การใช้ Dialectical behavior therapy (DBT) ในผู้ป่วย borderline personality disorder


ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (borderline personality disorder, ย่อ: BPD) หรือเรียก ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบอารมณ์ไม่คงที่, ความผิดปกติทางอารมณ์แรงจัด, หรือประเภทก้ำกึ่งใน ICD-10 เป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพกลุ่มบี (cluster-B) ลักษณะสำคัญของความผิดปกตินี้ คือ รูปแบบหุนหัน (impulsivity) และอารมณ์แสดงออก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและภาพลักษณ์ตน (self image) ไม่มั่นคงอย่างชัดเจน รูปแบบนี้ปรากฏเมื่อวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและเกิดขึ้นผ่านสถานการณ์และบริบทต่าง ๆ

อาการอื่นปกติมีความกลัวการทอดทิ้งอย่างรุนแรงและความโกรธและหงุดหงิดรุนแรง โดยผู้อื่นเข้าใจเหตุผลแห่งความรู้สึกดังกล่าวยาก ผู้ที่เป็น BPD มักสร้างอุดมคติและลดคุณค่า (idealization and devaluation) ผู้อื่น สลับกันระหว่างความเคารพอย่างสูงและความผิดหวังใหญ่หลวง พบพฤติกรรมทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายทั่วไป

Dialectical behavior therapy (DBT) เป็นจิตบำบัดที่ออกแบบเพื่อช่วยให้เปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมที่ไร้ประโยชน์ เช่น การทำร้ายตัวเอง การคิดถึงการฆ่าตัวตาย และการติดสารเสพติดวิธีนี้ช่วยให้ควบคุมอารมณ์และความคิดของตนได้มากขึ้นโดยเรียนรู้เกี่ยวกับชนวนที่จุดปฏิกิริยา และช่วยประเมินว่า จะใช้ทักษะเช่นไรในการรับมือกับลำดับเหตุการณ์ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ DBT สมมุติว่าทุกคนพยายามทำดีที่สุด แต่ว่าไม่ขาดทักษะก็ได้การเสริมแรง (reinforcement) ไม่ทางลบก็ทางบวก ที่รบกวนการดำเนินชีวิตที่ดี

DBT ทุกแบบประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ

  • การรักษาส่วนบุคคล - ผู้บำบัดและคนไข้จะสนทนากันเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในอาทิตย์ที่ผ่านมา (ที่บันทึกลงในบัตรประจำวัน) โดยกล่าวไปตามลำดับความสำคัญในการบำบัด พฤติกรรมทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่อันตรายต่อชีวิต สำคัญสูงสุด อย่างที่สองก็คือพฤติกรรมที่แม้ไม่มีผลลบโดยตรงต่อตนเองหรือผู้อื่น แต่ขัดขวางกระบวนการรักษา ซึ่งเรียกว่าพฤติกรรมรบกวนการรักษา (Therapy interfering behavior) อย่างที่สามก็คือปัญหาคุณภาพชีวิต โดยทำการเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตทั่วไป ในระหว่างการรักษาส่วนบุคคล ผู้บำบัดและคนไข้จะทำการเพื่อเพิ่มการใช้ทักษะ บ่อยครั้ง จะสนทนาเรื่องทักษะและอุปสรรคในการใช้ทักษะเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ
  • การรักษาเป็นกลุ่ม - กลุ่มปกติจะพบกันครั้งหนึ่งต่ออาทิตย์เป็นเวลา 2-2 1/2 ชม. แล้วเรียนรู้การใช้ทักษะโดยเฉพาะต่าง ๆ ที่แบ่งออกเป็น 4 หน่วย คือ (1) สติ (2) ความสัมพันธ์กับผู้อื่น (3) การควบคุมอารมณ์ และ (4) การอดทนต่อความทุกข์
  • กลุ่มผู้บำบัด - รวมผู้บำบัดทุกคนที่ให้ DBT ผู้ประชุมกันทุกอาทิตย์เพื่อให้ความสนับสนุนการบำบัด
  • การฝึกสอนทางโทรศัพท์ - ออกแบบเพื่อช่วยให้คนไข้ใช้ทักษะในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะคุยสั้น ๆ และจำกัดในเรื่องทักษะ

ไม่มีองค์ประกอบใดที่ใช้ต่างหาก เพราะว่าทุกองค์ประกอบสำคัญในการควบคุมไม่ให้แรงกระตุ้นในการฆ่าตัวตายหรือปัญหาทางอารมณ์ต่าง ๆ ขัดขวางวิถีการดำเนินของกลุ่ม ในช่วงที่การรักษาโดยกลุ่มสอนทักษะต่าง ๆ ที่เฉพาะต่อ DBT และช่วยฝึกหัดควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมในสถานการณ์ทางสังคม

ตัวอย่างโปรแกรม

สติ

สติเป็นแนวคิดหลักอย่างหนึ่งของ DBT ซึ่งมองว่าเป็นฐานของทักษะอื่น ๆ ที่สอนใน DBT เพราะช่วยบุคคลให้ยอมรับและอดทนต่ออารมณ์แรงที่อาจรู้สึกเมื่อมีการขัดนิสัย/ขัดใจหรืออยู่ในเหตุการณ์ที่ทำให้อารมณ์เสีย แนวคิดเกี่ยวกับสติและการฝึกสติได้มาจากการปฏิบัติในพุทธศาสนา แม้ว่าที่ใช้ใน DBT จะไม่รวมแนวคิดทางอภิปรัชญา สำหรับ DBT สติเป็นสมรรถภาพในการให้ความใส่ใจ โดยไม่ตัดสินดีชั่ว ต่อขณะปัจจุบัน เป็นเรื่องใช้ชีวิตในปัจจุบัน โดยประสบกับสัมผัสความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองเต็ม ๆ แต่พร้อมกับความเข้าใจ

ทักษะ "อะไรเป็นอะไร"

สังเกต

ใช้ในการสังเกตภายในภายนอกของตนอย่างไม่ตัดสินดีชั่ว ช่วยให้เข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในสถานการณ์หนึ่ง ๆ

DBT แนะนำการฝึกจิตให้เหมือนกระทะเทฟลอน (teflon mind) คือสามารถให้อารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ผ่านไปโดยไม่ติดใจ

อธิบาย

ใช้อธิบายต่อคนอื่นว่าได้สังเกตเห็นอะไร โดยกล่าวอย่างไม่ตัดสินดีชั่ว

มีส่วนร่วม

ใช้เพื่อที่จะให้มีสมาธิ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ตนกำลังทำ

ทักษะ "ทำอย่างไร"

อย่างไม่ตัดสินดีชั่ว

เป็นการอธิบายความจริง โดยไม่คิดถึงว่าอะไร ดี ชั่ว ยุติธรรม ไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นการตัดสินและไม่ใช่เป็นการกล่าวถึงความจริง การไม่ตัดสินดีชั่วช่วยให้สื่อประเด็นต่อคนอื่นอย่างมีประสิทธิผล โดยไม่เพิ่มการตัดสินที่คนอื่นอาจไม่เห็นด้วย

อย่างมีสมาธิ

ใช้ให้มีสมาธิในสิ่ง ๆ เดียว ช่วยรักษาใจไว้ไม่ให้กลายเป็น "ใจเจ้าอารมณ์" โดยไม่มีเป้า

อย่างมีประสิทธิผล

นี่ก็คือการทำอะไรก็ได้ที่ให้ผล เป็นทักษะแบบกว้าง ๆ ที่สามารถใช้ได้กับทักษะอย่างอื่น เพื่อช่วยให้สำเร็จในการใช้ทักษะนั้น ๆ

การอดทนต่อความทุกข์

วิธีการบำบัดสุขภาพจิตหลายวิธีในปัจจุบันมุ่งเปลี่ยนเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ก่อความทุกข์ เช่นความตายของคนรัก การเสียงาน ความเจ็บป่วยหนัก การก่อการร้าย และเหตุการณ์สะเทือนใจอื่น ๆ โดยไม่สนใจเรื่องการยอมรับ การหาความหมาย หรือการอดทนต่อความทุกข์ DBT เน้นการเรียนรู้อดทนต่อความทุกข์อย่างชาญฉลาด

ทักษะการอดทนต่อความทุกข์เป็นพัฒนาการตามธรรมชาติจากการฝึกสติ เป็นความสามารถในการยอมรับ โดยวิธีที่ไม่ประเมินหรือตัดสินทั้งตัวเองทั้งสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากไม่ตัดสิน จึงไม่ได้เห็นชอบหรือยอมแพ้ เป้าหมายก็คือเพื่อที่จะสามารถเข้าใจสถานการณ์ที่ไม่ดีและผลของมัน แทนที่จะถูกครอบงำรุมเร้า หรือต้องซ่อนตัวจากมัน ซึ่งช่วยให้บุคคลตัดสินใจได้ดีว่าจะทำอะไรหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไร แทนที่จะตกอยู่ในปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรง สิ้นหวัง และบ่อยครั้งเป็นภัย ที่เป็นส่วนของ BPD

ใส่ใจเรื่องอื่นตามแนว ACCEPTS

เป็นทักษะที่หันไปสนใจอย่างอื่นชั่วคราวจากอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดี

  • Activities (กิจกรรม) - ทำกิจกรรมดี ๆ ที่ชอบ
  • Contribute (ช่วยส่งเสริม) - ช่วยคนอื่นหรือชุมชนของตน
  • Comparisons (เปรียบเทียบ) - เทียบตัวเองกับคนที่โชคดีน้อยกว่าหรือกับตนเองในสภาพที่แย่กว่า
  • Emotions (อารมณ์อื่น) - ก่อความรู้สึกอย่างอื่นให้ตัวเองโดยใช้อารมณ์ขัน หรือก่อความสุขด้วยกิจกรรมที่ชอบ
  • Push away (ดันออก) - เก็บสถานการณ์นี้ไว้ก่อนสักพักหนึ่ง คิดถึงเรื่องอย่างอื่นก่อนชั่วคราว
  • Thoughts (คิดถึงอย่างอื่น) - บังคับตัวเองให้คิดถึงอย่างอื่น
  • Sensations (รู้สึกอย่างอื่น) - ทำอะไรที่ให้สัมผัสความรู้สึกที่มีกำลังอื่น ๆ เช่น อาบน้ำเย็น ๆ หรือทานขนมที่เผ็ด ๆ

ปลอบตัวเอง

เป็นทักษะที่ประพฤติต่อตัวเองอย่างปลอบใจ อย่างรักษาใจ อย่างมีเมตตา และอย่างนุ่มนวล คือทำอะไรที่ทำให้รู้สึกสบายใจ โดยใช้ในขณะที่ทุกข์หรือวุ่นวายใจ] นักเล่นอเมริกันฟุตบอลชื่อดังคนหนึ่ง (Brandon Marshall) ที่ได้วินิจฉัยว่าเป็น BPD ในปี 2554 เป็นแฟนของ DBT โดยอ้างกิจกรรมเช่น การสวดมนต์และการฟังดนตรีแจ๊สว่ามีส่วนช่วยในการรักษาเขา

ปรับปรุงขณะปัจจุบันด้วย IMPROVE

เป็นทักษะที่ใช้ในขณะที่ทุกข์เพื่อให้ผ่อนคลาย

  • Imagery (จินตนาการ) - ให้จินตนาการถึงสถานการณ์ที่สบาย ๆ ว่าทุกอย่างกำลังเป็นไปด้วยดี หรือถึงสิ่งอื่น ๆ ที่ชอบ
  • Meaning (หาความหมาย) - หาเป้าหมายหรือความหมายในสิ่งที่กำลังรู้สึกอยู่
  • Prayer (สวดมนต์) - สวดถึงสิ่งที่บูชา หรือถ้าไม่เชื่อในศาสนา ให้ท่องมนต์อะไรส่วนตัว
  • Relaxation (ผ่อนคลาย) - ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หายใจลึก ๆ ทำให้ตนรู้สึกสบาย
  • One thing in the moment (อย่างเดียวในขณะนี้) - เพ่งความใส่ใจทั้งหมดในสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ รักษาตนอยู่ในปัจจุบัน
  • Vacation (พักร้อนย่อย ๆ) - พักร้อนจากสิ่งที่ทำอยู่เป็นระยะสั้น ๆ
  • Encouragement (ให้กำลังใจ) - บอกตนว่าสามารถผ่านและรับมือเหตุการณ์นี้ได้ และมันจะช่วยให้เข้มแข็งและลดความอ่อนแอ

ข้อดีและข้อเสีย

คิดถึงข้อดีข้อเสียในการไม่อดทนต่อความทุกข์

ยอมรับแต่โดยดี

อย่าไปสู้ความจริง ยอมรับสถานการณ์ตามที่เป็น

เปลี่ยนใจ

เปลี่ยนใจไปเป็นแบบยอมรับ ใช้กับการยอมรับแต่โดยดี

เต็มใจหรือดื้อ

เต็มใจและเปิดใจทำสิ่งที่มีประสิทธิผล ปล่อยความดื้อดึงที่ขัดขวางการยอมรับสิ่งที่ควรยอมรับ โดยให้มองที่เป้าหมายของตน

การควบคุมอารมณ์

บุคคลที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD) หรือคนที่คิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้งเป็นคนมีอารมณ์รุนแรงและเปลี่ยนง่าย โดยเป็นความโกรธ ความผิดหวังรุนแรง ความซึมเศร้า หรือความวิตกกังวล ซึ่งแสดงว่าคนไข้อาจได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ควบคุมอารมณ์ตนเอง ทักษะควบคุมอารมณ์ที่สอนโดย DBT รวมทั้ง

  • กำหนดและให้ชื่ออารมณ์ความรู้สึก
  • กำหนดอุปสรรคที่จะเปลี่ยนอารมณ์
  • ลดความอ่อนแอต่อ "ใจเจ้าอารมณ์"
  • เพิ่มอารมณ์เชิงบวก
  • รักษาสติใส่ใจที่อารมณ์ปัจจุบัน
  • ทำสิ่งตรงกันข้าม
  • ใช้เทคนิคอดทนต่อความทุกข์

กำหนดอารมณ์

ทักษะนี้ใช้เพื่อเข้าใจว่าตนกำลังมีอารมณ์ความรู้สึกอะไรอยู่

  1. เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์
  2. การตีความเหตุการณ์
  3. ความรู้สึกทางกาย
  4. อากัปกิริยาทางกายที่แสดงความ
  5. ความรู้สึกว่าอยากจะทำอะไร
  6. สิ่งที่ทำ
  7. กำหนดว่าเป็นอารมณ์อะไร อาศัยรายการก่อน ๆ

รักษาสุขภาพด้วย PLEASE

ทักษะนี้เพื่อแก้นิสัยไม่ดีทางสุขภาพที่ทำให้อ่อนแอต่อการมีใจเจ้าอารมณ์ เป็นทักษะที่ช่วยให้มีสุขภาพทางกายดี ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสมีสุขภาพจิตดีมากขึ้น

  • PhysicaL illness (รักษาความป่วยทางกาย) ถ้าป่วยหรือบาดเจ็บ ให้รักษาให้ถูกต้อง
  • Eating (ทานอาหารให้สมดุล) ให้ทานอาหารที่ถูกสุขภาพ และทานแต่พอประมาณ
  • Avoid mood-altering drugs (เลี่ยงยาที่เปลี่ยนอารมณ์) อย่าทานยาที่หมอไม่ได้สั่งหรือยาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และทำให้อารมณ์ไม่แน่นอน
  • Sleep (นอนให้พอดี) อย่านอนน้อยหรือมากเกินไป แนะนำให้นอน 8 ชม. ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ปกติ
  • Exercise (ออกกำลังกาย) ให้ออกกำลังกายในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกดีต่อรูปร่างของตน และช่วยปล่อยสารเอ็นดอร์ฟินในร่างกาย ทำให้รู้สึกสุข

ฝึกความชำนาญ

พยายามทำสิ่งเหล่านี้อย่างละวันเพื่อช่วยสร้างความสามารถและเพิ่มการควบคุม

การกระทำตรงกันข้าม

ทักษะนี้ใช้เมื่อมีอารมณ์ที่ไม่สมเหตุผล ที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้า โดยทำสิ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกในขณะนี้ เป็นเครื่องมือช่วยออกจากอารมณ์ที่ไม่ต้องการหรือไม่สมเหตุผลโดยแทนที่ด้วยอารมณ์ตรงกันข้าม

การแก้ปัญหา

ทักษะนี้ใช้แก้ปัญหาเมื่ออารมณ์ที่เกิดสมเหตุผล โดยใช้กับเทคนิคและทักษะอื่น ๆ

ปล่อยความทุกข์ไป

สังเกตและรู้สึกถึงอารมณ์ ยอมรับมัน แล้วปล่อยไป

ประสิทธิภาพทางสังคม

รูปแบบการตอบสนองต่อบุคคลอื่น ๆ เป็นทักษะที่สอนใน DBT เหมือนกับในวิชาแก้ปัญหาเรื่องการยืนหยัดในจุดยืนของตน (assertiveness) และปัญหาในระหว่างบุคคล ซึ่งรวมกลยุทธ์การขอ/ถามถึงสิ่งที่ตนต้องการ การปฏิเสธ และการรับมือกับความขัดแย้งกับคนอื่น

บุคคลที่เป็นโรค BPD บ่อยครั้งมีทักษะทางสังคมที่ดีโดยทั่วไป แต่มีปัญหาในการประยุกต์ใช้ทักษะเหล่านั้นในสถานการณ์โดยเฉพาะ ๆ คือ บุคคลนั้นอาจจะสามารถบอกลำดับพฤติกรรมที่ได้ผลดีเมื่อเป็นปัญหาของบุคคลอื่น แต่กลับไม่สามารถคิดถึงหรือทำตามลำดับพฤติกรรมที่ว่า เมื่อเป็นเรื่องของตนเอง

หน่วยประสิทธิผลระหว่างบุคคลนี้มุ่งสถานการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น ขอให้คนอื่นทำอะไรบางอย่าง) หรือต้องการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่คนอื่นต้องการ (เช่น การปฏิเสธ) ทักษะที่สอนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะถึงเป้าหมายให้มากที่สุด โดยในขณะเดียวกัน ไม่ทำลายความสัมพันธ์กับหรือความภูมิใจของคนอื่น

ขอ/ถามด้วย DEARMAN

นี่เป็นตัวย่อที่ใช้เพื่อได้สิ่งที่ต้องการเมื่อขอ/ถามคนอื่น

  • Describe (อธิบาย) อธิบายสถานการณ์ของตน
  • Express (บอกความรู้สึก) แสดงว่าทำไมนี่จึงเป็นปัญหาและตัวเองรู้สึกอย่างไร
  • Assert (ยืนยัน) ยืนยันโดยขอ/ถามสิ่งที่ต้องการอย่างชัดเจน
  • Reinforce (เสริม) เสริมจุดยืนของตนโดยแสดงผลที่ดีถ้าได้สิ่งที่ต้องการ
  • Mindful (มีสติ) มีสติในสถานการณ์และให้ตั้งสมาธิจดจ่อในสิ่งที่ต้องการโดยอย่าสนใจเรื่องกวนสมาธิอื่น ๆ
  • Appear (ดูมั่นใจ) ให้ดูมั่นใจแม้ว่าจะไม่รู้สึกมั่นใจ
  • Negotiate (ต่อรอง) ต่อรองกับคนที่ลังเลเพื่อให้ถึงจุดประนีประนอมที่ดีในทางที่ต้องการ

ให้ด้วย GIVE

ทักษะนี้ช่วยรักษาความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับคนร่วมงาน ครอบครัว คู่รัก เป็นต้น ใช้ในการสนทนา

  • Gentle (นิ่มนวล) ใช้ภาษาที่สมควร ไม่ประทุษร้ายทางกายทางวาจา ไม่ดูถูก ไม่พูดประชดนอกจากมั่นใจว่าบุคคลนั้นไม่เป็นไร พูดอย่างสุภาพและไม่ตัดสินดีชั่ว
  • Interested (สนใจ) เมื่อคนที่พูดด้วยกำลังกล่าว ให้แสดงความสนใจต่อสิ่งที่เขาพูด ให้มองตา ถามคำถาม เป็นต้น อย่าใช้มือถือในขณะที่กำลังคุยกับคนอื่น
  • Validate (ให้ความเห็นใจ) แสดงว่าตนเข้าใจสถานการณ์ของคนอื่นและเห็นใจ ซึ่งสามารถแสดงทางกายวาจา เช่นทางสีหน้า
  • Easy Manner (สบาย ๆ) ให้ใจเย็นทำตัวสบาย ๆ ระหว่างคุยกัน ใช้มุกตลก ยิ้ม

รักษาความนับถือ/ความภูมิใจในตนเองด้วย FAST

เป็นทักษะที่ช่วยรักษาความนับถือ/ความภูมิใจในตนเอง ใช้กับทักษะระหว่างบุคคลอื่น ๆ

  • Fair (ยุติธรรม) ยุติธรรมทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
  • Apologies (ขอโทษแต่น้อย) อย่าขอโทษเกินกว่าครั้งหนึ่งสำหรับสิ่งที่ตนทำแล้วไม่ได้ผลดี อย่าขอโทษสำหรับสิ่งที่ทำแล้วได้ผลดี
  • Stick to Your Values (รักษาค่านิยมของตน) ตั้งอยู่ในจุดยืนที่ตนเชื่อ อย่างให้บุคคลอื่นโน้มน้าวให้ทำสิ่งตรงข้ามกับค่านิยมของตน
  • Truthful (ซื่อสัตย์) อย่าโกหก ซึ่งจะกองใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และอย่าทำความสัมพันธ์กับคนอื่นหรือความภูมิใจในตนเองให้เสียหาย

จากการศึกษา การผลของ Dialectical behavior therapy (DBT) ผู้ป่วย borderline personality disorder ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายเพื่อประเมินความสำคัญขององค์ประกอบการฝึก Dialectical behavior therapy (DBT) ซึ่ง DBT เป็นการบำบัดบุคคลที่มีความคิดฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม DBT ประกอบด้วยหลายส่วน รวมทั้งการบำบัด ฝึกทักษะ ฝึกการปรึกษาทางโทรศัพท์ การให้คำปรึกษาจากนักบำบัด ซึ่งจะทำการเปรียบเทียบองค์ประกอบเหล่านี้ในผู้ที่มีความอยากฆ่าตัวตาย พบว่า โปรแกรมที่มี การฝึกทักษะ ร่วมด้วย จะช่วยลดความคิดอยากฆ่าตัวตาย การพยายามฆ่าตัวตาย และยังช่วยเพิ่มเหตุผลในการมีชีวิตอยู่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย



เอกสารอ้างอิง

Linehan, Marsha M., et al. "Dialectical behavior therapy for high suicide risk in individuals with borderline personality disorder: a randomized clinical trial and component analysis." JAMA psychiatry 72.5 (2015): 475-482.

https://th.wikipedia.org/wiki/พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี

หมายเลขบันทึก: 623674เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2017 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2017 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท