​ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน


ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

ผู้ครองเรือน หรือมิใช่นักบวช ทางพระพุทธศาสนา จะสอนให้นำคิหิปฏิบัติ หรือข้อปฏิบัติสำหรับคนครองเรือนไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้สามารถดำรงตนได้อย่างมีความสุข

มีคำที่พูดกันว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่ร่วมมิตรให้ระวังการพูดจา” (บางคนบอกว่าให้ระวังมันยืมเงิน)

การมีชีวิตคู่ อยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ย่อมจะมีปัญหา ประดุจลิ้นกระทบฟัน เพราะสถานการณ์บางครั้ง อาจจะประสบทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ร้ายตามประสาคนเรา ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นแต่ว่าใครจะมีวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ต่างกันเท่านั้น

เรื่องของการมีชีวิตคู่นี้ ในทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ชีวิตสมรสที่จะมีความสุข ราบรื่น มั่นคงยืนยาวได้นั้น คู่สมรสจะต้องมีหลักธรรมที่เหมาะสมหรือสม่ำเสมอกัน อันจะพึงเรียกได้ว่า สมธรรม ๔ ประการ คือ สมศรัทธา สมศีลา สมจาคา และ สมปัญญา

สมธรรม ๔ ประการนี้ เป็นฐานรองรับชีวิตคู่ครองในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งไม่น้อยกว่าฆราวาสธรรม ๔ คือ สัจจะ จริงใจต่อกัน ทมะ รู้จักข่มใจเอาไว้เวลาสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ ขันติ ความอดทน อดกลั้นต่อกันและกัน จาคะ เสียสละและให้อภัยกันได้

การสมรส คือการทำให้มีรสเสมอกัน ในที่นี้ คือสมธรรม ๔ ประการ ได้แก่

๑. สมศรัทธา มีความเห็นหรือความเชื่อเหมือนกัน ศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใส เช่น ความเชื่อถือในลัทธิศาสนา ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และรสนิยม ใฝ่นิยมในคุณค่า หรือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวดีงามต่าง ๆ คล้ายกัน ความมีศรัทธาเหมือนกันกันย่อมเป็นสิ่งสำคัญเบื้องแรกที่จะทำให้ชีวิตครองเรือน กลมกลืนสนิทสนมแน่นแฟ้น เพราะศรัทธาเป็นเครื่องหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด และเป็นพลังที่จะชักจูงใจในการดำเนินชีวิตคู่ได้กระทำกิจการต่าง ๆ ความมีศรัทธาเหมือนกัน ตั้งต้นแต่ความเชื่อถือในลัทธิศาสนา ตลอดจนการมีรสนิยมแนวเดียวกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตสมรส ถ้าศรัทธาเบื้องต้นไม่เป็นอย่างเดียวกัน ก็ต้องตกลงปรับหรือจูนให้เข้ากันหรือใกล้เคียงกันให้ได้ จะได้ไม่มีปัญหาตามมา

๒. สมศีลา มีศีล มีกิริยาความประพฤติเสมอกันหรือคล้ายกัน ไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจ ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือขัดแย้งรุนแรงต่อกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งปากร้าย ชอบกล่าวคำหยาบคาย อีกฝ่ายหนึ่งได้รับการอบรมมาทางด้านการพูดจาสุภาพอ่อนหวาน ทนฟังคำหยาบ ไม่ได้ หรือฝ่ายหนึ่งชอบเป็นนักเลงหัวไม้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบชีวิตสงบไม่วุ่นวาย ก็อาจเป็นทางเบื่อหน่าย แตกร้าวฉาน เลิกร้างกัน หรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน ไม่สามารถจะทนต่อไปได้ ก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตคู่ได้

๓. สมจาคา มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เหมือนกันหรือคล้ายกัน เริ่มตั้งแต่ญาติมิตรสหายเป็นต้นไปปฏิบัติต่อญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีใจกว้างขวาง ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันได้หรือในทางตรงข้าม ถ้าเป็นความตระหนี่ ความมีใจคับแคบ กระด้าง คู่ครองที่มีจาคะไม่สมกันย่อมมีโอกาสเกิด ความขัดแย้งกระทบกระเทือนจิตใจกันได้ อาจจะทำให้ชีวิตครอบครัวสั่นคลอน เปราะง่าย มีโอกาสที่จะแตกร้าวได้โดยง่าย ถ้ามีน้ำใจไม่เหมือนกัน น้ำใจจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการมีชีวิตคู่

๔. สมปัญญา มีปัญญาเหมือนกันหรือคล้ายกัน ได้แก่รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักชั่วดี รู้จักประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้จักคิด และเข้าใจในเหตุผล ความมีปัญญาเสมอกันหรือคล้ายกัน มิได้หมายความว่าคู่ครองทั้งสองฝ่ายจะต้องได้เล่าเรียนจบปริญญามาเหมือนกัน แต่หมายถึงการมีความคิด การรู้จักรับฟังและเข้าใจในเหตุผลของกันและกัน และการช่วยเป็นคู่คิดของกันและกันได้ อย่างที่กล่าวกันง่าย ๆ ว่าพูดจากกันรู้เรื่อง คุณธรรม ข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะสามีภรรยาเป็นผู้อยู่ร่วมใกล้ชิดกันทุกเวลา จำต้องมีความเข้าใจกัน ร่วมคิดร่วมปรึกษาหารือกัน บรรเทาข้อหนักใจ และช่วยกันหาทาง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นกำลังแก่กันและกันได้ ความมีปัญญาเสมอกันนี้ นอกจากเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจทำให้มีความสนิทสนมกันด้วยดีแล้ว ยังทำให้ชีวิตของคู่ครอง ทั้งสองฝ่ายเป็นชีวิตที่มีความสุข เข้าอกเข้าใจกันได้ดี

พระพุทธองค์ตรัสว่า สมธรรม ๔ ประการ นี้ จะเป็นเหตุให้คู่สามีภรรยาได้พบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า ดังพุทธพจน์ที่ว่า อากงฺเขยฺ ยํเจ คหปตโย อุโภ ชานิปตโย ถ้าคู่สามีภรรยา หวังจะได้พบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้าแล้วไซร้ ทั้งสอง พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน และมีปัญญาเสมอกัน

ความเสมอกันของคู่ครองตามหลักธรรม ๔ ประการนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะบุคคลทั้งสองมามีชีวิตอยู่ร่วมกันใกล้ชิดยิ่งกว่าใคร ๆ จนใน ทางโลกกล่าวว่าเป็น “บุคคลเดียวกัน” การที่จะมารวมเข้าด้วยกันจึงต้องอาศัยความประสานกลมกลืนเหมาะสมกันตามทางธรรมดังกล่าวมาแล้ว

หลักการเลือกคู่ครอง

คำกล่าวที่ว่า “เมื่อจะร่วมชีวิตกันทั้งที ควรคิดดูให้ดีว่าจะได้เนื้อคู่เช่นใด” การอยู่ครองเรือนของคู่สมรสนั้น เป็นการร่วมกันนำชีวิตทั้งสองสามารผ่านเหตุการณ์ทั้งปวง ทั้งที่ดีและร้ายได้ เป็นชีวิตที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายมาจีบสาว ถ้าสาวพอใจฝ่ายชายที่มาจีบก็จะได้มีโอกาสแต่งงานกัน และจะต้องมีสินสอด ทองหมั้นประดุจค่าน้ำนมหรือค่าเลี้ยงดู (ฝ่ายชายจะไม่มีค่าเช่นฝ่ายหญิง) เพราะฝ่ายชายจะเรียกว่า “สามี” คือ ผู้เป็นเจ้าของ ส่วนฝ่ายหญิง จะเรียกว่า “ภรรยา” ผู้อันสามีพึงเลี้ยงดู แต่ในทางปฏิบัติเมื่อได้แต่งงานกันแล้ว ส่วนใหญ่ฝ่ายภรรยา จะทำกับข้าวให้สามีรับประทาน เพราะเชื่อกันว่างานในบ้าน เป็นของฝ่ายหญิง ผู้เป็นแม่ศรีเรือน หรือแม่บ้าน ฝ่ายหญิงจะเป็นใหญ่ในบ้าน ถ้างานนอกบ้าน เช่น การที่จะหาเงินทองมาสนับสนุนจุนเจือครอบครัวจึงมักตกเป็นเรื่องของฝ่ายชาย (สมัยก่อน) แต่ปัจจุบันนี้ ตรงกันข้ามแล้ว เพราะผู้หญิงจะเก่งกว่า เวลาไปสอบเข้าทำงานหรือสมัครงาน จะมีโอกาสดีกว่า จึงทำให้ผู้หญิงสมัยใหม่ได้มีโอกาสทำงานมากขึ้น หรืออาจจะมากกว่าฝ่ายชายด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะการเข้าสู่ระบบราชการ

กรณีนี้ หากภรรยาผู้ใดสามารถปฏิบัติตนทำจิตใจให้เป็นมิตรแท้ มีเมตตาปรารถนาดีต่อสามีได้อย่างแท้จริงเหมือนอย่างมารดาแล้ว พระพุทธองค์ตรัสยกย่องภรรยานั้นว่าเป็น มาตาสมภริยา หรือ มาตาภริยา คือ ภรรยาเสมอด้วยมารดา หรือ ภรรยาเยี่ยงมารดา ส่วนภรรยาผู้มีคุณธรรมอย่างอื่นก็ตรัสเปรียบไว้เหมือนพี่น้องหญิง เหมือนเพื่อนเป็นต้น ดังที่เคยตรัสสอนนางสุชาดา ผู้เป็นสะใภ้ของอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่า มีภรรยาอยู่ ๗ ประเภท เป็นฝ่ายร้าย ๓ ประเภท และฝ่ายดี ๔ ประเภท คือ

๑. วธกาภริยา ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต ภรรยาผู้มีจิตประทุษร้าย ปรารถนาความเสื่อมเสียหายแก่สามี ดูหมิ่นและคิดหาทางทำลายสามีอยู่เสมอ

๒. โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจร ภรรยาผู้คอยล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้ ใช้จ่าย นำไปถลุงจนหมดเกลี้ยง

๓. อัยยาภริยา ภรรยาเยี่ยงนาย ภรรยาผู้ไม่ใส่ใจการงาน เกียจคร้าน รับประทานมาก ปากร้าย หยาบคาย ใจเหี้ยม ข่มสามี

๔. มาตาภริยา ภรรยาเยี่ยงมารดา ภรรยาผู้หวังดีทุกเวลา คอยห่วงใยรักษาสามีเหมือนมารดาที่คอยปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ ไม่ให้สูญหาย

๕. ภคินีภริยา ภรรยาเยี่ยงน้องสาว ได้แก่ภรรยาผู้เคารพสามีดังน้องสาวกับกับพี่ชาย มีใจอ่อนโยน คล้อยตามสามี

๖. สขีภริยา ภรรยาเยี่ยงสหาย ภรรยาที่พบสามีเมื่อใดก็ปลาบปลื้ม ดีใจเหมือนเพื่อนพบเพื่อนผู้จากไปนาน รู้จักปฏิบัติตนต่อสามี

๗. ทาสีภริยา ภรรยาเยี่ยงทาส ได้แก่ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนได้ ไม่โกรธตอบเพราะกลัว ประดุจกลัวนายทาส

คู่ครองที่ดี

คู่ครองที่ดี ที่จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติ และประพฤติตามข้อปฏิบัติ ดังนี้

. คู่สร้างคู่สม เพราะมีหลักธรรมของคู่ชีวิต ที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้อง กลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม ๔ ประการ คือ

๑.๑ สมสัทธา มีศรัทธาเสมอกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชา แนวความคิดความเชื่อถือ หรือหลักการต่างๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน มีความหนักแน่นเสมอกัน หรือปรับเข้าหากัน ลงรอยกันได้

๑.๒ สมสีลา มีศีลเสมอกัน มีความประพฤติ กิริยามรรยาท มีศีลธรรมพื้นฐานการอบรม พอเหมาะสมกัน สอดคล้อง สามารถไปกันได้

๑.๓ สมจาคา มีจาคะเสมอกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารี ความมีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น พอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน

๑.๔ สมปัญญา มีปัญญาเสมอกัน รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง

(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๕๕/๘๐)

๒. คู่ชื่นคู่ชม คู่ระกำ หรือคู่บุญคู่กรรม คือคู่ครองที่มีคุณธรรม ลักษณะนิสัยความประพฤติปฏิบัติ

การแสดงออกต่อกัน ที่ทำให้เกื้อกูลกันหรือถูกกัน ก็มี ต้องยอมทนกันหรืออยู่กันอย่างขมขื่น ก็มี ในกรณีนี้ ท่านแสดงภรรยาประเภทต่าง ๆ ไว้ ๗ ประเภท คือ

๒.๑ วธกาภริยา ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต คือ ภรรยาที่มิได้อยู่กินด้วยความพอใจ ดูหมิ่น และคิดทำลายสามี

๒.๒ โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจร คือ ภรรยาชนิดที่ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ

๒.๓ อัยยาภริยา ภรรยาเยี่ยงนาย คือ ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน ปากร้าย หยาบคาย ชอบข่มสามี

๒.๔ มาตาภริยา ภรรยาเยี่ยงมารดา คือ ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใย เอาใจใส่สามี หาทรัพย์มาได้ก็เอาใจใส่ คอยประหยัดรักษา

๒.๕ ภคินีภริยา ภรรยาเยี่ยงน้องสาว คือ ภรรยาผู้เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจ มักคล้อยตามสามี

๒.๖ สขีภริยา ภรรยาเยี่ยงสหาย คือ ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน มีจิตภักดี เวลาพบสามีก็ร่าเริงยินดี วางตัวดี ประพฤติดี มีกิริยามารยาทงาม เป็นคู่คิดคู่ใจ

๒.๗ ทาสีภริยา ภรรยาเยี่ยงนางทาสี คือ ภรรยาที่ยอมอยู่ใต้อำนาจสามี ถูกสามีตะคอกตบตี ก็อดทน ไม่แสดงความโกรธตอบ (องฺ. ตฺตก. ๒๓/๖๐/๙๒)

ท่านสอนให้ภรรยาสำรวจตนว่าที่เป็นอยู่ ตนเป็นภรรยาประเภทไหน ถ้าจะให้ดี ควรเป็นภรรยาประเภทใด สำหรับชายอาจใช้เป็นหลักสำรวจอุปนิสัยของตน ว่าควรแก่หญิงประเภทใดเป็นคู่ครอง และสำรวจหญิงที่จะเป็นคู่ครองว่าเหมาะกับอุปนิสัยตนหรือไม่

สำหรับฝายหญิง ปัจจุบันนี้ คงจะไม่ทำตนตั้งรับได้อีกแล้ว เพราะว่า ผู้ชายมีจำนวนน้อยกว่าผู้หญิง

เพราะตั้งแต่สถิติการเกิด จะเป็นเพศหญิงมากกว่า และสังคมไทย ฝ่ายชายมักจะตายง่ายเพราะมีชีวิตเสี่ยง

เช่นไปเป็นทหารรับใช้ชาติ ไปบวชรับใช้พระศาสนา เป็นกะเทย ทำนองนี้ จะต้องเลือกสามีให้ดีเช่นกันคือ

๑. วธกาสามี สามีดังเยี่ยงเพชฌฆาตสามีที่มิได้อยู่กินด้วยความพอใจ มักจะดูหมิ่นเหยียดหยามและคิดทำร้ายภรรยา ทุบตีภรรยาเสมอ

๒. โจรีสามี สามีเยี่ยงโจร สามีที่คอยล้างผลาญทรัพย์สมบัติของครอบครัว เมาจนหัวราน้ำชนิดสุนัขเลียปาก ชอบนำเงินทองไปใช้คนเดียวในเรื่องอบายมุขต่าง ๆ และไม่บอกกล่าวให้ภรรยาทราบจึงเหมือนขโมยเงินจากครอบครัวไปใช้

๓. อัยยาสามี สามีเยี่ยงนาย สามีที่เกียจคร้านในการทำการงาน ไม่ใส่ใจการงาน มักพูดจาหยาบคาย ชอบข่มเหง รังแกภรรยาอยู่เสมอ

๔. ปิตุสามี สามีเยี่ยงบิดา สามีที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใย เอาใจใส่ต่อภรรยา หาทรัพย์มาได้ก็เอาใจใส่ คอยประหยัดรักษาไว้เพื่อให้ภรรยา (ลูกสาว) ได้มีกินมีใช้ไม่ขาดมือ

๕. ภคินีสามี สามีเยี่ยงน้องชาย สามีผู้เคารพรักภรรยา ดังน้องชายรักพี่สาว มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจ มักคล้อยตามภรรยา จะพูดจาก็มักจะระวัดระวังคำพูด ประดุจน้องชายที่แสนดีต่อพี่สาวไม่กล้าพูดคำหยาบคายต่อพี่สาวตนเอง

๖. สขีสามี สามีเยี่ยงสหายหรือเพื่อน สามีที่เป็นเหมือนเพื่อน มีจิตภักดี เวลาพบภรรยาก็ร่าเริงยินดี วางตัวดี ประพฤติดี มีกิริยามารยาทงาม เป็นเพื่อนคู่คิด เป็นมิตรคู่ใจ

๗. ทาสีสามี สามีเยี่ยงทาส สามีที่ยอมอยู่ใต้อำนาจภรรยา ถูกภรรยาตะคอกตบตี ก็จะอดทน ไม่แสดงความโกรธตอบ เพราะกลัวผู้เป็นเข้าของทาสจะทำโทษ

สรุป

การมีชีวิตคู่ที่จะเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะมาจากความร่ำรวยเป็นพื้นฐานเสมอกันเท่านั้นแต่ที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้อยู่กันตลอดลอดฝั่ง คือการมีคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของทั้งสองฝ่ายต่างหาก เช่น สมธรรม ๔ ประการ คือสมศรัทธา สมศีลา สมจาคา และ สมปัญญา นอกจากนี้ต้องยึดหลักฆราวาสธรรม คือธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน คือ สัจจะซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน ทมะ ข่มใจไว้ได้ ไม่โต้ตอบ ขันติ อดทนได้ จาคะ เสียสละและอภัยให้กันและกันได้ เป็นต้น ถ้าพื้นฐานเดิม ทรัพย์สินไม่สู้จะดีนัก ต้องหมั่นขยันหมั่นเพียรในการทำมาหาเลี้ยงชีพ เพราะพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “คนขยัน ย่อมหาทรัพย์ได้” รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่นำไปใช้จ่ายในทางอบายมุข คบเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนติดยาเสพติด หัวขโมย และเลี้ยงชีวิตอย่างเหมาะสมยึดมั่นในความพอเพียงพอประมาณ นกน้อยทำรังแต่พอตัว ถ้าทำได้ ชีวิตคู่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนแน่นอนครับความรักทำให้มีชีวิตคู่หรือสมรสกัน แต่ยากที่จะอธิบายได้ว่าความรักคืออะไร ดังบทกลอนที่ว่า

“คือน้ำผึ้ง คือน้ำตาล คือยาพิษ

คือหยดน้ำ อมฤต อันชุ่มชื่น

คือร้อนรุม คือไฟสุม ในดวงจิต

คือความสุข สดชื่น สมหวัง นี้แหละรัก”

ชีวิตคู่จะมีลักษณะหลายประการดังกล่าวมาแล้ว พึงมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ จะทำให้ชีวิตคู่มั่นคงตลอดกาลนิรันดร์ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เป็นไม้เท้ายอดทองไม้กระบองยอดเพชร นะครับ

-------------------

แหล่งข้อมูล

เสถียรธรรมสถาน Sathira Dhammasathan



หมายเลขบันทึก: 626826เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2017 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2017 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท