ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ความหมายของสันสกฤต


๑. ความหมายของสันสกฤต

( ขออนุญาตคัดลอกข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงด้านล่าง เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนภาษาสันสกฤตพื้นฐานสำหรับนักศึกษา)

คำว่า สํสฺกฤต (संस्कृत) แปลว่า "กลั่นกรองแล้ว" ส่วนคำว่า สํสฺกฤตาวากฺ (संस्कृतावाक्) จะใช้เพื่อเรียก "ภาษาที่กลั่นกรองแล้ว" ซึ่งเป็นภาษาของชนชั้นพราหมณ์ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย และส่งผลมาถึงอาณาจักรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สันสกฤต : संस्कृता वाक्, สํสฺกฤตา วากฺ; อังกฤษ: Sanskrit) เป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งในภาษากลุ่มอินโด-ยูโรเปียน(หรืออินเดีย-ยุโรป)สาขาย่อยอินโด-อิเรเนียน(อินเดีย-อิหร่าน) และอยู่ในกลุ่มย่อยอินโด-อารยัน(อินเดีย-อารยะ) โดยมีระดับวิวัฒนาการในระดับใกล้เคียงกับภาษาละตินและภาษากรีกเป็นต้น โดยทั่วไปถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว ทว่ายังมีผู้ใช้ภาษาสันสกฤตอยู่บ้างในแวดวงที่จำกัดในประเทศอินเดียโดยมีการคิดคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย ในศาสนาฮินดูเชื่อว่า ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาสื่อที่เทพเจ้าใช้สื่อสารกับมวลมนุษย์ เพื่อถ่ายทอดความรู้แจ้งและปัญญาญาณแก่เหล่าฤษีทั้งหลายแต่ครั้งดึกดำบรรพ์

เมื่อได้ยินคำว่าสันสกฤต หลายคนคงรู้สึกขึ้นมาทันทีว่ายาก แต่ความยากง่ายนั้นเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ อย่าเพิ่งไปคิดว่ายากหรือง่าย ขอให้ทราบแต่ว่ามีการเรียนภาษาสันสกฤตมาช้านานจนปัจจุบันก็ยังมีการเรียนภาษาสันสกฤต และมีผู้เรียนจบปริญญาตรี โท เอก อย่างต่อเนื่อง แต่ภาษาสันสกฤตนั้นเกี่ยวข้องกับคนไทย หรือภาษาไทยสักแค่ไหน หลายท่านอาจนึกไม่ออก

เฉลยให้ว่าสำคัญมาก และเกี่ยวข้องมากๆ พูดสั้นๆ ว่า คำศัพท์ในภาษาไทยนั้นมีคำสันสกฤตอยู่เกือบครึ่งเลยทีเดียว ส่วนชื่อบุคคลชาวไทย เป็นภาษาสันสกฤตน่าจะเกินครึ่ง ลองสำรวจชื่อตนเองและเพื่อนๆ ดู ถ้าไม่แน่ใจลองเปิดพจนานุกรมไทย ท่านจะวงเล็บบอกไว้ แล้วท่านจะตะลึง ว่าภาษาสันสกฤตปนอยู่ในภาษาไทยมากถึงเพียงนี้

อันที่จริง ภาษาสันสกฤตเกี่ยวข้องกับคนไทยมาช้านาน มีการใช้คำสันสกฤตตั้งแต่สมัยโบราณ เริ่มจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็พบคำว่า ศรีอินทราทิตย์ เป็นศัพท์สันสกฤตล้วนๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าจากนิยายสันสกฤต เช่น รามายณะ มหาภารตะ ปัญจตันตระ และอื่นๆ จริงอยู่ ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และพุทธศาสนาในประเทศไทยก็ใช้ภาษาบาลี แต่คำที่ใช้ในการศาสนาเองกลับมีศัพท์สันสกฤต เช่น ธรรม กรรม ศาสนา บาตร ศีล กุศล ภิกษุ ฯลฯ สรุปว่า คนไทยกับภาษาสันสกฤตแยกกันไม่ขาดจริงๆ

ในข้อที่ว่าภาษาสันสกฤตมาจากไหน คงต้องอธิบายยืดยาว ไม่เหมาะที่จะเขียนตรงนี้ ขอเล่าสั้นๆ ว่าภาษาสันสกฤตเป็นภาษาเก่า มีมาก่อนพุทธศาสนา (จึงมีอายุมากกว่า ๒,๕๐๐ ปี) อยู่ในตระกูลที่เรียกว่า อินเดียยุโรป (Indo-European Family) ซึ่งเก่าแก่หลายพันปีก่อน ภาษาในตระกูลนี้มีลักษณะเฉพาะคือ มีการเปลี่ยนเสียงเพื่อบอกความหมาย หรือหน้าที่ของคำ ต่างจากคำในภาษาไทย ไม่มีการเปลี่ยนเสียงแต่อย่างใด. ภาษาในตระกูลนี้ได้แก่ กรีก ละติน เปอร์เซีย เยอรมันโบราณ เป็นต้น

ภาษาสันสกฤต ๓ ชั้น

ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาเก่าแก่ การใช้ภาษาและลักษณะของภาษาแตกต่างไปตามท้องถิ่นและยุคสมัย หากพิจารณาตามลักษณะทางคำศัพท์และไวยากรณ์ อาจแบ่งเป็น ๓ ยุค อย่างคร่าวๆ คือ

๑. ภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit) น่าจะอยู่ราว ๕๐๐-๑๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล
เป็นภาษาที่พบได้ในคัมภีร์ฤคเวท สังหิตา, มันตระในพระเวทต่างๆ รูปไวยากรณ์มีความหลากหลาย ตามสำนัก และท้องถิ่น มีลักษณะเด่นคือการเน้นเสียง (accent) ของคำ และมาลา (Mood) บางอย่างที่ไม่ปรากฏในยุคหลัง ภาษาพระเวท ซึ่งเก่าแก่มาก เป็นภาษาที่ใช้ในวรรณคดีพระเวทรุ่นเก่าที่สุด และภาษาแบบแผน คือช่วงหลังพระเวท สมัยพุทธกาลลงมา ปรากฏในวรรณคดีส่วนใหญ่ที่เรารู้จัก รามายณะและมหาภารตะก็อยู่ในกลุ่มหลังนี้ อย่างไรก็ตามยังมีการแบ่งกลุ่มภาษาสันสกฤตผสม หรือสันสกฤตในพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งปรากฏในสมัยหลัง ภาษาแต่ละแบบนั้นมีคำศัพท์และไวยากรณ์ในแนวทางเดียวกัน แต่แตกต่างในส่วนปลีกย่อย ตำราภาษาสันสกฤตเบื้องต้นจึงเริ่มที่ภาษาสันสกฤตแบบแผน ซึ่งมีไวยากรณ์ค่อนข้างแน่นอนตายตัว

๒. ภาษาสันสกฤตแบบแผน (Classical Sanskrit) อยู่ในช่วงปลายสมัยพระเวทลงมา
ไวยากรณ์มีแบบแผน รัดกุม มีการแต่งไวยากรณ์ภาษาสันสกฤตแบบแผนมากมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่อจัดระเบียบ หรือหารูปแบบที่ชัดเจน คัมภีร์ไวยากรณ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด น่าจะเป็นตำราแปดเล่มของปาณินิ

ด้วยความเป็นระบบระเบียบนี้เอง ภาษาสันสกฤตแบบแผนจึงอาจจะศึกษาเรียนรู้ได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากทุกอย่างเป็นไปตามกฎกติกา (พร้อมกับข้อยกเว้น) ทำให้มีการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือสังเคราะห์ไวยากรณ์อย่างหลากหลาย (การเขียนกฎไวยากรณ์ของภาษายุคอื่นทำได้ยาก และยุ่งยากกว่ามาก)

สำนักเรียนส่วนใหญ่จึงให้เรียนภาษาสันสกฤตแบบแผน ก่อนจะไปเรียนภาษาสันสกฤตแบบอื่น เอกสาร ตำราไวยากรณ์ และพจนานุกรม ภาษาสันสกฤตส่วนใหญ่จะใช้ภาษาสันสกฤตแบบแผนเป็นหลัก

ภาษาสันสกฤตแบบแผน เกิดขึ้นจากการวางกฎเกณฑ์ของภาษาสันสกฤตให้มีแบบแผนที่แน่นอนในสมัยต่อมา โดยนักปราชญ์ชื่อปาณินิตามประวัติเล่าว่าเป็นผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์แคว้นคันธาระราว ๕๗ ปีก่อนพุทธปรินิพพานบางกระแสว่าเกิดราวพ.ศ.๑๔๓ปาณินิได้ศึกษาภาษาในคัมภีร์พระเวทจนสามารถหาหลักเกณฑ์ของภาษานั้นได้ จึงจัดรวบรวมขึ้นเป็นหมวดหมู่ เรียบเรียงเป็นตำราไวยากรณ์ขึ้น ๘ บทให้ชื่อว่าอัษฏาธยายีมีสูตรเป็นกฎเกณฑ์อธิบายโครงสร้างของคำอย่างชัดเจน นักวิชาการสมัยใหม่มีความเห็นว่า วิธีการศึกษาและอธิบายภาษาของปาณินิเป็นวิธีวรรณนา คือศึกษาและอธิบายตามที่ได้สังเกตเห็นจริง มิได้เรียบเรียงขึ้นตามความเชื่อส่วนตัว มิได้เรียบเรียงขึ้นตามหลักปรัชญา คัมภีร์อัษฏาธยายี จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราไวยากรณ์เล่มแรกที่ศึกษาภาษาในแนววิทยาศาสตร์และวิเคราะห์ภาษาได้สมบูรณ์ที่สุด]ความสมบูรณ์ของตำราเล่มนี้ทำให้เกิดความเชื่อในหมู่พราหมณ์ว่า ตำราไวยากรณ์สันสกฤตหรือปาณินิรจนานี้ สำเร็จได้ด้วยอำนาจพระศิวะอย่างไรก็ตาม นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าการวางแบบแผนอย่างเคร่งครัดของปาณินิ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาสันสกฤตต้องกลายเป็นภาษาตายอย่างรวดเร็วก่อนเวลาอันควร เพราะทำให้สันสกฤตกลายเป็นภาษาที่ถูกจำกัดขอบเขต (a fettered language) ด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่เคร่งครัดและสลับซับซ้อน ภาษาสันสกฤตที่ได้ร้บการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ให้ดีขึ้นโดยปาณินินี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เลากิกภาษา" หมายถึงภาษาที่ใช้กับสิ่งที่เป็นไปในทางโลก

๓.ภาษาสันสกฤตผสม (Buddhist Hybrid Sanskrit หรือ Mixed Sanskrit)
พบในราว ๔ ศตวรรษก่อนคริสตกาล โดยมากใช้บันทึกคัมภีร์พุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน มีลักษณะโครงสร้างหลักแบบเดียวกับภาษาสันสกฤตแบบแผน แต่มีรูปแบบปลีกย่อยเพิ่มเติม มีรูปศัพท์หลายรูปที่คล้ายกับบาลี และแตกต่างจากสันสกฤตแบบแผน จนบางครั้งเรียกว่าภาษาสันสกฤตแบบไม่สมบูรณ์ (Broken) เช่น ภิกฺโษสฺ (ของภิกษุรูปหนึ่ง) ในภาษาสันสกฤตแบบแผน (อุ การานต์), แต่ภาษาสันสกฤตผสมอาจใช้ ภิกฺษุสฺย (โดยใช้แนวเทียบกับอะการานต์) เป็นต้น. ภาษาสันสกฤตผสมจึงไม่มีแบบแผนที่ตายตัว วรรณคดีในพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาสันสกฤตแบบแผนก็มี เช่น งานเขียนอัศวโฆษ หรือนาคารชุน

ภาษาสันสกฤตผสม(Buddhist Hybrid Sanskrit or Mixed Sanskrit) เป็นภาษาสันสกฤตที่นักวิชาการบางกลุ่มได้จัดไว้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีความแตกต่างจากภาษาพระเวทและภาษาสันสกฤตแบบแผน (ตันติสันสกฤต) ภาษาสันสกฤตแบบผสมนี้คือภาษาที่ใช้บันทึกวรรณคดีสันสกฤตทางพระพุทธศาสนาทั้งในนิกายสรรวาสติวาทและมหายานภาษาสันสกฤตชนิดนี้คาดว่าเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ นักปราชญ์บางท่านถือว่าเกิดขึ้นร่วมสมัยกับตันติสันสกฤต คือในปลายสมัยพระเวทและต้นของยุคตันติสันสกฤต โดยปรากฏอยู่โดยส่วนมากในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนามหายาน อาทิ พระสูตรเช่นลลิตวิสฺตรลงฺกาวตารสูตฺรปฺรชฺญาปารมิตา สทฺธรฺมปุณฺฑรีกสูตฺรและศาสตร์อันเป็นคำอธิบายหลักพุทธปรัชญาและตรรกวิทยาเช่น มธฺยมิกการิกา อภิธรฺมโกศ มหาปฺรชฺญาปารมิตาศาสฺตฺร มธฺยานฺตานุคมศาสฺตฺร เป็นต้น

ภาษาสันสกฤตแต่ละแบบไม่ได้แยกขาดจากกันเสียทีเดียว และระยะเวลาก็ไม่สามารถระบุได้เด็ดขาด พอจะประมาณได้คร่าวๆ ตามเวลาที่แต่งคัมภีร์ต่างๆ เท่าที่พบและรอดมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น.

อ้างอิง

http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu๒/Article/article_๒๒.htm (๑๕ ก.ค. ๕๙)

http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/mahayana๓๐.htm (๑๕ ก.ค. ๕๙)

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=๑๘๐๐๗ (๑๕ ก.ค. ๕๙)

(อ้างอิงมาจากบล๊อคของ อ.ธวัชชัย ดุ ล ย สุ จ ริ ต https://www.gotoknow.org/blog/sanskrit)

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาสันสกฤต
หมายเลขบันทึก: 621738เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2017 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2017 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท