ผู้สูงอายุวัยใสกับกิจกรรมบำบัด


กิจกรรมบำบัดกับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักมีความเสื่อมถอยทางด้านร่างกายและจิตใจฉะนั้นจะต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมตามความสามารถที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทำกิจกรรมได้อย่างมีความหมาย มีเป้าหมายและเกิดความสุขที่จะได้ทำกิจกรรมนั้นๆ จากสถิติในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต ซึ่งทำให้มีจำนวนบุคคลที่ขาดความสามารถและประสิทธิภาพในการประกอบกิจกรรมดำเนินชีวิตต่างๆมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ อย่างนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งยังมีจำนวนน้อยอยู่มาก ฉะนั้นนักกิจกรรมบำบัดจะต้องตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญต่อผู้สูงอายุอย่างมากขึ้น

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับโอกาสจากอาจารย์ให้มาฝึกปฏิบัติที่ศูนย์ผู้สูงอายุคามิลเลียน ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยเป็นส่วนหนึ่งของคาบเรียนวิชากิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุ มีเป้าประสงค์เพื่อมาฝึกปฏิบัตินำข้อมูลความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะทำให้เรานั้นเห็นบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะบางทีการเรียนในห้องเรียนอาจจะยังไม่ทำให้เราเห็นภาพที่แท้จริง

อาจารย์ได้มอบหมายให้ นักศึกษาจับคู่กับผู้สูงอายุ 1 ท่าน เพื่อฝึกทักษะการสร้างสัมพันธภาพ การใช้การRapport การประเมินต่างๆ สอบถามถึงความต้องการในการทำกิจกรรมตามความสามารถที่มีอยู่ และจากนั้นพาผู้สูงอายุมารวมกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันภายในสมาชิกกลุ่ม

ในวันแรกที่ไปได้พบกับ คุณลุงเอ(นามสมมติ) อายุ50ปี เป็นอัมพาตครึ่งซีกฝั่งขวา(ข้างถนัด) อยู่ที่บ้านพักผู้สูงอายุคามิลเลียนมาแล้ว 4 ปี เริ่มแรกเข้าไปพูดคุยสร้างสัมพันธภาพกับคุณลุง ซึ่งตอนนั้นคุณลุงกำลังดูโทรทัศน์อยู่ซึ่งวันนั้นมีประกวดมิสยูนิเวิร์สพอดี ในตอนแรกคุณลุงมีท่าทีไม่อยากคุยด้วยเนื่องจากกำลังจดจ่ออยู่กับรายการทีวีอยู่ จึงชวนคุยเกี่ยวกับรายการที่คุณลุงดูอยู่จึงทำให้คุณลุงเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ไปในทางที่ดีมากขึ้น ประเมินความดันโลหิตอยู่ที่ 119/85 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ มีระดับการรู้คิดอยู่ในระดับ4 ในการทำกิจวัตรประจำวันนั้นมีคนช่วยทำแทบทุกอย่าง โดยมีแบบแผนการดำเนินชีวิประจำวันคือ 6.00น. ตื่นมาอาบน้ำ ออกกำลังกาย ทานข้าวเช้า แล้วมาดูโทรทัศน์ จากนั้น 10.00น. ก็มาทานข้าวอีกครั้งหนึ่ง แล้วไปดูโทรทัศน์ 13.00น.ไปนอนกลางวัน แล้วตื่นมาอีกทีตอนเย็นเพื่อทานข้าว แล้วอาบน้ำ ดูโทรทัศน์แล้วเข้านอน เคยมีประวัติการล้ม 1 ครั้ง เมื่อสี่ปีที่แล้ว เคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆโดยใช้รถเข็น มีปัญหาในการนอนหลับหลับยากนอนไม่ค่อยหลับกว่าจะหลับก็ประมาณตี1 ตื่นมากลางดึกบ่อยๆโดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการคิดมาก มีกิจกรรมที่มักชอบทำในแต่ละวันคือการออกกำลังกาย และดูโทรทัศน์ และมีกิจกรรมที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสทำคือ การสวดมนต์ และไปทำบุญ เมื่อจบตอนของรายการจึงพาคุณลุงเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม โดยเริ่มแรก ได้ประเมิน State Management ก่อนทำกิจกรรมพบว่ามีความตึงตัวในส่วนหัวในระดับ9/10 ในส่วนอื่นไม่มีความตึงตัว แล้วมาเริ่มทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันกับสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเริ่มแนะนำตัวสมาชิกกลุ่มเพื่อทำความรู้จักกันเพราะบางคนอาจจะเห็นหน้ากันแต่ยังไม่รู้จักกัน แล้วให้บอกสีที่ชอบ อาหารที่ชอบ แนะนำการฝึกการออกกำลังสำหรับผู้สูงอายุทั้งออกกำลังกาย และออกกำลังสมอง (Brain Gym) พร้อมกับเทคนิคการผ่อนคลาย(Relaxation Technique) จากนั้นสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่อยากมาทำร่วมกันในครั้งถัดไป หลังจากทำกิจกรรมเสร็จก็ได้ประเมิน State Management อีกครั้งพบว่า มีความตึงตัวในส่วนหัวลดลง 5/10 แสดงให้เห็นว่าหลังจากการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันสามารถช่วยลดอารมณ์ทางลบได้ และได้แนะนำเทคนิคการผ่อนคลาย อย่างการฝึกการหายใจ เพื่อช่วยลดความเครียดวิตกกังวล เพื่อจะทำให้นอนหลับได้อย่างสบายมากขึ้น

ในวันถัดมาก็ได้ไปพบกับ คุณยายบี(นามสมมติ) อายุ 86ปี ไม่มีโรคประจำตัว เคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆด้วยรถเข็น เริ่มแรกก็เข้าไปพูดคุยทำความรู้จัก สร้างสัมพันธภาพกับคุณยาย โดยรู้สึกว่าครั้งนี้สามารถสร้างสัมพันธภาพกับผู้สูงอายุได้ดีมากกว่าครั้งเดิม ทำให้ทราบว่าคุณยายเคยประกอบอาชีพค้าขายมาก่อน และคุณยายยังบอกว่าถ้าหากยังแข็งแรงอยู่คุณยายอยากจะกลับไปค้าขายดังเดิม วัดความดันอยู่ที่ 163/78 มีชีพจรอยู่ที่ 89 ครั้ง/วินาที จากนั้นมาร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม โดยวันนี้เริ่มแนะนำตัวพร้อมกับเขียนป้ายชื่อ โดยคุณยายสามารถเขียนป้ายชื่อตนเองได้อย่างถูกต้องแต่เขียนช้า จึงช่วยเขียนในช่วงหลัง แล้วจากนั้นฝึกการออกกำลังกายในท่าต่างๆ โดยคุณยายสามารถทำตามได้บางท่า โดยบางท่าจะต้องไปช่วยจับทำบ้าง และต้องคอยบอกว่าเปลี่ยนท่าแล้ว และมีอีกกิจกรรมคือการทำอาหาร โดยเมนูวันนี้คือ ฟักทองแกงบวด โดยพยายามให้คุณยายมีส่วนร่วมในขั้นตอนการทำให้ได้มากที่สุด เช่น ให้คุณยายได้หั่นเปลือกฟักทองโดนนักศึกษาจะช่วยหั่นในบางส่วนด้วย ให้คุณยายได้ลองเทเกลือลงถ้วยเพื่อเตรียมใส่ลงไปในหม้อ เนื่องจากคุณยายนั้นเคยทำฟักทองแกงบวดมาก่อน เลยให้คุณยายลองเล่าขั้นตอนการทำ ซึ่งคุณยายสามารถบอกได้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ คุณยายยังมีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งคุณยายไม่ค่อยชอบหน้าคนในกลุ่ม ทำให้ไม่ค่อยอยากทำกิจกรรมนี้เท่าที่ควรจึงพยายามชวนพูดคุยปรับอารมณ์ให้คุณยายมีอารมณ์ที่ปกติ เหมาะสมกับการทำกิจกรรมในครั้งนี้ ท้ายสุดของกิจกรรมมีการสะท้อนความคิดว่าเราได้อะไรจากกิจกรรมนี้ และแนะนำกิจกรรมการออกกำลังกาย ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และยังช่วยผ่อนคลายทางอารมณ์อีกด้วย

จากการไปฝึกปฏิบัติในครั้งนี้ทำให้ตระหนักถึงบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ส่งเสริมผู้สูงอายุให้สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันเพื่อนเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้นตามความสามารถสูงสุดของผู้สูงอายุ

หมายเลขบันทึก: 624832เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2017 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2017 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท