SME สร้างแรงบันดาลใจ



จากชีวิตที่ติดลบสู่เถ้าแก่ใหม่ “คริสปี้คอร์น” เจาะตลาดออนไลน์

วัฏจักรของธุรกิจแม้จะมีขึ้นและลง แต่หากขาดความมุ่งมั่นอดทนยอมแพ้ต่อโชคชะตา และอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาเมื่อใด ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เคยล้มลุกคลุกคลาน และเคยมีหนี้สินท่วมตัวถึง 7.7 ล้านบาท จนเกือบจะฆ่าตัวตายมาแล้ว แต่ชีวิตที่พลิกผันได้ทำให้เขากลับมายืนผงาดอยู่บนเส้นทางธุรกิจขนมได้อีกครั้ง

คริสปี้คอร์น (Krispy corn) หรือขนมคอนเฟลกหลากหลายรสชาติ เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่น จนมียอดขายถล่มทลายในตลาดออนไลน์ เกิดขึ้นจากไอเดียของเด็กหนุ่มไฟแรง “แบงค์” กิตติพงษ์ สุขเคหา ที่มีความฝันอยากจะร่ำรวยเหมือนกับคนอื่น และอยากจะลบคำดูถูกจากการเป็นเด็กแว้น ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ และคิดค้นสูตรขนมคอนเฟลก จนก้าวขึ้นมาเป็นเถ้าแก่ใหม่ได้ในที่สุด

“กิตติพงษ์ สุขเคหา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คริสปี้คอร์น สตอรี่ จำกัด เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเขาเป็นเด็กติดเกม ค่อนข้างเกเร เรียนไม่เก่ง ตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.9-2.06 เท่านั้น ซึ่งความสนใจอยากจะเป็นเจ้าของกิจการเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีอายุได้เพียง 23 ปี จากการจับธุรกิจตัวแรกคือ กล้องวงจรปิด ซึ่งติดตั้งให้รถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) และบีทีเอส บางส่วน รวมทั้งบริษัทต่างๆ แต่ด้วยความที่อายุน้อยและขาดประสบการณ์ทำให้เขาต้องแบกต้นทุนและหมดเงินไปร่วม 7 แสนบาท จนต้องกู้ยืมเงินจากคุณพ่อมา 1 ล้านบาท หลังจากนั้นก็เผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯทำให้ขาดรายได้ จึงหันมาเขียนเว็บไซต์แทน

“ผมเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยหันมาเขียนเว็บไซต์ขึ้นมา จากเป้ายอดขาย 3.6 หมื่นบาทในเดือนแรก ก็ขยับขึ้นมาเป็น 3 แสนบาท และเดือนต่อไปเป็นหลักล้าน ทำให้ภายใน 4-6 เดือนผมสามารถปลดหนี้ได้ และอีก 4 เดือนต่อมาออกรถสปอร์ตมันเร็วมาก ตอนนั้นมีเงินในมือ 5-6 ล้านบาทซื้อรถสปอร์ตคันละ 3-4 ล้านบาท เป็นเรื่องที่หลงระเริงใช้เงินผิดประเภท และพอบริษัทเริ่มโต และได้เอาคำว่าซิสเท็มเข้ามาบริหารงานก็เจอความผิดพลาดทางธุรกิจ โดนพนักงานขายคอร์รัปชั่นไปจนเป็นหนี้ทั้งหมด 7.7 ล้านบาท”

แบงค์ บอกอีกว่า หลังจากที่สิ้นเนื้อประดาตัว กู้เงินแบงก์ไม่ผ่าน ไม่สามารถตามเก็บเงินจากลูกค้าได้ ขณะเดียวกันยังต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนที่ค้างอยู่ให้แก่พนักงาน ในช่วงขาลงนั้นเองเขายังถูกแฟนทิ้ง ขณะที่พ่อกับแม่ของเขาบอกว่าจะไม่รับโทรศัพท์เขาอีกแล้ว หลังจากช่วยเขารอดพ้นจากคดีเช็คเด้งในครั้งนั้น ทำให้เขามองไม่เห็นหนทางออกจนเกือบจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย ถ้าไม่ได้รับไลน์จากเจ้าของโรงงานแอดด้าเข้ามาเตือนสติไว้ว่า “จะมีเด็กสักกี่คนที่อายุเท่านี้แล้วประสบความสำเร็จ” จึงทำให้เขาคิดได้และอยู่สู้ต่อทั้งๆ ที่ในตอนนั้นเหลือเงินติดกระเป๋าอยู่เพียง 40 บาท ซึ่งในเวลานั้นเองที่เขาจะลงไปต้มมาม่าด้านล่าง พลันเหลือบไปเห็นกระปุกขนมคอนเฟลกที่แฟนทำทิ้งไว้ก่อนจะบินหนีไปเกาหลี กินไปกินมาหมดไปครึ่งหนึ่งแล้วเห็นว่าอร่อยเลยโทรไปถามแฟนว่าทำอย่างไร จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจคริสปี้ คอร์นในเวลาต่อมา

“เงินที่นำมาลงทุน ผมได้มาจากแม่ของแฟน หลังจากเล่าเรื่องทั้งหมดให้เขาฟัง ทีแรกให้มา 5 หมื่นบาทเอามาจ่ายค่างวดรถ และควักให้อีก 4 หมื่นบาท รวมเป็น 9 หมื่นบาท ส่วนพ่อกับแม่ของผมรู้ว่าจะฆ่าตัวตายก็ยอมรับโทรศัพท์ผมและช่วยเงินมาหมื่นกว่าบาท โดยในส่วนแม่ของแฟนบอกกับผมว่าให้เอาเงิน 4 หมื่นบาทไปตั้งต้นชีวิตใหม่ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจคริสปี้ คอร์นตั้งแต่นั้นมา ซึ่งผมเอาเงินที่ได้ไปซื้อเตาอบ 1.8 หมื่นบาท ซื้อวัตถุดิบที่แม็คโคร 7,000 บาท และนำเงินสดที่ขายได้แต่ละวันไปซื้อซองฟรอยด์ และใช้เป็นค่าจ้างพนักงานต่างด้าวอีก 1.2 หมื่นบาท“

กิตติพงษ์ บอกว่า ในช่วงเดือนแรกที่วางขายคริสปี้ คอร์น มียอดขายเข้ามาราว 2 แสนบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมียอดขายวันละ 100 ซองเท่านั้น ซึ่งยอมรับว่าไม่คาดคิดว่าคริสปี้ คอร์นจะทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ในเวลาแค่ 1 ปี 7 เดือน เพราะตอนนั้นเหลือเงินอยู่ 40 บาทไม่มีทางที่จะใช้หนี้ 7 ล้านบาทได้เลย แต่ปัจจุบันเขาเหลือหนี้อยู่แค่ 5 แสนก็จะหมดแล้ว โดยการที่ยอดขายคริสปี้ คอร์นเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะเลือกขายสินค้าผ่านออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ต ด้วยมองว่าเป็นวิธีที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและวัยทำงานได้มากที่สุด และใช้เงินลงทุนที่น้อยที่สุด ซึ่งคริสปี้ คอร์นเคยมียอดขายสูงสุดเข้ามาถึงวันละประมาณ 10 กว่าล้านบาท

“ผมเป็นคนโนเนม ชีวิตมันพลิกผัน จริงๆ จุดเริ่มต้นแม้ไม่ได้เกิดจากสตอรี่ แต่เกิดจากตัวขนม แต่ผมรู้จักวิธีการจัดการระบบการโฆษณา ซึ่งเอสเอ็มอีไทยมุ่งแต่การทำ 4Ps ไม่มีใครมุ่งขายโฆษณาเลยคิดสมการขึ้นมาเป็น 4Ps1A ตัว A จริงๆ ของผมหมายถึงโฆษณา แต่ผมเรียกว่าแอดเวิด ไม่ได้เรียกว่าโฆษณา คือผมใช้โฆษณาออนไลน์ในการเอาเงินมาบูทเงิน เช่น ถ้าผมโฆษณาวันละ 1 พันบาทจะต้องมียอดขายวันละ 1 แสนบาท ซึ่งสิ่งที่ผมทำตอนแรกก็ยังไม่ได้บูทโฆษณา ทำไลค์แฟนเพจปกติ"

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจจะประสบความสำเร็จ คริสปี้ คอร์นมียอดขายถล่มทลายเป็นที่รู้จัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจยังมีให้เข้ามาให้แก้ทุกวัน ซึ่งในการรับมือกับปัญหานั้น แบงก์บอกว่าไม่ควรไปเครียดกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะทุกปัญหามีทางออกเพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องค่าขนส่ง หรือโลจิสติกส์ ปรับราคาขึ้น ซึ่งทำให้เขาต้องหยุดส่งสินค้าทั้งประเทศ รวมถึงกำลังการผลิตที่จะทำอย่างไรให้สามารถรองรับออเดอร์ที่เข้ามาได้

“เราโดนขึ้นราคาโลจิสติกส์แบบงงๆ เพราะขายดี ซึ่งรสโยเกิร์ตบลูเบอร์รี่เปิดตัววันแรกทำยอดขายได้ 2 ล้านบาทขายดีที่สุดตั้งแต่ที่เคยทำมา แต่ผมก็ต้องหยุดไป ขณะเดียวกันเมื่อเห็นสินค้าขายดีซัพพลายเออร์ที่ผลิตขึ้นราคา จากกิโลกรัมไม่กี่บาทขึ้นเป็น 3 เท่า ผมรอที่จะผลิตเองได้ก็จะผลิต หลักการแก้ปัญหาผมคืออย่าไปเครียดกับมัน เพราะทุกปัญหามีทางออกแต่ต้องใช้ระยะเวลา ไม่ใช่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ผมมีหนี้ 7 ล้านบาทยังแก้ได้เลย มันอยู่ที่การเจรจา อย่างที่ผมเป็นหนี้จะมีการแบ่งว่าหนี้ก้อนไหนควรจะใช้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่ต้องใช้แบบทันทีทันใด (เช็ค) หนี้ธนาคารถ้าใช้ดอกเบี้ยจะลด และหนี้คนนอกที่รู้จักต่อรองได้ก็ต่อรอง”

“จุดก้าวกระโดดของธุรกิจผมอยู่ที่สตอรี่ และตัวแทนจำหน่าย ซึ่งการริเริ่มสร้างระบบครอบครัวคริสปี้ คอร์น หรือตัวแทนจำหน่ายขึ้นมาหวังเพื่อให้หลายๆ คนได้มีรายได้ ซึ่งตัวแทนธรรมดาทั่วไปเคยขายสูงสุดได้ถึงวันละล้านบาท ตอนนี้มีทั้งหมด 94 ตัวแทนใหญ่เกือบครบ 77 จังหวัด ส่วนตัวแทนรายย่อยมีอยู่ประมาณ 3-4 พันราย”

สำหรับจุดเด่นของคริสปี้ คอร์น อยู่ที่ตัวขนมที่มีความหอม กรอบ อร่อย บรรจุอยู่ในแพ็กเกจกล่องสามเหลี่ยม โดยมียอดขายติดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมาต่อเนื่อง (ในประเภทสินค้าคอนเฟลก) เพราะมียอดสั่งซื้อคอนเฟลกสูงสุดในประเทศไทย และที่สำคัญเขาใช้ตัวเองเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ บอกเรื่องราวผ่านตัวขนม รวมถึงมีการทำการตลาดแบบเข้าถึงและเข้าใจลูกค้า

“คอนเฟลกคาราเมลมีมาอยู่พักหนึ่งแล้ว เพียงแต่ผมนำมาจับใส่ถุงแล้วสร้างให้มันดังขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว และตัวผมเองก็มีสตอรี่ไม่ปิดกั้น ผมเอาทุกอย่างที่ผมทำสำเร็จเล่าสู่คนอื่นเอาไปทำต่อ ขออย่างเดียวอย่าก๊อบปี้ทางตรง หรือเอาสินค้าผมไปวาง ENTER แต่ขอให้ใช้ผมเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งบางคนเรียกผมเป็นไอดอล แฟนเพจผมใกล้จะครบ 3 แสนคนที่ติดตาม บางภาพมีคนไลค์ 4 แสนกว่าไลค์ และมีการทำการตลาดที่เข้าถึงและเข้าใจลูกค้า”

สำหรับเป้าหมายการทำธุรกิจระยะสั้นนั้น เขาบอกว่าอยากจะสร้างโรงงาน โดยตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ราว 200 กว่าล้านบาท แม้ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะยังไม่เห็นความเป็นไปได้ก็ตาม แต่เชื่อว่าจะเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมหลังนำสินค้าลงขายในเซเว่นแล้ว ประกอบกับการกระตุ้นโฆษณาผ่านทีวี รวมไปถึงการจัดแคมเปญใหญ่ที่แจกวันละแสน 30 วัน และแคมเปญช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเชื่อว่าจะทำให้คริสปี้ คอร์นมียอดขายทั้งปีนี้โตตามเป้าที่วางไว้

“ผมใช้วิธีการทำการตลาดทำเพื่อสังคมด้วย สมมุติว่าได้รางวัลจากผม 1 แสนบาท ให้เลือกเลยจะให้ช่วยใครก็ได้ผมให้อีก 2 หมื่นบาท อยากให้ช่วยโรงเรียนนี้ บ้านพักคนชรานี้ ถึงแม้จะไม่ได้จ่ายเป็นล้านเหมือนสินค้าอื่นๆ ใครก็อยากจะมาร่วมกิจกรรมนี้ บางคนซื้อขนมไม่ใช่เพราะขนม เขาซื้อขนมเพราะผม อยากเห็นทุกคนสู้ชีวิต ซึ่งผมยึดคติพจน์ที่ว่าตราบใดยังมีลมหายใจ ตราบนั้นผมจะมีแต่คำว่าไม่ยอมแพ้ นี่คือเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งชีวิตผมไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์แต่มีหนี้หรือติดลบถึง 7 ล้านบาทคือถ้าไม่มีเอสเอ็มอีแบงก์ผมก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีใครที่จะให้โอกาส ที่ผ่านมาผมได้เงินกู้มา 1 ล้านบาทเพื่อมาต่อยอดขยายธุรกิจ”

ส่วนเป้าหมายระยะยาว หนุ่มแบงค์ บอกว่า อยากมียอดขายแตะหลักพันล้านบาท และส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะมองว่าในประเทศไทยวงจรขาขึ้นของธุรกิจนี้อยู่ได้แค่ 5 ปี ซึ่งตอนนี้ธุรกิจอยู่มาแล้วปีกว่า จึงเหลือระยะเวลาอยู่กับประเทศไทยไปได้อีกแค่ 4 ปี ส่วนแบรนด์ใหม่ที่จะตั้งก็อยู่ได้อีก 5 ปี รวมทั้ง 2 แบรนด์จะมีวงจรธุรกิจอยู่ได้ราว 10 ปี ดังนั้น ทำอย่างไรก็ได้ให้มีโรงงานที่มีกำลังการผลิตเยอะๆ เพื่อที่จะส่งออกเพราะจากการทดลองพบว่าต่างประเทศชอบสินค้าของเขามาก

เขาบอกว่า คริสปี้ คอร์นมีแผนบุกตลาดนอกด้วย โดยได้เซ็นสัญญากับนักลงทุนประเทศกัมพูชาไปแล้ว และเป็นความโชคดีที่กาแฟยี่ห้องดาวเป็นผู้กระจายสินค้าให้ในประเทศลาว ส่วนช่องทางจำหน่ายจะเป็นระบบตัวแทนจำหน่ายทั้งหมดอยู่ แล้วแบ่งแยกระบบอย่างชัดเจน อาทิ เซเว่นจะมีเฉพาะรสที่ขายดี 2 รสชาติเท่านั้น ช็อกโกแลตกับคาราเมล แต่ถ้าขายผ่านตัวแทนมีรสชาติทั้งหมด 18 รสชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 2 แบรนด์ และกำลังจะเปิดตัวสินค้าในเร็วๆ นี้ เป็นรสสไปซี่ และรสต้มยำ

ต้องเริ่มต้นจากเล็กไปใหญ่อย่าเอาความฝันใส่ลงมากไป

“แบงค์” กิตติพงษ์ สุขเคหา ในวัย 28 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มต้นจับธุรกิจตัวแรกคือ กล้องวงจรปิด เมื่ออายุเพียง 23 ปี แต่ด้วยความที่ประสบการณ์น้อย และหลงละเลิงจากการใช้เงินที่หามาได้ ตลอดจนเกิดความผิดพลาดในการบริหารธุรกิจ ทำให้มีหนี้ก้อนโตถึง 7.7 ล้านบาท จนเกือบจะฆ่าตัวตาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้ชะตาชีวิตกลับมาพลิกผันอีกครั้ง พร้อมทั้งนำพาธุรกิจคริสปี้ คอร์นออกสู่ตลาดจนเป็นผลสำเร็จ

แบงค์ บอกว่า หลักแนวคิดในการทำธุรกิจของเขา นอกจากยึดหลัก 4P คือ สินค้า โปรโมชั่น ราคาและสถานที่แล้ว แต่ต้องคำนึงถึง A (แอดเวอร์ไทซิ่ง) หรือโฆษณาด้วย เพราะต่อให้สินค้าอาหารหรือขนมอร่อยที่สุดในโลกหรืออร่อยจนบินได้ ถ้าไม่โฆษณาก็จะอร่อยแค่คุณคนเดียว นี่คือ หัวใจหลักในการทำธุรกิจของเขา ซึ่งคริสปี้คอร์นขายเดือนแรกได้ 2 แสนบาท เพราะโฆษณา ถ้าไม่โฆษณาก็ขายไม่ได้ ใครจะไปรู้ว่าขนมเราคืออะไร

ขณะเดียวกัน แบงค์ มองว่า จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอี จะต้องเริ่มต้นจากเล็กไปใหญ่ และอย่าเอาความฝันใส่ลงไปมาก เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ล้มทุกวันนี้ คือการเอาความฝันมาใส่มากเกินไป เช่น อยากจะทำร้านกาแฟร้านหนึ่ง อยากให้ร้านสวยแบบนั้นแบบนี้ เต็มที่เลยลงทุนไป 3 ล้านบาท 5 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้คิดเลยว่ากาแฟขายแก้วละกี่บาท จึงเป็นเรื่องที่เอสเอ็มอีจะต้องกลับมาพิจารณาดูว่ากำไรกว่าจะคืนทุนกี่ปี รวมไปถึงค่าแรงพนักงาน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย

“เราต้องเริ่มทำจากจุดเล็กๆ ค่อยๆ พัฒนาไปจุดใหญ่ๆ แต่ตอนที่อยู่จุดเล็กๆ ให้คิดการใหญ่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ขายดี ตอนนี้ผมอยากจะขายให้ได้ 20 ล้านบาท แต่ยังขายไม่ถึงเลย บอกว่าอีกกี่เดือนจะต้องทำจุดนี้ให้ได้ ประเทศไทยเรียกว่าวัดดวง แต่ฝรั่งเรียกว่าไทม์มิ่ง แต่ในโลกของธุรกิจเรียกว่าจังหวะและโอกาส บางอย่างมันต้องรอจังหวะ”

แบงค์ บอกอีกว่า การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จควรดูแบบอย่างคนที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่อย่าไปก๊อบปี้ นี่คือนโยบายของเขา ซึ่งจะศึกษาหมด เพราะทุกวันนี้ยังไม่เก่ง จบแค่วิศวะ แม้บางคนบอกทำไมทำการตลาดได้เก่งเพราะทำการศึกษาคนที่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นสตีฟ จ็อบส์, คุณตัน อิชิตัน, ต๊อบ เถ้าแก่น้อย ,บิลเกตส์ และอาจารย์วิกรม กรมดิษฐ์ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเขาก็ศึกษาทั้งหมดว่ามีแนวคิดอย่างไร อะไรที่เป็นจุดแนวคิดของเขา

“ผมเองก็เคยพลาด คิดว่าเดือนตุลาคมปีที่แล้วจะต้องโตขึ้น 2 ล้านบาท ผมอัดแคมเปญแจกทองตัวแทนหนึ่งล้านบาท แล้วก็แจกทองกับผู้ซื้อขนมเราด้วยลุ้นชิงโชคทองแจกทุกวันวันละเส้น ยอดตกครับ จุดที่ผมเจ็บเพราะผมติดลบขาดทุนทันที ด้วยค่ามาร์เก็ตติ้งสูงกว่าค่าบริหารจัดการ ผมเอาความฝันใส่เข้าไปแล้วเพ้อเจ้อมากไปหน่อย จึงทำให้ผมต้องเรียนรู้จังหวะและโอกาส พร้อมทั้งเรียนรู้แบบอย่างธุรกิจที่เขาประสบความสำเร็จมาก่อน นักธุรกิจทุกคนจะมียอดขายสูงหรือประสบความสำเร็จได้จะต้องหาจุดสปริงบอร์ดของธุรกิจคุณให้เจอ ถ้าคุณหาเจอแล้ว ปัญหาของคุณต่อไปคือการโกยเงิน และทำอย่างไรก็ได้ให้รองรับยอดขายให้ทัน"

ช่องทางจำหน่ายในปัจจุบันก็เป็นระบบตัวแทนครับ ด้วยระบบ Master Dealer ที่ผมคิดขึ้นมาเองครับ และมีนาคมนี้ จะมีจำหน่ายที่ 7-11 แล้วครับ 2 รส ส่วนถ้าอยากทานรสอื่นๆต้องซื้อผ่านระบบตัวแทนเท่านั้นครับ ร้านค้าที่มีขายทั่วไปก็ผึ่งน้อย เจ้าสัวร์ อื่นๆ ครับ ด้วยการวางแผนสินค้าแยกประเภทกันและกันทำให้ระบบการค้าสมัยใหม่ไม่กระทบกับระบบตัวแทนครับ และยังมีการปรับเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายที่มีศักยภาพมาเป็น Distributor Center เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าให้กับเราครับ เราสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวแทนรายใหญ่ได้สูงถึงเดือนละหลายแสนหลายล้านครับ ด้วยนโยบายว่า “เราจะโตและสู้ไปด้วยกัน” ครับ ผมจึงไม่ทิ้งระบบตัวแทน พร้อมพัฒนาให้มีความพิเศษกว่าการค้าสมัยใหม่เสมอครับ ยกตัวอย่างเช่นรสชาติที่เตรียมไว้ถึง 16 รส สิทธิการค้า แคมเปญสนับสนุนที่ได้มากกว่าระบบการค้าสมัยใหม่ครับ


ที่มา :http://www.taokaemai.com/%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%...

:http://www.komchadluek.net/news/kom-kid/226455

หมายเลขบันทึก: 622304เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2017 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2017 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความมุ่งมั่นของคุณแบงค์เขาสุดยอดจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท