เข้าหน้าแล้งฤดูร้อนกับภัยสวนยางถูกไฟใหม้



หน้าแล้งมาทีไหร่ ความเสี่ยงหนึ่งที่สร้างความหวาดผวาให้กับชาวสวนยางชนิดนอนตาไม่หลับเลยคือ ไฟป่า โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ ขึ้นชื่อเรื่องไฟป่าประจำปี เนื่องจากสภาพพื้นที่ของภาคเหนือเอื้อต่อการเกิดไฟป่ามากที่สุด ด้วยสภาพพื้นที่ป่าที่เหลือมากที่สุดของประเทศ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เป็นเขา สภาพอากาศแห้ง ใบไม้ใบหญ้าแห้ง คือเชื้อเพลิงธรรมชาติชั้นดี ส่วนสาเหตุการเกิดไฟใหม้นั้น คิดว่าคงพอทราบสาเหตุกันพอควรแล้วว่าเกิดจากสาเหตุใดบ้าง ฉะนั้นทุกปีจะมีเจาของสวนยางต้องน้ำตาตกเพราะสวนถูกไฟไหม้จำนวนมาก ก็เพราะสวนยางอยู่ตามไหล่เขา เชิงดอยนั่นแหละ ทำให้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ในการป้องการไฟ การทำแนวกันไฟเป็นอีกค่าใช้จ่ายหนึ่งที่เยอะ เพราะไม่สามารถใช้เครื่องจักร รถไถมาทุ่นแรงใดๆ ต้องอาศัยจ้างแรงคนเป็นหลัก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง บางทีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำสวนยางจะเสียเยอะกับการตัดหญ้า ทำแนวกันไฟ

ลักษณะไฟใหม้สวนมีหลายลักษณะ ยางต้นเล็กส่วนใหญ่เชื้อเพลิงจะเป็นหญ้า วัชพืช เป็นหลัก ซึ่งปีที่แล้วสวนยางผู้เขียนก็โดนไปหลายไร่เหมือนกัน ทั้งๆ ทำแนวกันไฟ ระมัดระวังทุกปี ส่วนยางต้นใหญ่และเปิดกรีด เชื้อเพลิงคือใบยางที่ผลัดก่อนหน้านี้นั่นเอง

ทีนี้จากประสบการณ์ที่เคยประสบพบเจอ ของลักษณะสวนยางไฟใหม้ มีหลายแบบ ตามระดับความรุนแรง ซึ่งผู้เขียนก็พอให้คำแนะนำกับเจ้าของสวนได้แก้ไขตามสภาพอาการดังนี้

1. สวนต้นเล็ก อายุ 1-4 ปี ไฟไหม้ไม่รุนแรง คือเชื้อเพลิงจากเศษใบไม้ ใบหญ้าไม่หนา จนเกินไป ประมาณไฟลามทุ่งหญ้าแล้วความร้อนลวกต้นยาง แต่สภาพใบส่วนใหญ่ยังเขียน ก็ให้เพียงเอาปูนขาว ผสมน้ำ อัตรา 1:1 แช่ไว้สักคืน หรือจะเติมเกลือลงไปสักช้อน เพื่อเพิ่มความเย็น แช่ไว้สักคืนก่อนเอาไปทาต้น

2. สวนยางต้นเล็ก ถูกไฟไหม้รุนแรง แม้จะยังมีใบเขียวบางส่วน แต่โดยส่วนใหญ่ต้นยางจะเสียหายหมด ที่ใบยังเขียวคือ บางส่วนของต้นที่ยังมีท่อน้ำเลี้ยงอยู่แค่นั้นเอง ซึ่งไม่คุ้มในการดูแล และไม่มีหน้ากรีดให้เหลืออีก ฉะนั้นจะแนะนำให้ตัดทิ้ง แต่อย่างพึ่งหมดหวังซะทีเดียว ยังพอมีความหวังเล็ก ๆ คือ ให้รีบตัดภายใน 3-4 วันหลังจากไฟไหม้ โดยตัดเฉียง ห่างจากพื้นดินประมาณ 1 คืบ (10-15 ซม) เพื่อให้ต้นสร้างแขนงใหม่ แล้วค่อยเลือกสักแขนงหนึ่ง เพื่อเจริญเติบโตเป็นต้นต่อไปได้ ซึ่งเท่าที่แนะนำมา ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นเป็นสภาพสวนยาง 80-90 เปอร์เซนต์ แนะนำให้ตัดบริเวณไฟไหม้ทั้งหมดทุกต้นนะคะคับ เพื่อต้นที่โปร่งใหม่จะได้สม่ำเสมอกัน ดูแลง่าย

แต่ปัญหาหนึ่งที่เจอ คือชาวบ้านเจ้าของสวน จะไม่ค่อยยอมตัดกัน เพราะความเสียดาย เพราะยังเห็นว่าใบ (บางส่วน)ยังเขียวอยู่ หรือ รอดูอาการก่อน นั่นจะทำให้สวนยางจะเสียหายจริงๆ ในที่สุด

3. สวนยางต้นใหญ่ และเปิดกรีด กรณีเชื้อเพลิงไม่เยอะลักษณะไฟลามใบยาง จะเสียหายตรงบริเวณโคน (เท้าช้าง) ก็ให้ใช้ปูนขาว กรณีเช่นเดียวกับต้นเล็ก แต่บริเวณที่ถูกไฟลวกเยอะ ๆ สักพักเปลือกแถวนั้นก็จะร่อนออกมา ก็ให้บำรุงใส่ปุ๋ยช่วงหน้าฝน เพื่อให้กลับฟื้นคืนสภาพโดยเร็ว

ส่วนกรณีถูกไฟไหม้รุนแรง (ใบยางกองทับถมหนา) จะไหม้รุนแรง ผสมกับลมพัดกระโชก อันนี้จะทำให้ต้นเสียหายจากโคนถึงยอด ถือว่าเสียหายหนัก อาจหมดสภาพสวนเลย ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจ เพราะเมื่อเจอแบบนี้แล้ว จะไม่สามารถฟื้นได้อีกเลย โค่นทิ้งอย่างเดียว (สำหรับสวนยางที่กรีดไปแล้ว มีเอกสารสิทธิ์ สามารถไปขอทุนเพื่อการปลูกแทนได้ เป็นเป็นยาง หรือไม้ยืนต้นอย่างอื่น รายละเอียดติดต่อ สำนักงาน กยท.ของแต่จังหวัดได้)

แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังอย่าให้ไฟเข้าสวนเลย โดยการตัดหญ้าให้เตียน ทำแนวกันไฟให้เรียบร้อย ถ้ามีสวนหลายๆ คนอยู่ติดๆ กัน ก็จัดเวรยามเฝ้าดูแล ช่วงหน้าแล้งนี้ ก่อนที่ไฟจะเข้านะคับบบบบบ


หมายเลขบันทึก: 625363เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2017 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2017 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท