ความภาคภูมิใจของครุศาสตร์ มจร.เชียงใหม่



คณาจารย์และนิสิตบรรพชิต คณะครุศาสตร์ ได้ร่วมดำเนินโครงการปฎิบัติธรรมประจำปีตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยสำหรับปีการศึกษา๒๕๕๙ได้ออกแบบโครงการแบบบูรณาการเน้นการปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาตนเองด้วยการเปลี่ยนแปลงจากภายใน การเผยแผ่พุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ด้วยการปฏิบัติความดีถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีการดำเนินงานที่บูรณาการร่วมภาคีประชาคมท้องถิ่นในรูปแบบประชารัฐ โดยมีเทศบาลแม่โป่งเป็นหน่วยงานหลัก ภายใต้ชื่อโครงการปฎิบัติธรรมแบบบูรณาการพันธกิจ“ถักร้อยพลังความดีน้อมรำลึกถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ดำเนินงานระหว่าง วัน จันทร์ ที่ ๑๙ ธันวาคมถึง วัน พุธ ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ รวม ๙ คืน ๑๐ วัน ณ.ฌาปนสถานบ้านป่าไผ่ – ห้วยบ่อทอง ต.แม่โป่งอ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการฯมีดังนี้

๑. เพื่อถวายความอาลัยและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

๒.เพื่อส่งเสริมให้พระนิสิต พระภิกษุสามเณร และประชาชนได้รับการพัฒนาคุณธรรมรับการปลูกจิตสำนึกค่านิยมที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม เพื่อการเป็นคนดีมีคุณภาพตามนโยบายหมู่บ้านศีล ๕ และการส่งเสริมค่านิยมที่ดีของรัฐบาล

๓.เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามตามหลักพุทธศาสนาซึ่งเป็นวิถีสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมที่มีคุณภาพ บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหมู่บ้านศีล ๕ เพื่อการพัฒนาสังคมประเทศชาติที่ยั่งยืน

๔.เพื่อบูรณาการพันธกิจของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอนการวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาศิลปะวัฒนธรรม ที่เกื้อกูลต่อชุมชนท้องถิ่นอันเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนท้องถิ่นและตอบสนองนโยบายคณะสงฆ์

ตลอดระยะเวลา ๙ คืน ๑๐ วัน เป็นช่วงเวลาที่มีความเหน็ดเหนื่อยที่เป็นความสุขจากการประกอบกรรมดีร่วมกันระหว่างทีมงานคณะครุศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ จำนวน๕ คน พระนิสิต จำนวน ๖๙ รูปและทีมงานเทศบาลแม่โป่ง ซึ่งมีนายกเทศมนตรีแม่โป่งท่านทองสุขธาตุอินจันทร์และรองนายเทศมนตรีแม่โป่งอ.จิรพัฒน์ธาตุอินจันทร์ เป็นแกนหลักในชุมชนหนุนเสริมด้วยทีมบุคลากรของเทศบาลนับสิบคน ในการดำเนินงานขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนานิสิตแบบองค์รวม พร้อมการส่งเสริมกิจการทางพุทธศาสนาและกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น โดยได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อพระครูพุทธิธรรมรักษ์ ที่ให้การสนับสนุนอาหารน้ำปานะ และร่วมแวะเวียนให้กำลังใจทั้งในเวลากลางวันและยามค่ำคืน อีกทั้งด้วยการอนุเคราะห์ยานพาหนะและพลขับเกรียติยศจากสถานีตำรวจแม่โป่ง ที่คอยให้บริการขับรถตราโล่ห์ของสถานีตำรวจเพื่อร่วมขบวนบิณฑบาตรทุกวันนับแต่เวลา ๖.๐๐ – ๗.๓๐ และเวลา ๔.๓๐ – ๕.๓๐น.เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการ ฯ โรงเรียนบ้านแม่โป่ง ฯ ที่ให้ร่วมถวายน้ำปานะ อำนวยความสะดวกให้นิสิตไปส่งเสริมคุณธรรมในสถานศึกษาและนำพานักเรียนมาร่วมกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรม โครงการอำเภอยิ้มอ.ดอยสะเก็ด ที่นำคราวานส่วนราชการร่วมหนุนเสริมพื้นที่การเผยแผ่ศาสนาให้ครอบคลุมกลุ่มชนวัยต่าง ๆ มากขึ้นเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นประเทศเทศไทย (ฟาร์มสุขใจ)ที่นำมามวลสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อสร้างความสุข และที่สำคัญยิ่งคือ พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ตำบลแม่โป่งและใกล้เคียงที่ถวายการต้อนรับอุปถัมภ์ ให้กำลังใจพระนิสิตดังจะพบว่าในแต่ละคืนแต่ละวันจำนวนพุทธศาสนิกชนเพิ่มหนาแน่นมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จากการบอกต่อชักชวนมาร่วมกิจกรรมพร้อมกล่าวขานถึงความสามารถของนิสิตดังดอกไม้หอมที่กลิ่นกระจาย

กิจกรรมการดำเนินงานครั้งนี้ประกอบด้วยการฝึกเจริญจิตภาวนาตามหลักสติปฐาน ๔ เป็นระยะเวลา๕ วัน การเผยแผ่พระธรรมคำสอนด้วยกิจกรรมธรรมะพาเพลินการขับเคลื่อนสร้างความดีถวายเป็นพระราชกุศลด้วยกิจกรรมรอยธรรมตามรอยศาสตร์พระราชาการบิณฑบาตโปรดญาติโยมในชุมชนข้างเคียง การบูรณาการหลักพุทธธรรมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยกิจกรรมต้นไม้ธรรมะและจอบแรกตามรอยครูบาเพื่อสร้างเส้นทางศึกษาธรรมะและธรรมชาติสู่ดอยผาเผิ้งการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยพิธีเทศน์มหาชาติและพิธีสืบชะตาหลวงการกวนข้าวทิพย์การเจริญพุทธมนต์การปลูกฝังคุณธรรมความกตัญญูต่อบรรพชนด้วยกิจกรรมทักษิณานุปทานฯลฯ

ผลการดำเนินงานนิสิตเกิดการพัฒนาจากภายในก่อเกิดปฏิปทาน่าเลื่อมใส จากการเจริญจิตภาวนาตามหลักสติปัฎฐาน ๔ และอนาปนสติมีความ

ตระหนักรู้ถึงพระพุทธพจจ์ที่ว่า“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากเพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุข แก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย..” ซึ่งเป็นการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์วัดและชุมชน เกิดปิติสุขในการมุ่งมั่นเผยแผ่หลักคำสอนพุทธศาสนาสู่ชุมชนด้วยรูปแบบเชิงสร้างสรรค์ที่ผสมผสานศาสตร์ทางพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะศาสตร์ด้านคุรุศาสตร์ซึ่งเป็นหลักวิชาสำคัญที่นิสิตได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีจากมหาวิทยาลัยฯ โดยนัยนี้จึงเกิดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนท้องถิ่นดังนี้

๑.ด้านอบรมคุณธรรมจริยธรรมแก่ชุมชน เช่นการบรรยายธรรมะพาเพลิน การปฏิบัติธรรมการอบรมเยาวชน ณ โรงเรียนแม่โป่งประชาสามัคคี โดยผ่านกิจกรรม ”รอยธรรมตามรอยศาสตร์พระราชา”การปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีด้วยพิธีกรรมทักษิณานุปทานซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองนโยบายหมู่บ้านศีล ๕ ของคณะสงฆ์ และรัฐบาลในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่คนทุกกลุ่มในสังคม

๒.ด้านการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นพิธีเจริญพระพุทธมนต์พิธีเทศน์มหาชาติพิธีสืบชะตาเสริมพลังชุมชนและพิธีกวนข้าวทิพย์ ทั้งนี้ ทางคณะครุศาสตร์ ได้มอบพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๒๙ นิ้ว จำนวน ๔ องค์ เพื่อประดิษฐาน ณ บริเวณ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ ตำบลแม่โป่ง และ ณ บริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ดอยผาเผิ้ง พร้อมทั้งถวายเงินบูชาและสร้างฐานพระพุทธรูปจำนวน๔,๓๓๙บาท

๓. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเช่นกิจกรรมต้นไม้ธรรมะ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้แผนงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯกิจกรรมธรรมะสู่ธรรมชาติ : จอบแรกตามรอยครูบาสร้างเส้นทางเรียนรู้ธรรมชาติสู่ดอยผาเผิ้ง

๔. ด้านการบูรณาการศาสตร์ทางพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ โดยร่วมเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการประยุกต์หลักพุทธศาสนาร่วมเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อร่วมสร้างชุมชนพึ่งตนเองให้เป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ หรือ “ฟาร์มสุข”

๕. ด้านการเผยแผ่ธรรมและการประชาสัมพันธ์องค์กร โดยจัดกิจกรรมถ่ายทอดสดการเทศน์มหาชาติผ่านสถานีพระพุทธศาสนา ซึ่งพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงาน ณ ฌาปนสถานต่างรับฟังจากสถานีวิทยุ และการบันทึกวีดีโอเทปการเทศน์มหาชาติเพื่อการเผยแผ่ต่อไป

๖. ด้านการส่งเสริมพัฒนาฌาปนสถาน บ้านป่าไผ่ห้วยบ่อทอง โดยมอบเงินสมทบทุนพัฒนาฌาปนสถานแห่งนี้จำนวน ๔๖,๐๐๐ บาท

๗. ด้านการส่งเสริมการดำเนินงานของเทศบาลตำบลแม่โป่ง โดยมอบเงินสมทบทุนการดำเนินงานพัฒนาจัดเตรียมสถานที่โครงการปฏิบัติธรรมแบบบูรณาการพันธกิจ จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท

๘. ด้านการสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานท้องถิ่น โดยมอบเงินสนับสนุนหน่วยงาน อปพร.จำนวน ๒๐๐๐บาท และสถานีตำรวจจำนวน ๒๐๐๐บาท

๙.ด้านการสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนโดยมอบอาหารแห้งขนม นม ที่ได้รับจากการบิณฑบาตรตลอดระยะเวลา ๑๐วันให้แก่ชุมชนเพื่อนำไปจัดกิจกรรมวันเด็ก

๙. ด้านการขยายกิจกรรมครุศาสตร์เพื่อสังคมโดยนิสิตคณะครุศาสตร์ ได้รับมอบปัจจัยจำนวน๓๙,๑๗๗.๒๕บาทจากชุมชน

ระยะเวลา ๙ คืน ๑๐ วัน เป็นช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์พลังความเข้มแข็ง ความมุ่งมั่น ความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวความผูกพันต่อองค์กรความสามารถทางวิชาการพุทธศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และการเป็นพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเหมาะสมกับกาลสมัยตลอดจนสมรรถนะการเป็นบัณฑิตครูที่ดีในอนาคต

ดังจะพบว่าในวันสุดท้ายของการปฏิบัติธรรมผู้สูงอายุที่มาร่วมพิธีหลายคนร้องไห้หลายคนน้ำตาคลอเบ้าเอ่ยบอกว่า

“พ่อ-แม่ความสุขมากเหลือเกินที่ได้ฟังธรรมะและทำงานร่วมกับพระบ้านเราไม่มีประเพณีเข้ากรรมในป่าช้าและเทศน์มหาชาติมานานหลายสิบปี ตอนนี้ปู่ย่าตายายเราได้รับอานิสงส์บุญมีความสุขกันทั่วหน้า พ่อ-แม่ไม่คิดฝันเลยว่าจะมีพระจำนวนมากมาอยู่ในบ้านเราได้ยินเสียงพระสวดมนต์ทุกค่ำเช้า ชื่นใจเหลือเกิน หากพระไปกันหมดพ่อแม่คงคิดถึงพระมาก บ้านเราคงเงียบปีหน้ามาหาแม่กับพ่ออีกนะแม่กับพ่อจะรอพระ “

เสียงสะท้อนดังกล่าว สร้างความปิติสุข ภาคภูมิใจ และชื่นชมยิ่งนักต่อนิสิตครุศาสตร์ทุกรูป ในบทบาทของทีมงานผู้ถวายความรู้แก่นิสิตและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติธรรมมีความหวังและเชื่อมั่นว่า การดำเนินโครงการปฏิบัติธรรมแบบบูรณาการพันธกิจจะยังคงมีการพัฒนาต่อไป ด้วยพลังการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของนิสิตเฉกเช่นครั้งนี้






















หมายเลขบันทึก: 620843เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2016 03:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2016 03:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท