แบบอย่างข้าราชการที่ดี บทเรียนจากหนังสือ “Bon Voyage บนเส้นทางข้าแผ่นดิน” ของ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์


ทศพนธ์ นรทัศน์ เรียบเรียง

กระผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “Bon Voyage บนเส้นทางข้าแผ่นดินของ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (2558) ซึ่งสำนักพิมพ์มติชน เป็นผู้จัดพิมพ์จำหน่าย (www.matichonbook.com) โดยหนังสือดังกล่าว นำต้นฉบับมาจากหนังสือ “Bon Voyage!...บันทึกเรื่องราวความทรงจำดีๆ ถึงพ่อ” เป็นบันทึกเรื่องราวความทรงจำที่ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เขียนถึงผู้เป็นพ่อ (สุจินต์ กิตยารักษ์) และแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสุจินต์ กิตยารักษ์ ผู้เป็นพ่อ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558 และทางกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ได้พิมพ์ลงเป็นตอนๆ จนจบเล่ม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักอ่าน

ด้วยเนื้อหาที่ ดร.กิตติพงษ์ฯ เขียนขึ้นมานั้น เป็นบันทึกความทรงจำที่ลูกเขียนถึงพ่อ ผู้เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย

สำนักพิมพ์มติชนจึงได้ขออนุญาตไปยัง ดร.กิตติพงษ์ฯ นำมาพิมพ์ รวมทั้งขออนุญาตเปลี่ยนชื่อหนังสือจาก Bon Voyage!...บันทึกเรื่องราวความทรงจำดีๆ ถึงพ่อ” เป็น “Bon Voyage บนเส้นทางข้าแผ่นดิน ซึ่งเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพ ความรัก ความอบอุ่น และความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวแล้ว ยังมีแนวคิด คำสอน แบบอย่างของการเป็นข้าราชการที่ดีและสุจริต ซึ่งสังคมไทยยังต้องการอยู่เสมอ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน สมดังกับคำว่า “ข้าราชการ” อันหมายถึง “ข้ารับใช้ในกิจการของพระราชา (ที่พระองค์ทรงมอบหมาย)” นั่นคือต้องรับใช้ประชาชน

ผู้เรียบเรียงขอขอบพระคุณ ดร.กิตติพงษ์ฯ ที่ได้อนุญาต (ตามอีเมลลงวันที่ 5 มกราคม 2560) ให้นำเนื้อหาในหนังสือ “Bon Voyage บนเส้นทางข้าแผ่นดิน” มาเผยแพร่ สู่สาธารณะ โดยเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด คำสอน และแบบอย่างข้าราชการที่ดี มีดังนี้

ดร.กิตติพงษ์ฯ ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ “ตามรอยพ่อ” (หน้า 161-167) ความว่า “...พ่อทำให้ผมรักและภูมิใจในความเป็นข้าราชการ พ่อเป็นต้นแบบของผม ผมภูมิใจที่ได้เดินตามรอยพ่อ...”

“ในชีวิตผมไม่เคยมีความคิดที่จะทำงานอย่างอื่นเลย นอกจากรับราชการ คำว่า ‘ข้าราชการ’ แปลว่า ‘ผู้ทำกิจการของพระราชา’ ในที่นี้หมายถึงการเป็นผู้รับผิดชอบ ‘งานของแผ่นดิน’ อันเป็นงานของส่วนรวมเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับทุกข์สุขของประชาชน และเกี่ยวข้องกับความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของบ้านเมืองโดยตรง การมีโอกาสเป็น ‘ข้าแผ่นดิน’ ทำงานของแผ่นดิน เพื่อสนองคุณแผ่นดิน เป็นความใฝ่ฝันและความภาคภูมิใจที่สุดของชีวิตผม

...สมัยผมเป็นเด็กเวลาไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 3 กิโลเมตร พ่อไม่เคยให้รถราชการไปส่งหรือไปรับผมเลย ตอนเด็กมากๆ พ่อจ้างรถสามล้อถีบให้ไปส่งไปรับโดยมีแม่นั่งไปด้วย พอโตขึ้นหน่อยพ่อจะจ้างรถสามล้อเครื่องให้คอยไปส่งไปรับแทน ความจริงในต่างจังหวัดการเอารถผ่านไปส่งผมคงทำได้ไม่ยาก เพราะรถไม่ติด คงใช้เวลาไม่นาน แต่เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พ่อจะแยกเรื่องราชการกับส่วนตัวเสมอ

ช่วงพ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและใกล้เกษียณ ตอนนั้นเรามีที่ดินซึ่งเป็นบ้านพ่อปัจจุบันตรงถนนหน้าเมืองที่ได้เตรียมไว้สำหรับสร้างบ้านหลังเกษียณของพ่อ แต่พ่อยังไม่ยอมสร้างบ้านจนเมื่อเกษียณอายุราชการแล้วถึงได้เริ่มลงมือก่อสร้าง จำได้ว่าพ่อบอกว่าไม่อยากให้มีข้อครหาเพราะการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหากมาทำโครงการก่อสร้างส่วนตัวในจังหวัดในขณะที่ตัวเองมีอำนาจอยู่น่าจะดูไม่เหมาะ

ความจริงประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่เป็นหัวใจสำคัญของการรับราชการ และการดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หากบ้านเมืองของเราผู้มีอำนาจสามารถแบ่งแยกเรื่องประโยชน์ส่วนตัวกับประโยน์ส่วนรวม และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังถึงความขัดแย้งของประโยชน์ทั้งสองส่วนนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญแล้ว ประเทศของเราคงพัฒนาไปไกลกว่านี้อีกมาก

พ่อผมเริ่มรับราชการตั้งแต่เป็นเสมียนที่กระทรวงศึกษาธิการตอนอายุ 18 ปี ... พ่อเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่าการที่พ่อเริ่มงานมาตั้งแต่เป็นเสมียนทำให้พ่อรู้ทุกขั้นตอนของการทำงาน และทำหน้าที่ได้ทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงงาน ตั้งแต่งานโรเนียว เรียงกระดาษ พิมพ์ดีด จดชวเลข ร่างหนังสือ

ด้วยความที่พ่อเป็นคนที่เชื่อในเรื่อง ‘พรแสวง’ มากกว่า ‘พรสวรรค์’ เชื่อว่าความสำเร็จมาจากความพยายามและการไขว่คว้ามามากกว่าโชคช่วย ทำให้ท่านสามารถฝึกทำงานทุกอย่างได้อย่างดีและทำด้วยความเต็มใจ จนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา ทำให้ได้ทำงานที่ต้องอาศัยความรู้และความรับผิดชอบสูงขึ้นเรื่อยๆ

...พ่อจะพูดเรื่องแนวทางและทัศนคติของการรับราชการอยู่บ่อยๆ

ผมจำได้ว่าในวงสนทนาตอนทานข้าวด้วยกันพ่อมักจะพูดเสมอๆ ว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตราชการนั้นต้องเป็นคนที่ ‘ผู้ใหญ่ดึง ลูกน้องดัน คนเสมอกันยกย่อง’

พ่อบอกว่าผู้ใหญ่จะดึงก็ต่อเมื่อเราทำงานที่ดีมีคุณภาพ ให้เอาใจผู้ใหญ่ด้วยผลงานและความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ใช่ด้วยการประจบและช่วยเหลือในเรื่องส่วนตัว ลูกน้องจะดันต่อเมื่อเราเป็นผู้ที่มีเมตตา ให้ความเป็นกันเอง ให้โอกาส ให้การสนับสนุนที่เหมาะสม ส่งเสริมให้มีความก้าวหน้า ไม่ใช่เอาแต่เบียดบังผลงานลูกน้องเป็นของตัวเอง ส่วนคนเสมอกันจะยกย่องต่อเมื่อเราเป็นคนที่มีความจริงใจ เป็นกันเอง สม่ำเสมอ ช่วยเหลือในสิ่งที่ทำได้ ให้เกียรติเพื่อนทุกๆ คนเสมอไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะใด

การจะก้าวหน้าในราชการนั้น เราไม่สามารถจะรอแต่การสนับสนุนจากผู้ใหญ่อย่างเดียว เราต้องพัฒนาตัวเองให้พร้อมในทุกด้านด้วย พ่อชอบพูดว่า ‘ให้ทำตัวให้เบาเหมือนดั่งปุยนุ่น เพียงแค่แตะนิดเดียวก็ลอยลมแล้ว’

สำหรับตัวอย่างที่แย่ของการรับราชการที่พ่อกล่าวถึงคือพวกที่พูดเป็นแต่ ‘ดีครับนาย ใช่ครับผม เหมาะสมครับท่าน’ ในทัศนะพ่อ ผู้บังคับบัญชาคนไหนที่ได้ลูกน้องแบบนั้นถือว่าโชคร้ายอย่างยิ่ง

คำเปรียบเปรยเกี่ยวกับการรับราชการอีกเรื่องหนึ่งที่พ่อพูดอยู่บ่อยๆ และผมชอบมาคือเรื่องรวงข้าว พ่อบอกว่าเมื่อรับราชการมีบทบาทตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น เราต้องทำตัวเป็นเหมือนดั่งรวงข้าว ยิ่งมีรวงมากยิ่งค้อมต่ำลง เหมือนดังสุภาษิตคำคมของไทยเราที่พูดสืบต่อกันมาว่า

รวงข้าวที่ลีบและเบามักชูตัวสูงแกว่งไปมา

เพราะภายในกลวงไม่มีอะไร

รวงข้าวที่หนักสุกปลั่งจะค้อมตัวต่ำนิ่งงดงาม

เพราะภายในหนักด้วยคุณค่าและเนื้อหา

คนเรายิ่งก้าวขึ้นสูงถ้าทำตัวให้ยิ่งอ่อนน้อมลงต่ำ

ก็ประดุจรวงข้าวที่ยิ่งหนักยิ่งอร่ามงดงาม

แม้พ่อจะไม่ได้พร่ำสอนผมทุกวันให้ทำตัวเป็นข้าราชการที่ดี แต่ผมโชคดีที่ได้เห็นตัวอย่างจากการกระทำและการดำเนินชีวิตของพ่อ พ่อทำให้ผมรักและภูมิใจในความเป็นข้าราชการ พ่อเป็นต้นแบบของผม ผมภูมิใจที่ได้เดินตามรอยพ่อ...”

ในหัวข้อ “คิวอธิบดี” (หน้า 181, 183) ดร.กิตติพงษ์ฯ ได้บันทึกไว้ว่า “...พ่อจึงได้กล่าวถ้อยคำที่ผมนำมาใช้เป็นหลักสำคัญของชีวิตการทำงานตลอดมา

‘คนเป็นผู้ทำให้ตำแหน่งมีเกียรติ

ตำแหน่งไม่ได้ทำให้คนมีเกียรติ’

...ยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งต่างๆ ล้วนเป็นเพียงหัวโขน ไม่สามารถทำให้เรามีเกียรติขึ้นมาได้ ตัวเราเองเท่านั้นที่จะทำให้ตำแหน่งใดๆ มีเกียรติ...”

จากแนวคิด คำสอน แบบอย่างของการเป็นข้าราชการที่ดีและสุจริตของคุณพ่อสุจินต์ กิตยารักษ์ ที่ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้เป็นลูกได้เจริญรอยตาม และบันทึกถ่ายทอดสู่สาธารณชนผ่านหนังสือ “Bon Voyage บนเส้นทางข้าแผ่นดิน” นี้ สมควรที่ผู้เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ ตลอดจนผู้ที่ทำงานในทุกหน้าที่ ทุกตำแหน่ง พึงนำไปเป็นข้อคิด ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้การทำงานราชการยังประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ดังแบบอย่างที่ คุณพ่อสุจินต์ กิตยารักษ์ และ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้เป็นลูกได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 621094เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2017 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2017 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท