CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_18: ค่ายพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ปี ๒๕๖๐ "รับน้องสร้างสรรค์" (๑)


วันที่ ๗ - ๙ เมษายน ๒๕๖๐ ชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี ร่วมกับ CADL สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดค่าย "รับน้องสร้างสรรค์" ณ ค่ายลูกเสือโรงเรียนดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ต.ดงใหญ่ อ.วาปี (ผมบันทึกการไป ร.ร.ดงใหญ่ฯ ครั้งแรกไว้ที่นี่) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ "ป่าดงใหญ่" ป่าชุมชนในพื้นที่ที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคาม มีน้องจากโครงการเด็กดีมีที่เรียน ประจำปี ๒๕๖๐ ว่าที่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน ๘๔ คน รุ่นพี่ในโครงการเด็กดีฯ ซึ่งตอนนี้รวมตัวกันเป็นชมรมต้นกล้าฯ ๓๐ คน และบุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป ๕ คน รวมเกือบ ๑๒๐ คน


ผม AAR ว่า ค่ายนี้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม กิจกรรมที่ชมรมต้นกล้าฯ ออกแบบขึ้น น่าจะถูก "ถอดบทเรียน" เป็น "หลักสูตรการทำค่ายรับน้องสร้างสรรค์" และแบ่งปันออกไป ขอขอบพระคุณผู้บริหารและบุคลากรของโรงเรียน โดยเฉพาะคุณครูสายใจ ปินะกาพัง คุณครูนุชรา โพธิ์ไทย และคุณครูทองใบ ปะวะเส ที่ให้การช่วยเหลือดูแลตลอดค่าย ๓ วัน ๒ คืน และพ่อปราชญ์


ก่อนจะถึงวันค่าย ผมกับคุณภาณุพงศ์ น้องเบล และพี่ริน ได้ไปตรวจดูพื้นที่มาก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ รอง ผอ.ถนอม และ คุณครูทองใบ ให้การต้อนรับ และพาไปดูพื้นที่แม้ฝนจะตก ดังภาพด้านล่าง


ที่นี่เป็นค่ายลูกเสือมาตรฐาน ให้บริการจัดอบรมลูกเสือหลักสูตร ๓ วัน ๗ วัน อยู่อย่างต่อเนื่อง

มีที่พักเป็น "เถียงป่า" ที่แข็งแรง ๑๐ หลัง แต่ละหลังมีน้องอาบน้ำและห้องส้วมประจำอย่างละ ๑ พื้นยกสูงประมาณเมตรครึ่ง จุคนนอนได้ราว ๒๐ คนต่อหลัง มีไฟฟ้า ปลั๊กไฟไปถึงทุกหลัง ถ้าเตรียมที่นั่งไปด้วยจะช่วยให้ท่านสามารถทำงานได้สบาย


มีอุปกรณ์ทำฐานผจญภัยให้ครบครัน และมี "อาคารสามัคคี" สำหรับเป็นที่พักรุ่นพี่หรือสตาร์ฟได้ดีเยี่ยม มีห้องน้ำในตัว


และมีอาคารอเนกประสงค์ ขนาดจุ ๕๐๐ คน สำหรับการจัดกิจกรรม มีเครื่องเสียง อุปกรณ์ดนตรี บริการ สะดวก มากๆ ขอบพระคุณโรงเรียนดงใหญ่ฯ มาก ๆ ที่ทำให้งบประมาณที่มีจำกัดมาก สามารถจัดค่ายคนเรือนร้อยได้ตั้ง ๓ วัน ๒ คืน


ก่อนวันเริ่มค่าย แกนนำชมรมได้ประชุมกัน และเผยแพร่กำหนดการละเอียด (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) และส่งทีมล่วงหน้ามาเตรียมค่ายในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ การดำเนินงานการค่ายเป็นไปตามแผนเกือบทุกประการ ยกเว้นพิธีเปิดและกิจกรรมแยกความรู้ออกจากความคิด ที่ผมขอปรับนิดหน่อย สรุปแล้วหลักสูตรรับน้องสร้างสรรค์ ที่อยากแบ่งปัน แสดงดังภาพด้านล่าง





ผมอยู่ร่วมตลอดค่าย เพื่อว่าจะได้สังเกตภาพรวมทั้งหมด และสะท้อนป้อนกลับ (feedback) ไปยังนิสิตชมรมต้นกล้าฯ เพื่อหนุนเสริมให้พวกเขาพัฒนาการเรียนรู้ไปสู่ "ค่ายเรียนรู้" เต็มรูปแบบ และสะท้อนจุดเด่นและจุดที่เห็นว่าควรพัฒนาเพิ่มเติม ดังนี้



ลักษณะเด่นของค่าย ที่น่าจะทำอีกในปีการศึกษาถัดไป

๑) มีส่วนให้ความรู้และเรื่องเล่าจากผู้มีประสบการณ์

วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๐ หลังจากที่ลงทะเบียน เขียนป้ายชื่อ และทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม ที่นำโดย ท็อปและเจเจแล้ว ผมได้มีโอกาสได้เล่าถึงที่มาที่ไปโดยเฉพาะเป้าหมายของโครงการเด็กดีมีที่เรียน และที่สำคัญคือ วิธีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในมหาวิทยาลัย ก่อนจะขั้นด้วยกิจกรรมสันทนาการสร้างสรรค์ ตามด้วยการเล่าประสบการณ์จากพี่พิม (สัจจาพร พิลึก) ประธานรุ่นนิสิตสาขาบัญชีและการตลาด นิสิตต้นแบบการน้อมนำเอา ปศพพ. ไปใช้จนประสบผลสำเร็จ ... อยากจะสรุปประเด็นสำคัญ ๆ แบ่งปันไว้ในบันทึกนี้อีกที แบบย่อ ๆ


  • เจตนารมณ์ของโครงการเด็กดีมีที่เรียนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามคือ ดำเนินตามรอยเท้าพ่อ เดินตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ดังภาพด้านบน คือ การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง ต่อไปในภายหน้า
  • โครงการเด็กดีมีที่เรียน เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มหาวิทยาลัยเป็น ๑ ใน ๙ มหาวิทยาลัย ลงนามร่วมดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของ MOU ให้โอกาสนักเรียนที่มีคุณธรรม จริยธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน เข้าเรียนในระดับปริญญาตรี โดยไม่มีการทดสอบข้อเขียน เนื่องจากโดยทั่วไปนักเรียนกลุ่มนี้มักเป็นนักกิจกรรม เป็นผู้นำในโรงเรียน ไม่ได้ติวเรียนพิเศษที่ใด จึงสอบแข่งขันสู้ไม่ได้
  • มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ไม่ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ ต่างจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ที่กำหนดพื้นที่ เฉพาะในจังหวัดมหาสารคาม และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเขตพื้นที่ภาคอีสาน



  • กระบวนการคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมโครงการเด็กดีฯ ของ มมส. ไม่ใช่เพียงการประกาศ ตั้งรับ นับจำนวน เท่านั้น แต่สำนักศึกษาทั่วไป ผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ ใช้การสร้างเครือข่ายร่วมมือกับครูแนะแนวกับหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการคัดเลือก "เด็กดี" ก่อนจะให้อาจารย์ประจำหลักสูตรเป็นผู้คัดเลือกโดยพิจารณาจากผลงานและความถนัดอีกครั้งในการสอบสัมภาษณ์
  • นิสิตที่มาจากโครงการเด็กดีมีที่เรียน ไม่ได้แตกต่างจากนิสิตที่เข้ามาในช่องทางอื่น คือต้องเข้าสู่กระบวนการของอาจารย์ที่ปรึกษาและกระบวนการพัฒนาของสาขาหรือคณะ กิจกรรมความดีที่นิสิตในโครงการนี้จะขับเคลื่อนร่วมกัน จะต้องใช้จิตอาสาและทักษะการจัดแบ่งเวลาให้ไม่กระทบทั้งเรื่องกิจกรรมหลักและเรื่องการเรียน
  • นิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นชมรม คือ ชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี เป้าหมายคือการขับเคลื่อนความดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและแบ่งปันจากจิตอาสา เปรียบเหมือน "ต้นกล้า" ที่เติบโตอยู่ภายในสาขาวิชา มหาวิทยาลัย ภูมิภาค เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลกต่อไป



  • ในอีกมุมหนึ่ง สำนักศึกษาทั่วไปที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนของชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี ด้วยหวังเป็นวิธีในการสร้างแกนนำนิสิตในการส่งเสริมคณะลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ๙ ประการดังภาพด้านบน



  • โดยเฉพาะคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ข้อที่ ๑ เป็นส่วนสำคัญของการสร้างบัณฑิตที่เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ดำเนินชีวิตบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตระหนักและสำนึกในความเป็นไทย
  • ดังนั้นต้นกล้าแห่งความดี คือสิ่งที่ GE (General Education) ต้องการปลูกและดูแลให้เติบใหญ่ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุมกันที่ดี ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชนตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยต่อไป



  • นิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน จะถูกเชิญให้เป็นสมาชิกชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี แล้วเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมความดีโดยไม่ต้องรอให้สำเร็จการศึกษาก่อน สำนักศึกษาทั่วไป จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตกลับไปทำความดีในพื้นที่หรือโรงเรียนเดิม โครงการที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการคืนถิ่นทำดี โครงการค่ายอาสาพาน้องทำดี ฯลฯ



  • เริ่มที่ศึกษา "ความรู้" เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจ ขั้นตอนไปคือ น้อมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตของตนจนเกิดเป็น "ทักษะ" เป็นความสามารถในการปฏิบัติ เมื่อน้อมนำมาเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วยศรัทธา จะเกิดเจตคติกลายมาเป็นนิสัยและอุปนัยในที่สุด
  • ขอยกคำสอนหลวงปู่ชา สุภัทโท ท่านบอกว่า ความคิดจะกำหนดการกระทำ การกระทำบ่อย ๆ จะนำมาเป็นความเคยชิน ความเคยชินจะกลายมาเป็นนิสัย นิสัยจะกำหนดชะตา กลายมาเป็นอนุสัยหรืออุปนิสัยข้ามภพข้ามชาติ



  • กรอบแนวคิด: ปศพพ. คือแนวทางการดำรงชีวิตและปฏิบัติตนของทุกคนให้ดำเนินไปในทางสายกลาง เพื่อให้เกิดความสมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และ วัฒนธรรม
  • ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุมกันที่ดีพอสมควรต่อผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกและภายใน ... นี่ถือเป็นหลักการของ ปศพพ.
  • เงื่อนไขพื้นฐานสำคัญ คือ
    • เงื่อนไขคุณธรรม ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต อดทน เพียร มีสติและปัญญา
    • เงื่อนไขความรู้ ได้แก่ ความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง



  • สรุปแล้ว ปศพพ. คือหลักคิดและหลักปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตตามเงื่อนไขและหลักการของความพอเพียง สามารถจดจำได้ง่ายเป็น ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข สู่เป้าหมาย ๔ มิติ นั่นเอง



  • เมื่อพิจารณาให้ดี ปศพพ. คือ หลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ที่จะนำทุกคนไปสู่ "ความสุข" เนื่องจากเป็นหลักการที่เชื่อมโยงหรือจัดการกับกิเลสหรือเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ โลภ โกรธ หลง ดังนี้
    • ห่วงเหตุผล จัดการกับ ความโกรธ
    • ห่วงพอประมาณ จัดการกับ ความโลภ
    • ห่วงภูมิคุ้มกันที่ดี จัดการกับ ความหลง โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันภายในอย่าง สติ สมาธิ และปัญญา
  • ทั้งนี้ต้องมี ๒ เงื่อนไข และการพิจารณาให้ครอบคลุม ๔ มิติ ตลอดเวลา จึงจะนำมาสู่ความสุขที่ยั่งยืน




  • วิธีการน้อมนำ ปศพพ. มาใช้กับการทำงาน สามารถจัดไว้ ๓ ขั้นตอน คือ ก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ โดยนำเอา ๗ คำถาม ที่เสนอโดย รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ไปใช้ในทุกขั้นตอน



  • ส่วนการน้อมนำ ปศพพ. ไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือการจัดการทั้งปวง แสดงไว้ดังสไลด์ของ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ด้านบน โดยมีขั้นตอนดังนี้
    • จะทำอะไร ต้องไม่ผิดเงื่อนไขคุณธรรม และต้องพิจาณาค้นหาและนำความรู้ไปใช้เสมอ
    • การตัดสินใจต้องพิจารณาให้ครบถ้วน การจัดการกระบวนการให้เป็นไปตามหลักการ ๓ ห่วง
    • การนำไปใช้ต้องเป็นไปเพื่อความสมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม .... นั่นคือ เป้าหมายของ ปศพพ.



  • เมื่อเป็นผู้รับสาร หรือรับฟังอะไร ให้คิดพิจารณาโดยใช้หลัก ปศพพ. เสมือนเป็นเครื่องกรอง ให้ได้ความจริง (Cr. รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์)



  • เมื่อจะต้องพูดหรือสื่อสารอะไรออกไปสู่ผู้อื่น ให้พิจารณาตนเองเป็นเครื่องฉายหนัง ความรู้หรือประสบการณ์ของตนเมือนเป็นม้วนฟิล์ม เครื่องฉายหนังพลังคุณธรรมและความรู้ สื่อสารความจริงออกไปอย่างครบถัวน



  • สิ่งที่ต้องการฝาก คือ ให้นิสิตทุกคน ปรับวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ (Mindset หรือ Paradigm) ของตนเองว่า ไม่ว่าจะทำอะไรนั้น ล้วนแล้วแต่มีผลตามมาทั้งสิ้น ความสำเร็จที่แท้จริงไม่เกิดขึ้นแบบบังเอิญหรือโชคช่วย แต่ต้องเป็นไปด้วยความพยายามและการสั่งสม หากต้องการไปนิพานต้องสร้างบารมี หากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าต้องมีถึง ๑๐ อย่าง
  • การทำความดีคือ "มรรค" น้ำเปรียบเหมือนบารมี ความดีเปรียบเหมือนการตักน้ำใส่ตุ่ม ตุ่มมีรอยรั่วหมายถึงการประพฤติตนด้านชั่วบาป ไม่อาจทำให้เรไปถึงเป้าหมายได้

(มาต่อกันตอนต่อไปครับ )





หมายเลขบันทึก: 627560เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2017 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2017 07:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท