​ชีวิตที่พอเพียง : 2912. ควงสาวเที่ยวฮานอย 4. ประชุม 6th HTAsiaLink วันที่สาม



วันพุธที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๐

วันนี้ตอนเช้าเป็น oral presentation ตอนบ่ายเป็น Plenary 3 : How to monitor and evaluate Benefit Package implementation แล้วเป็นพิธีปิด


Oral Presentation

ผมเลือกไปฟังห้อง Health Systems Research เพราะผมสนใจการประยุกต์ HTA เชิงระบบ มากกว่าเรื่องทางเทคนิคของห้อง Economic Evaluation


เรื่องแรกเป็นเรื่องการประเมินข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการใช้ยารักษามะเร็งใน HBP (Health Benefit Package) ของเวียดนาม โดยเลือกยาแพง ๖ ชนิด ทบทวนผลทางคลินิก และคุณค่าที่ได้เทียบกับค่าใช้จ่าย ทบทวนทั้งข้อมูลนานาชาติ และข้อมูลของเวียดนาม (๒ รพ.) เท่ากับเป็นความพยายามใช้เงินอย่างมีเหตุผลใน การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ไม่โดนยาใหม่ราคาแพงมีอิทธิพลผลักดันการใช้ในนามของยาใหม่คุณภาพสูง


เรื่องที่ ๒ ก็ยังเป็นเรื่องยามะเร็ง แต่เป็นเรื่องของมาเลเซีย (USM) และยาใหม่เป้าหมายมักเป็น humanized antibody ระบบสุขภาพของมาเลเซียจัดโดยภาครัฐ และค่าใช้จ่ายโดยตรงจากเงินภาษี ฟังแล้วผมสรุปว่าปัญหาหลักคือยาเหล่านี้ตั้งราคาไว้แพงเกินไป ในระบบของมาเลเซีย หากยาเข้าใน HBP ผู้ป่วยจะได้รับยาฟรี ไม่มีระบบ co-payment ผลของการวิจัยแนะนำให้ไม่รวมยาหลายชนิดที่ WHO แนะนำให้ใช้ เป็นผลให้ ศ. Tony Culyer จาก York University ชมมากในความกล้าหาญ


เรื่องที่สามก็มาจากมาเลเซีย (ซาบาห์) เรื่องประเมินการรักษาผู้ป่วยหัวใจวายใน รพ. Queen Elizabeth II ซึ่งบอกว่าค่าใช้จ่ายที่มากมาจากการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน เรื่องนี้ผมว่าแคบไป ศึกษาในโรงพยาบาลเดียว และไม่มีการถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ


เรื่องที่สี่ เป็น emerging technology ที่ยังไม่มีขายในตลาด และยังไม่รู้ราคา แต่เขาอ้างว่าจะลดค่าใช้จ่ายในภาพรวม คือเรื่อง efficacy ของ wearable dialysis device สำหรับผู้ป่ายโรคไตวายเรื้อรัง ที่น่าตื่นเต้นสำหรับช่วยให้ชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังดีขึ้นมาก


เรื่องที่ ๕ HBP ด้านยาปฏิชีวนะในเวียดนาม ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตก ที่รู้กันมานานว่าหมอใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลในสัดส่วนที่สูงอย่างน่าตกใจหากเอาเกณฑ์การใช้อย่าง เหมาะสมเข้าไปจับ

เรื่องที่ ๖ - ๙ มาจากมาเลเซียทั้งหมด เป็นการตรวจสอบเทคโนโลยีใหม่ทั้งสิ้น


Plenary 3 : How to monitor and evaluate Benefit Package implementation

มีการนำเสนอประสบการณ์ใน ๔ ประเทศ คือ ไทย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน


ของไทยนำเสนอโดย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีต รมช. สาธารณสุข ผู้ชี้ว่าการประเมิน UHC เป็นคนละอันกับการประเมิน BP และ perception is reality


ระบบญี่ปุ่นไม่ตัดสินอะไรอยู่ไม่อยู่ใน BP แต่บอกว่าจ่ายเท่าไร โดยทำ price survey อาศัยความเข้มแข็งด้านข้อมูลและศักยภาพการวิเคราะห์ แต่ไม่ใช้ CEA ฟังดูแล้วระบบนี้มีจุดอ่อนอยู่มาก เพราะเกิดเรื่องฉาวโฉ่ในการกำหนดราคายามะเร็งชนิดใหม่ ตอนนี้รัฐบาลกำลังปรับระบบ ปี 2012 เริ่มใช้ HTA เริ่มทำ CEA 13 ผลิตภัณฑ์ จะใช้ HTA/CEA จริงจัง 2018 ญี่ปุ่นบอกว่าต้องคิดถึงผลประโยชน์หลายฝ่าย ไม่ใช่แค่ผลด้านสุขภาพ


ข้อสรุปก็คือ ระบบ UHC/BP ของแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก และอยู่ในระดับพัฒนาการที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าระบบจะเป็นอย่างไร การให้ภาคสังคมฝ่ายต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและประเมินการใช้ BP และทำอย่างโปร่งใส เป็นเรื่องสำคัญ


พิธีปิด

ประธานในพิธีปิดคือ ศาสตราจารย์ Anthony Culyer นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจากมหาวิทยาลัย York สหราชอาณาจักร ผู้มีอารมณ์ขันและลวดลายไม่แพ้คุณหมอสุวิทย์ เริ่มจากมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ซึ่งประเทศสิงคโปร์ได้มากกว่าประเทศอื่น ผมมีข้อสังเกตว่าไทยเรามีคนไปร่วมประชุมและเสนอผลงานวิจัยมากที่สุด แต่ได้รับรางวัลคนเดียว และคนที่ได้รับก็เป็นคนต่างชาติที่มาทำงานใน IHPP


ตามด้วยคำกล่าวของประธานจัดงาน ซึ่งเป็น Director HPSI และคำกล่าวของผมในฐานะประธาน HITAP เชิญไปร่วมงาน 7th HTAsiaLink ที่เชียงใหม่ ตามด้วยหนุ่มสาวทีม HITAP แต่งตัวชุดไทย ๔ ภาคขึ้นมาแสดงตัวประกอบวีดิทัศน์เชิญไปประเทศไทย


AAR

มีคนจากฝ่ายนโยบายมาร่วมน้อย ต่างจากในประเทศไทยที่ฝ่ายนโยบายสนใจเรื่องนี้ อย่างคุณหมอสุวิทย์ และคุณหมอสมศักดิ์ก็เป็นคนทางฝ่ายนโยบาย แต่ทางเจ้าภาพบอกว่า เป็นโอกาสให้ฝ่ายนโยบายได้มาฟัง แต่เราไม่ได้ฟังทางฝ่ายนโยบายซักถาม


ผมมีความเห็นว่า ในการประชุมครั้งที่ ๗ ซึ่งจะจัดที่เชียงใหม่ โดย HITAP เป็นเจ้าภาพ เราน่าจะหาคนทางฝ่ายนโยบายเก่งๆ ไปซักนักวิจัย จะสนุกและได้โจทย์เพิ่มอีกมาก

ระหว่างนั่งฟังการประชุมตอนเช้าหมอสุวิทย์มาเล่าให้ฟังถึงความอ่อนไหวของการทำงาน HTA ที่ทาง HITAP ไปช่วยเวียดนาม และผลการวิจัยสะท้อนพฤติกรรมการให้บริการที่ไม่เหมาะสมตามหลักวิชา ที่ทางการเวียดนามไม่อยากให้เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดในประเทศไทย เพราะโจทย์วิจัย จะมาจากกระบวนการปรึกษาหารือกันหลายฝ่าย และเป็นที่ตกลงกันว่าเป็นโจทย์สาธารณะ และผลงานวิจัย ต้องเสนอต่อสาธารณะ


จะเห็นว่า เรื่องการวิจัยเชิงนโยบายสาธารณะนี้มีความละเอียดอ่อนที่ในทางปฏิบัติจะแตกต่าง หรือปรับตัวไปตามปัจจัยด้านสังคมและการเมืองของประเทศนั้นๆ



วิจารณ์ พานิช

๑๙ เม.ย. ๖๐

ห้อง ๗๐๑ โรงแรม La Thanh ฮานอย


รูปหมู่ในพิธีปิด


หมายเลขบันทึก: 628360เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2017 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2017 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท