับตระกูลของจักรพรรดิ ราวนิยายทีเดียวค่ะ ถึงขนาดที่ว่า จักรพรรดิหลายพระองค์ในยุคเฮอันนี้มีพระมารดามาจากตระกูลฟูจิวาระ


ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับอำนาจก็คล้ายๆกันแทบทุกชาตินะคะ


วัดเบียวโดอิน จึงเป็นวัดใน นิกายโจโด ที่สร้างขึ้นด้วยความหวังในดินแดนสุขาวดี เมื่อมีการมอบบ้านพักหรูให้เป็น วัดเบียวโดอินในปี 1052 ยังไม่พอ Fujiwara-no-Yorimichi ได้สร้างหอ Amida Hall เพิ่ม แล้วเสร็จและมอบให้วัดในปี 1053 ให้เป็นที่ประดิษฐาน พระอมิตาภพุทธะ (Amitabha) ที่มีความละเอียดเป็นเลิศ เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักปิดทอง ประทับนั่งอยู่บนดอกบัว กลีบบัวทำด้วยโลหะ และพระรัศมีแกะสลักเป็นกรอบอยู่หลังองค์พระมีความละเอียดงดงามมาก ก็แกะสลักโดยปรมาจารย์การแกะสลักพระพุทธรูปของยุคนั้นทีเดียวค่ะ


พระพักตร์ของ พระอมิตาภพุทธะ (Amitabha) ในหอฟีนิกซ์

https://en.wikipedia.org/wiki/By%C5%8Dd%C5%8D-in#/media/File:Byodoin-PhoenixHall-M1264.jpg



จุดเด่นหลักในการมาชมวัดเบียวโดอิน คือชม Amida Hall ซึ่งสร้างอย่างประณีตสวยงาม คนมักจะเรียกว่า หอฟีนิกซ์ Phoenix Hall เพราะมีรูปนกฟีนิกซ์อยู่บนยอดหลังคา และหอฟีนิกซ์นี้ยังมีสภาพสมบูรณ์จนบัดนี้ เป็นหนึ่งในอาคารไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นที่ยังหลงเหลืออยู่

(ส่วนอาคารเบียวโดอินนั้นถูกทำลาย/สร้างขึ้นใหม่หลายครั้งตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา)


วัดเบียวโดอินได้รับการจดทะเบียนให้เป็น World Cultural Heritage Site



กราฟฟิคแสดงหอฟีนิกซ์ล้อมรอบด้วยสระน้ำ รูปร่างอาคารราวนกสยายปีก


แม้ว่าบริเวณจะไม่ได้กว้างใหญ่ แต่ความสำคัญนั้นมีมากยิ่งค่ะ นอกจากเป็นวัดแรกที่สร้างตามคติพุทธนิกายโจโด สวน อาคาร สระน้ำ ล้วนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นรูปแบบ Pure Land Garden ที่วัดอื่นๆที่สร้างในภายหลังได้นำแนวคิดไปใช้


ปัจจุบันวัดเบียวโดอิน มีสองนิกายร่วมกันบริหารคือ โจโด และนิกายย่อยของนิกายเทนได



ที่วัดเบียวโดอินยังเป็นที่เก็บงานศิลปะด้านศาสนาในยุคเฮอันอีกจำนวนมากที่ขึ้นทะเบียนเป็น สมบัติของชาติ National Treasures เขาทำนิทรรศการจัดแสดงอย่างดีมากใน Byodo-in Museum ซึ่งเข้าชมฟรี



ข้างในจะน่าชมเพียงไร เชิญชมจากคลิปค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=Jm2oMRKl4dc


แค่ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ก็น่าชมเพราะทำได้ทันสมัยแต่เรียบหรู ดูดี กลมกลืนไปสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของวัด ห้องจัดแสดงอยู่ต่ำลงไปจากผิวดิน เพื่อไม่ให้อาคารสูงขึ้นมาแปลกแยกกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ


การออกแบบอาคารได้รับรางวัลหลายรางวัลค่ะ

http://www.kuryu.com/projects_completion_byodoin_E.html



มีโอกาสเยือนญี่ปุ่นสนใจไปชม ดูรายละเอียดการเปิด/ปิด และค่าเข้าชมที่นี่นะคะ

(http://www.byodoin.or.jp/ja/en.html)


สรุปแล้วมาเยือนวัดเบียวโดอินคุ้มค่าเหลือเกิน ทั้งได้ชมสวนอันร่มรื่น หอฟีนิกซ์ที่สง่างาม และ พิพิธภัณฑ์เบียวโดอินซึ่งเป็น Temple Museum แห่งแรกในรูปแบบทันสมัยที่เก็บสมบัติของชาติหลายชิ้น


ผู้เขียนได้เห็นการจัดการ การออกแบบสิ่งแวดล้อม(แม้แต่อาคารห้องสุขา) การดูแลบริหารสถานที่ที่เป็นมรดกโลกเช่นนี้แล้วก็ถอนหายใจอีกครั้งค่ะ นึกถึงพระนครศรีอยุธยา จังหวัดที่ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ และเป็นมรดกโลกเช่นกัน แต่เกือบๆเขาจะยึดเครดิตการเป็นมรดกโลกคืนไปให้อับอายกันทั้งชาติ



ตอนหน้าออกจากวัด ไปเดินเลียบแม่น้ำกันให้สดชื่นค่ะ ยังมีอะไรน่าสนใจให้ชมอีกค่ะ


หมายเลขบันทึก: 630685เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2017 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2017 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณคุณนุชค่ะ. ที่บันทึกการเดินทางญี่ปุ่นมาแบ่งปัน...ยายธีรักการดูและอ่าน..การเดินทางที่ทำให้ไม่ต้อง..(ไปเอง..)..ตรงนี้รักเป็นที่สุด เวลานี้..เจ้าค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท