ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๑๔. ให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ต้องคิดซับซ้อน


บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง


ภาค ๕ สร้างบทเรียนประยุกต์ใช้ความรู้


ภาค ๕ สร้างบทเรียนประยุกต์ใช้ความรู้ ตีความจากบทที่ ๕ Conduction Knowledge Application Lessons การเรียนประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นรูปแบบที่ ๓ ของการเรียนสาระหรือเนื้อหาความรู้ (รูปแบบที่ ๑ เรียนจากการสอนโดยตรง รูปแบบที่ ๒ เรียนจากการฝึกปฏิบัติใช้ความรู้) โดยหวังให้เกิดกระบวนการในสมองของนักเรียนคือ มีการพัฒนาความเข้าใจ และพิสูจน์ความเข้าใจโดยทำกิจกรรมประยุกต์ใช้ความรู้นั้น


บทเรียนประยุกต์ใช้ความรู้ในการทำกิจกรรมนี้ ถือเป็นการเรียนแบบค้นพบด้วยตนเอง (discovery learning) โดยที่นักเรียนต้องประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนมาในสถานการณ์ที่จำเพาะ และเนื่องจากมีครูคอยช่วยเหลือ (scaffolding) จึงเป็นการเรียนแบบค้นพบโดยมีตัวช่วย (enhanced discovery)


คำถามสำหรับการออกแบบบทเรียนเพื่อการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้คือ “หลังจากสอนเนื้อหาใหม่ ครูจะออกแบบและดำเนินการอย่างไร เพื่อช่วยให้นักเรียนสร้างและปกป้องความคิดโดยการประยุกต์ใช้ความรู้”


โปรดสังเกตว่า ขั้นตอนประยุกต์ใช้ความรู้นี้ มีเป้าหหมายเพื่อให้นักเรียนสร้างความรู้ของตนเอง ขึ้นในสมองของตนเอง


ตอนที่ ๑๔ ให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ต้องคิดซับซ้อน ตีความจาก Element 12 : Engaging Students in Cognitively Complex Tasks


คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู ในการจัดการฝึกให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ต้องคิดซับซ้อน คือ “ครูจะดึงการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการทำกิจกรรมที่ต้องคิดซับซ้อนได้อย่างไร”


ยุทธศาสตร์และวิธีการให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ซับซ้อน มีดังต่อไปนี้




กิจกรรมทดลองและสอบถาม (Experimental inquiry task) หมายถึงกิจกรรมที่นักเรียนกำหนดเป้าหมาย หรือผลที่ต้องการเห็น แล้ววางแผนและดำเนินการ หลังจากนั้นจึงเก็บข้อมูลโดยสอบถามจากผู้เกี่ยวข้อง ว่าได้ผลอย่างไร เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่าผลเป็นอย่างไร เช่น ในการเรียนวิชาออกแบบ หลังจากครูสอนทฤษฎีแล้ว ครูให้นักเรียนดูภาพ ๓ ภาพ ที่ให้ความรู้สึกแก่ผู้ดูต่างกัน เช่น ความรู้สึกด้านดุลยภาพ ความกังวล หรือจังหวะ ให้นักเรียนเลือกวาดภาพง่ายๆ เพื่อสื่อสารความรู้สึกตามในภาพใดภาพหนึ่ง แล้วประเมินผลโดยการทำแบบสอบถามเพื่อนๆ ว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อดูภาพที่ตนวาด สำหรับนำมาปรับปรุงการวาดของตนเอง กิจกรรมนี้ช่วยให้นักเรียนได้วาดรูปด้วยตนเอง สร้างแบบสอบถาม เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผลจากข้อมูล


ในบทเรียนเหล่านี้ นักเรียนจะต้องตั้งคำถามต่อไปนี้ ตามลำดับ

  • ฉันทำนายว่าจะได้ผลอะไร
  • ฉันจะทดสอบคำทำนายได้อย่างไร
  • หากคำทำนายถูกต้อง ฉันจะเห็นอะไร
  • สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร
  • คำทำนายของฉันเป็นจริงหรือไม่
  • ความคิดของฉันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
  • ฉันสามารถสรุปอย่างน่าเชื่อถือได้ว่าอย่างไร


เมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้จากยุทธศาสตร์และวิธีการในตอนนี้ จะเห็นพฤติกรรมต่อไปนี้ในนักเรียน

  • นักเรียนตั้งใจทำกิจกรรม ที่ต้องใช้การคิดอย่างซับซ้อน
  • นักเรียนสามารถอธิบายข้อสรุปของตน
  • นักเรียนสามารถป้องกันข้อสรุปของตน
  • นักเรียนสามารถสร้างสิ่งของจากกระบวนการคิดอย่างซับซ้อน



วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 629145เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2017 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2017 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท