ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม : ผู้จุดประกายเรื่อง “วนเกษตรเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม”


ครูธรรมชาติผู้ปลูกต้นไม้ในใจคน

ภาพแห่งความประทับใจในวันที่ 10 มิถุนายน 2560 ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามลรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานงานพระราชทานเพลิงศพผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ณ วัดห้วยหิน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายในบริเวณวัดอันจำกัด มีผู้คนจากทั่วสารทิศ หลายวงการอาชีพ หลั่งไหลมากันจนเนืองแน่น

ภาพเมรุที่สวยงามเบื้องหน้าดึงดูดใจให้พวกเรารู้สึกปลื้มปิติเป็นล้นพ้น ผมได้ยิน ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวทักทาย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ว่า “วันนี้คนดีๆ อย่างพวกเรา พร้อมใจกันมาคารวะคนดี อย่างผู้ใหญ่วิบูลย์ กันถ้วนหน้าเลยนะ” ช่างเป็นคำพูดที่สั้นและกินใจเหลือเกิน
    ผู้ใหญ่วิบูลย์เป็นใครกันหรือ จึงทำให้ผู้คนรักและอาลัยถึงเพียงนี้...

วันนั้นผมได้รับหนังสือแจกในงาน 5 เล่มคือ 1) “ชีวิตนอกสายพาน” บันทึกชีวิตผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม 2) ชีวิตนอกสายพาน 72 ปี 3) ผู้ใหญ่บุ๊น ครูชีวิต ต้นธารคิดการเรียนรู้ 4) ตำรับยาสมุนไพรสืบสานส่งต่อพัฒนา และ 5) รวมบทความ

หนังสือแต่ละเล่มมีลีลาการเขียนต่างจากหนังสืองานศพทั่วๆ ไป ตรงที่ได้ทั้งสาระ แนวคิด อ่านแล้วเกิดอารมณ์ร่วมอย่างประหลาด เพื่อให้เกิดคุณค่าทางการศึกษา ผมจะขอสรุปประวัติชีวิตท่านจากหนังสือทั้ง 5 เล่มนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันพอสังเขป กล่าวคือ

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม(ผู้ใหญ่บู๊) เกิดวันที่ 29 ธันวาคม 2479 ที่ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรนายจันดี และนางน้อย เข็มเฉลิม พื้นฐานอาชีพเดิมของบิดาเป็นหมอยาประจำบ้าน มารดาเป็นชาวนา มีพี่ 1 คนคือนายวิจิตร และน้อง 1 คนคือ นายชุ้น เข็มเฉลิม ทุกคนเสียชีวิตแล้ว

ผู้ใหญ่วิบูลย์เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่4 พออายุได้ 14 ปี ก็ตัดสินใจเดินทางเข้าจังหวัดพระนคร มาทำงานเป็นลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายยาจีน โรงพิมพ์ ฯลฯ ควบคู่กับการเรียนการศึกษาผู้ใหญ่จนจบระดับมัธยมปลาย

พ.ศ. 2504 ประเทศไทย ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก มุ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชนบทไทยให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด ผู้ใหญ่วิบูลย์เริ่มเห็นโอกาสที่จะสร้างความร่ำรวย จึงลาออกจากงานที่พระนคร เดินทางกลับบ้านเกิดมาเป็นนายหน้าจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตรและเคมีภัณฑ์ เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตการเกษตรจากชาวบ้านไปขาย รวมทั้งขยายแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อปลูกมันสำปะหลัง ช่วงนั้นผู้ใหญ่วิบูลย์มีฐานะความเป็นอยู่ที่เข้าขั้นสุขสมบูรณ์มาก และได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านของบ้านห้วยหินด้วย
ต่อมาผลผลิตการเกษตรเริ่มมีปัญหา ราคาผลผลิตตกต่ำ เกิดปัญหาหนี้สินโดยถ้วนหน้า ผู้ใหญ่วิบูลย์ตกอยู่ในสภาพล้มละลาย ต้องขายทรัพย์สินและที่ดินกว่า 200 ไร่ เหลือไว้เพียง 9 ไร่สุดท้าย

ผู้ใหญ่วิบูลย์จึงหันกลับมาทบทวนบทเรียนความล้มเหลวที่ผ่านมา แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่บนผืนดิน 9 ไร่ที่เหลือ ด้วยการปลูกผักบุ้งแปลงเล็กๆ ผักสวนครัวโตเร็ว เพื่อใช้เป็นอาหาร ไม่นานวันก็ได้เก็บกินยอด เหลือกินก็นำไปขายทำให้ได้ความคิดเรื่องการพึ่งตนเอง จากนั้นได้วางแผนเพาะปลูกพืชเพื่อการพึ่งตนเองอย่างจริงจัง โดยรวบรวมพันธุ์พืชที่คุ้นเคยในอดีตมาปลูก เช่น พืชผัก สมุนไพร ไม้ล้มลุก ว่าน ไม้หัว ไม้เลื้อย ไม้ผลยืนต้น รวมไปถึงไม้ป่าต่างๆ

ไม่นานนักความชุ่มชื่นร่มเย็นและความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ 9 ไร่ ได้ค่อยๆ หวนคืนกลับมาอีกครั้ง พ.ศ.2525 ผู้ใหญ่วิบูลย์มีโอกาสร่วมไปเยือนและพูดคุยกับเกษตรกรในประเทศเยอรมนีทำให้เห็นโลกกว้างมากขึ้น หลังจากนั้นผู้ใหญ่วิบูลย์ได้สรุปบทเรียนที่สะท้อนความจริงของชีวิตชนบทไทยในวงจรเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่แขวนไว้กับสายพานของระบบอุตสาหกรรม อันนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน
ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้เสนอทางออกที่เป็นไปได้ คือการหวนกลับคืนสู่วิถีชีวิตที่พึ่งตนเอง และนำเสนอแนวคิด “วนเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง” อย่างเป็นรูปธรรม ผืนป่า 9 ไร่ของผู้ใหญ่วิบูลย์เป็นสถานที่ทดลองและเป็นบททดสอบแนวคิดดังกล่าว ผู้ใหญ่วิบูลย์เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมเยือนดูงานมิได้ขาด

ความหมายของวนเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองตามแนวคิดของผู้ใหญ่วิบูลย์นั้นหมายถึง แหล่งสร้างปัจจัยสี่แก่ครอบครัว มีอาหารสำหรับบริโภค มีสมุนไพรยารักษาโรค มีสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นสถาบันการเรียนรู้เสมือนเป็นการปฏิบัติธรรม ที่สอดคล้องกับแนวทางพุทธศาสนา ดังที่นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนไว้ในหนังสือ “ผู้ใหญ่บุ๊น ครูชีวิตต้นธารคิดการเรียนรู้” ความตอนหนึ่งว่า
“จุดเปลี่ยนของผู้ใหญ่วิบูลย์นั้นสอดคล้องกับแนวทางพุทธศาสนาคือ อริยสัจสี่ เริ่มจากการ “รู้จักตัวเอง” กำหนดว่าอะไรคือตัวปัญหาเรียกว่ารู้จัก “ทุกข์” เมื่อรู้จักทุกข์ ก็ใคร่ครวญว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่ดิน 9 ไร่ที่เหลือก็เปลี่ยนมาทำเกษตรบนความเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินเยอะๆ ก็พอกิน เพียงแต่ทำความเข้าใจความหมายของเกษตรที่หมายถึงชีวิต ถ้าเอาชีวิตไปขาย ก็อยู่ไม่ได้ เพราะเกษตรกรรม คือการดำรงชีวิต มีชีวิตที่เกี่ยวกับดิน จริงอยู่ว่าจะต้องมีเรื่องตลาด แต่ควรจะเป็นการตลาดที่ไม่ใช่เพื่อธุรกิจการแข่งขัน เพื่อไปจบที่หนี้สิน แล้วผู้ใหญ่วิบูลย์ก็เลือกการเกษตรแบบยั่งยืน ปลูกทุกอย่างที่กินได้คละกันไปในพื้นที่เพียง 9 ไร่ เรียกว่า “วนเกษตร” เพราะจำลองระบบนิเวศป่ามาอยู่ในเมือง ภายในป่าผืนนี้ไม่ได้มีแค่ต้นไม้ แต่เต็มไปด้วยงานทดลองและประสบการณ์ที่กลายเป็นชุดความรู้ หลายปีที่ผ่านมาที่นี่เป็นโรงเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย

รูปธรรมคือการปรับเปลี่ยนจากระบบเกษตรกรรมที่เอาเงินเป็นตัวตั้งมาเป็นเกษตรกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทุกทิศทุกทาง จากการปลูกต้นไม้ชนิดเดียว คือ มันสำปะหลัง อันทำลายความหลากหลายทางธรรมชาติจนหมดสิ้น ทำงานหนักหนี้สินมากขึ้น สุขภาพทรุดโทรม เกิดความเครียดในชุมชน จนมีการฆ่ากันตายแทบทุกคืน คนกินเหล้าและใช้ยาเสพติดมากขึ้น ความสุขความสงบในชุมชนปลาสไป เหมือนตกนรกทั้งเป็น ไปสู่ระบบเกษตรกรรมเพื่อชีวิตที่ทำหลายอย่างเชื่อมโยงกันแทนที่จะมีต้นไม้ชนิดเดียวคือมันสำปะหลังก็กลายเป็นมีต้นไม้หลายร้อยชนิด ความเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติกลับคืนมา ธรรมชาติคืนกลับสู่สมดุล ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง วิหค กระรอก และสัตว์นานาชนิดมีป่าเป็นที่อยู่อาศัยอย่างรื่นเริง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กทุกคนมีกินอิ่มอย่างเหลือเฟือยังขายส่วนเกินได้อีก หลุดหนี้และมีเงินออมมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนมีเวลามากขึ้นที่จะคุยกับพระบ้าง คุยกันเองเรื่องจะทำอะไรเพื่อคนแก่และเด็กบ้าง ดังนี้เป็นต้น

วนเกษตร จึงเป็นเสมือนการรู้แจ้ง เป็นมรรคที่เดินแล้วไปสู่ความเจริญ วนเกษตรเกิดขึ้นจากปัญหา และปัญหานั้นกลายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเรียนรู้เรื่องชีวิต ก็คือการพึ่งตัวเอง พอทำไปได้สักพัก ก็เริ่มมีกิน ยังไม่มีเงิน แต่ของกินเริ่มมากขึ้น จากการที่ปลูกกับมือ ไม่ต้องจ้างใคร ทำให้เกิดความเข้าใจว่า...เงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต

การเรียนรู้เรื่องวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์จากเพื่อชีวิตได้พัฒนาสู่วนเกษตรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้สรุปบทเรียนจากการปฏิบัติจริงเป็นหลักแนวคิดไว้เรียกว่า “3 รู้ 3 แผน และ 5 จัดการ” กล่าวคือ

3 รู้คือ การทำความเข้าใจในเรื่องชีวิต จิตใจและผลประโยชน์ ดังนี้

รู้ที่ 1 คือ รู้ตนเอง ต้องรู้จักตนเองว่าตนเองกำลังทำอะไร มีรายได้จากอะไร มีรายจ่ายอะไรบ้าง

รู้ที่ 2 คือ รู้ปัญหา คือมีความรู้และความเข้าใจหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดว่าเกิดจากอะไร สิ่งใดทำให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมา

รู้ที่ 3 คือ รู้ทรัพยากร คือ รู้ว่าสิ่งที่เรามีคืออะไร สิ่งที่มีรวมไปถึงศักยภาพ สติปัญญา ความรู้ความสามารถของเราด้วย

เมื่อมีความรู้แล้วเราจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเชื่อในสติปัญญาและความสามารถที่เรามีในการแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ ซึ่งในการแก้ปัญหาเราจะต้องมีการวางแผนเพื่อแก้ปัญหา หรืออาจจะสร้างแนวทางในการดำเนินชีวิต จากรากฐานของชีวิตที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ซึ่งประกอบไปด้วย 3 แผน คือ

แผนที่ 1 แผนชีวิตและครอบครัว เพื่อสร้างรากฐานให้กับตนเอง

แผนที่ 2 แผนชุมชุน เพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคม

แผนที่ 3 แผนจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

เมื่อมีความรู้มีความเข้าใจในปัญหา สามารถนำมาวางแผนแล้วจึงนำความรู้ความสามารถมาจัดการกับทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น มีชีวิตที่มีความมั่นคงยั่งยืนซึ่งในการจัดการจะทำให้เรารู้ว่าสิ่งใดเป็นความต้องการ หรือสิ่งใดคือความจำเป็น ซึ่งสิ่งที่ได้เน้นย้ำในการจัดการเพื่อให้มีชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงยั่งยืนมี 5 เรื่องที่ต้องจัดการ ได้แก่

จัดการที่ 1 ข้าว เพราะเราคนไทยต้องกินข้าวทุกวัน

จัดการที่ 2 อาหาร เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต

จัดการที่ 3 ยาสมุนไพร แก้ปัญหาเวลาเจ็บป่วย

จัดการที่ 4 ของใช้ที่จำเป็นเช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม

จัดการที่ 5 ดินและการฟื้นฟูดินด้วยจุลินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อการเพาะปลูกในที่ดินที่มีอยู่
เมื่อมีความรู้ความเข้าใจ รู้จักการวางแผนและรู้วิธีการจัดการ เราจะเห็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาในหลายๆช่องทาง ได้มีข้อเปรียบเทียบในการแก้ไขปัญหานั้นๆ เพื่อให้การดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้

ผู้ใหญ่วิบูลย์พิสูจน์ให้เห็นว่าวนเกษตรที่สมบูรณ์จะมีพืชพรรณ 7 ระดับชั้นซึ่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยอาหารและยา (FAO) มาทำการสำรวจในพื้นที่ 9 ไร่ของผู้ใหญ่วิบูลย์พบว่ามีพันธุ์ไม้กว่า 500 ชนิด ใน 7 ระดับกล่าวคือ

ระดับที่ 1 ไม้ยืนต้นหลัก เป็นไม้เรือนยอดส่วนบนสุดของป่า ไม้วงศ์ยางเป็นไม้เด่นในป่าเมืองไทย มีประมาณ 20 ชนิด อาทิ ยางนา ยางแดง ยางยูง ยางพลวง ยางเหียง ฯลฯ กระบาก จันทน์กะพ้อ ตะเคียน เต็ง พะยอม จำปาทอง กะบก นนทรี กระท้อนป่า ประดู่ เทพทาโร มะค่าโมง สักทอง
ระดับที่ 2 ไม้ระดับกลาง อาทิ ขนุน กระท้อน มะไฟ มะขาม อิน จัน มะแปม มังคุด ส้ม หมาก ลิ้นจี่ป่า ส้มโอ มะพูด ตะลิงปิง น้อยหน่า มะม่วง ชะมวง มะรุม มันปู มันปลา พิกุล บุนนาค สารภี อบเชยไทย อบเชยเทศ อบเชยป่า
ระดับที่ 3 ไม้ยืนต้นระดับล่าง อาทิ ชะอม เสม็ด ติ้ว แต้ว ก้านตรง มะกรูด มะนาว ยอ พริก มะเขือ แค เต่ารั้ง กล้วย ฝาง จันทนา จันทน์แดง กานพลู ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า มะละกอ

ระดับที่ 4 ไม้คลุมดิน อาทิ ตำลึง ตะไคร้ ผักแพว สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร บัวบก ผักไผ่ โด่ไม่รูล้ม
ระดับที่ 5 ไม้น้ำ อาทิ ธูปฤาษี บัวหลวง ผักพาย ผักหนาม ผักกูด สันตะวาใบพาย
ระดับที่ 6 ไม้หัวใต้ดิน อาทิ ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย กระเจียว ข่า กระชาย กระทือ เร่ว บุก
ระดับที่ 7 ไม้เลื้อย อาทิ หวาย ดีปลี พริกไทย โคคลาน กำลังเสือโคร่ง เถาเอ็นอ่อน ขมิ้นเครือ กำแพงเจ็ดชั้น
มีผลงานที่เกิดจากแนวคิดและการต่อยอดสืบสานโดยผู้ใหญ่วิบูลย์ อีกหลายเรื่องที่สามารถหาอ่านได้จากหนังสือฉบับเต็ม เช่น การปลุกกระแสสมุนไพรให้หวนคืนสังคมไทย งานของศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตร การกลับมาของฝูงกระทิงที่เขาแผงม้า น้ำมันว่านพุทธมนต์ 108 ทัพหน้าตำรับยาในวิถีชุมชุนชนเกษตร งานรณรงค์อนุรักษ์ผืนป่าตะวันออก เป็นต้น

เกียรติคุณและรางวัลสำคัญๆ ที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้รับ เช่น

  • รางวัลคนดีศรีสังคม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2532
  • ประกาศเกียรติคุณ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ผู้ให้ความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาของชาติ ในระดับมัธยมศึกษา โดยให้ความอนุเคราะห์ในการประชุมสัมมนาและศึกษาดูงานโครงการวนเกษตร จาก ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2532
  • เกียรติบัตรบุคคลดีเด่นของชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรการเอกลักษณ์ของชาติสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2533
  • รางวัลเชิดชูเกียรติผู้นำชุมชนตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2534
  • รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติสาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกษตรดีเด่นเอเชียแปซิฟิกของ FAO องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2535
  • ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา พ.ศ.2539
  • ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2546
  • รางวัลปราชญ์ของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2551
  • รางวัลครูยิ่งคุณ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พ.ศ. 2558
  • ตำแหน่งสำคัญ คือ
  • สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2539 – 2543
  • สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2550 – 2552

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานได้แก่ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

นายวิบูลย์สมรสกับนางสาวสมบูรณ์ นาคมงคล เมื่อพ.ศ.2510 มีบุตร 3 คนคือ นายครรชิต นางชลธิชา นพเกตุ และนางสาวจรรยา เข็มเฉลิม

ต้นปี 2558 ผู้ใหญ่วิบูลย์ประสบอุบัติเหตุล้มในห้องน้ำ แม้การรักษาจะเป็นไปด้วยดี แต่การรับรู้ไม่อาจกลับคืนมา ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง จนถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 13 มิถุนายน 2559 สิริอายุได้ 79 ปี 5 เดือน 15 วัน

...ดั่งเทียนธรรม ส่องไทย ไปทุกหน

คือยอดคน แห่งชุมชน เมืองสนาม

ชัยเขต วนเกษตร เลื่องลือนาม

ช่างงดงาม ธารน้ำใจ “ผู้ใหญ่วิบูลย์”
-----------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 630041เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2017 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2020 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอคารวะผู้ใหญ่ผู้ใจไปครับ

ท่านศน สบายดีไหมครับ

ไม่ค่อยได้ข่าวเลย

จากบุญถึง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท