ประวัติศาสตร์หลวงปู่หิน อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม


หลวงปู่หินพระพุทธรูปคู่อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม เป็นพระพุทธรูปที่มีประวัติศาสตร์สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้คนในอำเภอ มีความเป็นมาน่าศึกษา เกิดความเชื่อเเละความยึดมั่นทางจิตวิญญาณ อันเกี่ยวข้องกับผู้คนอำเภอชื่นชม ในจังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ในบทความนี้นี้ผู้เขียนมีเจตนารมณ์เพื่อต้องการนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลวงปู่หิน ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม เเละข้อสันนิฐานที่น่าสนใจ เพื่อเป็นวิทยาทานในการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

ลักษณะโดยทั่วไปนั้น หลวงปู่หินสร้างด้วยหินศิลาแลงทั้งองค์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหน้าตักกว้าง ๑๐๐ เซนติเมตร สูง ๑๕๐ เซนติเมตร เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั้งอำเภอชื่นชม มหาสารคามตั้งแต่อดีตที่มีการขุดค้นพบจนถึงปัจจุบัน โดยมีคำขวัญอำเภอที่ว่า "ชื่นชมถิ่นคนดี กะหล่ำปลีและอ้อยหวาน ลำธารห้วยสายบาตร ธรรมชาติเห็ดป่าโคกข่าว กราบเจ้าหลวงปู่หิน" ชาวบ้านเชื่อกันว่าท่านเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ สามารถอำนวยผลให้ประสบความสำเร็จได้ตามคำขอนั้นๆ ปกติจะมีคนเข้ามาปิดทองสักการะและบนบานศาลกล่าวเป็นประจำและมักจะได้ตามคำขอเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ยิ่งเสริมแรงศรัทธาของผู้คนให้หลั่งไหลเข้ามาวัดอย่างไม่ขาดสาย ไม่เพียงแต่คนในอำเภอเท่านั้น คนต่างอำเภอและต่างจังหวัดก็มาสักการะบูชาหลวงปู่เช่นเดียวกัน

๑) ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและความสำคัญ

หากจะอธิบายถึงประวัติศาสตร์ของหลวงปู่หินนั้น มีประวัติศาสตร์หมู่บ้านผือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เพราะทั้ง๒ประวัติศาสตร์นี้เชื่อมร้อยเข้าด้วยกันจึงจะสามารถอธิบายได้ในมิติเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ประวัติศาสตร์ช่วงการสร้างองค์พระถึงก่อนค้นพบนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างสมัยใด ฉะนั้นแล้วบทความนี้เน้นอธิบายถึงประวัติศาสตร์ช่วงการค้นพบมาถึงปัจจุบัน โดยอาศัยหลักฐานจากโบราณวัตถุ ตำนาน คำบอกเล่าเหตุการณ์บางส่วนของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่และรายงานของเทศบาล โดยสามารถจัดเป็นมิติเวลาได้ดังนี้ 

  • ประมาณก่อน พ.ศ. ๒๓๘๐ : ยุคก่อนค้นพบ(ช่วงรัชกาลที่ ๓ ขึ้นไป) ในช่วงนั้นบริเวณที่เป็นแหล่งบ้านเก่าชื่อ "โนนบ้านเก่า" ยังไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ขณะนั้นเป็นโนนป่าทั่วไปตามลักษณะภูมิประเทศของลาวล้านช้างในขณะนั้น ซึ่งโนนป่านี้เองเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของคนสมัยก่อน ปัจจุบันเป็นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเก่าของชาวบ้านผือ ตำบลหนองกุง อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม
  • ประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๐-๒๔๐๐ : ยุคเริ่มตั้งถิ่นฐานใหม่ จากเดิมที่บรเิวณนี้ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่นั้น ต่อมาได้มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวลาวไม่ทราบกลุ่มชัดเจน อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่โนนบ้านเก่าดังกล่าวขณะนั้นเป็นลักษณะของ "โนนป่า" ทั้งนี้สภาวะการณ์ทางการเมือง ณ ขณะนั้นสยามรบกับลาวระหว่างรัชกาลที่๓และเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์ลาว ผลคือ ลาวแพ้ ทำให้สยามกวาดต้อนคนลาวเข้ามาอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงประมาณ ๕ แสนคน ชาวลาวเหล่านี้อาจนำผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งรากฐานที่โนนบ้านเก่าก็อาจสันนิฐานได้ หรือเป็นความตั้งใจในการสร้างบ้านแปงเมืองตามหลักการขยายอำนาจของเอชียอุษาคเนย์ก็อาจเป็นได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัด เพราะมีเพียงตำนานเล่ากันมาในท้องถิ่นเท่านั้น
  • ประมาณ พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๑๐ : ยุคอพยพย้ายไปบ้านใหม่ จากเดิมที่โนนบ้านเก่ามีลักษณะเป็นโนนป่า ทำให้มีโขลงช้างป่าบุกเข้ามาทำลายบ้านเรือและคนในหมู่บ้าน ตลอดจนมีสัตว์ร้ายอื่นๆเข้ามา ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้นต่างหวาดกลัวและหวาดระแวงอยู่เสมอ อีกทั้งด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์บอกว่า เป็นที่ทางไม่ดี จึงได้พากันอพยพมาอยู่ ณ บริเวณหมู่บ้านผือในปัจจุบัน เดิมบริเวณหมู่บ้านผือใหม่ ณ ตอนนั้นก็มีคนอามาศัยอยู่ก่อนแล้วแต่มีจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ดีชาวบ้านพยายามที่จะอพยพย้ายมาบริเวณบ้านใหม่เกือบทั้งหมด และตั้งวัดโพธิ์ศรี พ.ศ.๒๔๑๐ ณ บ้านผือ(ใหม่)
  • ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๕๑๑ : ยุคค้นพบหลวงปู่หินและความสงบปลอดภัย โดยหลังจากที่ถูกโขลงช้างเข้ามาทำลายบ้านเรือนและความเป็นอยู่เดิม ไม่นานต่อมามีชาวอุบลราชธานีนำโดย หมื่นจำเริญ (ต้นสกุลแข็งฤทธิ์) หมื่นมัย (ต้นสกุลแสงจันทร์) นายศรีหามาตร บุตรวงศ์ นายศรีนงคราญ แสงจันทร์ ทั้งหมดเป็นลาวอพยพเข้ามาอยู่บริเวณบ้านใหม่ในช่วงนี้ จากที่เกิดเหตุภัยชาวบ้านไปพยายามออกไปบริเวณโนนบ้านเก่าอีกครั้ง ทำให้พบพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมาจากดิน จำนวน ๓ องค์ องค์ประธานคือหลวงปู่หิน และมี ๒ องค์เล็ก สันนิฐานว่าเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและขวา จากนั้นไม่นานชาวบ้านพยายามรื้อบ้านและเก็บข้าวของที่หลงเหลืออยู่ของตนเองกลับมายังหมู่บ้านใหม่เกือบทั้งหมด หลวงปู่หินและพระพุทธรูปองค์อื่นถูกค้นพบโดยชาวบ้านผือที่เข้าไปยังบริเวณบ้านเก่าดังกล่าว เกิดเหตุความเชื่อในขณะนั้นขึ้น คือ ขุนภักดี แสงหิม ซึ่งอาศัยอยู่บ้านผือ ณ ขณะนั้นฝันว่า "ให้ชาวบ้านไปดูแลรักษาองค์หลวงปู่แล้วจะร่มเย็นเป็นสุข" ชาวบ้านเชื่อดังนั้นจึงได้แต่งตั้งคนไปดูแลรักษาและเชื่อกันว่ามีความสุข ร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา สะท้อนอีกนัยว่าช่วง พ.ศ.๒๔๑๐-๒๕๑๑ หลวงปู่หินยังประดิษฐานอยู่ ณ โนนบ้านเก่าโดยมีชาวบ้านผือเป็นอารักขาดูแลอยู่ตลอด
  • พ.ศ ๒๕๑๑-๒๕๑๘ : กลียุคทางจิตวิญญาณ เป็นช่วงที่นายดา โยกะบุรี เป็นผู้ใหญ่บ้านขณะนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้องค์หลวงปู่หินและพุทธรูปอีก๒องค์ต้องถูกย้ายประดิษฐิ์สถาน ณ ที่แห่งอื่น ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านในบริเวณนั้นประสบกับภัยแล้งอย่างหนัก ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเหมือนดังแต่ก่อน ทำให้เกิดความเดือดร้อนในหลายชุมชนตลอดระยะเวลา ๗ ปีเป็นผลให้ชาวบ้านผือส่วนหนึ่งอพยพย้ายไปอยู่ทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย ที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า โดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้แก่ พ่อมวย แสงจันทร์ พ่อเม้า แสงหิม เป็นต้น ทั้งนี้มีแนวคิดหลักอยู่ ๒ แนวคิดที่องค์หลวงปู่ต้องถูกย้ายประดิษฐิ์สถาน ณ ที่แห่งอื่น ได้แก่ 
  • ๑) แนวคิดเรื่องการป้องกันความปลอดภัย โดยเอกสารของทางเทศบาลอธิบายว่า ในช่วงนั้นเกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับเขมร ทำให้เกิดข่าวลือว่าจะมีโจรเขมรออกลักขโมยวัตถุโบราณของแต่ละหมู่บ้านและอำเภอ "ถ้าหมู่บ้านใดเกรงว่าจะรักษาของโบราณไว้ไม่อยู่ให้เอาไปเก็บไว้ที่อำเภอ ณ ขณะนั้นบ้านผือขึ้นกับอำเภอเชียงยืน จึงเชิญไปประดิษฐิ์สถานไว้ที่วัดปัจจิมเชียงยืน โดยพระมหาชาลี ในขณะนั้นเป็นคนรับไว้ดูแลรักษา แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ต้องการให้ย้ายองค์หลวงปู่ไปจากหมู่บ้าน แต่เพราะกฎหมายของรัฐทำให้จำต้องปฏิบัติตาม
  • ๒) แนวคิดของโจรแอบอ้างอำนาจรัฐ โดยจากคำสัมภาษณ์ของคนในชุมชนหลายท่านอธิบายว่า ในช่วงนั้นนอกสภาวะการณ์ขัดแย้งไทยกับเมขรแล้วยังมีโจรอ้างสิทธิ์อำนาจรัฐมาหลอกเอาโบราณวัตถุไปขายก็มีเยอะ โดยมีนักบาปในคราบบุญ ผู้ประสงค์ร้ายแอบอ้างความชอบธรรมจากอำนาจที่เหนือกว่า ชาวบ้านจึงยอมจำนนปล่อยให้เอาองค์หลวงปู่ไป ต่อมา๗ปี ชาวบ้านไปขืนขอองค์หลวงปู่หินจากทางวัดเพื่อมาประดิษฐิ์สถานอยู่ที่หมู่บ้านดังเดิม ปรากฎว่าพระพุทธรูปเบื้องซ้ายและขวา ๒ องค์หายไป เห็นเพียงหลวงปู่หินที่รอยแกะสลักต่างๆลบเลือนไปถนัดตา เคยมีจอมแหลม(พระเกตุมาลา) แบบคล้ายศิลปะขอมยุคปาปวนหรือศิลปะแบบชาวบ้าน ก็กลับทุ้มเหมือนหักหรือถูกตัดออกไปและพระพุทธรูปสาวกทั้ง๒องค์ก็หายไปด้วย ทำให้บาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้ยังตราอยู่ในความทรงจำของคนในหมู่บ้านผืออยู่มาก ชาวบ้านจึงเข้าใจว่าคนที่เข้ามาเอาหลวงปู่หินในครั้งนั้นเป็นโจรหรือสมคบคิดกับโจรที่ขโมยพระ
  • อย่างไรก็ดีทั้งสองแนวคิดนี้ เกิดจากคนแต่ละชนชั้นในการสื่อสาร แนวคิดแรกเป็นชนชั้นผู้ปกครองเขียน เเละแนวคิดที่สองเป็นชนชั้นชาวบ้านเล่าอย่างแพร่หลายมาก แต่ละแนวคิดอาจเกิดการเข้าใจที่ผิดพลาดในบางประการก็อาจเป็นได้ 
  • อย่างไรก็ดี ๗ ปีถัดมา เกิดการรวมกลุ่มของกลุ่ม ๔ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านผือ บ้านหนองกุง บ้านท่ากระเสริม บ้านหลุบเหลา และบ้านโคกข่า รวมตัวกันเพื่อไปเรียกร้องให้นำองค์พระคืนมาไว้ที่อำเภอเพราะเชื่อว่าเดือดร้อนอย่างหนักทางความเป็นอยู่และขาดที่พึ่งทางจิตวิญญาณ องค์พระเกิดการพิพาทในการถือครองระหว่างชาวบ้านผือและวัดปัจจิม นายอำเภอเชียงยืน ณ ขณะนั้นตัดสินว่าองค์พระมาจากที่ไหนก็ให้กลับไปอยู่ที่นั่น ทำให้ชาวบ้านผือได้สิทธิ์ในการถือครององค์หลวงปู่หิน จึงได้นำหลวงปู่หินกลับอำเภอในเวลาต่อมา
  • พ.ศ.๒๕๑๘-ปัจจุบัน : ยุครุ่งเรืองทางความเชื่อและจิตวิญญาณ ยุคพ่อใหญ่บุญถันเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตรงกับสมัย มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลา ๗ ปีที่หลวงปู่หินย้ายไปประดิษฐิ์สถานที่อื่น เครือข่ายหมู่บ้านในอาณาบริเวณนี้เชื่อว่าประสบกับความแห้งแล้งอย่างหนัก เมื่อแกนนำชาวบ้านนำหลวงปู่หินค่อยเคลื่อนเข้ามายังหมู่บ้าน เกิดอัศจรรย์ มีรุ้ง ๗ สี เกิดไปทั่วหมู่บ้านจำนวนมาก และมีฝนตกลงมาให้เกิดความเย็นถนัดตา ชาวบ้านเล่าว่า "เป็นภาพที่สวยงามมากและมหัศจรรย์อย่างยิ่ง" ทำให้ผู้คนยิ่งเชื่อและศรัทธาในองค์พระ ที่มีอิทธิฤทธิปาฏิหารย์ปรากฎให้เห็น ต่อมาเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ ชาวบ้านใช้วิธีการโบราณเสียงทายไม้คาน ว่าหากท่านหลวงปู่ท่านประสงค์อยู่ที่ใด ให้ไม้คานยาวขึ้นกว่าเดิม และที่แห่งนั้นที่ไม้คานยาวขึ้นกว่าเดิมนั้น ก็อยู่ ณ โบสถ์ของวัดโพธิ์ศรี ที่ประดิษฐิ์สถานอยู่ในปัจจุบัน แรงศรัทธาและความเชื่อเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ เกิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นในชุมชนดังที่เราเห็นในปัจจุบัน

๒) ความเชื่อและที่พึ่งทางจิตวิญาณ

หลวงปู่หินเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม ผู้คนทั้งในอำเภอและต่างอำเภอต่างเคารพบูชา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจแก่ผู้คนในพื้นที่เหล่านี้ โดยเมื่อชาวบ้านจะไปกิจ งานอะไร เกี่ยวข้องกับชีวิต หน้าที่การงาน การบูรณะวัด การประสบความสำเร็จในชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตต่างๆนานา ก็จะมาปิดทองขอพรจากท่านให้สำเร็จดังที่ปราถนาไว้ โดยหากเป็นงานใหญ่อาจมีการบนกล่าวไว้ เช่น การปิดทอง ๙๙ แผ่น หรือ บนว่าจะบูรณะสร้างวัดวาอาราม หากถูกหวย เป็นต้น ซึ่งก็มักได้ตามคำขอ แต่ทั้งนี้ผู้มาบนต้องบริสุทธิ์ใจ มีความซื่อสัตย์ เป็นผู้ประพฤติในศีลธรรมอันดีงามที่มักสำเร็จผลตามคำขอ กล่าว คือ ในด้านความต้องการพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ความต้องการความมั่นคง ความร่ำรวย ความปลอดภัย ความสำเร็จ การยอมรับ เป็นต้น หากสิ่งเหล่านั้นมีความสี่ยง ชาวบ้านมักจะมาขอพรจากองค์หลวงปู่ให้ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆเสมอ หลวงปู่หินจึงเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณของชาวบ้านในทุกๆด้าน

๓) ประเพณีและการเกิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นในชุมชน

ประเพณีที่สำคัญของอำเภอชื่นชมที่เกิดขึ้นมาไม่กี่สิบปีนี้ คือ ประเพณีกราบเจ้าหลวงปู่หิน จัดขึ้นช่วงเดือนเมษายายนของทุกๆปี ในช่วงบุญสงกรานต์ โดยเทศบาลตำบลหนองกุง อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจะมีการแห่หลวงปู่หินจำลองไปรอบตำบลหรืออำเภอ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ผู้คนในอำเภอ ทั้งนี้เป็นการเปิดให้ประชาชน ณ บริเวณเหล่านั้นได้สักระ กราบไหว้และสงน้ำหลวงปู่ตามความเชื่อว่าให้ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกเรื่อง ทั้งนี้ประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านผือนั้นเป็นการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และสรงน้ำหลวงปู่หินองค์จริงด้วย มีประเพณี "การเอาพระขึ้น-เอาพระลง" ตามกาลเวลาของสงกรานต์ สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมที่เสริมความกตัญญูต่อบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และเคารพพระศาสนา

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากการบนบานศาลกล่าวเพื่อขอพรให้สำเร็จนั้น ไม่กี่ปีมานี้เกิดวัฒนธรรมการบนแบบใหม่ขึ้นในชุมชน คือ "การบนด้วยหนังกางแปลง" เชื่อแบบใหม่กันว่าใครก็ตามที่เอาหนังกางแปลงมาบนบานท่านจะสำเร็จได้ตามคำขอทุกประการ บางคนบนหนัง ๑ คืน ตลอดจนถึง ๑๕ คืน ก็มี ต่างคนที่บนก็ต่างได้เลยจ้างหนังมาแก้บนตามคำขอ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน แม่ค้าในชุมชนมาขายของทุกคืนที่มีหนัง แม่ค้าต่างพื้นที่ก็หลั่งไหลมาไม่ขาดสาย กลายเป็นว่า การดูหนังกางแปลงเป็นเรื่องปกติของชาวบ้านไปโดยปริยายและปัจจุบันวัฒนธรรมนี้ก็เป็นเช่นนั้น

๔) ข้อสันนิฐานใหม่ทางประวัติศาสตร์

ข้อคำถามเิดขึ้นจำนวนมาก เพราะหลายยุคและคำอธิบายบางอย่างยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ตลอดจนมีหลักฐานอยู่น้อยมากจึงเป็นข้อจำกัดในการตีความเป็นอย่างยิ่ง โดยประวัติการสร้างหลวงปู่หินถึงยุคก่อนค้นพบนั้นเป็นคำถามที่น่าสนใจเพื่อหาคำตอบมากที่สุด โดยมีข้อสันนิฐานดังนี้

  • หลวงปู่หินสร้างโดยหินศิลาแลง ซึ่งมีความเก่าแก่มาก โดยกลุ่มชนที่มีความรู้เรื่องการนำศิลาแลงมาใช้ ณ ขณะนั้นคือชนชาติขอม เป็นไปได้ไหมว่า ประวัติการสร้างองค์พระจะเกี่ยวข้องกับชนชาติขอมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งนี้จากคำให้การณ์ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า "แต่ก่อนท่านมีจอมและลายสลักคมชัดกว่านี้มาก" ซึ่งผิดกับปัจจุบันมาก โดยศิลปะขอมที่บางส่วนคล้ายองค์หลวงปู่ เป็นศิลปะขอมยุคปาปวน แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ชัดเจน ต่อมากลุ่มชนที่อาศัยอยู่ก่อนหน้าในบริเวณโนนบ้านเก่าได้นำมาประดิษฐิ์สถานอยู่ ณ บริเวณนั้น
  • หลวงปู่หินอาจเป็นศิลปะชาวบ้านในช่วงยุคก่อนที่ชาวบ้านผือจะอพยพมาอยู่โนนบ้านเก่าเพราะดูเหมือนว่าจะไม่เหมือนศิลปะของอาณาจักรโบราณรอบข้าง อย่างชัดเจน ซึ่งเดิมท่านอยู่ที่นั่นแล้ว เป็นพระพุทธรูปประจำชุมชนแห่งนั้น(อยู่ใต้ดิน) เพราะบริเวณโนนบ้านเก่าในอดีตให้หลังไม่กี่สิบปี มีการขุดค้นพบไหที่บรรจุของใช้ ขุดพบอาวุธโบราณ ประกอบเป็นเป็นโนนป่ายกตัวสูงขึ้นจากพื้นที่อื่น เป็นไปได้ไหมว่าบริเวณโนนบ้านเก่าในอดีตเดิมนั้นเป็นชุมชนโบราณแห่งใหม่ที่ยังไม่ขุดค้นพบของจังหวัดมหาสารคาม อย่างไรก็ดีเป็นเพียงข้อสันนิฐานจากคำบอกเล่าเท่านั้น

บรรณานุกรม

เอกสารสิ่งพิมพ์

กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เทศบาลตำบลหนองกุง อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม. (15 มกราคม 2558). หลวงปู่หิน(หลวงปู่ศักดิ์สิทธิ์). เอกสารเผยแพร่ความรู้เทศบาล, หน้า 1.

คำสัมภาษณ์

พระจำลอง อนุตตโร. (11 มีนาคม 2560). ประเพณีกราบเจ้าหลวงปู่หิน. (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ, ผู้สัมภาษณ์)

พัด แข็งฤทธิ์. (5 มีนาคม 2560). เหตุการณ์นำหลวงปู่หินกลับอำเภอ. (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ, ผู้สัมภาษณ์)

เม้า แสงหิม. (10 มีนาคม 2560). เหตุการณ์ช่วงกลียุคของศรัทธา. (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ, ผู้สัมภาษณ์)

อำนวย แสนจันทร์. (7 มีนาคม 2560). ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านผือและหลวงปู่หิน. (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ, ผู้สัมภาษณ์)


ธีระวุฒิ ศรีมังคละ 

๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท