การเมือง ( politice ) หมายถึง ?


การเมืองการปกครอง

หน่วยที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวการเมืองการปกครอง

การเมือง ( politice ) หมายถึง ?

“การเมือง” (politic) มาจากคำภาษากรีก “polis” แปลว่า “รัฐ” หรือ“ชุมชนทางการเมือง”มีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายไว้หลากหลายต่างกันขึ้นอยู่กับทัศนะและความเข้าใจของนักวิชาการแต่ละคน

เพลโต (Plato) นักปราชญ์กรีกให้ความหมายของการเมืองว่า “เป็นกิจกรรมที่แสวงหาความยุติธรรม

และเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีของสังคม”
อริสโตเติล (Aristotle) บิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์ ให้ความหมายไว้ว่า “การเมือง” หมายถึงการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อสาธารณประโยชน์”
ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell) ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม

การเมือง หมายถึง กระบวนการในจัดการรัฐโดยมีความเกี่ยวข้องกับ บุคคล กลุ่มคน เพื่อการกำหนดแนวทางหรือข้อปฏิบัติให้สมาชิกในสังคมยึดถือปฏิบัติร่วมกัน

การเมือง หมายถึง การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลในสังคม ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ร่วมกันหรือขัดแย้งกันหรือมีความคิดเหมือนกัน หรือมีความคิดไม่เหมือนกัน ร่วมมือกันหรือต่อสู้กันเพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ปกครองประเทศแทนพวกเขา และหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจในเรื่องส่วนรวมได้โดยชอบธรรม

การเมือง หมายถึง การศึกษากลุ่มต่างๆ ที่ใช้อิทธิพลบังคับให้มีการออกกฎหมายการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาทางการปกครอง

การเมือง หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันหรือแสวงหาอำนาจซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม

การเมือง หมายถึง การมีและการใช้อำนาจ การมีและการใช้อิทธิพล หรือการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและอิทธิพล

การเมือง หมายถึง กิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย และการนำนโยบายออกปฏิบัติซึ่งจะมีผลต่อสังคมส่วนรวม ด้วยความยินยอมของสังคมนั้น

การปกครอง หมายถึง การใช้อำนาจอธิปไตยในการจัดการบริหารประเทศในด้าต่างๆ

การเมืองการปกครองคือ......................................................................................................................................................................................

...........................................................................................................................................................................................(การใช้อำนาจอธิปไตยในการบริหารจัดการประเทศหรือรัฐ โดยกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนหรือผู้นำของรัฐ เพื่อการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตนของสมาชิกของรัฐร่วมกัน)

การเมืองเกี่ยงข้องกับ ?

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่ากิจกรรมที่เรียกว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ คือ

1. เกี่ยวข้องกับมหาชน มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก

2. เกี่ยวข้องกับรัฐ

3.เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ

ขอบข่าย และธรรมชาติของการเมือง
โรเบิร์ต เอ เดาส (Robert A Dalh) ให้คำอธิบายถึงธรรมชาติของการเมืองไว้ดังนี้
ก. การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องสัมพันธ์กับเรื่องอื่น ๆ ในสังคม
ข. การเมืองเป็นกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์ในสังคมที่ไม่อาจหลีกหนีการเมืองได้
ค. การเมืองเป็นเรื่องของการปกครอง กลุ่มอำนาจการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ
ความสำคัญของการเมือง
ความสำคัญของการเมืองมี 3 ประการ คือ

1. การเมืองเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของมนุษย์ในรัฐ

2.มนุษย์ภายในรัฐไม่อาจหลีกหนีให้พ้นจากผลกระทบทางการเมืองได้

3.กิจกรรมทางการเมือง จะนำไปสู่การใช้อำนาจทางการเมือง การปกครองเพื่อออกกฎหมายพัฒนาประเทศ รวมทั้งการแก้ปัญหาของประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจและสังคม

1. ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจ

การเมืองเป็นแบบแผนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครอง และ

การใช้อำนาจและเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจกทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

ให้แก่สาธารณชนเพื่อความสมบูรณ์พูนสุขแก่ส่วนรวมนักเศรษฐศาสตร์ยอมรับว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจ

มีอิทธิพลต่อระบอบการเมืองของแต่ละสังคมเป็นอย่างยิ่ง อริสโตเติลมีความเห็นว่า เสถียรภาพทางการเมือง

ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจมาก และได้เสนอรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดคือ รูปแบบที่เรียกว่า

“มัชฌิมวิถีอธิปไตย” หรือ “Polity” คือ รูปแบบการปกครองที่มีชนชั้นกลางอยู่ในสังคมจำนวนมากเศรษฐกิจ

กับการเมืองเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกคือ ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจต่างก็มีอิทธิพลต่อกัน ดังนี้

1.เศรษฐกิจ มีอิทธิพลต่อการเมือง ดังเช่นทัศนะของอริสโตเติลที่กล่าวถึงสภาวะทางการเมืองซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจดังกล่าวมาแล้วในเรื่องของมัชฌิมวิถีอธิปไตย(Polity)
2.การเมืองมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจคือนโยบายทางการเมืองย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจดังจะเห็นได้จากแนวนโยบาย หรืออุดมการณ์ของผู้ที่มีอำนาจปกครอง นำมาใช้อยู่ 2 แนวทางกว้างๆ คือแนวแรก ได้แก่“การปล่อยเสรี” (Laissez-faire) กับแนวที่สอง คือ อยู่ใต้การควบคุมดูแลโดยรัฐ

2. การเมืองกับสังคม

มนุษย์เป็นสมาชิกของสังคม กิจกรรมหรือความสัมพันธ์ของมนุษย์ การรวมกลุ่มของมนุษย์ทั้งหมด ถือเป็นกิจกรรมทางสังคมและถือเป็นหลักธรรมดาที่ในสังคมมนุษย์จะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเพราะการฉกฉวยแย่งชิงสิ่งที่มีคุณค่าของสังคมในระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ใน

ทัศนะตรงกันข้าม การเมืองไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้งเพียงอย่างเดียวแต่อาจจะเป็นไปในรูปของความร่วมมือสมานฉันท์สร้างสรรค์สังคมกันไว้ได้กล่าวคือประชาชนกลุ่มหนึ่งอาจจะทำความตกลงในเป้าหมายหมายร่วมกันในสังคมและร่วมกันดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นด้วยดี การเมืองมีความสัมพันธ์กันกับการควบคุม และการระงับความขัดแย้งภายในสังคมการกำหนดเป้าหมายร่วมกันและการดำเนินการต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนรวมหรือที่
เรียกว่า“กิจกรรมสาธารณะ” (Public Affair)

รัฐ ชาติ และประเทศ

ความหมายของรัฐ ชาติ ประเทศ
“รัฐ” หมายถึง ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์ อันประกอบด้วยดินแดนที่มีขอบเขตแน่นอน มีประชากรอาศัยอยู่ในจำนวนที่เหมาะสม โดยมีรัฐบาลปกครองและมีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง
“ชาติ” หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรม และมีความผูกพันกันในทางสายโลหิต เผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน หรือมีวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองร่วมกัน เช่นคำว่า “ชาติไทย”
“ประเทศ” ความหมายกว้าง หมายรวมถึงดินแดนที่มีฐานะเป็นรัฐหรือไม่มีฐานะเป็นรัฐ แต่โดยสรุปแล้ว คำว่า

“ประเทศ” ตามกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง ดินแดน อาณาเขต และสภาพภูมิศาสตร์ เป็นต้นว่า ความอุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศแม่น้ำภูเขา ทะเล ป่าไม้ ฯลฯ เช่น ประเทศไทย

องค์ประกอบของรัฐ

1.ประชากร (Population) หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐถือว่ามีฐานะเป็นส่วนของรัฐโดยอัตโนมัติสิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับประชากรก็คือ

1.2. จำนวนประชากร แต่ละรัฐมีประชากรจำนวนเท่าใด ไม่มีการกำหนดที่แน่นอนแต่ควรจะมีมากพอที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองได้

1.2. ลักษณะของประชากร หมายถึง ลักษณะทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะมีหลายรัฐที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติภาษา และวัฒนธรรม

1.3 คุณภาพของประชากร ขึ้นอยู่กับการศึกษา สุขภาพ อนามัย ทัศนคติ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการพัฒนาทุกรูปแบบ

2. ดินแดน (Territory) มีข้อสังเกตดังนี้คือ

2.1. ที่ตั้ง ดินแดนของรัฐหมายถึง อาณาเขตพื้นดิน น่านน้ำ อาณาเขตในท้องทะเล น่านฟ้า บริเวณใต้พื้นดิน พื้นน้ำและพื้นทะเล

2.2. ขนาดของดินแดน ไม่มีหลักเกณฑ์ไว้แน่นอนตายตัวว่าจะต้องมีขนาดเท่าใดจึงจะถือว่าเป็นรัฐ แต่ควรจะมีความเหมาะสมกับจำนวนประชากรด้วย

3.รัฐบาล (Government) คือ องค์กร หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกครองและบริหารภายในโดยเป็นผู้กำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อจัดระเบียบ
ทางสังคม และดำเนินทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รัฐบาลจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองรัฐ

4. อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เป็นองค์ประกอบประการสุดท้ายที่สำคัญของรัฐ อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ อำนาจอธิปไตยมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

4.1อำนาจอธิปไตยภายใน (Internal Sovereignty) หมายถึง การที่มีอำนาจที่จะปกครองตนเองและมีอำนาจสูงสุดที่จะดำเนินการใด ๆ ในประเทศอย่างมีอิสระ ปราศจากการควบคุมจากรัฐอื่น

4.2อำนาจอธิปไตยภายนอก (External Sovereignty) หมายถึง การมีอิสระ มีเอกราชสามารถจะดำเนิน

ความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆหรือกล่าวกันอีกอย่างหนี่งว่าเอกราชก็คืออำนาจอธิปไตยภายนอกนั่นเอง

องค์ประกอบของรัฐทั้ง 4 ประการนี้ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ถ้ารัฐใดขาดองค์ประกอบในข้อใดข้อหนึ่ง แม้เพียงองค์ประกอบเดียวก็ตาม ถือว่าขาดคุณสมบัติของความเป็นรัฐโดยสิ้นเชิง

จุดประสงค์ของรัฐ
1.สร้างความเป็นระเบียบ
2.การส่งเสริมสวัสดิภาพแก่ประชาชน
3.การส่งเสริมสวัสดิการแก่ส่วนรวม
4.การส่งเสริมคุณธรรม

หน้าที่ของรัฐ
หน้าที่ของรัฐแล้วมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน

2.การให้บริการและสวัสดิการทางสังคม

3.การพัฒนาประเทศ

4.การป้องกันการรุกรานจากภายนอก

รูปแบบของรัฐ ( Forms of State)

1. รัฐเดี่ยว (Unitary State) คือ รัฐที่มีรัฐบาลกลางเป็นผู้มีอำนาจปกครอง และอำนาจบริหารสูงสุดเพียงองค์กรเดียว

รัฐบาลกลางเป็นผู้ที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

รัฐบาลเป็นองค์กรกลางองค์กรเดียวของรัฐที่ปกครองประชาชนได้โดยตลอด รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับ

ต่างประเทศด้วย ตัวอย่างรัฐเดี่ยว ได้แก่ อังกฤษ ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น

2. รัฐรวม (Composit State) ได้แก่ การรวมตัวกันของรัฐ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป

โดยมีรัฐบาลเดียวกันซึ่งแต่ละรัฐยังคงมีสภาพเป็นรัฐอยู่เช่นเดิมแต่การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่มารวมกัน

อาจถูกจำกัดลงไปตามข้อตกลงที่ทำขึ้น รัฐรวมมีอยู่ 2 ประเภท ด้วยกันคือ

1)สหพันธรัฐ (Federal State) สหพันธรัฐ คือ รัฐที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันระหว่างรัฐต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไปโดยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับเดียวกันร่วมกัน
และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเหล่านั้นเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ๆ รูปแบบการปกครองแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ มีรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐ
และรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของแต่ละรัฐซึ่งเรียกกันว่า “มลรัฐ” ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย
2)สมาพันธรัฐ (Confederation State) สมาพันธรัฐเป็นการรวมตัวกัน ระหว่าง 2 รัฐขึ้นไป โดยไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือรัฐบาลร่วมกัน แต่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการชั่วคราวและเป็นบางกรณีเท่านั้น เช่นการเป็นพันธมิตรกันเพื่อทำสงครามร่วมกัน เป็นต้น ในปัจจุบันนี้รูปแบบของ
รัฐแบบสมาพันธรัฐไม่มีอีกแล้ว แต่จะกลายเป็นลักษณะของการรวมตัวกันในรูปขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การนาโต้ องค์การอาเซียน เป็นต้น

ระบอบการเมือง การปกครองที่สำคัญ

ระบอบประชาธิปไตย

เป็นระบอบการปกครองที่มีหลักการ และความมุ่งหมายที่ผูกพันอยู่กับประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ระบอบประชาธิปไตยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกับแบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข แบบแรกคือแบบที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่นและไทย แบบที่ 2 คือแบบที่ใช้อยู่ในประเทศอินเดีย ฝรั่งเศส และอเมริกา
หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย มีดังต่อไปนี้คือ

1.อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรือเรียกว่าอำนาจของรัฐ (State Power) เป็นอำนาจหน้าที่มาจากประชาชน
และผู้ที่จะได้อำนาจปกครองจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

2.ประชาชนมีสิทธิที่จะมอบอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนด้วยกันเอง โดยการออกเสียงเลือกตั้งบุคคลกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ
ตามระยะเวลาและวิธีการที่กำหนดไว้ เช่น ทุก 4 ปี จะมีการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนพร้อมกันทั่วประเทศ

3.รัฐบาล จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพมูลฐานของประชาชน เช่น สิทธิเสรีภาพในทรัพย์สินและการแสดงความคิดเห็น การรวมกลุ่ม เป็นต้น โดยรัฐบาลจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเหล่านี้เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นของชาติหรือเพื่อสร้างสรรค์ความเป็นธรรมแก่สังคมเท่านั้น

4.ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน ในการที่จะได้รับบริการทุกชนิดที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน

5.รัฐบาล ถือกฎหมาย และความเป็นธรรมเป็นบรรทัดฐานในการปกครอง และในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ เพื่อความสงบสุขของประชาชน

ระบอบเผด็จการ

ระบอบเผด็จการคือ ระบอบการเมืองการปกครองที่โอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตกลงใจถูกจำกัดอยู่ในบุคคลเพียงคนเดียวหรือสองสามคน กล่าวคือจะใช้โอกาสในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ โดยใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน หากประชาชนคัดค้านก็จะถูกผู้นำหรือคณะบุคคลลงโทษ
หลักการสำคัญของระบอบเผด็จการ มีดังนี้

1.ผู้นำคนเดียว หรือคณะผู้นำของกองทัพ หรือของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวกลุ่มเดียว มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง สามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ฟังเสียงคนส่วนใหญ่ของประเทศ

2.การรักษาความมั่นคงของผู้นำหรือคณะผู้นำมีความสำคัญกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้นำได้เลย

3.ผู้นำหรือคณะผู้นำสามารถที่จะอยู่ในอำนาจได้ตลอดชีวิต ตราบเท่าที่กลุ่มผู้ร่วมงาน หรือกองทัพยังให้ความสนับสนุนอยู่ ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนผู้นำได้โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ

4.รัฐธรรมนูญหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ไม่มีความสำคัญต่อกระบวนการทางการปกครองเหมือนในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นแต่เพียงรากฐานรองรับอำนาจของผู้นำหรือคณะผู้นำเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

ระบอบเผด็จการมี 3 แบบ คือ

1. เผด็จการทหาร

2. เผด็จการฟาสซิสต์

3. เผด็จการคอมมิวนิสต์

1. ระบอบเผด็จการทหาร (อังกฤษ: Military dictatorship) คือ รูปแบบการปกครองที่อำนาจทางการเมืองขึ้นอยู่กับกองทัพ โดยถือได้ว่าเป็นการปกครองในระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน

รัฐบาลเผด็จการทหารส่วนมากจัดตั้งหลักจากรัฐประหาร ซึ่งล้มล้างอำนาจรัฐบาลชุดก่อนหน้า ตัวอย่างที่แตกต่างออกไป คือ การปกครองในสมัยของ ซัดดัม ฮุสเซน ในประเทศอิรัก ซึ่งเริ่มจากรัฐที่ปกครองโดย รัฐบาลพรรคเดียว โดย พรรคบะอัธ แต่เมื่อเวลาผ่านไปรัฐบาลดังกล่าวเปลี่ยนไปเป็นเผด็จการทหาร (ตามที่ผู้นำสวมเครื่องแบบทหารและกองทัพก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในรัฐบาล)

ในอดีต เผด็จการทหารมักจะอ้างความชอบธรรมให้แก่พวกเขาเองว่าเป็นการสร้างความสมานฉันท์แก่ชาติ และช่วยชาติให้พ้นจากภัยคุกคามของ "อุดมการณ์ที่อันตราย" อันเป็นการสร้างการข่มขวัญ ในละตินอเมริกา ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ และทุนนิยม ถูกนำเป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร คณะทหารมักจะกล่าวว่าพวกเขาเป็นพวกไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด เป็นคณะที่มีความเป็นกลาง สามารถจัดการกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ได้ และกล่าวว่านักการเมืองที่มาจากประชาชนนั้นคดโกงและไร้ประสิทธิภาพ ลักษณะร่วมประการหนึ่งของรัฐบาลทหาร คือการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

รัฐบาลทหารมักจะไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และมักใช้วิธีการปิดปากศัตรูทางการเมือง รัฐบาลทหารมักจะไม่คืนอำนาจจนกว่าจะมีการปฏิวัติโดยประชาชน

ละตินอเมริกา ทวีปแอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นพื้นที่ที่เป็นเผด็จการทหารบ่อยครั้ง เหตุผลหนึ่งคือทหารมีการประสานงานร่วมกัน และมีโครงสร้างของสถาบันที่เข้มแข็งกว่าสถาบันทางสังคมของประชาชน

ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ระบอบเผด็จการทหารเริ่มมีจำนวนลดลง เหตุผลหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เผด็จการทหารไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และรัฐบาลทหารมักไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมประเทศไม่ให้เกิดการต่อต้านได้ นอกจากนี้การสิ้นสุดสงครามเย็น ที่ส่งผลให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย ทำให้กองทัพไม่สามารถใช้ข้ออ้างในเรื่องของคอมมิวนิสต์ในการอ้างความชอบธรรมของตนเองได้อีกต่อไป

EX ประเทศที่ยังปกครองด้วยระบบเผด็จการทหารในปัจจุบัน

- ประเทศลิเบีย – เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2512 กองทัพทำรัฐประหารและยังคงอยู่ในอำนาจ

- ประเทศมอริเตเนีย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2548 กองทัพทำรัฐประหาร

- ประเทศพม่า กองทัพกุมอำนาจตั้งแต่ พ.ศ. 2495

- ประเทศปากีสถาน (ประธานาธิบดีครองอำนาจโดยผลจากการก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2542 )

- ปรัเทศฟิจิ ทหารเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549

2. เผด็จการฟาสซิสต์ ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่ผู้นำคนหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจและกองทัพให้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ ผู้นำในระบอบการปกครองเผด็จการฟาสซิสต์มักจะมีลัทธิการเมืองที่เรียกกันว่า ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นลัทธิชี้นำในการปกครองและมุ่งที่จะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการถาวร โดยเชื่อว่าระบอบการปกครองแบบนี้เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยให้ประเทศของตนมีความเจริญก้าวหน้าโดยเร็ว ตัวอย่างของการปกครองระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ เช่น การปกครองของอิตาลีสมัยมุสโสลินีเป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2473 – 2486 การปกครองของเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์เป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2476 – 2488 หรือการปกครองของสเปนสมัยจอมพลฟรังโกเป็นผู้นำระหว่างพ.ศ. 2480 – 2518 เป็นต้น

3. ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่พรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวได้รับการยอมรับ หรือสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลต่าง ๆ และกองทัพให้เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ คณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่า ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์เป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นอิสระจากการถูกกดขี่โดยชนชั้นนายทุน รวมทั้งทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าและเข้มแข็งทัดเทียมกับต่างประเทศได้เร็วกว่าระบอบการปกครองแบบอื่น ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มีความแตกต่างจากระบอบเผด็จการทหารอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ระบอบเผด็จการทหารจะควบคุมเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนเท่านั้น แต่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์จะใช้อำนาจเผด็จการควบคุมกิจกรรมละการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ด้วยเหตุนี้นักรัฐศาสตร์จึงเรียกระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อีกอย่างหนึ่งว่า ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ

คำสำคัญ (Tags): #political
หมายเลขบันทึก: 629585เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท