ชาวพุทธกับการบูชาเทพฮินดู


ชาวพุทธบูชาเทพฮินดูผิดหรือ?

วันนี้อยากชวนคุยเรื่อง การบูชาเทพฮินดู ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เรียกตนว่าเป็นชาวพุทธ... 

หากตั้งคำถามว่าชาวพุทธ บูชาเทพฮินดูผิดหรือไม่ ? ถ้าตอบว่าผิด ผิดเพราะอะไร และถ้าตอบว่าไม่ผิด ก็ทำไมเล่าจึงไม่ผิด ทั้งที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้กราบไหว้อ้อนวอนอย่างไร้เหตุผล ทรงสอนให้พึ่งพาตนเอง ความสำเร็จหรือความล้มเหลวงของมนุษย์เกิดจากการกระทำของตนเอง ไม่ใช่มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ 

ผู้เขียนคิดว่า หากนำคำสอนของทั้งสองศาสนา ในแง่ที่จะกล่าวต่อไปนี้มาพิจารณา ก็คงพอจะให้คำตอบได้

ข้อแรก : ศาสนาพุทธสอนให้รู้จักบูชาผู้ที่ควรบูชา คือการบูชาที่คุณธรรมความดีของบุคคล ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงธรรมในตัวบุคคล (คือผู้ที่ทำการบูชา) เพื่อเคารพต่อธรรมที่มีในบุคคลอื่น (ผู้ที่เราบูชา) 

ข้อสอง : พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามหรือตัดรอน การอุปถัมภ์นักบวชหรือผู้ทรงศีลในศาสนาอื่น (ข้อนี้อาจจะมีผู้แย้งมาก จากการอ่านข้อความในพระไตรปิฏกเพียงบางหมวด ซึ่งจะนำมาชี้แจงเพิ่มเติมในโอกาสหน้า)

ข้อสาม : ศาสนาฮินดูให้คุณค่าของการบูชาเทพเจ้าหรือพระเจ้าว่า คือการภักดีอย่างที่สุด เขาจะน้อนนำเอาคุณธรรมของเทพองค์นั้นมาใส่ตน เป้าหมายแท้จริงก็เพื่อเป็นสะพานนำสู่พระเป็นเจ้า ซึ่งหมายถึงสัจธรรมสูงสุดของเขา

ข้อสี่ : ทั้งสองศาสนา รวมถึงศาสนาอื่นๆ ในโลกด้วย ล้วนมีลักษณะที่ต้องตีความ ดังนั้น ไม่ว่าเทวดาในศาสนาพุทธ หรือเทพในศาสนาฮินดู ก็ล้วนเป็นสัญลักษณ์ซึ่งมีความหมายสู่ธรรมะ หรือเรียกว่าเป็นสื่อสอนธรรมก็ได้

จากหลักการพื้นฐานที่กล่าวมานี้ อาจคิดได้ว่า ถ้าชาวพุทธจะศรัทธาเทพฮินดูในคุณธรรมขององค์เทพ ซึ่งก็สามารถศึกษาตีความได้จากตำนานของเทพองค์นั้นๆ แล้วคิดนึกน้อมนำเอามาปฏิบัติก็จะเกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม เช่น ความกตัญญูจากตำนานพระพิฆเนศเสียงา ที่ยอมเอางาไปรองรับขวานที่พระศิวะประทานให้ปรสุราม ไม่สู้แม้สู้ได้ ก็เพราะความกตัญญูต่อพระศิวะ หรือ การที่ผู้บูชาพระแม่สรัสวตี มีจิตฝักใฝ่ผูกพันกับการเรียนรู้ เสมือนความภักดีต่อพระแม่สรัสวตี เป็นต้น 

โดยนัยนี้ ถ้าผู้บูชาศรัทธาเทพองค์ใดแล้วมีปณิธานปฏิบัติตามคุณสมบัติหรือคุณธรรมของเทพองค์นั้น ก็จะเป็นเสมือนการปฏิบัติบูชา คล้ายกับที่ศาสนาพุทธสอนเรื่องการปฏิบัติบูชาเช่นกัน

แม้แต่อามิสบูชาที่จัดหาเสนอต่อเทพ ชาวพุทธก็สามารถนำมาเชื่อมสู่การปฏิบัติพุทธธรรมพื้นฐานที่เราคุ้นเคยได้ ไม่ให้บูชาแบบไร้เหตุผลเสียเปล่าไป

ขอแนะนำให้คิดถึง ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งสอดคล้องกับธรรมะพื้นฐานของทั้งฮินดูและพุทธ กล่าวคือ ...

เมื่อทำพิธีกรรมบูชาเทพนั้น ก็ให้เปลี่ยนจากการสวดอ้อนวอนที่จิตหวั่นไหวถูกครอบงำด้วยความต้องการหรือความกลัว เป็นการสวดมนต์เพื่อสร้างสมาธิ และจากการถวายหรือบนบานที่เสมือนเป็นสินบน ก็เปลี่ยนเป็นการถวายเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลศาสนสถานและนักบวชที่มีอยู่ในสถานที่นั้นให้มีปัจจัยเพียงพอที่จะบำเพ็ญตนไปตามคำสอนของศาสนาได้ โดยมีเทพเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือเป็นประธานรับรู้การให้ของเรา แม้แต่การซื้อของบูชาจากพ่อค้าแม่ค้าก็คิดในเชิงของเมตตากรุณาได้ว่า เป็นการกระจายรายได้ในสังคม ช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นมีอาชีพเลี้ยงตัว ซึ่งเทพย่อมชื่นชม ผู้บูชาก็จะเกิดความอิ่มใจและมีสติในการให้อย่างเหมาะสม ไม่ตระหนี่หรือให้มากจนเกินความจำเป็น ส่วนเรื่องศีลนั้น ตามปรกติเมื่อบุคคลใดเคารพศรัทธาเทพองค์ใดแล้วก็มักจะมีข้อกำหนดให้ปฏิบัติเพื่อบูชาองค์เทพนั้น ๆ ซึ่งล้วนอยู่ในกรอบของศีล 5 ในขณะที่การภาวนาหรือบริกรรมที่เกิดขึ้นในพิธีบูชานั้น คือการที่มุ่งจิตอยู่ที่องค์เทพ ดังนั้นเมื่อปรารถนาสิ่งใดที่ได้บอกกล่าวแก่ท่านไว้ ก็เท่ากับเราได้ผูกจิตมุ่งอยู่กับเป้าหมายนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ ในที่สุดจะช่วยส่งให้เกิดปัญญาเห็นทางออกขึ้นได้ 

ผู้เขียนเชื่อว่า หากทำการบูชาและประกอบพิธีกรรมโดยความหมายเช่นนี้ ผู้บูชาจะเป็นที่รักของเทพอย่างแท้จริง เทพย่อมประทานความสำเร็จให้ตามกำลังบุญกรรมที่ผู้บูชาสั่งสมไว้ (ไม่ใช่จากพวกวิญญาณชั้นต่ำกว่า ที่มาสวมรอย ซึ่งจะได้มาขยายความในโอกาสต่อไป) การบูชาเทพเช่นนี้ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นประโยชน์ ไม่ถือว่าผิดไปจากคำสอนของศาสนาพุทธ และยังเป็นการเอื้อเฟื้อต่อผู้มีจริตเช่นนี้ ให้ได้เข้าสู่การปฏิบัติธรรมขึ้นได้

การประพฤติโดยแนวนี้ยังนำไปใช้ได้กับ ความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในมิติอื่นๆ ที่ประสมประเสอยู่มากในวัฒนธรรมของไทยเราอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 630683เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2017 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2020 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท