​ชีวิตที่พอเพียง : 2884. ไปไต้หวัน ๒๕๖๐ ๑๑. สรุป - AAR



การเดินทางไปไต้หวันเพื่อเรียนรู้ขบวนการฉือจี้ครั้งนี้ ดำริโดยคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ต้องการไปเรียนรู้ระบบอาสาสมัครของมูลนิธิฉือจี้ และการพัฒนาจิตอาสาของประชาชนไต้หวัน


เราไปพบว่า ระบบอาสาสมัครของฉือจี้เคร่งครัดและเสียสละมากกว่าที่เราคิด สิ่งที่อาสาสมัครได้ คือได้ทำงานเพื่อสังคม ได้ขัดเกลาจิตใจของตนเอง และได้แวดวงสังคมคนที่มีใจหรือความเชื่อแบบเดียวกัน ในด้านวัตถุอาสาสมัครต้องเสียสละทั้งหมด ได้แก่เวลา บางคนต้องหารถมาเก็บขยะเอง อาสาสมัครต้องเตรียมอาหารมากินเอง ไม่มีการเลี้ยงอาหารหรือให้บริการใดๆ แก่อาสาสมัคร


เมื่อมีแขกไปเยือนเพื่อเรียนรู้อย่างกรณีของทีมเรา อาสาสมัครจัดการต้อนรับ ให้ทั้งความรู้ จัดอาหารว่างและของที่ระลึกด้วยเงินของตัวเอง ไม่ได้ใช้เงินของมูลนิธิเลย


คำยกย่องอาสาสมัครของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนคือ “พระโพธิสัตว์” ซึ่งแปลว่าผู้มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุความหลุดพ้น หรือเพื่อการบรรลุธรรม


ระบบอาสาสมัครของฉือจี้ขับเคลื่อนด้วยพลังโพธิสัตว์ โดยการเสียสละทำประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่ส่วนรวมในเรื่องใดๆ ก็ได้ โดยจัดกลุ่มกิจกรรมออกเป็น ๘ ด้าน ตามใน เว็บไซต์นี้


แต่พลังที่อยู่เบื้องหลังคือ “พลังของการจัดการ” ที่เป็นระบบ ใช้การจัดการสมัยใหม่ และมีระบบคิดที่แยบคายและมุ่งมั่นผลระยะยาว มุ่งมั่นการดำเนินการเป็นกลุ่มก้อน ใช้พลังมวลมนุษย์ เขาบอกว่าธรรมกายของไทยได้ไปดูงาน เพื่อเอาแนวทางจัดการพลังรวมหมู่ของมนุษย์มาใช้ ซึ่งจะเห็นว่า ธรรมกายใช้พลังนี้อย่างได้ผล


แต่ฉือจี้ต่างจากธรรมกายอย่างหน้ามือกับหลังมือตรงที่ ฉือจี้สอนให้ลดละตัวตน ลดละกิเลส แต่ธรรมกายสอนให้เพิ่มพูนกิเลส ดัง วีดีทัศนี้


ฉือจี้ใช้เครื่องแบบแยกแยะสมาชิกหลายระดับ สำหรับใช้ในการจัดการความรับผิดชอบที่ลดหลั่นกันไป

มูลนิธิฉือจี้ทำธุรกิจด้วย โดยมีร้านค้า มีสินค้าที่ขายสินค้าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ อาจตีความได้ว่า ร้านค้าฉือจี้ทำธุรกิจเพื่อดึงคนเข้าหาด้านดีของมนุษย์


ผมตีความว่า ลัทธิพุทธฉือจี้ยึดหลักความดีของมนุษย์ หาทางส่งเสริมความเข้มแข็งด้านในหรือด้านจิตใจส่วนที่เป็นความดี ด้วยวิธีการต่างๆ เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน หรือเชื่อมโยงกับปัญหา โดยกลับทางปัญหาเป็นโอกาสที่จะเรียกร้องด้านดีของมนุษย์มาร่วมกันแก้ปัญหานั้น ดังเรื่องขยะ และเรื่องสื่อสีเทา กลายเป็นโอกาสรวมพลังคนร่วมกัน “ปฏิบัติธรรม” ด้วยกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม และด้วยสื่อสีขาว และไม่ว่าทำอะไร มีการไตร่ตรองสะท้อนคิดตีความคุณค่าของมัน รวมทั้งช่วยกันหาวิธีทำให้ดีขึ้นต่อเนื่อง


ผมเข้าใจว่ากิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อเพิ่มพูนความเมตตากรุณา และลดอัตตา ของ “ผู้ให้” ได้พัฒนาขึ้นเป็นกิจกรรมอาสาสมัครชุมชน คือจัดระบบมากขึ้น มีครอบครัวที่ได้รับความช่วยเหลือ ที่ผมไปได้ยินคำว่า “ครอบครัวบุญคุณ” เป็นครั้งแรก ไปครั้งที่แล้วไม่ได้ยินคำนี้


“ครอบครัวบุญคุณ” อยู่บนฐานคิดว่า ผู้ที่มีชีวิตยากลำบาก เปิดโอกาสให้สมาชิกฉือจี้ได้มีโอกาสฝึกฝนพัฒนาจิตเมตตากรุณา และขัดเกลาอัตตาของตนเอง ผู้รับความช่วยเหลือจึงถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อสมาชิกฉือจี้


ในบันทึกก่อนๆ จะเห็นว่าผมได้ตั้งคำถามไว้ล่วงหน้าหลายคำถาม ซึ่งส่วนหนึ่งยังไม่ได้คำตอบ บางคำถามผมคิดว่าควรหาคำตอบจากการสังเกต ไม่ใช่ถามเขาตรงๆ จะเห็นว่าการไปศึกษาดูงานนั้น มีช่องทางให้ปรับปรุงได้ไม่จบสิ้น


เนื่องจากคนที่ไปมีหลายกลุ่ม หลากความสนใจ และเวลาที่มีก็ใช้ในการเดินทางค่อนข้างมาก ผมเข้าใจว่าสมาชิกค่อนข้างเหนื่อย ผมจึงไม่ได้พยายามให้มีการ AAR กันทุกวันเหมือนบางการเดินทางที่เคยเล่าไปแล้ว มาได้ AAR กันจริงจังตอนวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ทำให้ได้รับรู้ระบบแม่ไก่ลูกไก่ในการฝึกสมาชิกใหม่ของฉือจี้ และทีมดูงานมีหลายหน่วยงาน ที่ต้องการไปศึกษาวิธีจัดการงานอาสาเพื่อประโยชน์ของสังคม ได้แก่สภากาชาดไทย, SCB, SCBF, Schubb



วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 626622เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2017 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2017 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท