“ท่านาสามัคคี” ร่วมแรงร่วมใจ แก้ปัญหาขยะเน่าเหม็นล้นเมือง


ด้วยพลังของผู้นำสภาชุมชนและชาวชุมชนที่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทำให้สามารถจัดการปัญหาขยะได้ผลสำเร็จ และทางอำเภอบ้านตากยกให้ “ชุมชนท่านาสามัคคี” เป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ ได้ทำตามต่อไป


ปัญหาขยะ ดูจะเป็นปัญหาหลักของชุมชน ไม่ว่าจะสังคมเมืองหรือชนบท ล้วนมีปัญหาไม่ต่างกัน แม้หน่วยงานรับผิดชอบที่รับผิดชอบจะจัดเก็บ แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่หมด ดังนั้นแต่ละชุมชนจึงหันมาช่วยกันสร้างจิตสำนึก และเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงผลกระทบของการทิ้งขยะไม่ถูกวิธี ตลอดจนรณรงค์การคัดแยก เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ โดยเริ่มที่ครัวเรือนเป็นอันดับแรก

ดังเช่นที่ชุมชนท่านาสามัคคี หมู่ 9 ต.ตากตก อ.บ้านตาก จ.ตาก รณรงค์ให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการขยะที่ถูกต้อง คัดแยกขยะในครัวเรือน ลดปริมาณขยะในชุมชนให้น้อยลง ด้วยการสร้างความรู้ ความตระหนัก และจิตสำนึกรับผิดชอบชุมชนร่วมกัน นำไปสู่ชุมชนที่น่าอยู่

แต่กว่าที่จะประสบผลสำเร็จในวันนี้ก็ต้องใช้เวลา


ชุมชนท่านาสามัคคี เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทอยู่ติดริมน้ำปิง มีประชากร 244 คน 102 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป ด้วยความเป็นสังคมเมืองจึงทำให้ประสบปัญหาด้านขยะอย่างเลี่ยงไม่ได้

ขยะในชุมชนท่านาสามัคคี พบว่ามีประมาณ 15 กิโลกรัมต่อครัวเรือนต่อสัปดาห์ ทั้งหมดไม่มีการทิ้งหรือกำจัดที่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และอื่นๆ ในชุมชน

เมื่อแกนนำของชุมชนมองเห็นว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไป ชุมชนจะเต็มไปด้วยเชื้อโรค หันมองไปทางไหนก็ไม่น่ามอง คนในก็ไม่อยากอยู่ คนนอกก็ไม่อยากเข้า ดังนั้นจึงร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่หมู่บ้านท่านาสามัคคี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อแก้ปัญหาขยะในชุมชนอย่างจริงจัง ด้วยการสร้างจิตสำนึกและรับผิดชอบของชาวชุมชนร่วมกัน


สายใจ บุญมาลีรัตน์ ผู้รับผิดชอบโครงการ บอกถึงสภาพปัญหาก่อนเข้าร่วมโครงการว่า ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้มีปริมาณขยะเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน นอกจากครัวเรือนทั่วไปแล้ว ยังมีกลุ่มร้านค้าที่มีพวกเศษขยะ เศษผัก ซึ่งเป็นขยะสดอีกไม่น้อย แม้ว่าจะมีรถเทศบาลมาเก็บทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ แต่ปริมาณขยะยังมากอยู่ ทำให้จัดเก็บในวันเดียวไม่หมด ส่วนที่ไม่ได้เก็บก็หมักหมมอยู่ในถังขยะรอมาจัดเก็บรอบต่อไป ขยะจึงตกค้าง

เมื่อแต่ละครัวเรือนไม่มีการคัดแยกขยะ ก็จะทิ้งผสมปนเปกันอยู่ในถัง กว่ารถเก็บขยะจะมาเก็บขยะเปียกก็เริ่มเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น น้ำเน่าไหลเต็มข้างถังขยะ หมาคุ้ยเขี่ย สกปรกเลอะเทอะ เป็นแหล่งชุกชุมของแมลงวัน กลายเป็นแหล่งพันธุ์เชื้อโรคต่างๆ นอกจากบางส่วนก็ทิ้งลงในแม่น้ำปิงด้วย

ดังนั้นจึงเข้าร่วมโครงการรร่วมชุมชนให้น่าอยู่ ของ สสส. เมื่อปี 2558 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้จัดตั้งสภาผู้นำชุมชนขึ้นจากทุกภาคส่วน มีสมาชิกจำนวน 35 คน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมาย หลังจากนั้นจึงจัดเวทีประชาคมขึ้น เพื่อขอความคิดเห็นชาวบ้าน เพราะการจัดการขยะจะประสบผลสำเร็จได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมด้วย

ข้อตกลงแรกที่ชาวชุมชนท่านาสามัคคี ทำร่วมกัน คือ การส่งคืนถังขยะให้กับเทศบาล แล้วให้แต่และครัวเรือนคัดแยกขยะใส่ถังไว้ในบ้าน เมื่อถึงวันที่รถเก็บขยะมา ค่อยเอาขยะที่คัดแยกใส่ถุงไว้ออกมาวางหน้าบ้านให้รถจัดเก็บไป ซึ่งตอนนี้มีบ้านที่คืนถังขยะไปแล้วกว่า 60% ทำให้แต่ละครัวเรือนได้คัดแยกขยะนำไปขายได้ เศษผักหรือเศษอาหารก็เอาไปทำน้ำหมักชีวภาพได้ด้วย พร้อมทั้งจัดประกวดครัวเรือนที่รักษาความสะอาด มีระเบียบเรียบร้อยทั้งในบ้านและหน้าบ้าน จำนวน 10 หลังคาเรือน และมอบใบประกาศเพื่อเป็นกำลังใจให้ด้วย


ขณะเดียวกันยัง รณรงค์ใช้ถุงผ้าเดียวเที่ยวจ่ายตลาด เพราะตามปกติแล้วเมื่อไปซื้อของ แม่ค้าจะใส่ถุงให้ ซื้อมาก ก็ได้ถุงพลาสติกกลับบ้านมาก สุดท้ายแล้วถุงเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นขยะต่อไป

“เราจึงแจกถุงผ้าและรณรงค์ให้ทุกคนใช้ถุงผ้าใบเดียวในการไปจับจ่ายซื้อของ เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ถุงใส่ของ จนถึงตอนนี้ก็ยังมีคนใช้ถุงผ้าไปจ่ายตลาดให้เราเห็นหลายๆ คนอยู่” สายใจ เล่า


ขยะบางส่วนสามารถคัดแยกไปขายสร้างรายได้ให้ครัวเรือน และบางอย่างถูกนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ได้มากมาย ซึ่งในส่วนนี้ ชานุ อินทร์กลิ่น แกนนำด้านไอเดียจากวัสดุเหลือใช้ บอกว่า วัสดุเหลือใช้บางอย่างไม่สามารถเอาไปขายได้ แต่สามารถเอามาทำประโยชน์ได้ ดีกว่าทิ้งไปไม่เกิดประโยชน์ โดยมีการรวมกลุ่มกันทำสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ เช่น โมบายหลอดกกาแฟ เสื้อกันฝน และเอี้ยมกันเปื้อน ซึ่งทำจากถุงผงซักฟอกหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น

ชานุ เล่าต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการคุยกันว่าระหว่างถังขยะกับกระถางดอกไม้อันไหนสวยกว่ากัน ในที่สุดชุมชนก็ช่วยกันนำยางรถยนต์เก่ามาทำเป็นกระถางและปลูกดอกไม้วางไว้ที่หน้าบ้านบริเวณที่เคยวางถังขยะไว้ อย่างเมื่อวันที่ 12 สิงหา ที่ผ่านมา ทางชุมชนก็ปลูกดอกมะลิเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ ตอนนี้หน้าบ้านทุกหลังจะมีกระถางดอกไว้หลายกระถาง คนที่ผ่านไปผ่านมาก็ได้เห็นสิ่งสวยๆ งาม หน้าบ้านสะอาดชวนมอง

“ขยะอันตรายอย่าง หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ กระป๋องสี กระป๋องสเปรย์ ที่ผ่านมาชาวบ้านมักจะทิ้งในถังขยะทั่วไป เราจึงได้คิดโครงการ ขยะแลกไข่ โดยในวันที่มีการแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ชาวบ้านนำขยะอันตรายที่มีอยู่นำมาแลกไข่ไก่กับเราตามความเหมาะสม ขยะที่รับมอบก็จะส่งต่อไปกำจัดที่ อบจ. ตามวิธีการ ถ้าไปบอกให้เขานำมาให้เปล่าๆ ชาวบ้านไม่เอามาให้หรอก แต่ถ้ามีไข่มาแลกกันเขาทำ ถือเป็นแรงจูงใจ ซึ่งก็ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไรมากมาย” ชานุบอก


ผลของการทำโครงการที่ชาวบ้านทุกคนมีส่วนร่วม ทำให้ปริมาณขยะในชุมชนท่านาสามัคคี ค่อยๆ ลดลง ทุกคนช่วยกันดูแลหน้าบ้าน และในบ้านของตัวเอง ให้ปลอดจากขยะ

“ถามว่าสิ้นสุดโครงการไปแล้ว ขยะจะกลับมาเหมือนเดิมมั้ย บอกได้เลยว่า ไม่มีแน่นอน โครงการนี้เป็นเหมือนตัวจุดประกาย เรายังสานต่อ เพราะชุมชนจะน่าอยู่ได้ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะทุกคนเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกัน” สิริลักษณ์ จันทรี ชาวบ้านชุมชนท่านาสามัคคี บอก

ด้วยพลังของผู้นำสภาชุมชนและชาวชุมชนที่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทำให้สามารถจัดการปัญหาขยะได้ผลสำเร็จ และทางอำเภอบ้านตากยกให้ “ชุมชนท่านาสามัคคี” เป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ ได้ทำตามต่อไป


หมายเลขบันทึก: 624228เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2017 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2017 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท