Pecha Kucha


จุดประกายความคิดจากเรื่องเล่าเล็กๆ

ระหว่างรอนแรมอยู่ในกรุงเทพ 2-3 วันที่ผ่านมา พบเอกสารแผ่นพับขนาดใหญ่วางสะดุดตาอยู่บนรถของเพื่อน หยิบขึ้นมาอ่านดูก็พบว่าเป็นเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม Pecha Kucha Night (อินบางกอก) แม้ว่าคำนี้คงหาที่ยืนอยู่ในสารระบบ KM ไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นศัพท์เทคนิคที่มีนัยของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่มากเอาการ จึงขออนุญาตคัดลอกสาร-สาระของกิจกรรม Pecha Kucha Night มาฝากไว้ ณ ที่นี้ ตัวอย่างของกิจกรรมส่วนใหญ่แม้จะเน้นหนักไปที่กิจกรรมทางศิลปะ แต่ว่าหากจับประเด็นดีๆ จะพบว่ามันเป็นเรื่องของ Creative Thinking ที่น่าสนุกเอาการ ใครจะลองประยุกต์กฎกติกาของ Pecha Kucha ไปเป็น 20 เรื่องราวของอะไร เพื่อฟุ้งกระจายไอเดีย ก็ลองทำกันดูนะขอรับ

ข้อมูลจากเอกสาร Pecha Kucha Night? (และจาก website; http://www.pechakuchabangkok.com)

1. อะไรคือ Pecha Kucha Night?
        “Pecha Kucha – เพะชะคุชะ” เป็นคำจำลองเสียงพูดคุย (chit-chat) ของชาวญี่ปุ่น ส่วน เพะชะคุชะไนท์ (Pecha Kucha Night) คือค่ำคืนที่ผู้คนจากสารพัดวงการพกพาไอเดียสร้างสรรค์ของตนมาบอกเล่าสู่กันฟังอย่างสนุกสนาน ในบรรยากาศแบบปาร์ตี้ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างคนดังกับโนเนม, มืออาชีพกับมือสมัครเล่น, ผู้ใหญ่กับเด็ก, อาจารย์กับศิษย์, รุ่นเก๋ากับรุ่นใหม่แกะกล่อง ฯลฯ เพะชะคุชะไนท์ จึงคือค่ำคืนแห่งการ “ปล่อยของดี” อย่างมีอิสระเสรี เท่าเทียม และสร้างสรรค์ นั่นเอง

2. ใครริเริ่ม?
        เพะชะคุชะไนท์ เกิดจากความคิดของ Astrid Klein and Mark Dytham ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Klein Dytham Architects (KDa) ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยความเชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์ของคนเราจะเติบโตได้จริงก็ต่อเมื่อเราเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ อย่างเปิดกว้าง ดังนั้น เพะชะคุชะไนท์จึงเน้นการเปิดพื้นที่ให้คนทำงานสร้างสรรค์จากหลายแขนงได้มีโอกาสนำไอเดียของตนมาโชว์ต่อสาธารณชน พร้อมๆ กับเรียนรู้ไอเดียของผู้อื่นไปด้วย

3. ใครจัดแล้วบ้าง?
        หลังจากริเริ่มในญี่ปุ่นมาเพียง 3 ปี ...ด้วยรูปแบบของงานที่จัดง่าย บรรยากาศเป็นกันเอง ใครมาเข้าร่วมก็ล้วนสนุกและสบายใจ ณ วันนี้ เพะชะคุชะไนท์จึงได้กลายเป็นงานยอดฮิตที่ถูกนำไปจัดกันแล้วในเกือบ 30 เมืองทั่วโลก (และกำลังเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างน่าตื่นเต้น) ได้แก่ เฮลซิงกิ ฟินแลนด์, รอตเทอร์ดาม เนเธอร์แลนด์, โกรนิงเงน เนเธอร์แลนด์, โบโกตา โคลอมเบีย, นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา, ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา, ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา, ปักกิ่ง จีน, เซี่ยงไฮ้ จีน, ซิดนี่ย์ ออสเตรเลีย, เมลเบิร์น ออสเตรเลีย, โฮบาร์ต ออสเตรเลีย, ลากอส ไนจีเรีย, เบอร์ลิน เยอรมัน, เบลฟาสต์ ไอร์แลนด์, แมนเชสเตอร์ อังกฤษ, นิวคาสเซิล อังกฤษ, ซานติอาโก ชิลี, คอสตาริกา สาธารณรัฐคอสตาริกา , กลาสโกว์ สกอตแลนด์, นิวเดลี อินเดีย, บังกาลอร์ อินเดีย, บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา, สตอกโฮล์ม สวีเดน, เวียนนา ออสเตรีย, เบิร์น สวิตเซอร์แลนด์

*โดยในโตเกียว ต้นตำรับของเพะชะคุชะไนท์นั้น จัดไปแล้วถึง 36 ครั้ง หรือเฉลี่ยคือจัดทุกเดือน
*เพชะคุชะครั้งอลังการที่สุด (นับถึงตอนนี้) คือครั้งพิเศษในเทศกาลโฆษณาที่เมืองคานส์หนล่าสุด ซึ่งเหล่าผู้บริหารบริษัทโฆษณาชั้นนำของโลกชวนกันขึ้นเวทีกว่า 10 ชีวิตเพื่อบอกเล่าไอเดียของตนแก่คนรุ่นใหม่
*เพะชะคุชะไนท์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (นับถึงตอนนี้) คือครั้งที่ 7 ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน
*และสำหรับกรุงเทพฯ ประเทศไทย ....เพะชะคุชะไนท์ครั้งแรก ที่จัดโดยนิตยสาร BIOSCOPE try2benice และ HOUSE RAMA กำลังจะเกิดขึ้น!

4. ใครบ้างที่มา?
- คนที่มาเล่าไอเดียสร้างสรรค์ของตนบนเวที
        เป็นใครก็ได้ทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่น นักเรียนนักศึกษา หน้าเก่าหน้าใหม่ จากทั้งวงการสถาปนิก, ออกแบบตกแต่งภายใน, ออกแบบกราฟิก, ออกแบบเกม, ศิลปิน, คนทำหนัง, แฟชั่นดีไซเนอร์, นักประดิษฐ์, นักเขียน, ทำหนังสือ, ถ่ายภาพ, เล่นดนตรี, วาดภาพประกอบ ฯลฯ หรือสรุปคือใครก็ได้ที่มีผลงานแสดงความคิดสร้างสรรค์อันน่าสนใจ ไม่ว่างานนั้นจะเคยแสดงในต่างประเทศแต่ยังไม่ค่อยได้โชว์ในเมืองไทย หรือเป็นงานสเกตช์ที่ยังไม่มีโอกาสผลิตจริง หรือเป็นงานที่คุณแอบทำไว้แต่ยังไม่เคยเผยให้ใครในโลกได้เห็นมาก่อน ... เวทีของเพะชะคุชะไนท์ล้วนเปิดรับไอเดียสร้างสรรค์เหล่านั้น
- คนที่เข้ามาดูไอเดียสร้างสรรค์
        เป็นใครก็ได้ที่กระหายใคร่รู้ว่า คนอื่นๆ คิดอะไรกันอยู่ มีไอเดียอะไรไหลวนอยู่ในโลกนี้ และมีใครน่าสนใจน่ารู้จัก น่าเป็นเพื่อน หรือกระทั่งน่าชวนไปทำงานบ้าง เพชะคุชะไนท์จำกัดผู้พรีเซนต์ผลงานบนเวทีครั้งละ 20 คน แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ชมที่เข้าร่วม ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ไม่เป็นอุปสรรคเพราะหัวใจสำคัญของงานไม่ใช่ความเคร่งขรึมจริงจังอลังการยิ่งใหญ่ แต่คือการเปิดพื้นที่ให้นักคิดนักสร้างสรรค์หลากหลายรุ่นมาพบปะกันเพื่อจะก้าวไปเป็น Opinion Leader ที่ดีในอนาคต

5. มาทำอะไรกัน?
        เป็นงานที่มีแนวคิดเป็นเอกลักษณ์ (ซึ่งผ่านการทดสอบมาแล้วว่าเวิร์ค) คือ “20 x20” อันหมายถึง
- การพรีเซนต์ไอเดียจะเริ่มต้นเวลา 20.20 นาฬิกา
- มีผู้ขึ้นโชว์ไอเดียบนเวที 20 คน
- แต่ละคน จะโชว์ไอเดียผ่านภาพสไลด์ 20 ภาพ
- แต่ละภาพ มีเวลาปรากฏตัวบนจอ (โดยเจ้าของไอเดียยืนอธิบายประกอบไปด้วย) ภาพละ 20 วินาที
- รวมเวลาเล่าไอเดียของแต่ละคนคือ 6 นาที 40 วินาที เมื่อครบเวลาแล้ว คนต่อไปจะขึ้นมาเล่าผลงานของตนต่อทันที
- ผลงานที่ว่านี้จะเป็นอะไรก็ได้ที่สร้างสรรค์และเป็นงานของตัวคุณเอง เช่น “20 งานออกแบบลายผ้าที่คุณภูมิใจแต่ยังไม่เคยโชว์ใครมาก่อน”, “20 ภาพถ่ายคลื่นทะเลในมุมที่คุณคิดขึ้นเอง”, “20 งานศิลปะที่เคยไปโชว์ต่างประเทศแต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้โชว์ในประเทศไทย”, “20 วิธีที่คุณคิดว่าจะช่วยให้คนไทยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอย่างมีความสุขมากขึ้น”, “20 ขั้นตอนกว่าจะได้มาซึ่งหนังทดลองเรื่องนี้”, “20 โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่คุณทดลองคิด”, “20 ดีไซน์เก้าอี้ที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นและสุดภูมิใจ”, “20 สิ่งประดิษฐ์ที่คุณคิดค้นไว้แต่ยังไม่มีโอกาสพัฒนาให้เป็นของจริง”, “20 ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ที่เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว”, ฯลฯ โดยไม่จำกัดด้วยว่าจะต้องเป็นงานในแนวทางเดียวกับวิชาชีพตามปกติของคุณ ทั้งชื่อ ภาพตัวอย่างผลงาน และภาพบรรยากาศการเล่าไอเดียของทั้ง 20 คน จะไปปรากฏทั้งบนเว็บไซต์ www.pechakuchabangkok.com และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเว็บไซต์ www.pecha-kucha.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการที่รวมรายละเอียดความเคลื่อนไหวของเพชะคุชะทั่วโลก นั่นหมายความว่า ทั้งตัวคุณและผลงานของคุณจะกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลกได้อย่างง่ายดายทันที

กติกา/สิ่งที่คนพรีเซนต์ต้องเตรียม
        สำหรับคนผู้จะมาเล่าไอเดียสร้างสรรค์ของตนในงานจะต้องเตรียมรูปผลงานที่จะพรีเซนต์จำนวน 20 รูป โดยแต่ละรูปเซฟเป็นไฟล์ขนาด 1024 x 768 pixels และเป็นไฟล์ .jpg หากต้องการเสนอผลงานเป็นภาพเคลื่อนไหว ไม่ใช่ภาพนิ่ง ก็ขอให้เป็นไฟล์ความละเอียดอย่างน้อย 640 X 480 ที่เปิดด้วยโปรแกรม Quicktime ได้ และมีความยาวรวมทั้งหมดไม่เกิน 7 นาที) ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ขนาดไฟล์รวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 700 เมกะไบท์ (700 MB)

คำสำคัญ (Tags): #pecha-kucha
หมายเลขบันทึก: 62864เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ชักอยากให้มีบรรยากาศ Pecha kucha ในที่ทำงานซะแล้ว ทำอย่างไงดี ช่วยคิดที

pechakucha ดูท่าแล้วก็คงทำไม่ยากอะไร เพราะหากทุกคนอยู่ในกฎ-กติกา-มารยาท กิจกรรมก็คงดำเนินไปได้ด้วยดี กติกาหลักนั้นคงเป็นที่เข้าใจดี แต่กติการอง(กฎ-มารยาท)เป็นเรื่องที่ต้องพยายามทำความเข้าใจกันมาก จากการประมวลภาพรวมแล้วจะเห็นว่า

        1. pechakucha ยืนอยู่บนหลักการของการเป็น positive thinking ดังนั้น ประเด็นที่จะเสนอในสนามจึงต้องเป็นข้อคิดเห็น ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในทางบวก ซึ่งบางทีการพูดเรื่องบวกโดยไม่พาดพิงเรื่องลบนั้น บางทีมันก็ยากเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะน้ำเสียงยั่วล้อประชดประชัน...(ฮ่าฮ่า) ซึ่งเข้าใจว่าในเวที pechakucha ที่เป็นงานศิลปะนั้นมันคงจะค่อนข้างกระทบน้อยกว่า แต่สำหรับประเด็นสามัญเช่นมา pechakucha กันเรื่องการพัฒนาองค์กรมันก็อาจจะมีกระทบกระเทียบกันบ้าง แต่ก็ควรจะน้อยที่สุด มองอย่างนี้แล้วนึกถึงกระบวนการตรวจเยี่ยมประเมินอย่างกัลยาณมิตรนะครับ จนถึงวันนี้ยังสงสัยอยู่ว่ามิตรที่ดีควรจะพูดด้านบวกกันอย่างเดียวหรือ หรือว่าการเตือนกันอย่างแรงนั้นเป็นสิ่งที่มิตรไม่ควรพึงกระทำ??..ก็นะครับในหลักการตรงนี้ ผู้จัดเวที pechakucha จึงต้องมีการสกรีนเรื่องราวของผู้ที่จะมานำเสนอก่อน ซึ่ง...ซึ่งการจัดเวทีเช่นนี้ก็เหมือนเป็นการจำกัดเรื่องเล่าบางเรื่อง กีดกันเรื่องเล่าบางเรื่อง ซึ่งถ้าเรื่องหลายเรื่องถูกกดทับให้อยู่ในซอกหลืบมากๆ มันก็อาจจะระเบิดไปเป็นอะไรต่ออะไรไป (ไม่อยากคิดเล้ย...ฮิฮิ)

        2. เมื่อ pechakucha เป็นเวทีเสรี อย่างน้อยเรื่องเล่ามันก็ขึ้นอยู่กับลำพังเฉพาะตัวผู้นำเสนอ ดังนั้น การนำเสนอของผู้เล่าจึงต้องไม่ถูกรบกวน ทั้งก่อนและหลังการนำเสนอในทำนองว่า "ไม่ถูก - ผิด - เข้าใจผิด ฯลฯ" ซึ่งเป็นการปะทะสังสรรค์ในมุมแบบ negative เช่นกัน และโดยเฉพาะกับคนทำงานแล้ว หากจะเปิดเวที pechakucha เกี่ยวกับการทำงาน ผลจากการนำเสนอจะต้องไม่เป็นการปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาชีพ หรือที่มีศัพท์เทคนิคว่า "แป๊ก!" ...(ฮ่าฮ่า) การรบกวนยังจะต้องไม่เกิดขึ้นในระหว่างการนำเสนออีกด้วย นั่นหมายถึง ผู้เข้ารับฟังการนำเสนอจะต้องทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ส่วนคุณสมบัติการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ผู้ที่อธิบายไว้ดีที่สุดเห็นจะเป็นหลวงวิจิตรวาทการ จะว่าไป "การฟัง" เป็นคุณสมบัติหนึ่งในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ใช้กันบ่อยมากที่ถูกเรียกว่า Dialoque (เขียนไปแล้วมั้งครับ) เมื่อมีหน้าที่ฟัง-พึงฟังอย่างตั้งใจ คงเป็นเรื่องง่ายๆ เท่านั้น

        3. จะลองทำ pechakucha กันในกิจกรรมปลายปีเพื่อเป็นการบันเทิงก็คงไม่ยากนักนะครับ แล้วผมจะลองนำไปหารือกับทีมงานจัดกิจกรรมดูซักหน

แวะมาอ่านครับ

ยินดีครับถ้าจะจัดกันเพื่อเป็นการกระชับมิตรที่กระตุ้นต่อมความคิดในองค์กร

มีเรื่องสงสัยอะไรในกติกาเมล์มาคุยกันได้นะครับ

ยินดีเสมอครับ

 

นพเพชะคุชะ

 

ลืมให้อีเมล์ครับ

คุยกันได้ทางนี้เลยครับ 

[email protected]

ไปพบเจอข้อมูลกิจกรรมเพชะคุชชะอีกงานหนึ่งของสื่อเสรีออนไลน์ที่ใช้ชื่อ "ประชาไท" ในโปรเจคท์ที่ชื่อ ประชาไทไนท์ ตอน แจ็คผู้ฆ่ายักษ์(เขียวตาเดียว) งานนี้กำหนดหัวข้อไว้ชัดเจนว่าจะคุยกันด้วยหัวเรื่องการใช้ชีวิตในยุคไซเบอร์และการเซนเซอร์ ชอบที่มีการใช้ชื่อกิจกรรมว่า 20x20 เพราะนำตัวกติกาหลักออกมาสื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนดี ใครสนใจกิจกรรมนี้ลองติดตามไปที่ http://www.prachatai.com/night/20x20/index.php

กิจกรรม 20x20 ของประชาไทเสร็จสิ้นลงไปแล้ว ข่าวว่ามีการนำไปกล่าวถึงในหลายที่(บนเว็บ) อาจจะเป็นเพราะทุกวันนี้ผู้คนที่อยู่นอกกระแส กลับขึ้นมาอยู่บนเครือข่ายเป็นหลัก ได้ลองติดตามข้อมูลเหล่านั้นดู พบว่ามีภาพและรายงานกิจกรรมที่ใครหากสนใจนำเอาแนวคิด Pecha-Kucha 20x20 ไปใช้ อาจจะได้ไอเดียและตัวอย่างภาพรวมการจัดกิจกรรมจริงมาเป็นต้นแบบต่อไป ผู้สนใจลองคลิกไปเริ่มต้นที่ http://blogazine.prachatai.com/
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท