ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อฝึกความเป็นครูให้กับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู กรณีศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา


ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อฝึกความเป็นครูให้กับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

กรณีศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

The Professional Learning Community of Teachers being for Pre-service Teachers

Professional Practice : A Case study of Worraphat School, Hadyai, Songkhla


โดย ดร.วรลักษณ์ ชูกำเนิด

อาจารย์ประจำภาควิชาการบริหารการศึกษา

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

บทนำ

การเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Digital Era ในช่วงศตวรรษที่ ๒๑ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในยุคต่าง ๆ ที่ผ่านมา จนทำการศึกษาซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนามนุษย์ถูกท้าทายด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ในการเรียนรู้ของผู้เรียนที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค Digital Era ที่ทำให้วิถีการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปรับตัวนโยบายในประเทศต่าง ๆ ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทุกภาคส่วนของสังคมรวมไปถึงประเทศไทยที่ตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่นโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค ไทยแลนด์ ๔.๐ ภายใต้การเผชิญกับความท้าทายภายในปี พ.ศ. ๒๕๘๓ ด้านโครงสร้างของคนที่เป็นสังคมผู้สูงอายุและคุณภาพคนกำลังตกต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” เป็น “ทำน้อย ได้มาก” จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้ประเทศไทยมี “ทุนมนุษย์” ให้คนมีคุณภาพพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ ในอนาคต

วิชาชีพครูจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ภายใต้การเผชิญโจทย์ที่ท้าทายเช่นเดียวกันคือ กระบวนทัศน์การสอนแบบเดิม ๆ (Traditional teaching) ในศตวรรษที่ ๒๐ ที่ครูคุ้ยเคย ไม่มีความหวังพอที่ขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ อีกทั้งไม่สอดรับกับวิถีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ผู้เรียนในยุคปัจจุบันมีวิถีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนเป็นโจทย์สำคัญของวิชาชีพครูที่จะออกแบบการเรียนรู้ที่เข้าถึงวิธีเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning approach) ในยุคนี้ได้อย่างไร

การพัฒนาวิชาชีพครูในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” (Professional learning community) เป็นแนวทางที่ทำควบคู่ไปกับการนิเทศ (Supervision) ได้รับความนิยมในแวดวงการพัฒนาวิชาชีพครูทั่วโลก ด้วยเหตุผลสำคัญคือ วิถีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปของผู้เรียน ทำให้ครูต้องลุกขึ้นมาศึกษา และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ Digital Era และ ผู้เรียนใน Generation Z ใหม่ของผู้เรียนก็เปลี่ยนไป การเข้าถึงการเรียนรู้เริ่มหลากหลายไร้รูปแบบมากไปกว่าความรู้จากหนังสือ วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ การให้ความหมายต่อส่ิงที่เรียนรู้ของผู้เรียนก็แตกต่างไปจากยุคของ Generation ของครูส่วนใหญ่ที่อยู่ใน Generation X กับ Generation Y เป็นอย่างมาก จึงกล่าวได้ว่า “ประสบการณ์ความเข้าใจในตัวผู้เรียนแบบเดิม ๆ วิธีการสอนแบบเดิม ๆ ความรู้แบบเดิม ๆ ไม่อาจจะตอบโจทย์วิถีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ของผู้เรียนในปัจจุบันได้เพียงพอ” ดังนั้นครูจึงต้องระดมกันเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากการมาร่วมแรงร่วมใจกันศึกษาแนวคิดตัวผู้เรียนว่าผู้เรียนคิดและรู้สึกอย่างไร ศึกษาวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าผู้เรียนเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ อย่างไร (Learning how to learn) แล้วเราจะออกแบบชั้นเรียนอย่างไรเพื่อตอบโจทย์วิถีการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งอาจเป็นการค้นหา (Inquiry) ร่วมกันที่ไม่สิ้นสุดในชีวิตความเป็นครูตามอัตราเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดของโลกในศตวรรษที่ ๒๑

จากข้างต้นจึงทำให้รูปแบบการนิเทศแบบเดิม (Traditional supervision ) ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้นิเทศก์และผู้ได้รับการนิเทศที่เน้นการใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการสอนของผู้นิเทศก์ช่วยพัฒนายกระดับการสอนครูที่ได้รับการนิเทศให้มีครูความสามารถในการสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม กับดักสำคัญคือ ประสบกาณณ์ ความรู้ และวิธีการสอนที่เคยประสบความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต อาจไม่รับประกันว่าจะเป็นไปได้สำหรับวิถีการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกเหตุผลที่สำคัญนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพถึงแม้จะมีประสบการณ์ทางวิชาชีพน้อย แต่มีความได้เปรียบเรื่องการเป็นช่วงอายุที่ใกล้เคียงกัน การเข้าใจเสียงของผู้เรียนและวิถีการเรียนรู้ของผู้เรียนถือเป็นโอกาสที่จะเข้าใจและเข้าถึงได้ว่า ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้ในแต่ละเรื่องอย่างไร ดังนั้นหากการนิเทศถูกถ่ายโยงเป็นชุมชนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูในแต่ละ Generations เพื่อช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ที่แยบยล เข้าถึงวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน ทักษะสำคัญ และสาระการเรียนรู้ที่เป็นแกนสำคัญของโลกปัจจุบันและอนาคต

ดังนั้นการฝึกประสบการวิชาชีพครูของนักศึกษาจึงมีความหมายมากไปกว่าการฝึกประสบการณ์ในการสอนตามรูปแบบทฤษฎีที่เคยเรียนรู้มา ยิ่งไปกว่านั้นคือ การศึกษาชั้นเรียน วิธีการเรียนรู้ (Learning approach) และการเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อออกแบบการเรียนรู้ และวิจัยชั้นเรียนหาหนทางการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีความหมายกับผู้เรียนนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ ก้าวหน้าและเติบโต เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและเป็นพลเมืองที่พร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต อนึ่งการสร้างโอกาสการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาวิชาชีพของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูนั้นมีหลายองคาพยพทั้ง อาจารย์นิเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูพี่เลี้ยง เพื่อนร่วมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ตนเอง และที่สำคัญคือนักเรียน ที่จะเป็นครูให้โอกาสเรียนรู้ และร่วมกันคอยดูแลชี้แนะ บ่มเพาะตั้งแต่การเรียนรู้จนรู้ชัด การปฏิบัติการสอนจนรู้ลึก จนสั่งสมความเป็นครูที่จิตวิญญาณความเป็นครูพร้อมทำหน้าที่ผู้สร้างทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพในยุคไทยแลนด์ ๔.๐

การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนานักศึกษาประสบการณ์วิชาชีพครูภายในสถานศึกษา

ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู (Professional learning community) หรือ PLC เป็นการร่วมแรงร่วมใจของทั้งครูและผู้เกี่ยวข้องที่มีผู้มีวิสัยทัศน์/เป้าหมายร่วมเพื่อผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยขับเคลื่อนเป็นทีมพัฒนาวิชาชีพผ่านภารกิจเรียนรู้ร่วมกันบนฐานชั้นเรียนจริงทั้งการดำเนินการวางแผน (Plan) ปฏิบัติการสอนในชั้นเรียน (Do) สะท้อนชั้นเรียน (See) และนำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเป็นวงจรปฏบัติการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องและต่อยอดจนกลายเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่อศิษย์ที่ฝังอยู่ในระบบของสถานศึกษาและระบบในครูแต่ละคน

จากข้างต้นสามารถเชื่อมโยงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนานักศึกษาประสบการณ์วิชาชีพครูภายในสถานศึกษา โดยอธิบายผ่านปัจจัยสำคัญ ๔ ปัจจัย ได้แก่ วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) ทีมพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development Team) ระบบกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development Approach) และวัฒนธรรมร่วมแรงร่วมใจ ท้าทาย และรับฟัง (College, Challenge and Listening Culture) ภาพประกอบที่ 1 และรายละเอียดดังนี้

ภาพประกอบที่ ๑ การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนานักศึกษาประสบการณ์วิชาชีพครูภายในสถานศึกษา กรณีศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

. วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)

วิสัยทัศน์ร่วม คือ ภาพความสำเร็จในอนาคตที่มีพลังความมุ่งหวัง (Drive) ก่อให้เกิดศรัทธาร่วมกัน (Shared faith) ในการพัฒนาวิชาชีพครูนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันทั้งในฐานะของผู้พัฒนาวิชาชีพและผู้ได้รับการพัฒนาวิชาชีพ อนึ่งการพัฒนาวิชาชีพครูนักศึกษาฝึกประสบการณ์ตลอดระยะ ๑ ปีการศึกษาเป็นการเรียนรู้บนฐานงานจริงที่ต้องผ่านการลงมือปฏิบัติไปเรียนรู้ไปจนเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองโดยสามารถอธิบายการเรียนรู้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้งเชื่อมโยงกับแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative learning) เป็นการเรียนรู้ ที่รู้-ลึก-ซึ้ง เพียงพอจนเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองแบบองค์รวมผ่านปัญญา ๓ ฐาน คือ Head Hand และ Heart ดังภาพประกอบที่ ๒

ภาพประกอบที่ ๒ วิสัยทัศน์ร่วมของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนานักศึกษาฝึกประสบการณฺวิชาชีพ กรณีศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

จากภาพประกอบที่ ๒ รายละเอียดดังนี้

๑.๑ Head คือ ความรู้เข้าใจผ่านการรู้คิดไตร่ตรองอย่างต่อเนื่องไปด้วยกันกับการปฏิบัติอย่างประณีตและการรู้ซึ้งจนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งในเรื่องที่เป็นความรู้สำคัญสู่ความเป็นวิชาชีพครู (Teacher Professional) ทั้งด้านผู้เรียน (Learner) ชั้นเรียน (Classroom) หลักสูตร (Curriculum) บทเรียน และ ตนเอง (Self awareness)

๑.๒ Hand คือ ความสามารถผ่านการปฏิบัติในงานจริง (Practice in real life) อย่างประณีตและต่อเนื่องไปด้วยกันกับการรู้คิดไตร่ตรองและรู้ซึ้งจนเกิดความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนรู้เป็นภาพที่ละเอียดชัดเจนนำไปสู่การปฏิบัติการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในชั้นเรียนจริงและเรียนรู้ทุกขณะในการปฏิบัติงานจนเกิดความลึกซึ้งในการในปฏิบัติงาน

๑.๓ Heart คือ จิตวิญญาณความเป็นครูผ่านการรู้ซึ้งถึงความหมายคุณค่า (Value) ในงานชีวิตความเป็นครู (Teacher being) เป็นการรู้ซึ้งที่ต่อเนื่องไปด้วยกันกับการรู้คิดไตร่ตรองและการปฏิบัติอย่างประณีตจนสั่งสมเป็นการเติบโตทางด้านจิตวิญญาณความครูที่มีความสุขในการอุทิศตนเพื่อศิษย์

วิสัยทัศน์ร่วมของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนานักศึกษาฝึกประสบการณฺวิชาชีพข้างต้นจึงเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันทั้งผู้ทำหน้าที่พัฒนาวิชาชีพและผู้ได้รับการพัฒนาวิชาชีพที่จะเห็นภาพความเป็นวิชาชีพครูที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่องไม่ว่าวิถีการเรียนรู้ของผู้เรียนจะเปลี่ยนแปลงของยุคจะพาไปเร็วแค่ไหนแต่ความว่องไวทางวิชาชีพของครูที่ได้รับการพัฒนาทั้ง Head Hand และ Heart จะสามารถพาครูสู่การเรียนรู้ ที่ รู้-ลึก-ซึ้ง จนถึงสูงสุดในความเป็นวิชาชีพครู คือ การเข้าถึงจิตวิญญาณความเป็นครู

. ทีมพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development Team)

คือคณะบุคคลที่มีภารกิจร่วม (Shaed Mission) กันภายใต้ความมุ่งหวังหรือวิสัยทัศน์ร่วมกันในการเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพซึ้งกันและกันในฐานชั้นเรียนจริงอย่างหลากหลายบทบาทหน้าที่ทั้ง เพื่อนร่วมวิชาชีพ (Peer) กลุ่มทำงานร่วมกัน (Group) พี่เลี้ยง (Mentor) โค้ช (Coach) อาจารย์นิเทศก์ (Supervisor) ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) และผู้บริหารสถานศึกษา (Adminstrator) ที่ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการฝึกความเป็นครูให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพในระยะ ๑ ปีการศึกษา ดังปรากฎส่วนหนึ่งในภาพประกอบที่ ๑

๒.๑ Peer คือ เพื่อนร่วมวิชาชีพที่ปฏิบัติร่วมกันในชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป็นชุมชนทางวิชาชีพที่เกิดจากการรวมตัวกันเองตามความสนิทสนมคุ้นเคยกัน ความไว้วางใจ โดยมีลักษณะอยู่ร่วมกันด้วยความเสมอภาค ความเป็นกันเอง และการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน โดยเฉพาะเพื่อนนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพด้วยกัน ที่มาจากสถาบันเดียวกัน หรือ ต่างสถาบัน รวมไปถึงครูรุ่นพี่ที่มีความสนิทสนมกันในงานมากพอที่จะสื่อสารด้วยกันอย่างเปิดเผย การใช้ Peer ในการพัฒนาวิชาชีพสามารถดำเนินการได้ทั้งการเอื้อบรรยากาศและภารกิจให้ได้มีโอกาสสัมพันธ์ร่วมแรงร่วมใจกันในงานภารกิจร่วมกัน เช่น การวางแผนการสอนร่วมกัน การสอนร่วมกัน สังเกตการสอนซึ่งกันและกัน การสะท้อนผลร่วมกัน และการวิจัยชั้นเรียนด้วยกัน เป็นต้น และการนิเทศซึ่งกันและกันแบบเพื่อนช่วยกัน (Peer Coaching) ซึี่งจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่โดดเดียวในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่อาจต้องเผชิญปัญหาและต้องการผู้ให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในงาน

๒.๒ Group คือ กลุ่มทำงานร่วมกันที่สัมพันธ์กันในงานที่มีความเกี่ยวข้องกัน กรณีกลุ่มเรียนรู้ทางวิชาชีพจะเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันอย่างมีเป้าประสงค์ร่วมกัน (Shared Purpose) เช่น กลุ่มนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่มีเป้าประสงค์ร่วมกันคือการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาประสบการณ์วิชาชีพ กลุ่มครูผู้สอนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ีเป้าประสงค์ร่วมกันพัฒนาวิชาชีพผ่านงานจัดการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระ และกลุ่มครูระดับชั้นปี..มีเป้าประสงค์ร่วมกันคือการดูแลช่วยเหลือส่งเสริมพฤติกรรมนักเรียนร่วมกันในชั้นปีนั้น ๆ กลุ่มโค้ชและกลุ่มพี่เลี้ยงมีเป้าประสงค์ร่วมกันคือการศึกษาหาหนทางการพัฒนาวิชาชีพครูในชั้นเรียนจริง เป็นต้น

๒.๓ Mentor คือ พี่เลี้ยง หรือครูพี่เลี้ยงในสถานศึกษาที่ทำหน้าที่ดูแล รับฟัง สังเกต รับรู้ ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ (Consutling) สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นแบบอย่าง (Modeling) ให้นักศึกษาฝึกประสบการวิชาชีพอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ การใช้ชีวิตในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาในสถานศึกษาจะต้องได้รับการดูแลและรับผิดชอบจากครูพี่เลี้ยงเป็นหลัก ทำให้ครูพี่เลี้ยงรับรู้เรื่องราวและประคับประคองการเติบโตภายในและการเติบโตทางวิชาชีพของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพตลอดหนึ่งปีการศึกษาตั้งแต่เริ่มจนจบโปรแกรม

๒.๔ Coach คือ โค้ช หรือ ผู้สอนงาน (Coaching) อาจเป็นครูท่านเดียวกับครูพี่เลี้ยง หรือ แยกเป็นครูท่านอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่สอนงานเชิงมโนทัศน์ (Conceptual) ทักษะ (Skills) และเทคนิค (Technical) ทางวิชาชีพ โดยอยู่ในหน้างานเดียวกันกับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพเพื่อสังเกต ชี้แนะ พัฒนาในงานจริงจนเห็นการผลพัฒนา (On the Job Coaching) คุณสมบัติสำคัญของ Coach คือ มีความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญในงาน และจิตวิญญาณความเป็นครู ที่ถึงพร้อมในระดับที่สามารถเข้าใจวิถีการเรียนรู้ของครูที่เข้ามาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สามารถสอนงาน และสอนให้ดูเป็นแบบอย่างได้

๒.๕ Supervisor คือ ผู้นิเทศก์ หรือ อาจารย์นิเทศก์ โดยบทบาทการฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษาที่เตรียมเป็นครู เป็นผู้คอยดูแลนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากหน่วยฝึกวิชาชีพครูจากสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งนักศึกษามาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ อีกทั้งมีคุณสมบัติเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแนะนำ ให้คำปรึกษา และฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ทำหน้าที่จัดวาระเข้ามานิเทศนักศึกษาระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพเป็นระยะ ๆ

๒.๖ Expert คือ ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษา ทั้งภายในสถานศึกษา หรือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากภายนอกสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกสถานศึกษาที่เชิญชวนมาทำหน้าที่ Coach พิเศษในวาระที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการให้มุมมองเชิงลึกกับการพัฒนางานหรือพัฒนาวิชาชีพ รวมไปถึงการช่วยสะท้อนในมุมมองของบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ครูผู้ปฏิบัติการภายในสถานศึกษา เพื่อให้ค้นหาประเด็นสำคัญที่คนในผู้ปฏิบัติการอาจพิจารณาไปไม่ถึงด้วยกรอบการปฏิบัติที่คุ้นชิน ดังนั้น มุมมองของผู้เชี่ยวชาญภายนอกจะเป็นตัวแทนสะท้อนจุดที่มองต่างมุมออกไปทำให้ค้นพบมุมมองใหม่ ๆ ในการพัฒนาต่อไป

๒.๗ Administrator คือ ผู้บริหารสถานศึกษา อาจเป็นทั้ง ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และหัวหน้างาน เป็นต้น ที่ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษาในระดับต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาวิชาชีพครูระดับสถานศึกษาในการสร้างและพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพภายในสถานศึกษา รวมทั้งระดับการมีส่วนร่วมเป็นผู้นำทางวิชาชีพในการพัฒนาวิชาชีพครูร่วมกับครูระดับชั้นเรียน ด้วยการเรียนรู้และพัฒนาชั้นเรียนจริงร่วมกับทีมปฏิบัติการอย่างใส่ใจต่อเนื่องผ่านการศึกษาชั้นเรียน

. ระบบกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพและการสอน (Professional and Instructional Development Approach)

ระบบกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพผ่านการชั้นเรียน จากภาพประกอบที่ ๑ ประกอบไปด้วย ๒ ส่วนสำคัญ ส่วนแรก คือ ระบบการศึกษาชั้นเรียน (Lesson study) และ การเปิดชั้นเรียน (Open Class) ซึ่งใช้กระบวนการเดียวกัน คือ Plan Do และ See (Inprasitha, 2010) Peer coaching และ Self-Reflection เพื่อการพัฒนาประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาโดยการฝึกและพัฒนาในงานจริงทุกขั้นตอน โดยมีรายละเอียดดังนี้

๓.๑ การศึกษาชั้นเรียน (Lesson study)

การศึกษาชั้นเรียนมีหลากหลายแนวคิดและมีการพัฒนากระบวนการไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ในประเทศไทยการศึกษาชั้นเรียนเริ่มมีการแพร่หลายเพื่อการพัฒนาวิชาชีพควบคู่ไปกับชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยใช้โรงเรียนเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่สำคัญ (School as learning community) โดยเฉพาะกระบวนการพัฒนาชั้นเรียน ที่ออกแบบโดย Inprasitha (2010) ได้นำเสนอกระบวนการศึกษาชั้นเรียนแบบพื้นฐานตามบริบทของประเทศไทยเพื่อเป็นกระบวนการตั้งต้นในการศึกษาชั้นเรียนของสถานศึกษาที่สนใจ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ Plan Do และSee ดังแผนภาพประกอบที่ ๓

แผนภาพที่ ๓ กระบวนการศึกษาชั้นเรียน (Inprasitha,2010)

๑) การร่วมกันวางแผนบทเรียน (Plan) เป็นการศึกษาวิเคราะห์บทเรียนที่จะสอนร่วมกันจนกระทั้งเข้าใจในองค์ประกอบทุกส่วน รายละเอียด และจุดเน้นสำคัญของบทเรียน ร่วมไปกับการวิเคราะห์ชั้นเรียน โดยย้อนทบทวนข้อค้นพบในการพัฒนาบทเรียนจากการจัดการเรียนรู้ในบทเรียนดังกล่าวที่ผ่านร่วมกัน เพื่อใช้ปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติมความเข้าใจบทเรียนให้เข้าถึงจุดเน้นสำคัญและเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องนั้น ๆ จนสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ถูกยกระดับจากที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในขั้นวางแผนบทเรียนสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนบทเรียนร่วมกันโดยเฉพานักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนบทเรียนร่วมกันกับครูพี่เลี้ยง และ/หรือ โค้ช ในหน่วยฝึกเพื่อแบ่งปันประสบการณ์จัดการเรียนรู้เรื่องดังกล่าวที่ผ่านมาและชี้แนะจุดสำคัญในการวางแผนการจัดการเรียนรู้จนมั่นใจได้ว่าแผนการจัดการเรียนรู้ที่ความละเอียดรอบคอบ และนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพมีภาพชั้นเรียนและการจัดการเรียนรู้ที่ชัดเจนมีความพร้อมก่อนที่จะดำเนินการสอนจริง

๒) การร่วมกันสังเกตชั้นเรียน (Do) คือขั้นต่อจากการวางแผนบทเรียน โดยมีภารกิจแบ่งเป็น 2 ส่วน และ 2 บทบาท คือ ภารกิจการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนที่วางไว้ร่วมกันในบทบาทครูผู้สอน และภารกิจการสังเกตชั้นเรียนตามประเด็นที่วางแผนบทเรียนร่วมกันในบทบาทผู้สังเกตชั้นเรียนมิใช่สังเกตที่ตัวครูหรือการสอนของครูเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการสังเกตองคาพยพทุกอย่างที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของผู้เรียนในบทเรียนนั้นเพื่อให้ครูเข้าใจในบทเรียน ตัวผู้เรียน ชั้นเรียน และตัวครูผู้สอนเองมากยิ่งขึ้น และหาทางพัฒนายกระดับบทเรียนและความเป็นวิชาชีพครูต่อไป ทั้งนี้การสังเกตชั้นเรียนสามารถใช้อุปกรณ์ช่วยในการเก็บภาพต่าง ๆ ในชั้นเรียน ภายใต้ข้อตกลงว่าผู้สังเกตจะเข้าไปสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมและไม่แทรกแซงชั้นเรียนไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม การศึกษาชั้นเรียนจึงมีความหมายมากไปกว่าการนิเทศ ที่ผู้สังเกตชั้นเรียนทำหน้าที่เป็นผู้นิเทศก์ แต่เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนั้น ๆ ไปด้วยกันทั้งผู้สอน และผู้สังเกต หรือ ผู้สอน และ ผู้นิเทศ

๓) การสะท้อนผลชั้นเรียนร่วมกัน (See) คือ ขั้นตอนสืบเนื่องจากการสังเกตชั้นเรียนกล่าวคือ เป็นการสะท้อนผลชั้นเรียนร่วมกันทันทีหลังการสอนเสร็จสิ้นและในสภาพชั้นเรียนจริงที่ยังคงสภาพร่องรอยการเรียนรู้ เช่น กระดาน ผลงานแนวคิดผู้เรียน และสภาพห้องเรียน ที่ยังคงสภาพเดิม เป็นต้น โดยมีทีมศึกษาชั้นเรียน เช่น ผู้สอน ครูพี่เลี้ยง โค้ช ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารสถานศึกษา และเพื่อนครูที่สนใจ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับบริบทและวาระการศึกษาชั้นเรียน โดยครูผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้สะท้อนชั้นเรียนตนเองเป็นบุคคลแรก ๆ อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่เป็นจุดเจ้นในการสะท้อนผลชั้นเรียน มีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นคือ (๑) วัตถุประสงค์หรือความมุ่งหวังของผู้สอนในการสอนนี้ (๒) สิ่งที่ปรากฎขึ้นจริงในชั้นเรียนโดยเฉพาะสิ่งทีเกิดขึ้นกับผู้เรียน (๓) ปัญหา/อุปสรรคที่เกิดขึ้น และ (๔) แนวทางการปรับปรุงและการพัฒนาในครั้งต่อไป ผลจากการสะท้อนชั้นเรียนร่วมกันจะเป็นบันทึกเป็นข้อค้นพบในการพัฒนาบทเรียนในครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้นเช่นเดียวกับการวิจัยชั้นเรียน

๓.๒ กิจกรรมเปิดชั้นเรียน (Open Class) เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาชั้นเรียนที่ดำเนินควบคู่กันไปตามบริบทและความพร้อมของสถานศึกษา ดังจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ครูและนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพจะมีวาระการเปิดชั้นเรียนตนเองเพื่อเรียนรู้ร่วมกันและหาจุดการพัฒนาชั้นเรียนร่วมกัน โดยกำหนดเป็นวาระที่หลากหลายและมีระดับความเข้มข้นแตกต่างกัน ดังภาพประกอบที่ ๔

ภาพประกอบที่ ๔ วาระการเปิดชั้นเรียนกรณีศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

จากภาพประกอบที่ 4 แสดงวาระการเปิดชั้นเรียนกรณีศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์ฯ ตั้งแต่รอบที่ระยะสั้นที่สุดไปหารอบที่ระยะยาวที่สุด คือ รอบรายสัปดาห์ รอบรายเดือน และรอบรายภาคเรียน ซึ่งในแต่ละรอบจะมีเป้าประสงค์ในการจัดแตกต่างกันออกไป และมีการจัดการแผนการศึกษาชั้นเรียนและเปิดชั้นเรียนอย่างเป็นระบบ รายละเอียดดังนี้

๑) การศึกษาชั้นเรียนรอบสัปดาห์ (Weekly) เป็นการเปิดชั้นเรียนที่มีเปิดบ่อยมากที่สุด คือ สัปดาห์ละ ๑ ครั้งในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เป็นกลุ่มศึกษาชั้นเรียนที่เล็กที่สุด คล่องตัวมากที่สุด คือทีมศึกษาชั้นเรียนภายในทีมสาระการเรียนรู้หรืออาจมีการข้ามสาระตามเป้าประสงค์ ผู้ศึกษาชั้นเรียนรายสัปดาห์จะประกอบด้วย ครูผู้สอน เพื่อนครูในกลุ่มสาระ เพื่อนครูที่สนใจ และพี่เลี้ยงหรือโค้ช ทำหน้าที่ Plan Do และ See ร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวิถีการศึกษาชั้นเรียนร่วมกัน ข้อค้นพบจากการศึกษาชั้นเรียนในการเปิดชั้นเรียนรอบสัปดาห์จะสามารถนำไปปรับปรุงชั้นเรียนที่กำลังดำเนินอยู่ในปกติในสถานศึกษาที่มีห้องเรียนในชั้นเรียนนั้น ๆ มากกว่า ๑ ห้องเรียน เช่น หลังการศึกษาชั้นเรียนจากการเปิดชั้นเรียนห้อง ป.๑/๑ ทำให้ครูค้นพบจุดที่ต้องปรับปรุงพัฒนา โดยนำข้อค้นพบนั้น ๆ ไปปรับปรุงเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ (ฉบับปรับปรุง) นำทดลองใช้ในห้อง ป.๑/๒ ที่กำลังเรียนเรื่องเดียวกัน และเมื่อค้นพบประเด็นในการพัฒนาอีกจากห้อง ป. ๑/๒ แผนการจัดการเรียนรู้จะถูกยกระดับถึงสองครั้งในปีการศึกษาถัดไป ดังนั้นแผนการจัดการเรียนรู้จะมีโอกาสได้ทดลองใช้หรือวิจัย (Research&Development) มากกว่า ๑ รอบเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพแผนการจัดการเรียนรู้ในปีการศึกษาต่อไป

) การเปิดชั้นเรียนรอบเดือน (Monthly) เป็นการเปิดชั้นเรียนที่นำข้อค้นพบในการเปิดชั้นเรียนในรอบสัปดาห์มาพัฒนาชั้นเรียนให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าเดิมในรอบเดือน โดยที่ทีมศึกษาชั้นเรียนจะมีผู้บริหารสถานศึกษา ร่วมการศึกษาชั้นเรียนไปด้วยกันกับทีมกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อช่วยเสริมมุมมอง และสะท้อนหาจุดพัฒนาชั้นเรียนและพัฒนาการบริหารที่ส่งเสริมการพัฒนาชั้นเรียนของครูอย่างเป็นระบบ

๓) การเปิดชั้นเรียนรอบภาคเรียน (Semesterly) เป็นการเปิดชั้นเรียนที่นำข้อค้นพบในการเปิดชั้นเรียนในรอบแต่ละสัปดาห์แต่ละเดือนมาพัฒนาชั้นเรียนในรอบรายภาคเรียน โดยเป็นการเปิดชั้นเรียนที่เรียกเฉพาะพื้นที่ว่า “เปิดใหญ่” หรือเปิดให้บุคคลภายนอกร่วมการศึกษาและหาจุดสะท้อนผลเพื่อพัฒนาชั้นเรียนร่วมกัน เช่น ผู้เชี่ยวชาญ ครูผู้ร่วมวิชาชีพทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา และนักการศึกษาผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีแนวคิดสำคัญคือการได้รับการสะท้อนผลจากบุคคลภายนอกทำให้เห็นมุมมองที่คนภายในมองข้ามไป หรือ มองไปไม่ถึง ด้วยความเคยชินในการปฏิบัติที่ฝังตัวทำและเรียนรู้จนติดกับดักที่คนภายในเห็นจนชินเป็นปกติ ซึ่งบุคคลภายนอกจะเป็นกระจกสะท้อนที่ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป

อย่างไรก็ตามหลังการเปิดชั้นเรียนแต่ละรอบจะมีการถอดบทเรียน (Lesson learned) หรือ After Action Review (AAR) เพื่อจัดการและประมวลการเรียนรู้และบันทึกข้อค้นพบจากการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการเปิดชั้นเรียน นำไปพัฒนาตนเองต่อไป

๓.๓ Peer Coaching หรือ การนิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นความร่วมมือกันของเพื่อนร่วมงาน ๒ คน หรือมากกว่า ๒ คน ทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน ไตร่ตรองสะท้อนคิดเกี่ยวกับการสอน สังเกตการสอนกันและกัน ให้ไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยสามารถจับคู่ Peer นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพด้วยกัน หรือ การจับคู่ Peer ตามความสมัครใจ ทั้งนี้กระบวนการการนิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ๔ ขั้นตอน คือ Peer Planing, Peer Waching, Peer Feedback และ Peer Coaching รายละเอียดดังนี้

ขั้นแรก Peer Planing คือ การร่วมกันไตร่ตรองสะท้อนคิดโจทย์ในการพัฒนาตนเองหรือประเด็นการพัฒนาชั้นเรียนร่วมกันจนไปถึงการตั้งเป้าหมาย ออกแบบแผนการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงตนเองที่มีภาพความสำเร็จชัดร่วมกันระหว่าง Peer ผ่านงานการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนจริง ตัอย่าง เช่น การพัฒนาการใช้ภาษาพูดให้สื่อความหมายกับนักเรียน การพัฒนาการกวาดสายตาไปถึงผู้เรียนอย่างทั่วถึง การพัฒนาการพูดจามีหางเสียงเป็นแบบให้กับผู้เรียน และการพัฒนาการลำดับการเขียนบทกระดาน เป็นต้น พร้อมระบุแผนการดำเนินการพัฒนาเป็นข้อตกลงในการพัฒนาร่วมกัน

ขั้นที่ ๒ Peer Watching คือ การสังเกตการสอนซึ่งกันและเพื่อเก็บข้อมูลตามประเด็นที่วางแผนร่วมกันจนได้ประเด็นในการแก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาต่อไป

ขั้นที่ ๓ Peer Feedback คือ การสะท้อนผลเป็นกระจกอย่างเปิดเผยซึ่งกันและกันทันทีหลังการสอน หรือเพิ่มเติมในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป โดยใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงจากการสังเกตมาวิเคราะห์ สะท้อนผลให้เห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนที่สัมพันธ์กับการแก้ปัญหา และพัฒนาสิ่งที่มุ่งหวังต่อไป

ขั้นที่ ๔ Peer Coaching คือ การนำเสนอประเด็นการปรับปรุง และพัฒนาต่อยอด รวมไปถึงการติดตามความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลง ช่วยเหลือ หาแนวทางส่งเสริมสนับสนุน รวมไปถึงการหาเครื่องมือช่วยในการปรับปรุง และพัฒนาให้ Peer บรรลุเป้าหมายการพัฒนาวิชาชีพ

๓.๔ Self-Reflection หรือ การใคร่ครวญสะท้อนคิด เป็นการเรียนรู้ผ่านการสืบค้น (Inquiry) ด้วยตนเอง อย่างมีสติกับภาวะที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองตลอดเวลา ผ่านฝึกใคร่ครวญด้วยการเขียนสะท้อนการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองในแต่ละวัน หรือเรียกว่า Reflective journal writing

. วัฒนธรรมร่วมแรงร่วมใจ ท้าทาย และรับฟัง (College, Challenge and Listening Culture)

ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพภายในสถานศึกษาเป็นการปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่อง (Ongoing) และสม่ำเสมอ (Usually) จนเป็นวิถีการดำเนินการปกติราวกับเป็นลมหายใจของสมาชิก และกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร สถานศึกษาจึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างและบรรยากาศแบบเปิด (Open climate) ที่รับฟัง (Listening) ซึ่งกันและกัน ที่เอื้อสนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมร่วมแรงร่วมใจและใส่ใจอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ละก้าว เช่น การบริหารจัดการช่วงเวลา ตารางกิจกรรม ตารางเรียน ตารางสอน สถานที่พบปะหารือของ PLC เครื่องมือ/อุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำเนินการ และที่สำคัญคือการสื่อสารในองค์กรที่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว รวมไปถึงการจัดการความรู้และสื่อสาร รับฟังอย่างเข้าใจกันได้ทั่วถึง รวดเร็วและคล่องตัว ทำให้การดำเนินการของทุกทีมแบ่งปันความรู้และข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร เอื้อให้ทีมพัฒนาวิชาชีพสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาวิชาชีพร่วมกันได้โดยลดข้อจำกัดให้ที่สุดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น วงศึกษาชั้นเรียนร่วมกัน การเปิดชั้นเรียน หรือ การทำ Peer coaching อนึ่งการดำเนินการข้างต้นจำเป็นต้องมีผู้คอยอำนวยการคอยประคับประคอง ศึกษาการพัฒนาของวง PLC โดยภาพรวมเพื่อหาโจทย์ที่น่าท้าทาย (Challenge) ในการขับเคลื่อนให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและก้าวไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ

บทสรุป

หน้าที่การฝึกและการพัฒนานักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้มีความพร้อมที่จะเป็นครูทำหน้าที่ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ต่อไปเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสถาบันผลิตครูและสถานศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การจัดระบบการพัฒนาวิชาชีพสำหรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างมากที่จำรับประกันว่าการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาจะได้รับการเติบโตพร้อมที่จะทำหน้าที่ครูมืออาชีพในเส้นทางทางวิชาชีพต่อไปโดยเฉพาะโลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คนที่กำลังจะเป็นครูยุคใหม่ รวมถึงครูในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญโจทย์ที่ท้าทายในการเข้าใจถึงวิถีการเรียนรู้ของผู้เรียนที่แตกต่างไปจากเดิม รวมไปถึงเนื้อหาสาระสำคัญในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ มีการเปลี่ยนแปลงด้านองค์ความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความท้าทายนี้จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้ครูต้องกลับมาศึกษาผู้เรียน ชั้นเรียน หลักสูตร บทเรียน และตนเองให้มากและว่องไวพอที่จะออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งยุค ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC จึงเป็นโรงเรียนแห่งใหม่ของชุมชนครูที่ใช้ชั้นเรียนในการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาวิชาชีพร่วมกันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นนี้จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาวิชาชีพภายในสถานศึกษาที่กำลังปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ถือเป็น Generation ที่มีความได้เปรียบที่จะเข้าใจถึงวิถีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ของผู้เรียน การนิเทศแบบดั่งเดิมจึงไม่อาจตอบโจทย์การสอนครูในศตวรรษที่ ๒๑ ที่มีต้นทุนการเข้าใจถึงวิถีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ แต่ยังขาดประสบการณ์ในชั้นเรียน ดังนั้นชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูในสถานศึกษาจึงเป็นหนทางที่จะจัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันของครูพี่เลี้ยงและนักศึกษาฝึกประสบการณ์ รวมไปถึงการ Coach สอนงานไปด้วยกันในงานจริง ภายใต้การดำเนินการที่เป็นระบบของ PLC ตั้งแต่ วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) ที่สามารถนำพานักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูไปถึงการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative learning) เป็นการเรียนรู้ ที่รู้-ลึก-ซึ้ง เพียงพอจนเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองแบบองค์รวมผ่านปัญญา ๓ ฐาน คือ Head Hand และ Heart อีกทั้งมีการจัดระบบชุมชนการเรียนร้ด้วยทีมพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development Team) ประกอบด้วย เพื่อนร่วมวิชาชีพ (Peer) กลุ่มทำงานร่วมกัน (Group) พี่เลี้ยง (Mentor) โค้ช (Coach) อาจารย์นิเทศก์ (Supervisor) ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) และผู้บริหารสถานศึกษา (Adminstrator) มาร่วมมือกันอย่างจริงจังในการฝึกความเป็นครูให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพในระยะ ๑ ปีการศึกษา อีกทั้งการจัดระบบกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development Approach) ที่เป็นวาระการมาร่วมกันศึกษาชั้นเรียนจริงเพื่อพัฒนาวิชาชีพบนฐานงานชั้นเรียน ด้วยกระบวนการศึกษา Plan Do และSee วาระการเปิดชั้นเรียน (Open class) การถอดบทเรียน AAR การนิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer coaching) สุดท้ายคือการหล่อเลี้ยงด้วยวัฒนธรรมร่วมแรงร่วมใจและรับฟัง (Collegeม Challenge and Listening Culture) ที่ต้องอาศัยการปรับโครงสร้างให้เอื้อกับบรรยากาศแบบเปิด และอำนวยการจัดวาระต่าง ๆ และประคับประคองให้การดำเนินการมีการอย่างต่อเนื่องและมีความท้ายทายให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปตลอดเวลา


บรรณานุกรม

วรลักษณ์ ชูกําเนิด และเอกรินทร์ สังข์ทอง.(2557). โรงเรียนแห่งชุมชนการเรียนรู้ทาง วิชาชีพครูเพื่อ การ

พัฒนาวิชาชีพครูที่เน้นผู้เรียนเป็นหัวใจสําคัญ. วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ปีที่ 25 , 93-102.

วรลักษณ์ ชูกําเนิด, เอกรินทร์ สังข์ทอง และ ชวลิต เกิดทิพย์.(2557). รูปแบบชุมชนการเรียนรู้ ทางวิชาชีพครู สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 บริบทโรงเรียนในประเทศไทย. วารสารหาดใหญ่วิชาการมหาวิทยาลัย หาดใหญ่. ปีที่ 12

วรลักษณ์ ชูกําเนิด. (2557). องค์ประกอบด้านพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชนการ เรียนรู้ทางวิชาชีพครูบริบท

โรงเรียนในประเทศไทยที่มีแนวทางการจัดการเรียนรู้สอดคล้อองกับการ เรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. เอกสารปรกอบการประชุมนําเสนอวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (วันที่ 28 มีนาคม 2557).

วัชรา เล่าเรียนดี.(2556).ศาสตร์การนิเทศการสอนและการโค้ช การพัฒนาวิชาชีพ : ทฤษฎี กลยุทธ์ สู่การปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 12 ฉบับปรับปรุงใหม่). นครปฐม:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปาก

วิจารณ์ พานิช. (2554) . วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. พิมพ์ครั้ง 1. กรุงเทพฯ:

ตถาตาพลับลิเคชั่นจากัด.

อาทิตยา ศรประสิทธิ์.(2558). กระบวนการนิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อการจัดประสบการณ์เรียนรู้ของครู

ปฐมวัย กรณีศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาตร์มหาบัณฑิต, สถานบันอาศรมศิลป์.

Glickman D., Gordon P.& Ross-Gordon M., (2014). Supervision and Instructional Leadership:A Developmental Approach. (Ninth edition). Pearson Education,Inc.

Inprasitha, M. (2010). Adapting Lesson Study in APEC Member Economies. Paper presented

at APEC Conference on Replicating Exemplary Practices in Mathematics Education, KohSamui, Thailand.

Inprasitha, Maitree. et al. (2009). Teacher Professional Development using Lesson Study and Open Approach: The Pilot Project of Academic Year 2009. 20170614120830.pdf

หมายเลขบันทึก: 629758เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2017 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2017 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท