รายวิชาศึกษาทั่วไป_ วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๙ : หลักสูตรอบรมอาจารย์ผู้สอน


ในการจัดการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน มีข้อกำหนดที่แตกต่างด้านคุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอนเพิ่มเติมจากคุณสมบัติที่กำหนดโดยประกาศของสำนักศึกษาทั่วไป (ซึ่งดาวโหลดที่นี่) คือ อาจารย์ต้องผ่านการอบรมหรือประชุมทำความเข้าใจถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนกับสำนักศึกษาทั่วไป ก่อนจะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการประจำสำนักให้เป็นอาจารย์ผู้สอนต่อไป

เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ของรายวิชาฯ บรรลุเป้าหมายตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป "ข้อที่ ๖ มีจิตอาสาและจิตสาธารณะ เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลก" ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญา เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์นิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำเป็นอย่างยิ่งที่อาจารย์ผู้สอนจะต้องรู้และเข้าใจเป้าหมายและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน

คุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาฯ

ผมเสนอว่า อาจารย์ผู้สอน รายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตนหนึ่งชุมชน ควรจะมีคุณสมบัติ ๕ ประการ ได้แก่ ๑) มีประสบการณ์การสอนอย่างน้อย ๒ ปี ๒) ได้รับการมอบหมายอย่างเป็นทางการจากหลักสูตรและคณะ-วิทยาลัย ๓) เป็นผู้มีจิตอาสาและเห็นว่าการสร้างนิสิตให้มีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสำคัญ ๔) มีประสบการณ์เกี่ยวกับการบริการวิชาการในโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน และ ๕) มีความรู้ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของรายวิชา

ในทางปฏิบัติ สำนักศึกษาทั่วไป ไม่สามารถกำหนดว่า อาจารย์ผู้สอนต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการข้างต้น เพราะช่วงแรกนั้นขาดแคลนอาจารย์ผู้สอน ระบบและกลไกการสอนจะเดินไปไม่ได้ในทันที แต่ในระยะ ๒ ปีการศึกษา น่าจะได้อาจารย์ที่มีคุณสมบัติทั้ง ๕ ประการอย่างสมบูรณ์ โดยดำเนินการดังนี้

คุณสมบัติข้อ ๑) สอนมาแล้วอย่างน้อย ๒ ปี

  • ข้อนี้ไม่มีปัญหา เพราะสอดคล้องกับแนวทางของมหาวิทยาลัย ที่ให้อาจารย์ใหม่ได้พัฒนาการเรียนการสอนและสร้างฐานงานวิจัย

คุณสมบัติข้อ ๒) ต้องผ่านการอนุมัติของคณบดี

  • ข้อนี้สำคัญมาก เพราะต้นสังกัดต้องรับรู้และจัดให้เป็นภาระงานของอาจารย์ เพราะแม้จะได้ค่าตอบแทนการสอนก็เป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียสละในการจัดการเรียนการสอนที่มีทั้งภาคบรรยายและภาคสนาม

คุณสมบัติข้อ ๓) มีจิตอาสาที่จะพัฒนาสังคมและชุมชน

  • ข้อนี้ยิ่งสำคัญ แต่วัดกันได้ยากยิ่ง อย่างไรก็ดีอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับอยู่แล้วว่ามีจิตอาสายิ่ง เนื่องจากไม่มีให้ทั้ง "เงิน" และ "กล่อง" แต่ละท่านทำด้วยใจเสียสละให้กับนิสิตเต็มที่

คุณสมบัติข้อที่ ๔) มีประสบการณ์ในโครงการหนึ่งหลักสูตรฯ

  • ข้อนี้มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เพราะอาจารย์ที่เคยทำโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมีจำนวนจำกัด และระยะเวลาของโครงการก็ไม่สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งอาจารย์ที่ทำโครงการหนึ่งหลักสูตรฯ บางท่านก็ยังไม่มีคุณสมบัติ ๓ ข้อที่กล่าวมา
  • สำนักศึกษาทั่วไปและมหาวิทยาลัย ควรจะบูรณาการโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนแบบสมบูรณ์ ทั้งด้านทรัพยากรคน งบประมาณ และช่วงเวลาในการดำเนินการ ... คงต้องหารือกันต่อไป

คุณสมบัติข้อที่ ๕) มีความรู้ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาฯ

  • ข้อนี้สำนักศึกษาทั่วไปกำหนดในประกาศ(ซึ่งดาวโหลดที่นี่)แล้วว่า อาจารย์ผู้สอนทุกท่านต้องผ่านการอบรมเพื่อทำความเข้าใจในเป้าหมายและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาร่วมกัน

คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการแรก ผ่านจากการพิจารณามาจากสาขาหรือคณะ ส่วนข้อที่ ๕ สำนักศึกษาทั่วไป ต้องสร้างหลักสูตรพัฒนาอาจารย์ของรายวิชาฯ ขึ้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งถึงวันนี้ได้จัดอบรมอาจารย์ไปแล้วกว่า ๑๐๐ ท่าน

หลักสูตรอบรมอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน

ชื่อหลักสูตร : โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน

หลักการและเหตุผล :

ตามที่สำนักศึกษาทั่วไปได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้จัดการเรียนการสอนที่สะท้อนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์นิสิต เพื่อส่งเสริมนโยบายหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของมหาวิทยาลัย และสำนักศึกษาทั่วไปได้ปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) ให้มีรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนเพื่อสนองนโยบายมหาวิทยาลัยนั้น เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรฯ และรายวิชา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเอกภาพระหว่างกลุ่มเรียน สำนักศึกษาทั่วไปจึงได้จัดทำหลักสูตรพัฒนาอาจารย์ผู้สอนฯ ประจำภาคเรียนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาฯ รายละเอียดรายวิชาตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (มคอ.๓) และเปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนจากแต่ละหลักสูตร ได้ร่วมออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการสร้างบัณฑิตตามอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของสาขาวิชา/หลักสูตรของตน

ขอบเขตเนื้อหา วิธีการจัดการเรียนรู้ ร่วมกันพัฒนาเอกสารประกอบการสอน และเป็นการเปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชา 0035001 หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อันจะทำให้เกิดเครือข่ายอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในความสำคัญร่วมกัน เกี่ยวกับปรัชญา วิสัยทัศน์ นโยบาย และทิศทางการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปของสำนักศึกษาทั่วไปต่อไป

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร :

๑) อาจารย์ผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (มคอ.๓ ส่วนกลาง)

๒) อาจารย์ผู้สอนสามารออกแบบการจัดการเรียนการสอนของรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน สำหรับสาขาวิชา/หลักสูตรของตนเองได้เหมาะสม

เนื้อหา

  • มคอ.๓ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)
  • เอกสารประกอบการสอนในส่วน ๓ บทเรียนแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยหาสารคาม มหาวิทยาลัยกับแนวคิดการรับใช้สังคม และเทคนิคและเครื่องมือการลงชุมชน (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)
  • ถอดบทเรียนจากการบรรยายของ รศ.ดร.ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ เรื่อง ความเป็นมาของจังหวัดมหาสารคาม (คลิกที่นี่) (ดาวน์โหลดสื่อเพาเวอร์พอยท์ได้ที่นี่)

สื่อ (ทางเลือก)

  • บทที่ ๑ เรื่อง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ดาวน์โหลดสื่อทั้งหมดได้จากที่นี่)
  • บทที่ ๒ เรื่อง มหาวิทยาลัยกับแนวคิดการรับใช้สังคมและโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (ดาวน์โหลดสื่อทั้งหมดได้ที่นี่)
  • ไม่มีสื่อกลางสำหรับบทที่ ๓ แต่ละคณะจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเทคนิคและการเครื่องมือการเรียนรู้ชุมชน ซึ่งสอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติหลักสูตรอยู่แล้ว

กิจกรรมการอบรมอาจารย์

ตารางดังรูปด้านล่าง แสดงกิจกรรมอบรมอาจารย์ผู้สอนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปในภาคการศึกษาที่ ๒-๒๕๕๙ ที่ผ่านมา

กิจกรรมแบ่งออกเป็น ๔ ช่วง สามช่วงแรกเน้นไปที่การแนะนำและให้ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาส่วนกลางที่กำหนดไว้ โดยทุกคณะ/หลักสูตรจะต้องสอน ซึ่งจะประเมินผลด้วยการทดสอบกลางภาคเรียน ส่วนสุดท้ายเป็นการทำ Workshop จัดทำแผนการสอนของแต่ละคณะ/สาขาวิชา

การประเมินผลหลักสูตร

การประเมินผลการอบรมที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบเฉพาะการเข้าร่วมของอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น ไม่ได้มีการทดสอบความรู้ความเข้าใจ และความพึงพอใจของอาจารย์ผู้เข้าร่วมในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปีการศึกษาถัด ๆ ไป จะมีการสร้างเครื่องมือขึ้นมาประเมินผลการใช้หลักสูตรอบรมฯ อย่างรอบด้านต่อไป

ภาพทั้งด้านบนและล่าง คือภาพเมื่อครั้งอบรมอาจารย์ฯ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ อาคารกองกิจการนิสิต


หลักสูตรอบรม ฉบับย่อ

ปัญหาที่พบ ในการจัดอบรมที่ผ่านมาคือ จำนวนอาจารย์ที่เข้าร่วมมีจำนวนน้อย สำนักศึกษาทั่วไปจึงได้ปรับการอบรมเป็นหลักสูตรอบรมฉบับย่อ กล่าวคือ ตัดกำหนดการช่วงที่ ๑-๓ ออกไป เหลือเพียงช่วงที่ ๔ ที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และตัดส่วนการทำ Workshop ออกไป โดยผมเป็นกระบวนกรดำเนินการทั้งหมด ผมเคยบันทึกผลการอบรมฯ ด้วยหลักสูตรย่อนี้ไว้ที่นี่ครับ หลักสูตรย่อนี้ เหมือนเป็นการประชุม KM กันครับ ใช้เวลาเพียง ๒ ชั่วโมงเท่านั้น (ภาพด้านล่างแสดงซ้ำเพื่อความสะดวก ดาวน์โหลดไฟล์ pdf ที่นี่)


หมายเลขบันทึก: 627464เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2017 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2017 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท