ชีวิตที่พอเพียง : 2880. ไปไต้หวัน ๒๕๖๐ ๗. วิธีจัดการเรียนรู้ด้านในโดยพิธีชงชา จัดดอกไม้ และเคารพอาจารย์ใหญ่



๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ช่วงบ่าย

หลังอาหารเที่ยงแบบต้อนรับผู้ใหญ่ที่ศาลาจิ้งซือ เราได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเชิงลึกของกระบวนการพัฒนาจิตใจ หรือพัฒนาตัวตนด้านในสำหรับนักศึกษาแพทย์ ๓ พิธีกรรม สำหรับฝึกวิชาจริยศาสตร์ คือ วิชาเขียนพู่กันจีน วิชาชงชา และวิชาจัดดอกไม้




พิธีชงชา

จัดในบริเวณศาลาจิ้งซือ ซึ่งอยู่ติดกับโรงพยาบาลนั่นเอง เป็นบริเวณเฉพาะกิจสำหรับพิธีชงชาโดยเฉพาะ หากจัดได้จะเป็นสถานที่ใกล้สวน เพื่อให้บรรยากาศเป็นธรรมชาติ สงบ และดูศักดิ์สิทธิ์ เปิดเพลงบรรเลงเบาๆ กระตุ้นให้จิตสงบ ด้านหลังโต๊ะชงชามีโคมไฟให้ความงามและเรียบง่าย ที่ผนังมีตัวอักษรจีน ๔ ตัว อ่านว่า จิ้ง ซือ ฉา เต้า ซึ่งในตัวอักษรจีนมีความหมายที่ลึกโดยระหว่างฟังผมใช้ไอโฟนจดไว้ดังนี้


“พิธีชงชามีหลายแบบ แบบที่ใช้ที่นี่เรียกชื่อว่า จิ้งซือฉาเต้า ตามตัวอักษรบนผนัง

จิ้งซือ จิ้ง = สีเขียว แก่งแย่ง อยู่กันด้วยความรักสามัคคี

ซือ = สงบ คิด

จิ้งซือ เปนชื่อท่านสมณาจารย์ออกบวช เตือนตนให้มี สติ สมาธิ ปัญญา

ฉา = ชา เปนส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

เต้า = วิถี มรรค เต๋า

ฉาเต้า = วิถีแห่งชา

วิธีชงชาแบบจิ้งซือฉาเต้า ต่างจากที่อื่น ตรง : สำนึกคุณ ให้เกียรติ ความรัก ปลูก 3 อย่างนี้ให้เกิดในจิต


เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน การศึกษาทุกระดับของฉือจี้ต้องเรียนเป็นวิชาบังคับ”


ในห้องมีโต๊ะและเก้าอี้สำหรับผู้ชงชา มีเคาน์เตอร์ด้านข้างสำหรับวางถาดและเหยือกน้ำชา โต๊ะดื่มชาเตี้ยๆ นั่ง ๔ คนรอบบนเบาะ บนโต๊ะดื่มชามีแจกันดอกไม้ จอกน้ำชาและจานรอง และขนมบนจานเล็กๆ ๔ จน สำหรับแต่ละคน ผู้สูงอายุที่นั่งราบไม่ได้มีเก้าอี้เตี้ยๆ ให้นั่ง


วิทยากรเป็นผู้หญิงวัยกลางคน เป็นอาสาสมัครฉือจี้ อธิบายขั้นตอนชงชาที่ประณีตช้าๆ เป็นปฏิสัมพันธ์สามฝ่าย คือผู้ทำพิธีชง ผู้เสิร์พ และผู้ดื่ม ซึ่งในการตีความของผมจากคำอธิบายของพิธีกร แปลโดย ดร. กวิชช์ เป็นกุศโลบายเพื่อกระตุ้นจิตใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยฉือจี้กำหนดให้เป็นวิชาบังคับสำหรับนักเรียน ตั้งแต่อนุบาล ถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งผมตีความว่า หากถือตามโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา นี่คือส่วนหนึ่งของวิชาจิตศึกษา วิทยากรอธิบายว่า ต้องฝึกบ่อยในระดับที่จะทำให้ฝังเข้าไปเป็นนิสัยของการมีสติเตือนตนให้ คิดดี พูดดี และทำดี คิดสำนึกคุณ


เขาสอนวิธีจับถ้วยชาด้วยนิ้วชี้กับหัวแม่มือสองนิ้ว ประคองและรองด้วยสามนิ้วที่เหลือ ก่อนดื่มให้มองและดม พิจารณาความงามและคิดสำนึกคุณผู้ชง ผู้เสิร์พ ผู้ปลูก จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ดื่ม แต่เป็นการจิบ จิบไปพิจารณาไป ตั้งสติเตือนตนไป จิบ ๓ คั้งหมดถ้วย จิบครั้งแรกบอกตัวเองว่า จะคิดดี จิบครั้งที่สอง เตือนตนให้พูดดี จิบครั้งที่สาม เตือนตนให้ทำดี


เขาสอนวิธีจับจานขนมด้วยท่ามังกรคาบแก้ว จับซ่อมด้วยท่าหงส์จิกน้ำ และระหว่างกินขนมก็รำลึกถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบและการทำขนม จนมาให้ตนได้กิน ด้วย “สำนึกบุญคุณ”



พิธีจัดดอกไม้

จัดที่ห้องข้างๆ ห้องชงชา เป็นห้องแบบห้องเรียน มีไวท์บอร์ดและจออยู่ด้านหน้า ผู้เข้าฝึกนั่งโต๊ะละ ๒ คน ที่โต๊ะออกแบบให้มีถังใส่ดอกไม้ ใบไม้ ซึ่งวันนี้มีกุหลาบสีชมพูให้คนละดอก ใบหมากเหลืองคนละใบ และดอกไม่ทราบชื่อสีขาวๆ เล็กๆ คนละช่อ มีถาดใส่ของให้ใช้ร่วมกันโต๊ะละถาด มีหลอดปลาสติกใส่น้ำ กรรไกร ยางหนังสติ๊ก ริบบิ้น และกระดาษแก้วทบติดเป็นกรวย ๒ ชิ้น


ระหว่างนั่งฟังและฝึก ผมใช้ iPhone บันทึกย่อๆ ไว้ดังนี้


“เพื่อหลอมรวมตัวเรากับธรรมชาติ เอาวาทะธรรมของท่านธรรมาจารย์มาออกแบบพิธี


ระหว่างพิธี ให้มีจิตสำนึกคุณ ให้เกียรติ ความรักมหาเมตตา


พระ อจ. ซื่อบู้ พัฒนาหลักสูตร 1992 สอนมหาวิทยาลัย แล้วใช้ในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่เด็กเล็ก เทอมละ 4 คาบ (2 คาบรู้จักดอกไม้ 2 คาบฝึกจัด) ประถม 6 คาบมัธยม 4 คาบมหาวิทยาลัย เทอมละ 2 คาบ (คาบละ 2 ชม.)

พระอาจารย์ซื่อบู้


เมื่อ 40 ปีก่อนไปประเทศไทยเพราะมีพระพุทธรูป คนไทยเอาดอกไม้มาต้อนรับ พอท่านธรรมาจารย์ตั้งมูลนิธิก็มาร่วม ตอนนั้นยังไม่ได้บวช


พระ อจ. ซื่อบู้ เคยไปเรียนที่ญี่ปุ่นได้วิชาจัดดอกไม้แบบ ikebana


การจัดดอกไม้ เพื่อให้เห็นความจริง ความดี ความงาม ทั้งๆ ที่ดอกไม้น้อยมาก”


เพราะเวลาน้อย ท่านจึงให้เราทดลองจัดดอกไม้ ๑ ดอก (ตัวเรา) ใบ ๑ ใบ (คนทั้งโลก) และช่อดอกไม้เล็กๆ (ดวงดาวบนท้องฟ้า แทนความรัก) ในระหว่างนั้นก็เพ่งพิศความงาม แผ่เมตตา ให้ความรักแก่คนทั้งโลก และแก่ธรรมชาติในสากลจักรวาล แล้วร่วมกันร้องเพลงแห่งความรัก




พิธีความเคารพและขอบคุณอาจารย์ใหญ่

อาจารย์ใหญ่คือผู้อุทิศศพของตนเองให้นักศึกษาแพทย์เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ เป็นการทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่นครั้งสุดท้ายในชีวิต โดยที่ทางโรงพยาบาลจะขอให้ผู้อุทิศศพเขียนพินัยกรรมบอกกล่าวแก่นักศึกษาแพทย์ผู้ใช้ร่างของตนในการศึกษาว่ามีความมุ่งหวังให้ผลของการอุทิศร่างของตนก่อประโยชน์อะไร แล้วทางคณะแพทยศาสตร์ก็จะเลือกนำคำคมมากล่าวซ้ำสร้างความสะเทือนใจต่อนักศึกษาแพทย์ ให้มุ่งเล่าเรียนเป็นแพทย์ที่ทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น


เราได้ชมวีดิทัศน์พิธีศพของอาจารย์ใหญ่เมื่อนักศึกษาแพทย์เรียนจบในเวลา ๔ เดือนแล้ว เป็นพิธีที่แสดงความเคารพและขอบคุณของนักศึกษาแพทย์ และหลังเผาแล้ว จะมีพิธีเก็บกระดูกมาบรรจุในโถแก้วเก็บไว้ที่ห้องอนุสรณ์สถาน “ครูผู้ไร้เสียง” (The Silent Mentor) ที่ผนังด้านหน้ามีโปสเตอร์รูป ประวัติ และคำพินัยกรรมต่อนักศึกษา


เป็นวิธีการให้นักศึกษาได้สัมผัสกับเหตุการณ์สะเทือนใจ เพื่อสร้างสำนึกภายในจิตใจ ให้สำนึกคุณอาจารย์ใหญ่ และกระตุ้นปณิธานที่จะดำรงชีวิตทำประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่สังคม


ตอนจะออกจากโรงพยาบาล ผมเห็นเอกสาร After the DustSettles. A Documetary on Taipei Tzu Chi Hospital after Formosa Fun Coast Dust Explosion ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.พ. ๖๐

ห้อง ๗๒๕ โรงแรม Chateau de Chine, ไทเป

ปรับปรุง ๒๑ ก.พ. ๖๐



1 อาคารพิพิธภัณฑ์จิ้งซือ



2 อาหารเที่ยง



3 ห้องพิธีชงชา มีเพลงบรรเลงเบาๆ


4 ท่างทางของพิธีกรเนิบช้า งดงาม


5 ห้องเรียนจัดดอกไม้


6 วิทยากร


7 สิ่งของที่เตรียมไว้ให้ฝึก


8 อาจารย์ซื่อบู้


9 ดอกไม้ที่ผมจัดเสร็จแล้ว


10 เรื่องราวของครูผู้ไร้เสียงสองท่าน


11 ห้องเก็บกระดูกอาจารย์ใหญ่


12 โถแก้วเก็บกระดูกอันงดงาม



หมายเลขบันทึก: 626278เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2017 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2017 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท