"ชีววัฏฏะ" -- Life' s circles


ชีวะไม่มีแค่โลกนี้เท่านั้น ยังมีปรโลกด้วย ถ้าเชื่อว่า มีชาติเดียว ก็อย่าหวังสวรรค์ชีวิตหลังตาย

ชีววัฏฏะ : การโคจรของชีวิตในภพ ภูมิ

--------------

๑. วัฏฏะในกิจกรรมประจำวัน
๒. วัฏฏะสงสาร
๓. ชีววัฏฏะ
๔. วิธีพ้นโคจรวิถีวัฏฏะสงสาร


---------------------


๑. วัฏฏะในกิจกรรมประจำวัน ในชีวิตของสัตว์โลกมีกิจกรรมที่จะต้องทำอยู่ประจำ ซึ่งต้องเวียนวน เวียนว่ายอยู่ในวิถีชีวิตของสัตว์ มนุษย์ก็เช่นกัน ก็มีกิจกรรมในการดำรงชีวิตอยู่ประจำเช่นกัน เช่น การตื่นนอน ทำกิจกรรม การกิน การขับถ่าย การทำงาน การเดินทาง หรือเจ็บป่วย หรือประสบกับความสุข ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมนุษย์มีกายเป็นพื้นฐาน ในการสร้างกรรม (การกระทำ) ในการบริหารจัดการ และการดูแลตัวเอง จึงเกิดผลหรือวิบากผลตามมาด้วย นอกจากนั้น ยังมีจิต ซึ่งเป็นฐานให้เกิดการคิด ความอยาก ความพอใจ ในการดำรงชีวิต ซึ่งจะทำให้เกิดความสุข ความทุกข์ สุขๆ ทุกข์ๆ อยากๆ เบื่อๆ จนเวียนว่ายอยู่ในกรอบของกายและจิต ในวิถีการดำรงชีวิตของสัตว์โลกเช่นนี้

ดังนั้น วิถีชีวิตประจำวัน จึงเป็นไปตามกรอบของเวลา เงื่อนไข กรรม สภาพตามสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องเป็นไปตามเส้นทางชีวิตอย่างซ้ำๆ ซากๆ จนกลายเป็นวัฏฏะจักร ในแต่ละวัน จนสิ้นชีวิต นี่คือ ชีววัฏฏะในเบื้องต้น

๒. วัฏฏะสงสาร ทีนี้ การดำรงชีวิต เพื่อให้ตนเองอยู่รอดนั้น จนกระทั้งสิ้นลมไปนั้น มันไม่ได้จบลงตามชีวิตด้วย มันยังคงดำเนินต่อไป แต่ตาเราไม่เห็น เพราะชีวิต มีเยื่อใย มีกลไกเบื้องหลังลึกๆ แต่มนุษย์ถือเอา การตายทางร่างกายว่า จบสิ้นแล้วแห่งชีวิต แท้จริงแล้ว ชีวิตเบื้องหลังจากการตายมีอะไรซ่อนอยู่มาก การตายจึงเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น จะเป็นเช่นไรมนุษย์ไม่ก็อยากรับรู้หรือไม่อยากสนใจ เพราะคิดว่า ไม่สามารถรื้อฟื้นได้ จึงยอมรับว่า การสิ้นสุดของวงจรชีวิตจบลงที่ความตาย

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องชีวิต ที่ครอบคลุมตั้งแต่การเกิด หลังเกิด การตาย และหลังตายด้วย ตลอดถึงการดับสิ้นวัฏฏะสงสาร การไม่เกิดอีกต่อไปหรือการบรรลุนิพพาน ถ้ายังไม่บรรลุนิพพาน ชีวิตก็ไม่อาจหนีทุกข์ได้ คือ การเวียนว่ายตายเกิดอีก อนึ่ง ไม่บุคคล ที่ไม่ยอมเชื่อตามพระพุทธศาสนา ถ้าตัวเองตายไป อยากเกิดไปที่ไหน อยากไปที่ไหน คำตอบคือ สวรรค์ ซึ่งไม่อาจรับประกันได้ว่าจะได้ไป เพราะไม่มีหลักประกันในการทำความดีในปัจจุบัน เนื่องจากตนเองไม่เชื่อในปัจจุบัน จึงไม่มีกรรมดี ที่จะสนับสนุนให้ไปเกิดบนสวรรค์ได้

พระพุทธศาสนาวางหลักไว้ดังนี้ บุคคลที่เกิดมาเป็นมนุษย์ถือว่า เขามาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลาง กล่าวคือ มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเลือกว่า จะทำดี หรือทำชั่ว หรือไม่ทำอะไรก็ได้ ตามปรารถนา เมื่อเกิดมาแล้วได้เรียนรู้ในคำสอนของศาสนา ที่สอนให้สะสมกรรมดี เพื่อเป็นผลสนองในอนาคต เขาก็จะทำดีตามกำลังปัญญาของเขา เพื่อเกิดเป็นมนุษย์ หรือเพื่อเกิดในสวรรค์ หรือเกิดในชั้นพรหม ตรงกันข้าม ผู้ไม่รู้ ไม่สนใจศาสนาสอนอะไร ก็จะทำตามสิทธิและตามใจตน ตามปรารถนา ตามแรงกระตุ้นตามสัญชาตญาณ จนจิตใจตกต่ำ ไม่รู้จักการพัฒนาไปสู่ที่สูง หรือหลุดโลกียวิถี เมื่อตายไป เขาไม่ต้องการนรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน แต่ผลกรรมที่เขาทำนั้น มันเป็นผลรับรองอนาคตของเขาเอง ไม่มีใครสาปแช่งเขา

แต่พระพุทธศาสนา ก็ไม่ได้สอนแค่ระดับทุคติภูมิคือ อบาย ๔ ภูมิ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ภูมิ พรหม ๒๐ ภูมินี้เท่านั้น ยังสอนให้พ้นวัฏฏะสงสาร ในเส้นทางดังกล่าวนี้ด้วย กล่าวคือ สอนให้หลุดพ้นวัฏฏะการเวียนว่าย ตาย-เกิดในภพ ภูมิของสัตว์โลก ที่ท่องเที่ยวอยู่ในชีวิตนี้ การเกิด การตาย การเป็นโน่น เป็นนั่น สวรรค์ หรือนรก ก็ยังไม่อาจก้าวพ้นวัฏฏะนี้ได้เลย เส้นทางที่พระพุทธเจ้าเน้นคือ หลุดพ้นทุกข์ (นิพพาน) แต่สัตว์โลก ไม่ใส่ใจ ไม่เชื่ออนาคตของภพภูมิตัวเองที่ดี ย่อมจะต้องว่ายวนในโอฆะสงสารนี้เรื่อยไป

ที่จริงแนวคำสอนนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ ที่สอนเรื่อง “อัตตา” กล่าวคือ พระพรหมได้สร้างสรรพสิ่งขึ้นมา และสร้างมนุษย์มาจากลมหายใจ แล้วใส่เชื้อความเป็นเป็นพรหมัน (ภาวะของพรหม) ไว้ที่ชีวิตมนุษย์ เรียกว่า “อัตตามัน” โดยฝังไว้ใน “ชีวาตมัน” (วิญญาณแห่งชีวิต) เมื่อวิญญาณนี้ มาสู่โลก ก็ถูกโลกห่อหุ้มด้วยอวิทยาคือ ความไม่รู้ปิดทางกลับไปสู่พรหมัน จึงทำให้ชีวิต วิญญาณของมนุษย์ เมื่อตายลง วิญญาณหรือัตตานี้ ก็จะไปเกิดเป็นสิ่งต่างๆคือ หิน ดิน ทราย ต้นไม้ สัตว์ มนุษย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับแรงกรรมที่ตนเองทำไว้เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ หากทำชั่วก็ไปเกิดเป็นสสารวัตถุ ถ้าทำดีสูงขึ้นมา ก็จะไปเกิดเป็นสัตว์ สูงอีกก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์ จนกว่าจะหาทางบำเพ็ญเพียร เพื่อเข้าสู่วิโมกข์ แล้วจิตวิญญาณหรือ อัตตามัน ก็จะกลับเข้าสู่อาณาจักรเดิมของตนคือ “พรหมัน” (Absolute truth)

ดังนั้น คำว่า วัฏฏะสางสาร ก็จะสิ้นสุดไปด้วย นี่คือ คติในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ที่มีอิทธิพลต่อวิถีความเชื่อในชาวไทย อย่างไรก็ตาม นี่คือ เรื่อง แก่นแท้ของเป้าหมายศาสนา แต่มันก็ดูสูงเกินไปที่ปุถุชนที่สามารถเข้าถึง เข้าใจได้ เนื่องจากว่า มันลึกซึ้ง และดูเหมือนจะเกินไปสำหรับชาวบ้าน ผู้หวังพ้นวัฏฏะตรงนี้ ย่อมจะต้องเชื่องมั่นในศาสนาและเชื่อมั่นในตัวเอง อย่าดูถูกตนเอง

๓. ชีววัฏฏะ ถ้าคิดว่า หลักการ อุดมคติ ที่กล่าวไว้นั้น ยากและลึกซึ้ง ก็มาดูว่า ในวิถีชีวิตของมนุษย์มีระบบวัฏฏะสงสารแอบแฝงอยู่หรือไม่ กฎของวัฏฏะมีอยู่ทุกที่ และมีอิทธิพลต่อกระบวนการเกิด การดำเนินชีวิตอยู่ทุกขณะกล่าวคือ วิถีชีวิตผูกพันกับกฎนี้ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งตาย ตั้งแต่ตื่นนอน กระทั่งหลับนอน ทุกๆ วัน ซึ่งพอจะสรุปให้เห็นดังนี้

๓.๑) ชีวิตของมนุษย์เกี่ยวข้องกับวัน เดือน ปี อยู่ตลอด ในเวลา ๑ วัน มีวัฏฏะเกิดขึ้นคือ กลางวัน กลางคืน เช้า เที่ยง เย็น ค่ำ ดึก วนเวียนอยู่เช่นนี้ใน ๑ วัน จากวันก็เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี ซึ่งจะเวียนซ้ำๆ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ เบื้องหลังของปรากฏการณ์นี้คือ การโคจรของโลก เป็นหลัก นอกจากนี้ เราก็พบดวงเดือนวนไปมาเป็น วันแรม วันขึ้น อยู่ประจำเช่นนี้ มาหลายล้านปีแล้ว ส่วนชีวิตของมนุษย์ หรือสัตว์โลก มีเวลาวนเวียนเป็นภพ เป็นชาติ ซึ่งอาจกินเวลา ต่างกันไป เรียกวัฏฏะนี้ว่า “วัฏฏะกาล”

๓.๒) ชีวิตของสัตว์ และมนุษย์ ถือกำเนิดมาจากกฎหลักของโลกเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ อาศัยธาตุกำเนิดคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และธาตุอื่นๆ และกฎอื่นๆ ให้เป็นไป วิถีชีวิตของสัตว์และมนุษย์ จึงถูกวัฏฏะในร่างกายทำงานประจำ กล่าวคือ หัวใจ ปอด ลมหายใจ กระแสเลือด การขับถ่าย จึงเกิดการหมุนเวียน ทำงานอย่างซ้ำๆ ทุกขณะเวลา ร่างกายจึงจะทรงอยู่ได้ ถ้าร่างกาย ไม่ทำงานหรือ ไม่ดำรงวัฏฏะนี้ ชีวิต ร่างกาย ก็ไม่อาจดำเนินอยู่ได้ ก็ต้องแตกสลายไปในที่สุด เรียกวัฏฏะนี้ว่า “วัฏฏะกาย”

๓.๓) มีชีวิตขึ้นมา สิ่งที่ตามมาคือ การกระทำหรือกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากว่า กรรมคือ กลไกให้ชีวิตดำเนินไป เพื่อความอยู่รอด การกระทำในชีวิต มี ๒ มิติคือ มิติข้างใน เช่น การทำงานงานระบบประสาท ระบบหัวใจ ระบบเลือด ลมหายใจ การคิด อารมณ์ ความรู้สึก ถือว่า เป็นกรรมภายในกาย อีกมิติคือ มิติการกระทำ การแสดงออกทางร่างกายด้วยร่างกาย ลำตัว ขา แขน ศีรษะ การพูด ที่มีผลในเชิงรูปธรรม หรือประจักษ์ทางสายตาถือว่า กรรมภายนอก กรรมทั้งสอง เป็นกรรมของกายที่แสดงผลออกมา ที่ชัดเจน เช่น ทำงาน มีผลลัพธ์คือ ผลงาน การวิ่ง ผลคือ การเหน็ดเหนื่อย การกิน ผลคือ อิ่ม เป็นต้น กรรมเหล่านี้ ในวิถีชีวิตแสดงออกทุกวัน ทุกเวลาและซ้ำๆ กัน จึงเรียกว่า “วัฏฏะกรรม”

๓.๔) ขึ้นชื่อว่า ชีวิต ไม่ว่า พืช สัตว์ มนุษย์ ล้วนมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ กินอาหาร พักผ่อน ผสมพันธุ์ ขับถ่าย และต่อสู้ ไม่เช่นนั้น ชีวิตนั้น ก็ไม่มีการเติบโตหรืออยู่รอด กิจกรรมหลักของสัตว์คือ กิน ในขณะมนุษย์ มีกิจกรรมทั้งหมด นอกจากนั้น ยังมีอุดมคติ หรือความคิด ความอยากอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ขอบข่ายของมนุษย์มีมากกว่า สัตว์ และกินพื้นที่มากขึ้นด้วย เช่น พื้นที่ทำมาหากิน จนสัตว์หมดที่อยู่ ที่ล่วงเลยไปกว่าสัตว์อีกอย่างคือ การเสพกามของมนุษย์ ไม่มีเวลากลางวัน กลางคืน ไม่รู้จักพอ การนอนก็เช่นกัน พฤติกรรมเหล่านี้ พืช สัตว์ และมนุษย์กระทำอยู่ประจำจนกระทั่งแก่ชรา และที่สุดสิ้นชีวิตไป อาการวัฏฏะแบบนี้เรียกว่า “วัฏฏะบท”

๓.๕) เมื่อดำรงชีวิตอยู่ได้ มั่นคงแล้ว จุดหมายปลายทางคือ ความสุข ความสบาย ถือว่า เป็นผลของกรรม การต่อสู่ในชีวิต แต่กว่าจะได้ความสุขมานั้น ต้องผ่านการกระทำ การลงทุนจนเหน็ดเหนื่อย จึงจะได้ผลที่ว่านี้ เมื่อกายมีอยู่กิน กายก็สุขสบาย ใจก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ขันธ์นี้ ไม่มีทางที่จะถมให้เต็ม เมื่อกายอิ่ม จากนั้นก็จะหิวอีก เช่นเดียวกับใจ ที่อยากโน่น อยากนี่ ไม่หยุด จึงวนเวียนอยู่ในเวทนา ๕คือ สุข ทุกข์ ดีใจ ไม่พอใจ เฉยๆ เช่น ในโลกโชเชียล เราพอใจกับการโพสต์ กับการกดไลค์ ผลทั้งหมดนี้ ลองสำรวจดูได้ว่า มีอะไรใหม่หรือไม่ มันจึงซ้ำๆ ซากๆ ในอารมณ์เหล่านี้ประจำในชีวิต จึงเรียกว่า “วัฏฏะผล”

๓.๖) ในชีวิตเราถือว่า จิต คือ แก่นของชีวิต เพราะมันคือ แหล่งเก็บเอาประสบการณ์ไว้ เป็นแหล่งเสวยผล บางทีมันก็แสดงออกเช่นกัน ซึ่งทำหน้าที่ สอง อย่างไปพร้อมๆกันคือ รับรู้และรับผลไปด้วย เช่น การคิด การจินตนาการ ความอยาก ความฝัน จากแรงกระตุ้นสิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน หรือจากข้อมูลในตัวเอง จากนั้น ก็เกิดแรงกระทำ เพื่อให้บรรลุผล ซึ่งในชีวิตของเรา ในแต่ละวันมีกระแสจิต ที่คิด (เจตสิก) เช่นนี้ ซ้ำๆ ซากๆ ในสายพระอภิธรรมกล่าวว่า จิตนี้คิดในวินาทีหลายร้อยๆเรื่อง ถ้าเป็นนาที จะมากขนาดไหน หรือชั่วโมงละ เจ็ดวัน เป็นเดือน เป็นปี ความคิด ปริมาณการคิด การฝัน มันจะมากเท่าไหร่ นี่คือ ปริมาณที่จิตแสดงกิจกรรมที่เป็นวัฏฏะ เนื่องจาก เมื่อคิดแล้ว ตกลงอยู่ในกฎพระไตรลักษณ์คือ เกิด ตั้งอยู่ และสิ้นไป ปรากฏการณ์เช่นนี้ เรียกว่า “วัฏฏะจิต”

๓.๗) การแสดงออก หรือปรากฏการณ์เช่นนี้ จะต้องมีสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนเป็นวัฏฏะเช่นนี้ ในกาย ในจิต ของมนุษย์เป็นแน่แท้ ธรรมที่เป็นอกุศล ที่เป็นสาเหตุให้เกิดเป็นวัฏฏะคือ กิเลส กรรม และวิบาก กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง จนมืดมัว ไม่รู้จริง กิเลสที่เป็นตัวหลักๆคือ โลภ โกรธ โมหะ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ซึ่งกิเลสเหล่านี้ จะไปสร้างให้ดวงจิตมืดมน มัวหมอง จนไม่รู้ความจริงของชีวิต จึงทำให้จิต ไม่เกิดปัญญา จึงเกิดผลไปสู่การกระทำที่ผิดๆ จึงไม่อาจแก้เส้นทางเดินซ้ำๆ ได้ ที่สุดก็ตกในวัฏฏะคือ วิบากผล เช่น การเกิด การเกิด เป็นเหตุให้เกิดแก่ เจ็บป่วย และตาย วนเวียนเป็นวงกลมในภพ ภูมิต่างๆ ที่กล่าวแล้ว อาการนี้เรียกว่า “วัฏฏะธรรม”

๓.๘) ที่สุดท้าย ที่เราจะพบในกาลใหญ่ ที่มองกันเป็นชาติ เป็นภพ เป็นภูมิคือ การเกิด การตาย กลายเป็นภพ ๑ ภพ ๑ ชาติ เมื่อสิ้นภพ สิ้นชาตินั้นๆ ก็จะไปเกิดไปภพ ภูมิต่างๆ ซึ่งไม่จบสิ้น ภพที่ว่านี้ สามารถมองเห็นมหาภพใหญ่ ในจุลภพได้ กล่าวคือ จิตที่เกิดแห่งจุลภพ ที่แสดงออกในแต่ขณะวิถี ที่เกิด (ความคิด ความอยาก) ขึ้น แล้วสิ้นสุดลง แล้วเกิดใหม่ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี มันได้สะสมภพ ชาติ เอาไว้ในห้วงจิตนี้ ที่จะสะท้อนไปถึงมหาภพ คือ ภพ ชาติ ใหญ่ของกาย แล้วเกิด ตายเช่นนี้ ไปตามภพภูมิต่างๆ จนกลายเป็นกับดักของสัตว์โลก ที่เรียกว่า “วัฏฏะสงสาร”

ดังนั้น เราอาจเห็นชัดเจนแล้วว่า วัฏฏะในวิถีชีวิตของเรา แต่ละคน มีกันครบทุกภพ ทุกภูมิ ทุกเชื้อชาติ แม้ว่าเขาไม่เชื่อในคติทัศน์ของศาสนาพุทธก็ตาม นี่คือ กฎชีววิทยา และกฎจิตวิทยาในเชิงกาลภพ กาลชาติ ที่พวกเราทั้งหมด เป็นในฐานะสัตว์โลก มีเกิด มีตาย เหมือนกัน หากใครจะพินิจอย่างถี่ถ้วนด้วยตัวเอง ก็จงสำรวจในแต่ละวัน แต่ละขณะของกาย และจิต ก็จะเข้าใจปรากฏการณ์นี้เอง

๔. วิธีพ้นโคจรวิถีวัฏฏะสงสาร เมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้ว อาจเห็นร่องรอยหรือพอจับช่องทางของมันแล้ว คำถามที่เราจะต้องแสดงออกหรือ แสดงท่าทีต่อการเกิด การตาย ภพและภูมิ ของชีวิตในอนาคตหรือปรโลกหน้า ถ้ายังเชื่อว่า ชีวิตเป็นดั่งสำนักจารวาก สำนักลัทธิบริโภค หรือสำนักสสารนิยมละก็ ชีวิตท่านก็จะไม่มีวันพ้นวงจรของวัฏฏะสงสารนี้อย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้เห็น เข้าใจ และตื่นตัว ที่จะหาทางหลบหลีก หรือไม่อยากจะเดินในเส้นทางในวัฏฏะชีวิตนี้ก็ต้องสนใจวิธีการหรือวิธีทางที่จะพ้นพันธนาการของวัฏฏะนี้ได้อย่างไร

พระพุทธศาสนาคือ ศาสนาที่สอนเรื่อง เพื่อประโยชน์ให้สัตว์โลก หลุดพ้นวงจรวัฏฏะสงสาร ที่จริงศาสนาพราหมณ์ได้พยายามหาทางที่เข้าสู่พรหมันเดิม มาก่อนศาสนาพุทธ แต่ศาสนาพราหมณ์ยังคงติดในอำนาจของ “เทพเจ้า” อยู่ คือ ยังอาศัยแรงดลใจ หรือการบวงสรวงเอาประโยชน์ตนคือ เข้าถึงพรหมัน นั่นเป็นการขอ การอ้อนวอนนั่นเอง แต่สำหรับศาสนาพุทธ ไม่ได้อิงอำนาจจากพระเจ้า แต่อาศัยสติ ปัญญาญาณ อาศัยความอดทน ความเพียร ของมนุษย์เอง เพื่อตัวเอง เพื่อคนอื่นด้วย

ฉะนั้น หลักในการข้ามพ้นวัฏฏะสงสารตามพุทธุดมคติคือ ๑) ศึกษาหลักคำสอน ที่เป็นแก่นเพื่อความหลุดพ้นวัฏฏะสงสารให้เข้าใจก่อน ๒) รักษาศีล ทำสมาธิ อบรมภาวนาให้มาก ๓) ลงมือปฏิบัติในขั้นสมถะ และวิปัสสนาให้จริงจัง ๔) ฝึกให้เกิดปัญญาญาณ เพราะปัญญาคือ กลไกสำคัญที่จะนำทางให้จิตเห็นทางหลุดพ้น ๕) รู้ชีวิต เข้าใจทุกข์ อริยะสัจ ๔

อนึ่ง ท่านผู้รู้เปรียบเทียบไว้ว่า ศีลนั้น ตัดกิ่งไม้กิเลสได้ สมาธิ สามารถตัดลำต้นของกิเลสได้ และปัญญา สามารถถอนราก ถอนโคนของตัณหา อวิชชาได้ จะจริงแค่ไหนหรือเป็นผลหรือไม่ ก็ต้องลองทดสอบทำกันดู ถ้าไม่อยากเกิดมาในรูปแบบวัฏฏะชีวะอีกต่อไป ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๕๓๖ ว่า “สัตว์ทั้งหลายพากันเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏฏะสงสาร ตลอดเวลา หลายหมื่น หลานแสนชาติ เพราะไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔”

คำสำคัญ (Tags): #ชีวะ#วัฏฏะ
หมายเลขบันทึก: 621417เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2017 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2017 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท