เมื่อชุมชนรวมพลังจัดการตนเอง ชุบชีวิตแหล่งโบราณคดี “โป่งตะขบ”



การที่ประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรประจำท้องถิ่นของตน ถือเป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นปึกแผ่น และเข้มแข็งของชุมชนได้ระดับหนึ่ง เพราะถือว่าทุกคนได้ตระหนักถึงสิทธิของตนเอง จึงลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลและรักษาให้คงอยู่ หรือมีการจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน

อย่างที่ บ้านโป่งตะขบ หมู่ 4 ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี หมู่บ้านที่เพิ่งขึ้นได้ 50 กว่าปี เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมขนาดเล็ก อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร มีประชากร 365 คน 97 ครัวเรือน โดยมีวัดโป่งตะขบและโรงเรียนบ้านโป่งตะขบเป็นศูนย์รวมของชุมชน และพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงเรียนนี้เอง คือ แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญในเขตเขตพื้นที่ภาคกลาง


ภายหลังพบโบราณวัตถุกระจายอยู่ตามผิวดินภายในโรงเรียน และภายในหมู่บ้าน ปี 2555 ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้ประสานความร่วมมือกับสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา และภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเริ่มขุดค้นและศึกษาแหล่งโบราณคดี ซึ่งจากการขุดค้นพบโบราณวัตถุมากมาย ทั้ง ภาชนะดินเผา เครื่องมือหินขัด ลูกปัด และโครงกระดูกมนุษย์ คาดว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 3,000 ปี


อย่างไรก็ตามบริเวณที่มีการขุดค้น 3 หลุม ปิดไปแล้ว 1 หลุม เพราะอยู่ในที่ของเอกชน ส่วนอีก 2 หลุมอยู่ภายในโรงเรียนถูกทิ้งเป็นพื้นที่รกร้าง หลังจากโครงการศึกษาแหล่งโบราณคดีได้หยุดชะงักลงในช่วงปลายปี 2555 ทำให้ชุมชนไม่สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ อีกทั้งโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ซึ่งคอยช่วยดูแลแหล่งโบราณคดีในขณะนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะปิดตัวลง เนื่องจากจำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 10 คน และต้องนำนักเรียนไปเรียนร่วมที่โรงเรียนบ้านโป่งเก้ง ทำให้โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ แทบจะถูกปิดตาย ไม่มีคนมาเหลียวมาดู


จำนงค์ เกษมดาย อดีตผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชน เล่าว่า ชุมชนหวั่นว่าแหล่งโบราณคดีจะเสื่อมโทรม ผุพัง ไร้การเหลียวแล จึงได้หาทางออกกับภาคีเครือข่ายในการร่วมกันอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี โดยได้จัดทำพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบขึ้นภายในโรงเรียน เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้น พร้อมทั้งจัดแสดงหลุมที่ได้มีการขุดเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณคดีของคนในชุมชนและผู้สนใจทั่วไป แต่กลับไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร


กระทั่งในปี 2559 ได้มีการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพของชาวบ้านโป่งตะขบ พบว่าส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคไขมันในเส้นเลือด ความดันโลหิต และเบาหวาน ซึ่งสาเหตุมาจากการไม่ออกกำลังกาย เมื่อชุมชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ดังนั้นจึงเริ่มอยากออกกำลังกายมากขึ้น และมองเห็นว่าลานกิจกรรมที่จะออกกำลังกายร่วมกันได้นั้น คือ ลานกิจกรรมบริเวณที่ขุดพบโครงกระดูกภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นลานกิจกรรมเพียงแห่งเดียวของหมู่บ้าน

ดังนั้นจึงได้ขอรับทุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการ “ถ่ายทอดคุณค่าวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อจัดการสุขภาพชุมชนโป่งตะขบ ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี” เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณลานกิจกรรมภายในโรงเรียนให้เหมาะสำหรับการออกกำลังกายและเป็นลานกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของคนในชุมชน และถ่ายทอดความรู้ในการร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ

โดยกิจกรรมจะประกอบด้วย การปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างลานกิจกรรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างนักพัฒนาสุขภาวะชุมชน การระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนผังวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เช่น แหล่งโบราณคดี ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พื้นที่การเกษตร สังคมและเศรษฐกิจ อบรมยุวมัคคุเทศก์เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมและแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ เตรียมพร้อมรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต และฝึกอบรมทำเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัด เพื่อเป็นของที่ระลึกประจำหมู่บ้าน

“นอกเหนือจากชุมชนได้มีลานกิจกรรมได้ใช้ประโยชน์แล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงเรื่องของการถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบได้อีกทางหนึ่ง เพราะหากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับการดูแลหรือไม่มีผู้คนเข้าไปแวะเวียน แหล่งโบราณคดีก็จะรกร้างและเสื่อมโทรมได้” นายจำนงค์ กล่าว


การลุกขึ้นมาจัดการและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีของชาวบ้านโป่งตะขบในครั้งนี้ ยังเป็นการช่วยรักษาโบราณวัตถุ โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบบริเวณดังกล่าว มีลวดลายเฉพาะ พบที่นี้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ในส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์ตอนนี้เป็นเพียงแบบชั่วคราว ซึ่งชาวบ้านจะพยายามประสานของบประมาณ เพื่อจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรต่อไป


ทางด้าน กนกอร เพชรประยูร ครูโรงเรียนบ้านโป่งเก้ง กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันพุธซึ่งเป็นชั่วโมงกิจกรรมชุมนุม ก็จะนำนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 จากทั้ง 2 โรงเรียน มาเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดี โดยประสานผู้นำชุมชนมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ซึ่งเด็กๆ จะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่มาทำกิจกรรม

อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ได้มีคำสั่งยุบโรงเรียนบ้านโป่งตะขบแล้ว โดยให้ไปเรียนร่วมกับโรงเรียนบ้านโป่งเก้ง โดยพื้นที่และอาคารของโรงเรียนได้มอบให้ อบต.วังม่วง เป็นผู้ดูแล เพื่อจัดทำเป็นแหล่งโบราณคดีต่อไป ซึ่งตนคาดหวังให้มีการศึกษาและขุดค้นเพิ่มเติม เพื่อเด็กๆ จะได้มีวิชาความรู้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณคดีใกล้บ้านอีกด้วย

ขณะที่ ด.ญ.ปภาวรินท์ บ้งพรม บอกว่า มาอบรมแล้วได้ความรู้เรื่องวิชาประวัติศาสตร์ ได้รู้ว่าคนสมัยก่อนเขาอยู่ยังไงบ้าง จะนำเอาความรู้ที่ได้จากการอบรมไปเป็นมัคคุเทศก์พาแขกมาเที่ยวชม และเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนต่อ ส่วน ด.ญ.พรพิมล อินทศร บอกว่า จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เพราะเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ และจะนำเอาความรู้ที่ได้จากการอบรมไปเป็นมักคุเทศก์แนะนำแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบแก่นักท่องเที่ยวได้

นี่คือกระบวนการจัดการทรัพยากรชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท