CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_20: ค่ายพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ปี ๒๕๖๐ "รับน้องสร้างสรรค์" (๓)


บันทึกที่ ๑) บันทึกที่ ๒)

(เข้าใจว่า) พี่น้องโครงการเด็กดีมีที่เรียน ออกเดินทางจากสำนักศึกษาทั่วไปประมาณเที่ยง กินข้าวกล่องบนรถ และไปถึงค่ายลูกเสือดงใหญ่ โรงเรียนดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ประมาณบ่ายโมงเศษ ระยะทางจาก ร.ร.ดงใหญ่ ถึงมหาวิทยาลัย ม.ใหม่ ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ขอนำตารางมาวางไว้ตรงนี้อีก

กิจกรรมบังคับ คือ ทุกครั้งทุกค่าย นิสิตจะต้องจับมาเล่นคือเป็นประจำ ได้แก่ การจับบัดบี้-บัดเดอร์ ให้ได้แอบดูแลเทคแคเพื่อนหรือพี่โดยมีกติกาว่า ต้องไม่ให้รู้จนกระทั่งวันลาจาก ค่อยเปิดเผยเฉลยว่าบัดดี้ขจองตนเป็นใคร

กิจกรรมบังคับที่ทำกันเยอะมาก คือ สันทนาการ ได้แก่ ร้องเพลง เต้นรำ ทำท่าตลก น้อง ๆ จะสนุกละชอบกันมาก เป็นกิจกรรมขั้นต้นตามโมเดลกิจกรรม "๓ กำลัง ส." ที่เสนอโดยแสน ธีระวุฒิ ศรีมังคละ (อ่านได้ที่นี่)



ลักษณะเด่นของค่าย ที่น่าจะทำอีกในปีการศึกษาถัดไป (ต่อ)

๒) กิจกรรมนำเรียนรู้

ลักษณะเฉพาะของค่ายของนิสิตเด็กดีมีที่เรียนคือ จะไม่ใช่เฉพาะสันทนาการ ไม่ใช่ค่ายสร้าง และไม่ใช่ค่ายสอน แต่เป็นค่ายที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ หรือผมเรียกว่า "กิจกรรมนำเรียนรู้" เหมือนที่พวกเขาทำเมื่อครั้งไปช่วย English Access Program (อ่านได้ที่นี่)

ค่ายฯ รับน้องสร้างสรรค์คร้งนี้ มีกิจกรรมนำเรียนรู้หลายกิจกรรม เริ่มตั้งแต่เย็นค่ำวันแรก พี่ได้มอบหมายให้น้องในแต่ละกลุ่มสีไปคิดบทละครและนำมาแสดงรอบกองไฟ โดยมีเงื่อนไขให้สอดคล้องกับชื่อเรื่องที่พี่มอบให้ ได้แก่ ความสุข ความฝัน ความสามัคคี ฯลฯ ...แม้ว่าค่ายรับน้องครั้งนี้ น้อง ๆ จังยังเกร็งกันนิดหน่อย แต่เรื่องราวและลำดับของละคร ก็สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาได้ฝึกภาวะผู้นำและได้ทักษะสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนจากกิจกรรมกลุ่มครั้งแรกพอสมควร

น้อง ๆ กำลังแสดงละครเต็มที่ พี่ ๆ คอยเชียร์


เช้าวันที่สอง มีพิธีเปิดค่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณ รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีประทีป ผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ท่านเดินทางจากจังหวัดขอนแก่น ด้วยรถส่วนตัว มาเปิดงานนี้โดยเฉพาะ ทำให้ผมมั่นใจว่า ท่านให้การสนับสนุนการทำงานในแนวทางนี้ ... เต็มที่ครับ

หลังจากเปิดค่าย กิจกรรมเดินสำรวจป่าดงใหญ่ โดยเชิญให้อาจารย์วิทยากรจากโรงเรียนดงใหญ่ และปราชย์ชาวบ้านพาเดินไพร ระหว่างเดินก็ให้ความรู้ต่าง ๆ ไป และหลังเดินป่าแล้ว เป็นกิจกรรมรวมกัน AAR ... กิจกรรมนี้ก็น่าจะนำไปทำอีกในค่ายสำหรับปีการศึกษาถัดไป




พ่อสังวาล ปราชญ์ดงใหญ่


AAR หลังเดินป่ามาหลายกิโล

กิจกรรมที่เราประทับใจและรู้สึกว่าประสบผลสำเร็จมากที่สุด ของค่ายฯ รับน้องสร้างสรรค์ฯ ๗-๙ เมษายน ๒๕๖๐ คือ การเชื่อมสัมพันธ์ฉันน้องพี่ด้วยการเวียนเล่น "ฐานการเรียนรู้" ซึ่งได้แก่

  • ฐานลูกโป่งน้ำ พี่จะเอาลูกโป่งไปใส่น้ำ แล้วให้น้องแบ่งเป็นสองทีม แต่ละทีมแบ่งเป็นสองแถวตอน หันหน้าเข้าหากันโดยมีระยะห่างระหว่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกโป่งไปมาภายในเวลาจำกัด ทันทีที่โยนให้วิ่งไปต่อท้ายแถวตอนของตนเอง ทีมใดครบคนก่อนชนะ แต่ถ้าลูกโป่งแตกก่อนก็แพ้ ... เห็นนิสิตสนุกกันมากครับ คนคิดเกมเก่งมาก...


  • ฐานใจเชื่อใจ พี่ ๆ จะเตรียมสถานที่ไว้อย่างดีแม้จะมีโคลนมีแป้งบ้าง แต่ก็คอยดูแลความปลอดภัยของน้อง ๆ อย่างดี วิธีการคือ พี่จะเอาเชือกผูกเป็นเส้นทางระหว่างต้นไม้เลี้ยวไปมา ระยะทางประมาณ ๒๐ เมตร เอาผ้าปิดตาน้องทุกคนและให้จับมือเดินท้าวเปล่าตามกันไป โดยจะย้อมให้เพียงหัวหน้ากลุ่มที่เดินนำหัวแถวเท่านั้นที่สามารถจับเชือกได้ ระหว่าง ๆ ทาง พี่ ๆ ก็จะคอย เอาใบไม้มาขวางบ้าน หลอกล่อให้น้องก้มบ้าง .... ผมสังเกตว่า สนุกกันมาก เช่นกันครับ ผมตีความว่า กิจกรรมที่ให้ได้ลำบากร่วมกันบ้าง จะทำให้รักและรู้จักกันเร็วขึ้น


  • ฐานมองหน้าไม่รู้ใจ ฐานนี้เป็นการใบ้คำ นิสิตที่เรียนเอกภาษาไทยจะคัดคำมาเขียนไว้ในการ์ดกระดาษ แล้วให้น้องผู้พึ่งผ่านอุโมงทำท่าใบ้ให้น้องที่กำลังจะเข้าอุโมงเป็นคนทาย ทายถูกได้คะแนน จับเวลา กลุ่มไหนทายถูกภายในเวลาที่กำหนด จะเป็นผู้ชนะ


๓) กิจกรรมสัมพันธ์ฐานวัฒนธรรม

กิจกรรมเชิงสืบสานวัฒนธรรม ที่นิสิตนำมาทำกันในค่ายนี้ แม้จะไม่ได้เต็มรูปแบบตามประเพณีที่กระทำต่อมา แต่เจตนาและผลลัพธ์ยังบรรลุตามเดิม ผมคิดว่านิสิตสร้างสรรค์กิจกรรมเสริมสัมพันธ์เชิงสืบสานวัฒนธรรมแบบนี้ต่อไป และค่อย ๆ พัฒนาขึ้นให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ภูมิปัญญาเบื้องหลังประเพณีหรือวัฒนธรรมนั้น

  • กิจกรรมงานวัด จัดขึ้นให้ตอนค่ำของวันก่อนลากลับ นิสิตแบ่งงานเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มก็จัดกิจกรรมจำลองคล้าย ๆ งานวัดจริง มีเวทีรำวงตรงกลาง มีเวลาประกวดร้องเพลง ซุ้มยิงปืนตามงานวัดถูกดัดแปลงเป็นให้ปากระดาษ (สนุกและท้าทายมาก) โยนกำไรให้ครอบปากขวด กิจกรรมสอยดาวเสี่ยงโชคปรับมาเป็นจับสลากเหมือนเราจับกล่องของขวัญปีใหม่

  • กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ ตอนเช้าก่อนกลับ หลังเฉลยบัดดี้-บัดเดอร์ ผมจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมพลังสมาธินี้มาก ผมเชื่อมั่นว่า หากทำพิธีกรรมนี้อย่างดี นิสิตจะสามารถรวมพลังใจเป็นสมาธิร่วมกัน เกิดเป็นพลังใจของกลุ่มเพื่อให้สิ่งใดที่หวังร่วมกันเป็นจริงได้ และโดยเฉพาะช่วงเวลาการผูกแขนอวยพร เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผมจะได้แนะนำและ "ให้การบ้าน" เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน


ขอจบฮ้วน ๆ แบบนี้นะครับ

หมายเลขบันทึก: 628843เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2017 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2017 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท