ชีวิตที่พอเพียง : 2812. สู่ Thailand 4.0 จากสนทนาธรรม 2530



หนังสือ สนทนาธรรมกับนักคิดชาวพุทธที่สวนโมกข์ กระตุกความคิดผมอย่างแรง เพราะเมื่ออ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ และตีความจากอวิชชาของผม ท่านพุทธทาสยืนอยู่มุมเดียว ไม่ยอมขยับเลย คือมุมของเป้าหมาย ระดับไร้/ลดความเห็นแก่ตัว ส่วนเป้าหมายระดับเส้นทางสู่เป้าหมายดังกล่าว ผู้ร่วมเสวนาอีกสามท่านต้องช่วยกันตะล่อม


ผู้ร่วมเสวนาอีก ๓ ท่านคือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต), ศ. นพ. ประเวศ วะสี, และ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ดูจากรูป สามท่านนี้ยังหนุ่มฟ้อเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เพราะเวลาผ่านมา ๒๙ ปีแล้ว


ท่านพุทธทาสบอกว่า เป้าหมายคือคนทุกคนลดความเห็นแก่ตัวให้ได้ และเส้นทางสู่เป้าหมายนี้ คือความเข้าใจขันธ์ ๕ เพื่อจะได้เข้าใจขั้นตอนการปรุงแต่งของการรับรู้สู่ตัวตน ให้เห็นว่าตัวตนไม่ใช่ของจริง ให้รู้เท่าทันสิ่งเร้าให้เกิดตัวตน เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งเร้า หรือผู้ปล่อยสิ่งเร้าเหล่านั้น


ท่านพุทธทาสมองเน้นที่ตัวปัจเจกบุคคล ที่จะต้องฝึกตัวให้เข้มแข็ง แต่ปราชญ์อีกสามท่านบอกว่า ดำเนินการยิงตรงไปที่ปัจเจกได้ผลน้อย เพราะปัจเจกก็ตกอยู่ใต้ปัจจัยแวดล้อม ต้องยิงหลายจุด และยิงที่ปัจจัย แวดล้อมด้วย


ท่านพุทธทาสไปไกลถึงขนาดบอกว่า คนจนจนเพราะเห็นแก่ตัว ที่เป็นโสเภณีก็เพราะเห็นแก่ตัว ต้องคิดหลายชั้นจึงจะเข้าใจท่าน ต้องหมุนอิทัปปัจยตาหลายรอบจึงจะเห็นเหตุและผลของความเห็นแก่ตัว สู่ปัญหาความยากจน

มีคนพูดว่าวงการสงฆ์ต้องเป็นหลัก แต่ก็มีคนบอกว่า วงการสงฆ์รวนเร ยิ่งวงการปกครองสงฆ์ ยิ่งรวนเร เพราะแทนที่จะเป็นหลักให้โลกฆราวาสทวนกระแสตัวกระตุ้นกิเลสได้ กลับเข้าไปเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของตัวกระตุ้นกิเลส ผมตีความสาระลึกๆ ของการเสวนาอย่างนี้ไม่ทราบว่าเพี้ยนไปหรือไม่ และไม่ทราบว่าจะตกนรกหรือไม่

ฟังแล้วเป้าหมายร่วมคือสังคมที่ดี ผู้คนมีความสุข และกลไกหลักคือปลดปล่อยคนจากพันธนาการ หรือการยั่วยุของกิเลส ซึ่งยั่วยุโดยตัวกระตุ้นกิเลสอีกต่อหนึ่ง แต่วิธีการบรรลุเป้าหมายในคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องซับซ้อนมาก


เป็นการประชุมกันเพื่อเป้าหมายอันประเสริฐ คือเพื่อให้สังคมอยู่ดี มีความสุข แต่เป็นแนวทางที่ทวนกระแสโลก เพราะโลกขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ด้วยการกระตุ้นกิเลส กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นความอยาก คือเอาจุดอ่อนความเห็นแก่ตัวของมนุษย์เป็นเครื่องมือ คล้ายๆ เอาผู้คนในสังคมเป็นเหยื่อ เพื่อหล่อเลี้ยงสิ่งที่เรียกว่าความเจริญ หรือการพัฒนา


การเสวนาคราวนั้น เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๐ ผ่านมากว่า ๒๙ ปี เรามีความรู้เรื่องการพัฒนามนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย รู้ว่าการเรียนรู้ธรรมะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ตอนเป็นเด็กเล็ก และในวัยรุ่น ที่เรียกว่า พัฒนา EF รู้วิธีเรียนรู้เชิงบวกจากการทำกิจกรรมร่วมกันของผู้คน ซึ่งจะมีผลคล้ายๆ การปฏิบัติธรรมร่วมกัน เรียกว่า “การจัดการความรู้” (Knowledge Management - KM) ซึ่งที่จริงเกิดจาก การทำงาน (Action) ร่วมกัน แล้วร่วมกันไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection) กิจกรรม action ตามด้วย reflection นี้ หากตั้งคำถามเกี่ยวกับงาน ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับงาน หากตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมะว่าด้วยการลดละตัวตน ก็จะได้เรียนรู้ธรรมะ แต่แม้ไม่ตั้งคำถามเรื่องธรรมะ คนในวง KM ก็ได้เรียนลดละตัวตน และเคารพผู้อื่น โดยทางอ้อมอยู่แล้ว เพราะจะได้เห็นวิธีคิดที่แตกต่างหลากหลาย หลายความคิดของเพื่อนร่วมงาน เป็นสิ่ง ถูกต้อง ดีงาม ใช้ได้ผล แต่ตัวเรานึกไม่ถึง


โรงเรียนแนวใหม่ในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง (น่าจะกว่า ๓๐๐ โรงเรียนจากที่มีโรงเรียนทั้งหมด ในประเทศสามหมื่นโรงเรียน) จัดให้นักเรียนทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาลขึ้นไป มีการเรียน (ฝึก) จิตศึกษา หรือจิตปัญญาศึกษา ช่วยให้เด็กดูจิตตัวเองเป็น มีสมองตื่นรู้เบิกบาน เรียนรู้ได้ดีขึ้น และมีสมาธิจดจ่อดีขึ้น ดูตัวอย่าง ที่นี่ ผมเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้มีส่วนพัฒนา EF ของเด็กด้วย


แต่ที่ก้าวหน้ามาก และจะมีผลต่อคุณภาพคนทั้งด้านปัญญาความรู้ และด้านธรรมะในความหมายของ ท่านพุทธทาส คือรูปแบบการเรียนรู้ในสถานศึกษาแนวทางใหม่ ที่เรียกว่า การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ที่ไม่ใช่เรียนแบบรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป แต่เรียนจากการปฏิบัติเป็นทีม ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด ร่วมกัน จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพคนตามความฝันของนักปราชญ์ทั้ง ๔ และตามการเสวนาในช่วงบ่าย ในหนังสือเล่มดังกล่าว


คนที่อ่านหนังสือเล่มดังกล่าว อาจรู้สึกว่าสังคมไทยช่างอับจนเสียจริงๆ แต่เวลาผ่านมาเกือบสามสิบปี มีพัฒนาการด้านต่างๆ ในโลก และในสังคมไทย ที่จะนำมาใช้ขยายผลออกไปให้กว้างขวางได้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ตามในหนังสือเล่มนี้ และในเป้าหมาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล


ขึ้นอยู่กับว่า เรารู้จักใช้เครื่องมือเหล่านี้หรือไม่


วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 620128เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท