ความหมายของงานสังคมสงเคราะห์ในภาพรวม


บริการให้แก่บุคคล เพื่อส่งเสริมให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข งานสังคม

งานสังคมสงเคราะห์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่มีพลวัต (dynamic) จากการพัฒนาแนวคิด

ด้านการสังคมสงเคราะห์ที่เป็นระบบได้เริ่มขึ้นและแพร่ขยายในประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนที่จะมีการแพร่ขยายมายังประเทศที่กำลังพัฒนา ในการให้คำจำกัดความของนักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์ของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยอ้างจาก จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร 2542 พอสรุปได้ ดังนี้

Mary Richmond (1992) ผู้ให้กำเนิดงานสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย ให้ความหมายว่า งานสังคมสงเคราะห์เป็นกระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพของคน โดยการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยกัน และระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม รูปแบบที่ปรากฏในขณะนั้นคือ องค์กรสาธารณกุศล

Bertha C. Reynolds (1935) ให้คำจำกัดความสังคมสงเคราะห์ว่า หมายถึง เป็นงานที่ช่วยเหลือคนในการปรับตัวให้สอดคล้องกับครอบครัว กลุ่ม และชุมชน

Werner Boehm (1958) ให้คำจำกัดความสังคมสงเคราะห์ที่มีผู้ใช้กันมากว่า เป็นการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมของบุคคลแต่ละคนและกลุ่ม โดยใช้กิจกรรมซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ทางสังคม อันประกอบกันขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเหล่านี้อาจจัดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การฟื้นฟูความสามารถที่บกพร่องไป การใช้ทรัพยากรของบุคคลและสังคม และการป้องกันการทำหน้าที่ทางสังคมที่เสียไป

Rex A. Skidmore (1964) อธิบายว่า งานสังคมสงเคราะห์เป็นทั้งศิลป์ วิทยาศาสตร์ และวิชาชีพ ในการช่วยเหลือมนุษย์ โดยเน้นให้รู้จักป้องกันและแก้ไขปัญหาของตนเอง ปัญหาของครอบครัว ปัญหาของกลุ่มและชุมชน รวมทั้งช่วยให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งในการนี้จำเป็นต้องอาศัยวิธีการสังคมสงเคราะห์หลายวิธีประกอบกัน อันได้แก่ วิธีการสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย วิธีการสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน การจัดระเบียบชุมชน การวิจัย และการบริหารงานสังคมสงเคราะห์

Herbert Hewitt Stroup ศาสตราจารย์ทางสังคมและมานุษยวิทยา แห่ง Brooklkn College ได้ให้ความหมายไว้ว่า การสังคมสงเคราะห์คือ ศิลปะของการนำเอาทรัพยากรต่างๆมาใช้สนองความต้องการของบุคคล กลุ่มชน และชุมชน โดยใช้วิธีการตามหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ ซึ่งจะช่วยให้บุคคลเหล่านี้ช่วยตนเองได้

ตามความหมายนี้ ในแง่ของศิลปะ หมายถึง การรู้จักสร้างความสัมพันธ์ คือ นักสังคมสงเคราะห์จะต้องมีศิลปะที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่มีปัญหา ส่วนการใช้หลักวิชาทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง ต้องใช้หลักตรรกะ ต้องมีเหตุมีผล ในการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาและตัวผู้มีปัญหา มีการวิเคราะห์ มีการวางแผนในการช่วยเหลือ และลงมือให้การช่วยเหลือตามขั้นตอนที่วางเอาไว้ นอกจากนั้นจะต้องมีการติดตามผลและประเมินผลด้วย

          Allen Pincus and Anne Minahan อธิบายความหมายของคำว่าการสังคมสงเคราะห์ว่า เป็นกระบวนการซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างคนและระบบต่างๆในสังคม ซึ่งจะช่วยให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมจะสนองตอบความต้องการของคนเราในรูปความต้องการด้านอารมณ์ ความสุขกายสบายใจ และโอกาสต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของเขามีความสุขได้

นักสังคมสงเคราะห์จะเป็นตัวกลางระหว่างบุคคลและสังคม ให้ทั้ง 2 สิ่งนี้มีปฏิกิริยาโต้ตอบที่ดีต่อกัน

Arthur E. Fink ให้ความหมายของสังคมสงเคราะห์ว่า เป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการจัดหาบริการต่างๆที่ส่งเสริมความสามารถระหว่างบุคคลและการทำหน้าที่ทางสังคมของประชาชน ทั้งในฐานะของปัจเจกบุคคลในฐานะกลุ่มชน

Max Siporin ให้ความหมายว่า การสังคมสงเคราะห์เป็นวิธีการทางสังคม เพื่อช่วยเหลือ ป้องกัน และแก้ปัญหา ของบุคคลและสังคม เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นกระทำหน้าที่ในสังคมต่อไปได้ เป็นวิชาชีพที่ให้บริการแก่มนุษย์ ซึ่งต้องอาศัยศิลป์และวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ในการปฏิบัติงาน

Zofia T. Butrym อธิบายว่า การสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพของการให้ความช่วยเหลือ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การส่งเสริมสวัสดิภาพของมนุษย์

Robert C. Crouch ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นงานที่ให้ความช่วยเหลือกับบุคคลที่ไม่สามารถกำหนดวิถีทางในการดำรงชีวิตได้ และมุ่งที่จะพยายามรักษาความเป็นอิสระของบุคคลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

Walter A. Frielander ปรมาจารย์ผู้หนึ่งของสังคมสงเคราะห์สรุปว่า สังคมสงเคราะห์เป็นบริการทางวิชาชีพที่อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทักษะในด้านมนุษยสัมพันธ์ เพื่อช่วยเหลือปัจเจกบุคคล กลุ่ม หรือชุมชน ให้มีความพอใจและมีอิสระในตนเอง

นิภา สุวรรณแสง ตุมรสุนทร ให้ความหมายการสังคมสงเคราะห์ว่า คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ สามารถปฏิบัติหน้าที่ในสังคมได้ดี และสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเป็นปกติสุข

นันทนีย์ ไชยสุต กล่าวว่า การสังคมสงเคราะห์หมายถึงการจัดให้มีมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่ม หรือทั้งชุมชน โดยใช้ทฤษฎีของการสังคมสงเคราะห์เป็นแนวปฏิบัติ

ศรีทับทิม พานิชพันธ์ สรุปความหมายของสังคมสงเคราะห์ว่า เป็นทั้งวิชาชีพ กระบวนการ วิธีการ และการปฏิบัติหรือการกระทำ ซึ่งต้องอาศัยทั้งศาสตร์ (Science) และศิลปะ (Art) ซึ่งสรุปได้ว่า สังคมสงเคราะห์เป็นวิธีการที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการบริการทางสังคมประเภทต่างๆโดยตรงให้แก่บุคคล กลุ่มและชุมชน ซึ่งประสบปัญหาความเดือดร้อนและอื่นๆจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระยะแรก จำเป็นต้องอาศัยการช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมีความรู้ ทัศนคติ และประสบการณ์หรือทักษะ ในงานสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างดี โดยที่นักสังคมสงเคราะห์จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ใช้ความสามารถหรือศักยภาพของเขาเอง ช่วยให้เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสมาชิกในครอบครัว กลุ่ม และชุมชน ตลอดจนสังคม ได้ด้วยดี มีคุณภาพที่ดี มีความมั่นคงและปลอดภัย และมีเสถียรภาพที่ดี

ยุพา วงศ์ไชย กล่าวว่า สังคมสงเคราะห์ (Social Work) คือ ศาสตร์และศิลป์ของการจัดหาบริการเพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถของบุคคลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตน ในสังคมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ และดำรงชีพอยู่ได้อย่างเป็นสุข

นงลักษณ์ เทพสวัสดิ์ สรุปไว้ว่า การสังคมสงเคราะห์เป็นศาสตร์ เป็นศิลป์ และเป็นวิชาชีพ ในการที่จะช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยาก เดือดร้อน ซึ่งไม่สามารถช่วยตนเองได้ ให้มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาของเขาต่อไป ทั้งโดยการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อบรรเทาความต้องการและปัญหาทั้งของบุคคล กลุ่มชน และชุมชน โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตนเองได้

หลักการสังคมสงเคราะห์

งานสังคมสงเคราะห์มีหลักการที่สำคัญที่นักสังคมสงเคราะห์ต้องยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงานดังนี้

1.หลักการยอมรับ หมายถึง การยอมรับผู้มาขอรับบริการว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีศักดิ์ศรี มีความต้องการ และมีความสามารถในตนเอง

2.หลักในเรื่องปัจเจกบุคคล หมายถึง การเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนมีลักษณะเฉพาะตัว มีความ แตกต่างกันทั้งในด้านรูปร่าง หน้าตา ลักษณะท่าทาง อุปนิสัยใจคอ ความรู้สึกทางด้านจิตใจ การแสดงออก เป็นต้น

3.หลักการไม่ตำหนิติเตียนผู้ที่มีปัญหา หมายถึง การที่นักสังคมสงเคราะห์จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับบริการ ไม่ติเตียนหรือประณามการกระทำของผู้รับบริการ

4.หลักการตัดสินใจด้วยตนเอง โดยถือว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิในการเลือกแนวทางในการดำเนินชีวิตและแก้ไขปัญหาของเขาเอง นักสังคมสงเคราะห์จะเป็นแต่เพียงผู้ที่คอยชี้แนะเท่านั้น

5.หลักการเก็บรักษาความลับ เป็นจรรยาบรรณของนักสังคมสงเคราะห์อย่างหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่มีปัญหาทุกคนย่อมไม่ต้องการให้เรื่องราวหรือปัญหาของเขาเป็นที่เปิดเผยล่วงรู้ต่อบุคคลอื่น นักสังคมสงเคราะห์จึงจำเป็นต้องรักษาความลับของผู้รับบริการไม่นำไปเปิดเผยให้ผู้อื่นล่วงรู้ เว้นแต่ในกรณีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ขอรับบริการเท่านั้น

6.หลักการรู้จักบทบาทของตนเอง นักสังคมสงเคราะห์จะต้องระลึกถึงบทบาทของตนเองอยู่ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานไม่ใช้อารมณ์สนองตอบปฏิกิริยาของผู้รับบริการ

วิธีการสังคมสงเคราะห์

วิธีการสังคมสงเคราะห์แบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือระดับจุลภาค Micro Social Work และระดับมหภาค Macro Social Work

1.การสังคมสงเคราะห์จุลภาค Micro Social Work เป็นการให้บริการสังคมสงเคราะห์โดยตรงแก่บุคคลผู้มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือเป็นรายบุคคล กลุ่ม หรือชุมชน โดยใช้วิธีการสังคมสงเคราะห์แบบผสมผสาน ได้แก่ การสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย การสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน และการจัดระเบียบชุมชน การสังคมสงเคราะห์จุลภาคนั้นช่วยขจัดปัญหาการบกพร่องในหน้าที่ของบุคคลและกลุ่ม ตลอดจนปัญหาในชุมชนต่าง ๆ เพื่อเป็นการปรับคนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล กลุ่ม ชุมชน และสังคมให้ดียิ่งขึ้น

2.การสังคมสงเคราะห์มหภาค Macro Social Work เป็นการสังคมสงเคราะห์ในระดับสูงขึ้นไปหรือระดับเบื้องบน อย่างเช่น ในระดับผู้บริหาร ผู้ร่างหรือกำหนดนโยบาย ผู้วิเคราะห์นโยบายหรือผู้วางแผนทางสังคม ผู้วิจัยหรือฝ่ายจัดการ เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการบริหารงานสังคมสงเคราะห์เป็นหลักสำคัญ การสังคมสงเคราะห์มหภาคเป็นการให้บริการทางอ้อมแก่ผู้รับบริการ ในการกำหนดนโยบายหรือแผนการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณต่าง ๆ การศึกษา สำรวจ และวิจัยเพื่อส่งเสริมการบริหารงาน การจัดการ การร่างนโยบาย และการวางแผนในการให้บริการโดยตรงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของบุคคล กลุ่ม ชุมชนและสังคม รวมทั้งสอดคล้องและกลมกลืนกับวัตถุประสงค์และนโยบายที่วางไว้ทุกระดับ นอกจากนี้ยังเป็นการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นการทำงานในระดับที่กว้าง คือปัญหาที่เป็นปัญหาสังคมเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสนองความต้องการ สร้างโอกาส หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและสังคมด้วย

กระบวนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์

การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ประกอบไปด้วยกระบวนการ 5 ขั้นตอน คือ

1.การศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา โดยนักสังคมสงเคราะห์จะต้องศึกษาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้มีปัญหาแล้วทำการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไข ป้องกัน ฟื้นฟู และพัฒนา

2.การตรวจสอบทรัพยากร เป็นการสำรวจถึงบริการต่าง ๆ ที่จัดในหน่วยงานว่าตรงกับปัญหาและความต้องการของผู้ขอรับบริการหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขป้องกันปัญหา

3.การวางแผนแก้ไขและป้องกันปัญหา ควรคำนึงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้มาขอรับบริการ ในการดำเนินการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาของเขาเอง รวมทั้งพิจารณาว่ามีวิธีการหรือบริการอย่างใดบ้างที่จะเข้ามาเพื่อบรรเทาหรือขจัดปัญหา หรือหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น4.การดำเนินงานตามแผน นักสังคมสงเคราะห์จะต้องพยายามปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนและอยู่ในกรอบและขอบเขตของแผน

4.การดำเนินงานตามแผน นักสังคมสงเคราะห์จะต้องพยายามปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนและอยู่ในกรอบและขอบเขตของแผน

5.การประเมินผล เป็นการตรวจสอบดูว่าการดำเนินงานตามแผนบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด และหาทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคถ้าการดำเนินไม่เป็นไปตามแผน ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานมี ประสิทธิภาพและมีความถูกต้อง

ขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์

ขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ มีด้วยกัน 3 ประการคือ

1.การกำหนดปัญหา หมายถึง การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้รับบริการ กลุ่มเป้าหมายหรือ ชุมชนเป้าหมาย ตามสถานการณ์ปัญหาที่มี ซึ่งลักษณะของการช่วยเหลือจะเน้นที่ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาจิตใจ ซึ่งต้องการผู้ช่วยเหลือแนะนำ

2.การป้องกันปัญหา หน้าที่นี้มีความสำคัญมากสำหรับนักสังคมสงเคราะห์ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะสามารถยุติปัญหาได้ทันที หรือไม่รอให้เกิดปัญหารุนแรง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้บริการที่ถูกต้อง เพราะช่วยตัดไฟแต่ต้นลม

3.การพัฒนาบุคคล กลุ่ม ชุมชน ให้มีศักยภาพในการแก้ไขป้องกันปัญหาหรือสามารถตัดสินใจในการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาได้อย่างถูกต้องตามหลักการ มีแผนงานรองรับและทำให้เขาทั้งหลายได้รับผลประโยชน์จากการช่วยเหลือกันเอง ในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความเข้มแข็งในการจัดบริการแก่หน่วยงาน หรือองค์กรที่ให้บริการทางสังคมด้วย โดยจะต้องคำนึงถึงการนำเอาทรัพยากรทุกรูปแบบมาใช้เพื่อประโยชน์สุขของผู้รับบริการเป็นสำคัญ

ในการปฏิบัติงานนักสังคมสงเคราะห์จำเป็นต้องจดจำและปรับใช้หลักการ วิธีการ และกระบวนการของงานสังคมสงเคราะห์ ให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยงานโดยคำนึงถึงขอบเขตของการปฏิบัติงาน อยู่ตลอดเวลา นักสังคมสงเคราะห์ไม่ควรสับสนกับลักษณะงานด้านสังคมสงเคราะห์ที่ตนเองปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตามประสบการณ์และความเอาใจใส่ในการปฏิบัติงานรวมทั้งการศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอจะสร้างให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 619859เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2016 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2016 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอช่วยยกตัวอย่างของ สังคมสงเคราะห์เบบจุลภาคและมหาภาค ให้หน่อยได้ไหมค่ะแบบที่สามารถมองเห็นภาพ ขอคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท