นวัตกรรม


innovation

จะดีแค่ไหนหากเปิด-ปิดก๊อกน้ำก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าสร้างความสว่างและพลังงานภายในบ้านได้ นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยชาติประหยัดพลังงานอีกด้วย “ก๊อกน้ำผลิตไฟฟ้า” เป็นอีกผลงานของนักศึกษาอาชีวะที่ได้แนวคิดจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า และอยากจำลองเขื่อนมาสร้างพลังงานภายในบ้านบ้าง ซึ่งผลงานดังกล่าวก็ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว

 


 นายเอกวิทย์ ตันเกิด กับก๊อกน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า


       ภายในงาน “ตลาดนัดทรัพย์สินทางปัญญา 2549” (Thailand IP Fair 2006) ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค. นี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ฮอลล์4) มีผลงานของนักประดิษฐ์มากมายมานำเสนอ ซึ่งเป็นโอกาสให้นักธุรกิจและเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้แลกเปลี่ยนซื้อขายความคิด ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีระหว่างกัน
       
       “อุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยการไหลของน้ำ” หรือก๊อกน้ำที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นผลงานอีกชิ้นที่แสดงถึงภูมิปัญญาของเยาวชนไทย โดย นายเอกวิทย์ ตันเกิด นักศึกษา ปวส.3 ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม คณะวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา จ.พังงา เจ้าของความคิดในการประดิษฐ์อธิบายว่าอุปกรณ์ดังกล่าวผลิตกระแสไฟฟ้าโดยให้กระแสน้ำหมุนไดนาโม ทั้งนี้ก๊อกน้ำที่เขาประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ 1.ใบพัด และ 2.ไดนาโม
       
       “เมื่อน้ำไหลเข้าไปในท่อน้ำก็จะเจอกับใบพัดที่ต่อเข้ากับไดนาโม ทำให้ใบพัดหมุนและไดนาโมก็จะหมุนตามไปด้วย จึงเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น มีแรงดันอยู่ที่ 6 – 30 โวลต์ และให้กระแสไฟฟ้าสลับสูงสุดประมาณ 200 มิลลิแอมป์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแรงดันน้ำด้วย ไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็จะนำไปเก็บในแบตเตอรี่ซึ่งก็ต้องแปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นกระแสตรงเสียก่อน” เอกวิทย์อธิบายว่า เขาได้ทดลองเก็บประจุไฟฟ้าโดยเปิดก๊อกให้น้ำไหลตลอดเวลา แบตเตอรี่ ขนาด12 โวลต์ใช้เวลา 15 ชั่วโมงจึงเก็บประจุจนเต็ม ส่วนแบตเตอรี่ขนาด 6 โวลต์ใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง และกระแสไฟฟ้าที่เก็บได้นำไปใช้กับโคมไฟที่ให้แสงสว่างในบ้าน ซึ่งเป็นโคมไฟที่ใช้หลอดแอลอีดีประเภท Super Bright
       
       แนวคิดในการประดิษฐ์ก๊อกน้ำดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เอกวิทย์ (ขณะเรียนอยู่ชั้น ปวช.2) เดินทางไปเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน (เขื่อนรัชประภา) จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย ระหว่างที่มองดูน้ำในเขื่อนถูกปล่อยลงมานั้น เขาก็เกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภายในบ้านมีแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าอย่างนี้บ้าง เป็นการจุดประกายความคิดให้เขาคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนเขื่อนเล็กๆ ภายในบ้านและผลิตกระแสไฟฟ้าได้
       
       เอกวิทย์รวมกลุ่มกับเพื่อนที่วิทยาลัยอีก 2 คน ช่วยกันช่วยกันประดิษฐ์อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเวลา 8 เดือนจึงได้อุปกรณ์ที่เป็นต้นแบบ และผลงานของพวกเขาก็ได้รับรางวัลที่ 3 ประเภทสิ่งประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในงานสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาคใต้ ประจำปีการศึกษา 2548 ของกรมอาชีวศึกษา และแม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ก๊อกน้ำผลิตไฟฟ้านี้ก็ได้รับสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
       
       ก๊อกน้ำผลิตกระแสไฟฟ้านี้มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 750 บาท ซึ่งเอกวิทย์กล่าวว่าหากผลิตในเชิงอุตสาหกรรมน่าจะผลิตได้ในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้เขาคิดว่ายังต้องปรับปรุงให้สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มีน้ำหนักที่เบาลง เพราะอุปกรณ์ต้นแบบมีน้ำหนักมากถึง 800 กรัม ส่วนเรื่องความปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วนั้น เขายอมรับว่ายังไม่ได้ออกแบบให้ป้องกันในปัญหาดังกล่าว แต่ขั้นตอนการพัฒนาต่อไปจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9490000122416

คำสำคัญ (Tags): #innovation
หมายเลขบันทึก: 62590เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท