สมเด็จย่ากับงานสังคมสงเคราะห์ ep1


สมเด็จย่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์มาตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังมิได้มีพระราชอิสริยยศเป็นที่ปรากฏ ด้วยมีพระราชดำริว่า สตรีไทยที่เป็นแม่บ้านก็สามารถจะให้ความช่วยเหลือในกิจการสังคมสงเคราะห์ได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้น ใน พ.ศ. 2475 ขณะที่สมเด็จย่าประทับอยู่ ณ ตำหนักใหม่ วังสระปทุม เมื่อพระโอรสธิดาเจริญพระชนมายุมากขึ้น และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนทุกพระองค์แล้ว สมเด็จย่าทรงมีเวลาว่าง จึงทรงตั้ง คณะเย็บผ้า (Sewing Circle) ตามแบบสตรีอเมริกาขึ้น มีสมาชิกประกอบด้วยผู้ที่ทรงคุ้นเคย คือ หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล (ผู้ทรงแปลคำว่า Sewing Circle เป็น “คณะเย็บผ้า”) ท่านผู้หญิงประยงค์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คุณหญิงแฉล้ม บูรณศิริ คุณหญิงศรีวิสารวาจา คุณหญิงเพิ่ม ดำรงแพทยคุณ คุณหญิงอรุณ เมธาธิบดี คุณหญิงเชิด อุดมราชภักดี หม่อมราชวงศ์รสลิน คัคณางค์ คุณแพ ยุกตะนันทน์ ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร ท่านผู้หญิงฉลวย สุทธิอรรถานฤมล Mrs. Zimmerman Mrs. Davis Mrs. Langesen Mrs. Nedergard Mrs. Pendleton Mrs. Reeve สุภาพสตรีชาวต่างประเทศเหล่านี้เป็นภริยาของนักการศึกษา สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมิชชันนารี คณะเย็บผ้าเริ่มด้วยการเย็บเสื้อของตัวเอง ต่อมาได้เย็บเสื้อผ้าให้เด็กอนาถาตามโรงพยาบาล ดังที่ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร บันทึกไว้ว่า

“สมาชิกเหล่านี้มาประชุมกันนั่งตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่เด็กตามโรงพยาบาล รับรองได้ว่าไม่มีการนินทาว่าร้ายใคร สมาชิกเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการเลี้ยงน้ำชากันอาทิตย์ละครั้ง ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึง 18.00 น.”
ใน พ.ศ. 2503 สมเด็จย่าได้พระราชทานเงินจำนวนสองแสนบาท เพื่อสร้างหอพักธรรมนิวาสที่หลังวัดมกุฏกษัตริยาราม สำหรับเป็นที่พักนักศึกษาที่ขัดสนและไม่มีที่อยู่
ใน พ.ศ. 2510 ได้พระราชทานทุนริเริ่มเป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท ตั้งมูลนิธิสงเคราะห์ตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว และทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระอุปถัมภ์
พ.ศ. 2511 ได้ทรงรับ มูลนิธิชีวิตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ไว้ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์จะช่วยจัดตั้งหมู่บ้านตามชนบทของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่หายป่วยจากโรคเรื้อนและโรคจิตสามารถมีที่ดินบ้านเรือนของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมการประกอบอาชีพของบุคคลเหล่านี้ให้มีงานทำ มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขตามควรแก่อัตภาพ
ทุกครั้งที่สมเด็จย่าเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรตามจังหวัดต่างๆ ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวของต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วนำไปพระราชทานแก่ประชาชนตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น พระราชทานเสื้อยืด ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า เครื่องเขียนต่างๆ แก่คณะครูประจำโรงเรียน ส่วนนักเรียนนั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องแบบนักเรียน สมุด ดินสอ ยางลบและอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ส่วนชาวบ้านจะได้รับพระราชทานผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าถุง ด้ายดำ ด้ายขาวและเข็มเย็บผ้า ยาตำราหลวง อาหารกระป๋องและอาหารแห้งต่างๆ สำหรับเด็กๆ จะได้รับพระราชทานของเล่นที่เหมาะกับเพศและวัย เช่น เครื่องเขย่ากรุ๊งกริ๊ง แตรรถเล็กๆ และตุ๊กตาสวมเสื้อกระโปรง เป็นต้น
พระราชทรัพย์ที่พระราชทานช่วยเหลือสมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่างๆ มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากการขายของฝีพระหัตถ์เพื่อการกุศล ทรงริเริ่มทำบัตรอวยพรความสุขในโอกาสต่างๆ แต่งด้วยดอกไม้ทับแห้งแปลกตา พระราชทานให้ขายเป็นรายได้แก่การกุศล โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงช่วยกันทำไม้กวาดป่านศรนารายณ์หรือแปรงศรนารายณ์ เพื่อขายนำเงินเข้าการกุศล เนื่องจากทรงใช้ป่านย้อมสีสวยๆ มีประโยชน์ทั้งในแง่ใช้สอยและการตกแต่ง จึงมีผู้สั่งจองกันมาก แปรงศรนารายณ์นี้ทำรายได้ดีมาก ได้พระราชทานเงินรายได้แก่มูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อน จังหวัดลำปาง
ในด้านการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชูปถัมภ์และทรงจำหน่ายดอกป็อปปี้ด้วยพระองค์เองเพื่อเป็นรายได้สงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก
ใน พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกรรมการส่งเสริมและพัฒนางานสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงอุทิศพระวรกายและเวลา เพื่อประโยชน์ให้บังเกิดแก่ประชาชนตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก สมควรเป็นปูชนียบุคคลที่นักสังคมสงเคราะห์ควรถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานของตนต่อไป ดังนั้น ในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดงานแสดงกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา

หมายเลขบันทึก: 620084เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท