การเตรียมตัวตายของใครสักคน


"หมอถามจริงๆนะ ป้าคิดเรื่องวาระสุดท้ายของชีวิตไว้บ้างหรือยังครับ"

อันที่จริง มันยังคงเป็นคำถามในใจหรอกนะครับ เพียงแต่การได้พูดคุยกับคนไข้ในช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้ผมเฝ้าถามคำถามนี้ใจในกับคนไข้มาแล้ว ๒ คน

..............................

ผมเป็นหมอมากว่า ๒๐ ปีแล้วสินะ

และกว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา ก็มีคนไข้ไม่รู้สักกี่คนที่เสียชีวิตผ่านมือผมไป

คนแล้วคนเล่า ทั้งเด็กทั้งแก่ ทั้งโรคหัวใจ โรคติดเชื้อ โรคท้อง และโรคมะเร็ง การเสียชีวิตของคนไข้บางคนก็เป็นเพียงเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตแล้วก็ผ่านไป แต่สำหรับคนไข้บางคน กลับเป็นเรื่องที่ยังคงจำฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด ตราบจนครูแพทย์ที่เริ่มเข้าสู่วัยปัจฉัมวัย (เฮ้ย..เร็วไป แค่วัยกลางคนเองเฟ้ย)

และไอ้ด้วยความที่ "ไม่รู้สักกี่คนนี่แหละ" มันจึงทำให้ผมต้องเตือนใจตัวเอง หรือพร่ำสอนลูกศิษย์อยู่บ่อยๆ ว่า "อย่ารู้สึกชินชาต่อความตายของคน" เพราะเมื่อเรารู้สึกเช่นนั้นเมื่อไหร่ ชีวิตของคนไข้ในมือเราจะอันตรายและไร้ค่าเมื่อนั้น

........................

"ป้าครับ ป้ารู้ไหม ว่าตอนนี้ป้าคิดว่าโรคที่ป้าเป็นอยู่นั้น มันเป็นอย่างไรบ้างแล้ว"

ผมมักจะถามออกไปเช่นนี้ เพื่อที่จะฟังคำตอบที่ออกมาจากคนไข้ตรงหน้า อยากทราบมุมมองที่ออกมาจากคนไข้จริงๆ

"See the world with the patient's eyes" อาจารย์ที่เคารพสอนผมมาเช่นนั้น

"มันเป็นมะเร็งนะหมอ ป้าสู้กับมันมาสุดๆแล้ว และป้าก็รู้ว่ามันกลับมาอีก คราวนี้ก็ไม่รู้ว่ายาที่หมอให้ครั้งนี้ จะเอามันอยู่หรือเปล่า" เธอผู้มีหน้าตาสดใสประหนึ่งคนที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดตอบผมมาเช่นนั้น

"แล้วป้าคิดว่ายังไงล่ะครับ" ผมยังคงอยากมองโลกด้วยสายตาผู้ป่วยอยู่

"ก็ไม่รู้นะคะ เพราะว่าเพิ่งลองให้ยาแบบใหม่ครั้งนี้เอง แต่ก็จะลองสู้กับมักอีกสักตั้ง" เธอตอบมา

ซึ่งคำตอบเช่นนี้ก็ไม่ได้ทำให้หมออย่างผมแปลกใจสักเท่าไหร่ เพราะคนไข้หลายคนก็มักจะมีความหวังจากการมารับการรักษาเช่นนี้เกือบทั้งนั้น มิฉะนั้นเขาก็ไม่มา หรือมาแต่ไม่รับการรักษาแบบที่เราให้ทางเลือกเอาไว้ แต่มุมมองอย่างอื่นมากกว่า ที่ทำให้ผมต้องตั้งคำถามออกไป

"ถ้าจะมีอะไรที่ทำให้ป้าต่อสู้ขนาดนี้ หมออยากรู้จัง ว่ามันคืออะไร" ผมเริ่มตะล่อม

"ถ้าจะมีอะไรที่เป็นห่วงอยู่...." เธอหยุดนิดหนึ่ง "ป้าอยากรอให้ลูกชายเรียนจบก่อนค่ะหมอ" แววตาของคนตอบมีประกายขึ้นมาเล็กน้อย ผมสังเกตเห็นรอยยิ้ม

"แสดงว่าเขาคงเป็นคนที่ป้ารักมาก และกำลังจะเรียนจบใช่ไหม"

นั่นคงฟังคล้ายๆกับการตั้งคำถาม ทว่า ที่จริงยังเป็นการจัดการสนทนาที่ทำให้คนไข้อยากเล่าเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง

"ป้ามีลูกอยู่ ๒ คน คนหนึ่งไปอยู่กับพ่อเขา อีกคนอยู่กับป้า เขาคอยดูแลป้ามาตลอด เหลือเวลาเรียนอีกปีเดียวก็จะจบมหาวิทยาลัยแล้วค่ะหมอ" นัยตาที่มองมานั้น บ่งบอกว่า นั่นคงเป็นห่วงหนึ่งที่ยังฉุดคนไข้ผมเอาไว้ไม่ให้ยอมแพ้ต่อโรคร้ายที่กำลังดึงเธอไปอีกทาง

"ดีจังเลยครับ อีกปีเดียวลูกก็จะเรียนจบแล้ว นั่นก็หมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้นป้าก็คงหมดห่วงจริงๆใช่ไหม" หมอวัยกลางคนยังคงรุกไม่เลิก

เธอไม่ได้ตอบเป็นคำพูด แต่การพยักหน้าพร้อมรอยยิ้มที่มุมปากก็ทำให้พวกเราได้เข้าใจ

"ป้าครับ หมอดีใจที่ป้ายังสู้อยู่กับเรา และแน่นอนว่าเป็นการต่อสู้เพื่อลูกด้วย แต่ป้าครับ ป้าคงทราบ ว่าเมื่อไหร่ที่มีความเป็นไปได้ทางหนึ่ง ความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งก็มีเสมอใช่ไหมครับ หมอกำลังหมายความว่า หากโรคมันไม่ยอมหยุดและวันนั้นต้องมาถึงก่อนเวลาที่ลูกเรียนจบ หมอถามจริงๆนะ ป้าเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้างไหม" ผมถามอย่างตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม

"ค่ะ ตั้งแต่ป้ารู้ว่าเป็นมะเร็ง ป้าก็เตรียมพร้อมไว้สำหรับวันนั้นแล้วค่ะหมอ" เธอบอก

"ครับ ยังไงเหรอครับ" ผมชง

"ป้าเตรียมทุกอย่างเอาไว้แล้ว หากวันใดวันนั้นมาถึง ลูกก็จะไม่ลำบาก เขาจะมีเงินจนเรียนได้จบ น้าของเขาจะช่วยดูแลอีกคน คนรอบข้างป้าเองก็จะไม่ลำบากมาก ทั้งการเตรียมจัดงาน กระทั่งรูปที่ตั้งหน้างาน ป้าก็จัดหามาไว้เรียบร้อย"

"ถึงเวลานั้น ป้าคงพร้อมใช่ไหมครับ" ผมถาม

"ค่ะ พร้อมมาตั้งนานแล้ว"

นี่ไงครับ เสน่ห์และความของการเป็นหมอ

พวกเรามักได้รับเกียรติในการได้รับฟังเรื่องราวแบบนี้เสมอๆ

เรื่องความตายอาจจะไม่ใช่ประเด็นมากไปกว่าการดำเนินชีวิตเพื่อเผชิญกับมันอย่างกล้าหาญ และหลายๆครั้ง มันคือบทเรียนของผมด้วยเช่นเดียวกัน

เพียงแค่หยุด พูดคุย และฟังอย่างเข้าใจ ก็จะได้ยินและได้เรียนรู้

........................

ผมก็เคยคิดเรื่องความตายของตัวเองเหมือนกันนะครับ

เคยคิดไปว่าจะจัดงานให้ต้วเองอย่างไรดี ไม่สิ จะให้ลูกเมียจัดงานให้อย่างไรดี

ผมมองเห็นโลงศพสีขาวไร้การประดับประดา

ผมมองเห็นรูปของเจ้าของงานมีหลายรูปเชียวนะครับ รูปนักเรียนชั้น ป.๖ หัวเกรียนสวมแว่นตากรอบหนา" สมัยนั้นผมสายตายาว

ยังครับ รูปสมัยเรียนจบ ม.๖ อีกรูป หล่อทีเดียว เอามาติดในเอกสารวันมอบตัวเข้าคณะแพทย์ รูปรับปริญญาอีกรูป ลุงช่างถ่ายภาพคนนั้นแกแต่งให้เสียจนภาพผมดูหน้าตาคมกริบ และรูปสมัยทำงานอีกสักรูปสองรูป ติดเรียงกันไปเลย

ผมยังอยากให้คนมาร่วมงานแต่งกายชุดหลากสี หนังสือที่ระลึกงานศพก็เอาจากที่เขียนไว้ใน gotoknow มารวมเล่มขายเสียเลย แบบว่า ได้เอาเงินไปใช้ประโยชน์แก่สาธารณะได้อีกต่อ (ตอนนั้นตายแล้วไง ขายได้เงินมาก็ใช้เองไม่ได้แล้วกระมัง)

เอาวะ

แต่ยังไงก็ตาม ผมกะจะตายหลังจาก "ฮัลเล่ย์" โคจรมาผ่านดาวโลกของเราอีกรอบ ผมตั้งใจไว้อย่างนั้น เพราะเมื่อคราวที่มันมาครั้งก่อน ผมขี้เกียจแหกขี้ตาตื่นขึ้นไปดู แต่ครั้นเมื่อมันจากไป กลับนึกขึ้นได้ ว่ามันจะมาอีกทีเมื่อผมอายุได้ ๙๐

ธนพันธ์ ชูบุญรอฮัลเล่ย์กันต่อไป

๖ เมษายน ๖๐

วันที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ อย่างเป็นทางการ

หมายเลขบันทึก: 627175เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2017 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2017 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อายุ 90 ปี ต้องสุขภาพดีด้วยนะคะ

จะได้มีความสุขในการอยู่ร่วมกันค่ะ

รอนานเลยเลยนะครับดาวหาง555

ชอบใจป้าที่เตรียมตัวตายครับ

หวังไว้เหมือนกันว่าบันทึกชีวิตของจันใน GotoKnow คงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป

แต่ว่าวันนั้นของจันขอมอบร่างนี้ให้เป็นอาจารย์ใหญ่ที่ มอ. นะ ขอแค่นี้พอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท