พัฒนากระบวนการคิด มีจิตสาธารณะ ตอนที่ 1


การลดทิฐิมานะแห่งตนลง แล้วเอาเรื่องส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หากจะปลูกป่า คงต้องช่วยกันปลูก เพราะปลูกต้นเดียว ไม่เรียกว่าป่า

เมื่อหลายปีก่อน เห็นจะเป็นปี 2555 ตอนนั้นกำหนดจัดงานวันนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ฝ่ายเตรียมการขอให้ช่วยคิดธีมงานว่าจะทำอย่างไร ใช้คำอะไร ประโยคไหน ผุดพลันคิดว่าควรจะสอดแทรกอุดมการณ์ไปในชื่องานก็ดี เพราะจริงแท้แล้ว “นักกิจกรรม” ก็จะต้องมีทักษะหรือฐานคิดเหล่านี้อยู่มิขาด ถึงจะได้ชื่อว่า “นักกิจกรรม” ผมจึงตั้งชื่อให้ฝ่ายจัดเตรียมว่า “พัฒนากระบวนการคิด มีจิตสาธารณะ”

เพราะกิจการนักศึกษาหรือการพัฒนานักศึกษา หัวใจสำคัญเรื่องหนึ่งคือการฝึกทักษะให้นักศึกษา คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาได้ นั่นคือการพัฒนากระบวนการคิด เพราะการคิดดี จะนำไปสู่การพูดดี ปฏิบัติดี เมื่อเรื่องดีๆเกิดขึ้น ย่อมมีสติในการแก้ไขปัญหา ก็จะเกิดปัญญา

ในการร่วมหรือการจัดกิจกรรม อีกเรื่องที่สำคัญคือ จริงแท้แล้วนักศึกษาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักกิจกรรมคือการมีจิตสาธารณะหรือการมีจิตอาสาเป็นทุนเดิม เพราะหลายครั้ง การมาทำกิจกรรมก็ล้วนต้องอาสามาร่วมหรือมาจัด ไม่นับรวมพวกถูกกะเกณฑ์เวนตัวให้มาร่วม พวกนั้นไม่ได้มีจิตอาสา แต่อาจมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนในรูปแบบใดอื่น

วานก่อนที่คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มข. จัดงานวันนักกิจกรรม เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นักศึกษาที่มีผลงานโดดเด่นในการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ (ILP) และนักศึกษาที่เสียสละให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของคณะ แล้วท่านคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช ก็กรุณากล่าวโอวาท อันเป็นวาทะเด็ดแห่งปี เพื่อให้กำลังใจเหล่านักกิจกรรมตัวน้อยตัวใหญ่ให้ได้มีกำลังใจ และเป็นแง่คิดแก่คนอื่นๆด้วยว่า “จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จระดับสูงในการดำเนินชีวิต และการประกอบสัมมาอาชีพ ส่วนใหญ่ล้วนผ่านการเข้าร่วมฝึกฝนเรียนรู้หาประสบการณ์ จากกิจกรรมเสริมหลักสูตรในระหว่างที่ยังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ซึ่งเป็นการศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณค่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้วนักศึกษาจะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพของชาติต่อไป”

และในรุ่งเช้าวันนี้ (2 พ.ค.2560) เปิดไลน์กลุ่ม ก็ได้รับพรอันดีที่เป็นแง่คิดในการทำงานจิตอาสาจากผู้ใหญ่ รุ่นพี่ เกษตรศาสตร์ มข. ท่าน สว.มาลีรัตน์ แก้วก่า ที่ฝากถ้อยคำถึงน้องๆ โดยเฉพาะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ มข. ที่กำลังทำหน้าที่ “ประสานใจ” น้องพี่อยู่ เพื่อกระตุ้นเตือน “สติ” พี่มาลีรัตน์กล่าวได้หนักแน่นเหลือเกินว่า

กรรมการสมาคม ฯ ไม่ว่าชุดใด ต้องคุยแลกเปลี่ยน รับผิดชอบร่วมกัน ทุกคนมีจิตอาสา และแน่นอน เราต้องปรับการทำงานจากแบบพี่ๆน้องๆเป็นมืออาชีพมากขึ้น

การทำงานสมาคมฯ การบริหารสมาคมฯย่อมไม่ใช่การบริหารบริษัท จำเป็นต้องเข้าใจ ให้ใจ ใส่ใจ อารมณ์ความรู้สึกของกันและกัน ประสานกับทำให้โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และคงความเป็นพี่น้อง

แบ่งปันในฐานะทำงานสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นมายาวนาน เป็นกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยนับยี่สิบปี

1. กรรมการฯย่อมฟังข้อติติง เสนอแนะได้ตลอดเวลา นำไปพูดคุย ปรับให้เหมาะที่สุด เพราะถูกใจกับถูกต้องคนละเรื่อง แต่สอดรับกันได้

2. สมาชิกฯ ติติง เสนอแนะ ด้วยความเอาใจใส่ ถนอมรัก ให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด

3. ความชัดเจนที่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องระหว่างงานที่สมาคมฯเกี่ยวข้องและประสานมอบหมายให้สมาชิกฯคนอื่นช่วยดำเนินงานต่อเนื่อง เช่น สวนกวี หรืออื่นๆ ต้องสอบถามคนต้นเรื่องให้ชัดเจน ให้เกียรติ ทะนุถนอมซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ทังนั้น เป็นงานจิตอาสา ยิ่งเมื่อมหาวิทยาลัยเห็นว่าควรสนับสนุน ต้องคุย มีกรอบที่ชัดเจน

คนทำงานไม่ว่าชุดใด ย่อมมีอุปสรรคและความท้าทายเกิดขึ้นเสมอๆ หนักแน่น ร่วมกันแก้ไขค่ะ

ข้อคิดจากพี่มาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตวุฒิสมาชิก ศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ มข. เพื่อการทำงานจิตอาสา

ทั้งสองเรื่องราว ดูเหมือนจะเป็นข้อคิด กำลังใจ และข้อย้ำเตือน ของเหล่า “นักกิจกรรม” ที่มี “จิตอาสา” มาทำงานส่วนรวม เพราะสำคัญคือ การลดทิฐิมานะแห่งตนลง แล้วเอาเรื่องส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หากจะปลูกป่า คงต้องช่วยกันปลูก เพราะปลูกต้นเดียว ไม่เรียกว่าป่า

2 พฤษภาคม 2560 ณ มอดินแดง




หมายเลขบันทึก: 628171เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2017 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2017 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท