ศิลาแลง : การจัดการความรู้ของชุมชน


ศิลาแลงชุมชนที่เข้มแข็ง
              ศิลาแลงเป็นตำบลหนึ่ง ในอำเภอปัว จังหวัดน่าน มีพื้นที่ 98 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 7 หมู่บ้านโดยมีพื้นที่ป่าชุมชน 10,125 ไร่ มีประชากรจำนวน 7,485คน ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทลื้อ ศิลาแลงถูกยกสถานะเป็นตำบลตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2506 ชุมชนศิลาแลงมีความสัมพันธ์กับป่ามาแต่อดีต ในช่วงป่าอุดมสมบูรณ์ มีผู้คนที่อาศัยอยู่น้อย ส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำกูน ซึ่งมีการอพยพหาทำเลที่ทำกินใหม่เป็นระยะ ๆ ต่อมาได้เริ่มทำนาและบุกเบิกระบบเหมือนฝายนอกจากนี้ยังมีการหาของป่าและล่าสัตว์ในบริเวณป่าใกล้เคียง โดยในช่้วงหลังมีการรุกรานป่ามากขึ้น จุดเร่งของการทำลายป่ามากขึ้น คือ ช่วงที่มีการอพยพชาวเขา (ปี พ.ศ. 2508 – 2512) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลทหารใช้วิธีการ “แยกสลายพรรคคอมมิวนิสต์” โดยได้อพยพชาวเขาบนดอยภูคาไปอยู่ในสถานที่ที่ทหารสามารถดูแลได้ ชาวเขาเหล่านี้ได้เปิดป่าใหม่เพื่อเพาะปลูกในการเลี้ยงชีพ และตัดไม้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย แม้ชาวไทยลื้อเองก็เปลี่ยนความคิดจากเดิมใช้ไม้ไผ่มาเป็นไม้เนื้อแข็งและเปลี่ยนการมุงหลังคาด้วยจากเป็นมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง คนเมืองก็รุกพื้นที่ป่าบนดอยมากขึ้นทั้ง เพื่อเพิ่มที่ทำกินและการตัดไม้แปรรูปขาย ต่อมารัฐได้ให้สัมปทานการทำไม้แก่เอกชนทำให้พื้นที่ป่าลดลงมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งช่วง ปี พ.ศ. 2510 พ่อหลวงเมืองดีปรีดาวงศ์ (ปี พ.ศ. 2510 – 2520) กำนันตำบลศิลาแลงได้ขอความร่วมมือให้สภาตำบลออกกฎห้ามตัดไม้ริมแม่น้ำและลำห้วย ปีแรก ๆ เริ่มที่ห้าสิบเมตรจากริมห้วยและต่อมาได้ขยายจนถึง 150 เมตร เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 5 – 6 ปี ในที่สุดก็มีข้อกำหนดห้ามตัดไม้โดยสิ้นเชิง ต่อมาในช่วงพ่อหลวงธวัช ยั่งยืน(ปี พ.ศ. 2520 –2534) มีการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์เกิดขึ้น จึงมีการจัดระบบการตรวจป่า พร้อมทั้งยือหยุ่นให้ขออนุญาตตัดไม้ได้จำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในสิ่งที่จำเป็นพร้อมทั้งออกกฎเรื่องการห้ามทำไร่เลื่อนลอย ในช่วงนี้เอง (ปี พ.ศ. 2528) ได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการรักษาป่าไม้และต้นน้ำลำธาร” ขึ้นโดยมีตัวแทนจากหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ
พัฒนาการความเข้มแข็งขององค์กรหรือกลุ่มชาวบ้าน
              ในกรณีของศิลาแลงเริ่มด้วยการนำของกำนันเมืองดี ปรีดาวงศ์ ซึ่งได้มองเห็นปัญหาและอาศัยกลไกการตัดสินใจร่วมในตำบลที่มีอยู่ขณะนั้น (สภาตำบล) ผลักดันให้มีการออกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ป่า การริเริ่มของกำนันท่านนี้ได้สร้างประเพณีของการจัดการป่ากับปัญหาท้องถิ่นโดยวิธีการตัดสินใจร่วมกันของชุมชน ทำให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของศิลาแลงมีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งหน่วยราชการ โดยกำนันเมืองดี จะใช้วิธีการออกประชุมสัญจรไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านเกี่ยวกับการรักษาป่าและได้บรรจะเข้าวาระการประชุมของสภาตำบล  การดูแลรักษาป่าในปัจจุบันจะมีคณะกรรมการรับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติชาวบ้านแต่ละครอบครัวได้ช่วยกันดูแลอีกทางหนึ่ง อีกทั้งชาวบ้านมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยลำน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอยู่อาศัย ป่าต้นน้ำจึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นเป็นรูปธรรมสำหรับพวกเขา กลุ่มที่ตั้งขึ้นภายใต้การนำของกำนันสามารถทำให้ชาวบ้านมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกันของการรักษาป่า ยิ่งได้รับการเสริมแรงด้วยความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับป่า ทำให้กำเกณฑ์ออกมานั้นมีความหมายต่อชีวิต และเป็นกฎเกณฑ์ที่ส่งเสริมกฎประเพณีของชุมชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่ชาวบ้านไม่ขยายพื้นที่เพาะปลูกหรือบุกรุกป่าเป็นเพราะว่าชาวบ้านไม่นิยมขายที่ดินให้กับบุคคลอื่น พวกเขามุ่งที่จะรักษาที่ดินบรรพบุรุษเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานต่อไป ซึ่งเป็นค่านิยมของชาวบ้านเอง ทำให้การแสวงหาที่ดินใหม่จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น
องค์กรเหมืองฝาย : เวทีแห่งการเรียนรู้
              ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรซึ่งต้องใช้น้ำจากลำน้ำแม่กูนผ่านการจัดการโดยมีกลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มนี้ได้ทำหน้าที่เป็น “กรมชลประทาน” ของชุมชนซึ่งผิดกับกรมชลประทานของรัฐตรงที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการ โดยมีการตั้ง “นายฝาย” ให้มีอำนาจที่จะควบคุมดุแลระบบการแบ่งปันน้ำ รวมทั้งยังมีการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำ การซ่อมบำรุง การระดมแรงงาน ฯลฯ นอกจากนี้แล้วยังมีการตั้งกฎสำหรับปรับผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วย โดยมี “นายฝาย” เป็นผู้บังคับการใช้กฎ               ระบบเหมืองฝายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านในตำบลศิลาแลง พวกเขามีภูมิปัญญาที่คงเทียบได้กับ “วิศวกรรมชลประทาน” ที่สามารถจะควบคุมธรรมชาติของน้ำได้ระดับหนึ่ง เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งมีระบบการทดน้ำทีใช้อุปกรณ์ในท้องถิ่น ศิลาแลงเป็นจุดที่คณะกรรมการเหมืองฝายของน้ำกุน ใช้เป็นจุดแยกน้ำเป็นสองสาย สายที่หนึ่งผ่ายบ้านหัวน้ำ บ้านดอนไชย บ้านเฮี้ยและบ้านตี๊ด ส่วนสายที่สองผ่านบ้านตีนตก บ้านเก็ตและสวนดอก
               เมื่อใกล้ฤดูทำนา “แก่ฝาย” หรือ “นายฝาย” จะประกาศให้ชาวนาช่วยกันเตรียมไม้สำหรับซ่อมตัวฝาย แต่ละคนจะเตรียมไม้ไผ่ประมาณ 10 – 15 ท่อน ตามแต่จะตกลงกัน เมื่อถึงเวลาทำงานชาวบ้านภายใต้การนำของแก่ฝายจะปักไม้ให้เป็นแถวหน้ากระดานเรียงสอง โดยเว้นระยะให้ห่างพอควร เพื่อเอาหินก้อนขนาดย่อม ๆ ไปเรียงรายซ้อนกันไว้ น้ำจะถูกกักไว้ทำให้มีระดับสูงขึ้นแม้บางส่วนจะเล็ดลอดไปได้บ้าง ซึ่งนับเป็นความชาญฉลาดอย่างยิ่ง มิฉะนั้นกระแสน้ำที่แรงอาจจะพัดทำนบพังได้โดยง่ายหากน้ำเหนือที่ไหลบ่ามีปริมาณมาก หลังจากนั้นจะมีการปล่อยให้น้ำไหลเข้าที่นาของสมาชิกตามที่ตกลงกัน ซึ่งแต่ละแปลงจะได้น้ำในปริมาณเท่า ๆ กัน การดำเนินการเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของแก่ฝาย
              การรู้จักแบ่งปันซึ่งกันและกัน เหมือนรูปแบบขององค์กรเหมืองฝายเป็นบทเรียน ที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์จากธรรมชาติในรูปอื่นทำได้ง่ายขึ้น เช่น ป่าชุมชน การแบ่งปันน้ำโดยคิดระบบต่าง ๆ ขึ้นมารองรับป่าก็เป็นทรัพยากรอีกประเภทหนึ่งที่ต้องการการบริหารจัดการเช่นเดียวกัน
บทสรุป
              จากกรณีของชุมชนศิลาแลงจะเห็นว่า ภูมิปัญญาของชุมชนสามารถจะก่อให้เกิดกระบวนการกลุ่มได้ โดยทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในแง่เนื้อหาและวิธีการความสัมพันธ์การถ่ายทอดทางภูมิปัญญานั้น นอกจากจะเป็นการเตรียมเยาวชนให้รับรู้ในคุณค่าภูมิปัญญาแล้ว กระบวนการการถ่ายทอดยังสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างคนสองรุ่นด้วย เช่น ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่านิทานให้ลูกหลานฟังโดยเจตนาจะสั่งสอนได้สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ลูกหลาน ทำให้ลูกหลานมองเห็นคุณค่าของผู้เฒ่าผู้แก่ไปโดยไม่รู้ตัว
               กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนศิลาแลง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกอดขึ้นตามธรรมชาติ อาศัยการสอดแทรกในชีวิตประจำวันไม่มีชั้นหรือตารางเวลามากำหนดไม่อาศัยสถานที่เฉพาะเหมือนชั้นเรียน กระบวนการกลุ่มก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นได้ทุกเวลาในทุกแห่งที่มีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่มีการปฏิสัมพันธ์กัน
               เครือข่ายการเรียนรู้นั้นก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน เช่น เครือข่ายการเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าของชาวศิลาแลงไม่ได้เริ่มที่ทฤษฏี ไม่ได้เริ่มที่ผู้รู้แต่เริ่มที่การปฏิบัติ ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติสร้าง “ชุมชนแห่งปฏิบัติ (ความรู้)” ขึ้น ซึ่งต่างหาก “ขุมขนวิชาการ” ของนักวิชาการที่เพลิดเพลินกับการใช้ความรู้แสดงออกในรูปของคำและประโยคอย่างสวยหรู โดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งที่กำลังจะกล่าวถึงนั้นจะใช้จริงได้อย่างไร การทำงานเกี่ยวกับป่าชุมชนได้สร้างความรู้ให้กับผู้ที่ทำเมื่อเขาปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่ได้ทำสิ่งนั้นมาก่อน นั่นแสดงว่าเขาทั้งสองกำลังสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน อันมั่นคงยิ่งกว่าสมาคมทางวิชาการใด ๆ
               เครือข่ายการเรียนรู้เกี่ยวกับป่าได้เชื่อมโยงคนต่างเพศต่างวัยเข้าด้วยกันแต่ปัจจัยทางสังคมอาจจะแยกประสบการณืของพวกเขาออกจากัย การได้รับฟังและรับรู้ประสบการณ์ในส่วนที่ตนขาดไปย่อมทำให้คน ๆ นั้นเห็นประโยชน์ของเครือข่ายการเรียนรู้ เช่น ผู้หญิงหรือเด็ก โดยทั่วไปตามประเพณีแล้วไม่ควรจะเดินป่าเพียงคนเดียว ทำให้พวกเขาอยากรู้ประสบการณ์ที่ตนไม่เคยได้ทำ แต่เครือข่ายการเรียนรู้ไม่ได้กำหนดที่จะให้ทุกคนต้องรู้เท่า ๆ กัน เหมือนอย่างที่ทำอยู่ในการศึกษาระบบโรงเรียน หญิงหรือชาย ผู้ใหญ่หรือเด็ก อาจจะมีความรู้คนละชุดกันก็ได้ในทางปฏิบัติของสังคมพวกเขาสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ เหมือนกับนักดนตรีในวงออเครสต้า
               การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มหรือองค์กรหรือเครือข่ายมีความยั่งยืนถาวร แต่การสื่อสารก็คือการเรียนรู้ การมีเครือข่ายการเรียนรู้จึงเหมือนการมีระบบการสื่อสารที่ครอบคลุมซึ่งในปัจจุบันสามารถใช้กลไกการสื่อสารสมัยใหม่ เช่น เสียงตามสาย หรือป้ายนิเทศประจำหมู่บ้าน หากผู้ที่ควบคุมไม่คิดว่าการสื่อสารต้องเน้นเรื่องของการมีส่วนร่วม การสื่อสารจะกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อไปมันที นอกจากนี้การสื่อสารต้องเริ่มที่การมีเนื้อหาสารที่ต้องสื่อ หากผู้ใดใช้หอกระจายข่าวในหมู่บ้านแล้วไม่มีเนื้อหาที่จะสื่อ หอกระจายข่าวก็จะกลายเป็นเพียงหอรบกวนประสาทเท่านั้น
               ภาพของชุมชนศิลาแลงยิ่งมีพลวัตมากขึ้น เมื่อเรามองไปที่เรื่องของกลุ่มจะเห็นว่านอกจากการนำที่มีประสิทธิภาพของผู้นำทางการแล้ว ยังมีการนำอย่างไม่เป็นทางการในรูปของกลุ่มต่าง ๆ ที่ทำกิจกรรมหลากหลาย กลุ่มสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งนับว่าน่าสนใจเพราะกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้กำลังสร้างภาวะการพึ่งตนเอง อาศัยเวทีที่เปิดให้กลุ่มต่าง ๆ ได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และสามารถผสมผสานกันได้อย่างเหมาะสม ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในจุดที่ตนเองถนัด
ที่มา รากฐานไทย ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ http://www.rakbankerd.com/01_jam/thaiinfor/country_info/index.html?topic_id=810&db_file
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 62716เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท