กำเนิดภูมิรัฐศาสตร์สำนักเยอรมัน (The origin of German School of Geopolitics) ตอนที่ 1: ว่าด้วยรีลโปลิติค


(ข้อเขียนนี้จะแบ่งออกเป็นสามตอน ตอนแรกจะพูดถึงแนวคิดที่เรียกว่า "รีลโปลิติค" ตอนต่อไปจะพูดถึงแนวคิด "ชีวภูมิ" และตอนสุดท้ายจะพูดถึงการสังเคราะห์แนวคิดทั้งหมดโดยเฮาส์โฮเฟอร์ให้เป็น ภูมิรัฐศาสตร์สำนักเยอรมัน และการนำไปใช้ในช่วงสงครามของนาซีเยอรมันจนสิ้นสุดสงคราม)

...


อันที่จริง เซอร์ ฮาลฟอร์ด แม็คคินเดอร์ ไม่ได้เป็นคนคิดคำว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” เป็นคนแรก หากแต่เป็น รูดอล์ฟ ชีเลียน (Rudolf Kjellén) (13 มิถุนายน 1864 - 14 พฤศจิกายน 1922) ครูสอนรัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยอุปซอลา (The University of Uppsala)ในสวีเดน เป็นคนใช้คำนี้ (geopolitik) เป็นคนแรกในการบรรยายสาธารณะเมื่อปี ค.ศ. 1899 และภายหลังขยายแนวคิดนี้ขึ้นเป็นบทความ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภูมิศาสตร์สวีเดน” (Inledning till Sveriges Geografi หรือ Introduction to Geography of Sweden) ในปีถัดมา ตัวชีเลียนเองได้รับอิทธิพลมาจาก ฟรีดิช รัทเซิล (Friedric Ratzel) (30 สิงหาคม 1844 - 9 สิงหาคม 1904) นักภูมิศาสตร์และนักชาติพันธุ์วิทยาชาวเยอรมันอยู่มาก และเป็นรัทเซิลผู้นี้เองที่เป็นคนสร้างแนวคิด “ชีวภูมิ” (Lebensraum) “เลเบนสเราม์” หรือ “living space” ซึ่งตัวรัทเซิลจะใช้แนวคิด “ชีวภูมิ” นี้ สร้างมโนทัศน์ “ภูมิรัฐศาสตร์” ของเขาขึ้นมาแล้วจะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อสำนักคิดเยอรมันที่นำโดย นายพล คาร์ล เฮาส์โฮเฟอร์ (Karl Haushofer) (27 สิงหาคม 1869 - 10 มีนาคม 1946) ในภายหลัง และเป็นเฮาส์โฮเฟอร์ผู้นี้เองที่จะสังเคราะห์แนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ที่เขารับมาจาก ชีเลียน และ รัทเซิล ซึ่งมีไอเดียของ “ชีวภูมิ” เป็นพื้นฐาน เข้ากับแนวคิดเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ของแม็คคินเดอร์ จากนั้นด้วยความเชื่อมโยงผ่านศิษย์คนหนึ่งของเขา รูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess) (26 เมษายน 1894 - 17 สิงหาคม 1987) ผู้ซึ่งต่อมาจะได้เป็นรองผู้นำพรรคนาซี แนวคิดภูมิรัฐศาสตร์สำนักเยอรมันของเฮาส์โฮเฟอร์ จะถูกส่งผ่านไปยังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี และกลายเป็นฐานคิดของนโยบายรุกรานและการขยายตัวของนาซีเยอรมันในภายหลัง



Genealogy ของภูมิรัฐศาสตร์ ที่มา: http://www.colorado.edu/geography/courses/geog_471... ดูเพิ่มเติมใน https://www.unibw.de/praes/internationales-en/inco...



แต่นอกเหนือจาก แนวคิด “ชีวภูมิ” และ แนวคิดภูมิรัฐศาสตร์สำนัก “แองโกล-อเมริกัน” ของแม็คคินเดอร์แล้ว เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจบริบทและอีกแนวคิดหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งจะกำหนดบุคลิกของเยอรมันสมัยก่อนสงครามโลกเสียก่อน นั่นก็คือแนวคิดเรื่อง “รีลโปลิติค” (Realpolitik) บางคนอาจแปลความหมายของคำนี้ว่า “การเมืองอันจริงแท้” บ้าง หรือ “การเมืองแบบสัจจนิยม” บ้าง แต่ผมเห็นว่า “รีลโปลิติค” นี้มีความหมายแน่นอนของมันอยู่ ซึ่งจะแตกต่างออกไปจากคำว่า “realism” ผมจึงขอใช้ทับศัพท์ และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ความหมายเดียวกับคำว่า “realpolitik” (สะกดด้วยตัว ‘r’ ตัวเล็ก, ผมขอใช้ทับศัพท์คำนี้ด้วยเช่นกัน ว่า “รีลโปลิติก” แต่จะสะกดด้วยตัว ‘ก’ แทนตัว ‘ค’) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นที่เข้าใจกันในภายหลัง บทความนี้จะเริ่มบรรยายบริบทของเยอรมันหลังการปฏิวัติยุโรปกลางศตวรรษที่ 19 ในปี ค.ศ. 1848 (เหตุการณ์นั้นอาจเทียบได้กับ “อาหรับสปริง” ในศตวรรษที่ 21) ซึ่งส่งผลถึงความคิดเรื่อง “รีลโปลิติค” ไปจนถึงพัฒนาการของแนวคิด “ชีวภูมิ” ของทั้งชีเลียนและรัทเซล ซึ่งทั้งหมดนี้เอง (รวมไปถึงแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์สำนัก “แองโกล-อเมริกัน”) จะส่งผลถึงการก่อกำเนิดมโนทัศน์ภูมิรัฐศาสตร์สำนักเยอรมันขึ้นมา


กำเนิด “รีลโปลิติค”

หลังโมเมนตัมของ “การปฏิวัติฝรั่งเศส” ในช่วงปี 1789 - 1799 จะส่งต่อไปยัง “ยุคนโปเลียน” แล้วสิ้นสุดลงด้วยการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในปี 1814 มหาอำนาจที่ชนะสงครามจะมาประชุมกันที่เวียนนาเพื่อกำหนด “ระเบียบโลก” หลังสงคราม “ระเบียบโลก” อันใหม่นี้จะมีความแตกต่างจากการประชุมสันติภาพเวสฟาเลีย (1648) และการประชุมสันติภาพอูเทรคท์ (1713) แต่ภายใต้ระเบียบโลกใหม่อันนี้ หรือที่เรียกว่า “การประชุมความร่วมมือของยุโรป” (Concert of Europe หรือ Concert of Allies หรือ Conference system) ภายใต้การออกแบบของเจ้าชาย คลีเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิค (Prince Klemens Wenzel von Metternich) (15 พฤษภาคม 1773 - 11 มิถุนายน 1859) อัครมหาเสนาบดีแห่งออสเตรีย ในสนธิสัญญานี้นอกเหนือจากการทำข้อตกลงแบ่งสรรผลประโยชน์หลังสงคราม ก็ยังมีการสร้างระบบป้องกันความขัดแย้งในอนาคตซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องดุลอำนาจอีกด้วย แต่ในภายหลังปรากฎว่าเมทเทอร์นิคได้ใช้ระบบนี้ทำการปราบปรามการลุกฮือขึ้นของพวกเสรีนิยมในยุโรป ทำให้อังกฤษถอนตัวออกไปในปี 1820 ภายใต้บริบทเช่นนี้เองที่ได้บ่มเพาะแนวคิดทางการเมือง -- “รีลโปลิติค” ที่ต่างไปจากเสรีนิยมในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นในเยอรมัน และแนวคิดนี้จะส่งผลให้เกิดการรวมตัวของเยอรมนีภายใต้การนำของปรัสเซีย แล้วส่งผลต่อเนื่องไปยังนโยบาย “เลือดและเหล็ก” ของบิสมาร์ค (บางคนก็เรียกว่า “รีลโปลิติคแบบบิสมาร์ค”) ที่ใช้ทั้งนโยบายทางการทหาร และนโยบายทางการทูตแบบปิดลับเพื่อสร้างระบบพันธมิตรอันสลับซับซ้อนซึ่งเอื้อประโยชน์อย่างสูงให้กับเยอรมนี จนกระทั่งต่อเนื่องไปยังการทำสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของเยอรมนีในที่สุด



ภาพ Ludwig August von Rochau


ลุดวิค ฟอน รอคเฮา (Ludwig August von Rochau) (20 สิงหาคม 1810 - 15 ตุลาคม 1873) ผู้ซึ่งเคยถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในเหตุการณ์ “บุกรุกโจมตีป้อมทหารแห่งแฟรงค์เฟิร์ท” (Frankfurter Wachensturm หรือ the charge of the Frankfurt guard house) ในปี 1833 มาก่อน เหตุการณ์นี้เองทำให้รอคเฮาหนุ่ม ซึ่งในขณะนั้นเขามีวัยเพียง 23 ปี ทั้ง “ตื่นขึ้นทางการเมือง” ทั้งได้รับบทเรียนป่าเถื่อนถึง “ธรรมชาติอันมิอาจโทษใครได้” ของการเมือง และข้อจำกัดของ “อุดมคติ” ตัวเขาเองเคยตัดสินใจฆ่าตัวตายถึงสองครั้งในขณะถูกคุมขัง แต่ถูกช่วยให้รอดชีวิต หลังจากถูกจำคุกได้สามปี รอคเฮาก็ได้หลบหนีออกจากเรือนจำไปยังกรุงปารีสในปี 1836 ที่ปารีสนี้เองเขาได้ทำงานเป็นนักเขียนและนักข่าวอิสระ ในขณะที่อยู่ปารีสนี้เอง รอคเฮาก็ได้พัฒนาแนวคิด “รีลโปลิติค” ขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดหนังสือ “ระบบการเมืองแบบปฏิฐานนิยม” (Système de politique positive) ของ ออกัสต์ คองเตอ (Isidore Auguste Marie François Xavier Comte) (19 มกราคม 1798 - 5 กันยายน 1857) ซึ่งเสนอว่าเราสามารถเข้าใจการเมืองได้โดยการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์

ในปี 1848 เกิดการปฏิวัติอีกครั้งขึ้นในฝรั่งเศส แม้ผู้ได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติหนนี้กลับตกอยู่ในมือของ หลุยส์ นโปเลียน แต่การปฏิวัติหนนี้จะส่งผลให้เกิดการปฏิวัติขึ้นในหลายประเทศในยุโรป เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ฤดูใบไม้ผลิแห่งประชาชาติ” (Spring of Nations) ประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้รวมไปถึงประเทศปรัสเซียและออสเตรียด้วย การปฏิวัติหนนี้ทำให้เจ้าชายแมทเทอร์นิคต้องลาออกจากตำแหน่งในออสเตรีย ในขณะที่พระเจ้าฟรีดิช วิลเลียมที่ 4 แห่งปรัสเซียจะยอมรับข้อเรียกร้องของฝ่ายเสรีนิยมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนผู้นำกลุ่มเสรีนิยมเหล่านี้ ซึ่งมีฐานแน่นหนาอยู่ที่ “สภาแห่งชาติเยอรมันในแฟรงค์เฟิร์ท” (German National Assembly in Frankfurt) แห่งรัฐเฮสเซน หากไม่ถูกจับกุมก็จะต้องลี้ภัยในปีรุ่งขึ้น ในปี 1848 นั้นเองรอคเฮาก็ได้เดินทางกลับไปที่ “เยอรมนี” และเป็นพนักงานของหนังสือพิมพ์หัวเสรีนิยมที่ชื่อว่า “ด๊อยช์ ไชตุ้ง” (Deutsche Zeitung) แต่เขาไม่ได้มีบทบาทอะไรที่โดดเด่นนัก แต่ที่นี่เองรอคเฮาก็ได้เริ่มเปลี่ยนความคิดเรื่องสาธารณรัฐนิยมของเขา และหันไปสนับสนุนการสร้างสมาพันธ์เยอรมันเหนือ (North German Confederation) ภายใต้ราชบัลลังก์ของกษัตริย์ เฟดเดอริค วิลเลียม ที่ 4 เพราะเขาเห็นว่าหากต้องการให้เยอรมันรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกษัตริย์จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ แต่แม้จะประนีประนอมความเห็นไปมากแล้ว แต่ความเป็นจริงทางการเมืองภายใต้ข้อตกลง โอมุทซ์ (Agreement of Olmütz) คราวนี้สมาพันธ์เยอรมันกลับไปตกอยู่ใต้อำนาจของออสเตรีย พวกชนชั้นนำหันไปกระชับอำนาจอีกครั้ง ทั้งรอคเฮาและพวกเสรีนิยมก็ต้องลี้ภัยออกจากเยอรมันอีกครั้ง

ความล้มเหลวของการปฏิวัติ 1848 นี้เอง ที่ส่งผลให้ มาร์กซ เขียนบทความที่ชื่อว่า “วันที่ 18 เดือนบรูแมร์ ของหลุยส์ นโปเลียน” (The Eighteenth Brumaire of Louis Napoleon) [เดือนบรูแมร์เป็นเดือนที่ 2 ของฝรั่งเศส เริ่มต้นวันที่ 22 หรือ 23 ตุลาคม สิ้นสุดวันที่ 20 หรือ 21 พฤศจิกายน ในที่นี้หมายถึงการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1799 (หรือวันที่ 18 เดือนบรูแมร์) ของ นโปเลียน โบนาปาร์ด มาร์กซใช้ชื่อบทความนี้เพื่อเทียบกับการรัฐประหารของ หลุยส์ นโปเลียน ผู้หลานของนโปเลียน โบนาปาร์ด ในวันที่ 5 ธันวาคม 1851] ซึ่งมาร์กซได้เขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “มนุษย์สร้างประวัติศาสตร์ของเขาเอง ... แต่เขาจะไม่สามารถสร้างมันได้อย่างที่ตั้งใจ: เขามิได้สร้างมันใต้สภาวะการณ์ที่เลือกได้ด้วยตนเอง หากแต่เป็นสภาวะการณ์ที่ปรากฎอยู่แล้ว ถูกสร้างและส่งต่อมาจากอดีตกาล” เราอาจสรุปความข้อนี้ของมาร์กซได้ว่า ความคิดที่แปลกแยกตนเองออกไปจาก “พลังทางสังคม” ก็ไม่ต่างอะไรจากภาพลวงตา ข้อสรุปนี้จะกลายเป็นหนึ่งในฐานคิดสำคัญของ “รีลโปลิติค” ในเวลาต่อมา ในปี 1852 หลังจากรอคเฮากลับจากการลี้ภัยไปพำนักใน ไฮเดลแบร์กเขาเริ่มเขียนข้อเขียน “ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินและผู้คนเยอรมัน” (Geschichte des deutschen Landes und Volkes) ข้อเขียนที่วิเคราะห์ถึงความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การรวมตัวของเยอรมนีนี้จะนำไปสู่บทสรุปของเขาเกี่ยวกับ “รีลโปลิติค” ที่ชื่อว่า “รากฐานของรีลโปลิติค : การประยุกต์เข้ากับสถานะปัจจุบันของเยอรมนี” (Grundsätze der Realpolitik: Angewendet auf die staatlichen Zustände Deutschlands) ในปีรุ่งขึ้น

21 บทแรกของหนังสือ “รากฐานของรีลโปลิติคฯ” ในส่วนครึ่งแรกได้ทำการสำรวจถึงโครงสร้างของรัฐ และพลังทางสังคมภายในรัฐนั้น (ซึ่งเป็นพื้นฐานวิธีวิทยาของ “รีลโปลิติค”) ในส่วนครึ่งหลังได้อภิปรายเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แนวคิดเหล่านี้เข้ากับสภาวะการณ์ในขณะนั้นของเยอรมนี หรืออาจกล่าวได้ว่ารอคเฮาไม่ได้ให้ความสำคัญเป้าหมายของ ปรัชญา หรือเมตาฟิสิกส์ ในตัวของมัน


หลักการใหญ่สี่ข้อของ “รีลโปลิติค” มีดังต่อไปนี้

(1) “รัฎฐาธิปัตย์” มิได้เป็นของประชาชนหรือเป็นของกษัตริย์โดยธรรมชาติ หากแต่ “รัฎฐาธิปัตย์” เป็นเพียงภาพสะท้อนของอำนาจของกลุ่มพลังต่าง ๆ

(2) รูปแบบรัฐที่มีประสิทธิภาพที่สุด จะต้องหลอมรวมเอาพลังทางสังคมที่เข้มแข็งที่สุดในรัฐเข้ามา เพื่อเก็บเกี่ยวพลังอำนาจนั้น และสร้างสมดุลอำนาจระหว่างพลังต่าง ๆ เหล่านั้น

(3) ไอเดีย หรือแนวคิด แม้จะสำคัญในทางการเมืองแต่บทบาทของมันถูกเข้าใจผิดอย่างมาก ความบริสุทธิ์หรือความเข้ากันได้ของแนวคิดนั้นไม่ใคร่จะสำคัญในทางการเมือง หากแต่ความคิดที่ ห่างไกลศีลธรรม หรือ พร่องด้วยวัฒนธรรมอันสูงส่ง กลับจะมีพลังเข้มแข็งมากกว่าแนวคิดอันสูงส่งใด ๆ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ จำนวนคนที่เชื่อแนวคิดนั้น และความมั่นคงกับไอเดียนั้น ๆ มากกว่า

(4) ความเป็นสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของ “รัฐประดิษฐ์” (statecraft)* ไปโดยสิ้นเชิง หากแต่ตัว “ประชามติ” นั้นสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต และจิตวิญญาณแห่งกาลเวลา (Zeitgeist) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการกำหนดเส้นทางทางการเมืองของประเทศชาติ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ความเป็นชาตินิยมนั้นเองที่เป็นเสมือนกาวทางสังคมที่จะเชื่อมโยงพลังต่าง ๆ ที่โดยปกติแล้วอาจสู้รบปรบมือกันเอง

กล่าวโดยสรุปได้ว่า รัฐธรรมนูญอันอ่อนแอนั้นมักจะปฏิเสธการมีส่วนร่วมของพลังทางสังคมอันเข้มแข็ง และด้วยเหตุดังนั้นก็จะล้มเหลวที่จะเก็บเกี่ยวพลังที่จะสร้างรัฐให้มีความเข้มแข็ง ชนชั้นนำหรือราชรัฐต่าง ๆ จึงมีจุดบกพร่องที่จะสร้างความอ่อนแอ และสร้างข้อจำกัดการเติบโตให้กับตัวรัฐเอง.


*ผมแปลคำ “statecraft” ว่า “รัฐประดิษฐ์” ; คำนี้มีที่มาจากความเข้าใจในสมัยคลาสสิค ดู “weaving and statecraft” ใน Method and Metaphysics in Plato’s Sophist and Statesman ซึ่งได้แสดงให้เห็นดังต่อไปนี้ “(The statesman was one who possesses this special knowledge of how to rule justly and well and to have the best interests of the citizens at heart. It is presented that politics should be run by this knowledge, or gnosis.) The statesman, determines when the general should go to war, though he leaves it to the general to work out military strategy and carry it. He determines the good that rhetoric will serve but leaves the techniques and practice of persuasion to the rhetorician. He decides what is just and lawful but leaves it to the judges to implement his decisions. He determines what mix of courage and moderation will be the good in the city, but he calls on the teachers to instill to youths. He cares for every aspect of things in the city, weaving them together in the most correct way, thus a “statecraft”.”; เห็นได้ชัดว่าเป็นการถักทอศิลปะการบริหารอำนาจมากกว่าเป็นการพัฒนาตัวรัฐ ทั้งนี้ในสมัยคลาสสิคถือว่ารัฐ (นครหรือ polity) เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติและมีรูปแบบของนครนั้นภายใต้การปกครองในรูปแบบต่าง ๆ กัน ดู Politics III ของอริสโตเติล (อ้างใน Aristotle’s Political Theory) ต่อมาในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renassissance) โดยมาคิอาเวลลีเขาจะชี้ว่ามี “องค์ความรู้” ที่จะดำเนินระเบียบแห่งรัฐซึ่งไม่จำเป็นต้องขึ้นกับโชคชะตาเหมือนสมัยคลาสสิค; การ “ถักทอ” ซึ่งถือเป็นงานช่างฝีมือนี้ถูกอ้างในทักษะยุคสมัยคลาสสิคจนถึงยุค “การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (Renaissance); ในสมัยคลาสสิคดูการอ้างถึงใน “ว่าด้วยรัฐบุรุษ” (Statesman) ของเพลโต (Plato) เป็นตัวอย่าง (ตัวบทต้นฉบับภาษากรีก: “ἀποχρήσει γὰρ ἴσως ἡ περὶ τὰ ἐκ τῶν ἐρίων ὑφάσματα”, ตัวบทฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ: “For I fancy the art of weaving wool will be enough”); ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ มาคิอาเวลลีได้พูดถึงคำนี้ (เป็นนัยว่าเขาสืบทอดความคิดมาจากสมัยคลาสสิค) ในหนังสือ “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) ในบทที่ 2 (ดูตัวบทต้นฉบับภาษาอิตาเลียนโบราณ: “Io lascerò indrieto el ragionare delle repubbliche, perché altra volta ne ragionai a lungo. Volterommi solo al principato, et andrò tessendo li orditi soprascritti, e disputerò come questi principati si possino governare e mantenere.”, ดูตัวบทฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษของ Leo Paul de Alvarez (บทที่ 2, หน้า 8): “I shall omit the discussion of republics, because on another occasion I discussed them at length. I shall turn only to the principate, and go on weaving according to the order written above, disputing how one is able to govern and to maintain these principates”); ในเชิงอรรถหมายเลขสามประจำบทที่ 2 นี้ Alvarez ได้อ้างกลับไปยังหัวข้อทั้ง 13 หัวข้อที่พูดถึงในบทที่ 1 ของ “เจ้าผู้ปกครอง” ว่าเป็นเสมือนแกนของการถักทอ ส่วนการถักทอและศิลปะของการเป็น “รัฐบุรุษ” (art of statesmanship) เขาได้ชี้ให้กลับไปดูตัวบท “ว่าด้วยรัฐบุรุษ” ของเพลโต ตั้งแต่ในหน้าที่ 279 ไปจนถึง 286A [อ้างเลขหน้าแบบสเตฟานัส (Stephanus pagination)]: “According to the topic given in Ch. I, of which there are 13. On weaving and the art of statesmanship, see Plato, Statesman 279-286A”. อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันผมเห็นว่าเราควรใช้ state-architecture หรือ “สถาปัตยกรรมแห่งรัฐ” แต่ในตัวบทนี้จะใช้คำว่า “รัฐประดิษฐ์” หรือ “statecraft” ตามความเข้าใจของรอคเฮาผู้รจนา “รีลโปลิติค” ไปพลางก่อน; เราควรคำนึงด้วยว่าความหมายของคำว่า “รัฐประดิษฐ์” ของรอคเฮาก็มีความเลื่อนไหลไปจาก “การถักทอ” ดังในตัวบท “ว่าด้วยรัฐบุรุษ” ของเพลโตดังที่ได้แสดงไปแล้ว ซึ่งก็มีความแตกต่างจาก “รัฐประศาสนศาสตร์” (public administration) ที่มีการแบ่งแยกศาสตร์แห่งการบริหารระบบราชการออกมาจากรัฐศาสตร์ (และก่อนหน้านั้นที่มีการแยก เศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออกมาก่อนแล้ว) ดูใน Woodrow Wilson, “The Study of Administration (1886)” : “It is government in action, and one might very naturally expect to find that government in action had arrested the attention and provoked the scrutiny of writers of politics very early in the history of systematic thought.”; และยังมีความแตกต่างจาก “การสร้างรัฐ” (state-building) ซึ่งมุ่งหวังการพัฒนารัฐอันการเป็นจัดองค์ประกอบ (reconfiguration) ภายใต้ระเบียบแบบเสรีนิยมใหม่ ที่เป็นกระแสที่เริ่มเกิดขึ้นในหลังยุคสงครามเย็นอีกด้วย; ในหนังสือ "Economic Statecraft" หน้า 8  ได้นิยามคำ statecraft เอาไว้ว่าคือ "ศิลปะในการดำเนินกิจการของรัฐ" (the art of conducting state affairs) ซึ่งผู้เขียนคือ David A Baldwin ได้ระบุรวมไปถึง นโยบายสาธารณะทั้งกิจการภายในและระหว่างประเทศ; Baldwin ยังอ้างถึงงาน "Statecraft: Introduction to Political Choice and Judgment" ของ Charles W. Anderson ด้วยว่าคำว่า statecraft นี้ในระยะหลังมักไม่ใคร่ถูกใช้กันในระหว่างผู้ศึกษาและนักนโยบายสำหรับการดำเนินกิจการภายในประเทศอีกต่อไปแล้ว หากแต่ว่าคำนี้ยังคงถูกใช้ในระหว่างผู้ศึกษาและนักนโยบายต่างประเทศ ที่แวดล้อม (encompass) กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ หรือที่มักนิยมใช้กันบ่อยกว่าคือการเลือก "เครื่องมือ" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายต่างประเทศ. (ดูการแปลคำว่า "statecraft" ว่าเป็น "รัฐช่าง" จากการใช้คำว่า techne ของเพลโต และ "งานช่าง" ประเภทต่าง ๆ ได้ที่นี่)

คำสำคัญ (Tags): #รีลโปลิติค
หมายเลขบันทึก: 621412เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2017 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2017 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท