โครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ : ​ครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝัน ครั้งที่ 14 (สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์)


วิถีของหลักธรรมอันเป็นอริยสัจ 4 ที่นิสิตชาวค่ายต่างเพียรพยายามที่จะเรียนรู้แนวทางการใช้หลักธรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสาในวิชาชีพความเป็นครูของตนเอง นับตั้งแต่การค้นหาพื้นที่การทำงานบนโจทย์ของชุมชน เช่น ปัญหาของนักเรียนในด้านการเรียน การไม่มีแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ โรงเรียนขาดโอกาสในเรื่องการแนะแนวการศึกษา

โครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ของสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ในชื่อ “ครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝัน ครั้งที่ 14”เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีมุมชวนขบคิด โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-27 ธันวาคม 2558 ณ โรงเรียนบึงบูรพ์ ตำบลบึงบูรพ์ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ

โครงการ “ครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝัน ครั้งที่ 14” มิใช่กิจกรรมที่บริหารจัดการโดยตรงของสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ หากแต่เป็นการขับเคลื่อนของชมรมในสังกัดสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ นั่นคือ “ชมรมครูอาสา” – นี่เป็นประเด็นในหลายๆ ประเด็นที่ชวนขบคิดเป็นกรณีศึกษา เนื่องเพราะอีกจำนวน 19 องค์กรส่วนใหญ่ล้วนรับผิดชอบโดยสโมสรนิสิตคณะแทบทั้งสิ้น





ผ่องถ่ายนโยบายจากองค์กรแม่สู่องค์กรลูก...

กรณีดังกล่าวนี้สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยตนเองโดยตรง ทว่าออกแบบระบบและกลไกการขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยการผ่องถ่ายนโยบายสู่ชมรมในสังกัดคณะ เรียกสั้นๆ แบบไม่เป็นทางการว่า “จากองค์กรแม่สู่องค์กรลูก” กล่าวคือ...

  • แทนที่สโมสรนิสิตคณะฯ จะดำเนินการด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ทำเช่นนั้น ตรงกันข้ามกลับ “กระจายงาน...กระจายงบ” ไปยังองค์กรในกำกับด้วยการเปิดรับสมัครให้ชมรมในสังกัดคณะ จำนวน 4 ชมรมได้เสนอโครงการเข้ามารับงบประมาณไปดำเนินการ โดยมีกรอบแนวคิดสำคัญๆ เช่น เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้คู่บริการด้วยการพัฒนานิสิตคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและชุมชน รวมถึงการตอบโจทย์เรื่องการใช้หลักธรรมและหลักคิดอื่นๆ ในการบูรณาการสู่การขับเคลื่อนกิจกรรมให้บรรลุสู่หมุดหมายของโครงการและองค์กร

กระบวนการเช่นนี้คือระบบและกลไกการทำงานที่น่าสนใจไม่แพ้โครงการอื่นๆ หรือจะเรียกว่าแปลกกว่าองค์กรอื่นๆ ก็ไม่ผิดนัก ยิ่งพิจารณาลึกลงในกระบวนการจะพบว่าคณะกรรมการที่ทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะนิสิตที่หมายถึงคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะเท่านั้น แต่ยังมีผู้บริหารฝ่ายพัฒนานิสิตของคณะเข้ามาร่วมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกับนิสิตอย่างใกล้ชิด ทั้งที่เป็นรองคณบดี ผู้ช่วยคณบดีและเจ้าหน้าที่ –




ค่าย “ครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝัน ครั้งที่ 14” เป็นกิจกรรมเชิงอัตลักษณ์ของชมรมครูอาสาที่สืบปฏิบัติต่อเนื่องมายาวนานเกิน 1 ทศวรรษ เป็นกิจกรรมค่ายบริการสังคมในมิติเรียนรูคู่บริการบนฐานวิชาชีพ ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเน้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพ “ความเป็นครู” ในตัวตนของนิสิต หรือ “ว่าที่คุณครู” ตลอดจนการหนุนเสริมความรู้และทักษะในด้านการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนผู้ซึ่งมีสถานะเป็น “เด็กและเยาวชน” ได้มีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อและทัศนคติ หรือทักษะการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ ทั้งต่อตนเองและสังคม

ค่ายครั้งนี้ขับเคลื่อนในแบบ “สหกิจกรรม” ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือการแนะแนวการศึกษาและการหนุนเสริมความรู้และทักษะการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ ของนักเรียนในชื่อ “เปิดบ้านความรู้” (เคมีฟิสิกส์ ชีววิทยา ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคม ภาษาไทย) รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เช่น เสริมสร้างความรู้ เจตคติและทักษะผู้นำผ่านฐานการเรียนรู้ในแบบ Walk rally Night ถ่ายทอดความรู้และการหนุนเสริมให้เกิดทักษะชีวิตในเรื่องสำคัญๆ อาทิ วินัยจราจร เพศศึกษา กีฬาต้านยาเสพติด ทำบุญตักบาตร






พลังเครือข่าย...

ค่าย “ครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝัน ครั้งที่ 14ไม่ได้ดุ่มเดินขับเคลื่อนค่ายนี้แต่เพียงลำพัง ตรงกันข้ามทีมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ก็เข้าผนึกกำลังเป็นส่วนหนึ่งกับค่ายนี้ด้วยเช่นกัน เป็นการเข้าร่วมในฐานะของ "คนค่าย” หาใช่การเข้าร่วมในบทบาทของ “องค์กรแม่” ที่เข้าไป “กำกับดูแล” หรือหากจะมีการประเมินผลบ้างก็เชื่อว่าน่าจะดำเนินการอย่างนุ่มเนียน –ละมุนละม่อม เหมือนคนบ้านเดียวกันที่สัญจรมาพบปะโสเหล่กัน ... ให้ข้อเสนอแนะหนุนเสริมแรงกายและแรงใจต่อกัน เป็นการจัดการความรู้และความรักไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่การจับจ้อง โบยตี ชี้ถูกชี้ผิด-

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายนิสิตจากต่างคณะตบเท้าเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันอีกจำนวนหนึ่ง เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะการบัญชีและการจัดการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ซึ่งหลักๆ แล้วทั้งสามคณะจะมาหนุนเสริมกิจกรรมทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่กิจกรรมหลักอันเป็น “บ้านความรู้” เช่น กลุ่มสัมพันธ์และสวัสดิการ






กรณีการขับเคลื่อนในมิติเครือข่ายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคามเท่านั้น ทว่าทะลุข้ามมหาวิทยาลัยไปสู่สถาบันข้างเคียงได้อย่างน่าชื่นชม เป็นต้นว่า นักศึกษาจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ฐานการเรียนรู้เรื่องภาษาอังกฤษและสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคามเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องกิจกรรมกีฬาและนันทนาการ

นี่คือปรากฎการณ์แห่งการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรในมิติเครือข่ายที่ดูน่าสนใจและชวนขบคิดไม่ใช่ย่อย เพราะถือเป็นมิติการทำงานที่ดี ทำให้นิสิตได้เรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมทางการศึกษา ต่างฝ่ายต่างได้แลกเปลี่ยนความรู้และหนุนเสริมกันและกัน รวมถึงการส่งความนัยอันสำคัญเกี่ยวกับการทำงานในวิถีคนค่ายที่ไม่ได้ติดยึดหรือตายด้านอยู่กับระบบอันเป็นทางการเสียทั้งหมด เพราะเครือข่ายข้ามสถาบันที่ว่านี้ก่อเกิดในเชิง “แนวราบ” หรือ “ส่วนตัว” ที่ถักทอจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน




ระบบและกลไกการทำงานเชิงเครือข่ายเช่นนี้ นับเป็นความง่ายงามและเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายบนฐานของความเป็นจิตอาสาอย่างไม่ผิดเพี้ยน เป็นความง่ายงามของว่าที่คุณครูที่ศรัทธาต่อการเป็น “ครูอาสา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของนักศึกษาจากสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคามนั้นก่อเกิดมาจากแรงบันดาลใจที่เจ้าตัวเคยเข้าร่วมกิจกรรมนี้ในโรงเรียนเดิมของตนเอง ก่อเกิดความประทับใจและมีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อ เมื่อเข้าเรียนที่สถาบันการพลศึกษาฯ ก็พาตัวเองเข้ามาติดตามการทำค่ายของครูอาสาอย่างต่อเนื่อง เสมือนการเดินตามแรงบันดาลใจในวันวัยของอดีต พร้อมๆ กับการขันอาสามาเป็นครูอาสาร่วมในค่ายแต่ละปี รวมถึงการฝากฝังน้องๆ รุ่นถัดมาไว้กับชมรมครูอาสาให้ได้ช่วยเป็น “พี่เลี้ยง” และทำการเปิดพื้นที่ให้น้องๆ จากสถาบันการพลศึกษาฯ ได้เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในค่ายของครูอาสา....

นี่คือความง่ายงามแต่ทรงพลังของการทำงานเชิงเครือข่ายที่ไม่จำเป็นต้องติดยึดกับระบบอะไรๆ ให้มากความ เป็นการขับเคลื่อนในวิถีจิตอาสาหรือจิตสาธารณะที่ข้ามพ้นกติกาบางอย่างได้อย่างสง่า และหยั่งรากเป็นวัฒนธรรมโดยไม่ต้องเสียเวลามาตั้งคำถามถึงเหตุผลและกรอบกำแพงทางสถาบันใดๆ อีกแล้ว






กรอบแนวคิดและหลักธรรม

โครงการ “ครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝัน ครั้งที่ 14” เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรในวิถีค่ายอาสาพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกด้านวิชาการเป็นหลัก แต่ก็บูรณาการการเรียนรู้อย่างหลากหลายเข้าด้วยกัน ใช้กรอบแนวคิดทางการจัดการเรียนรู้หลายเรื่องเข้ามาขับเคลื่อน ทั้งการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning ผ่านฐานกิจกรรมอันหลากรูปรสในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ใช้การจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมเข้ามาหนุนเสริมสร้างพลังเชิงบวก ผสมผสานกับการทำงานเชิงเครือข่ายคล้ายๆ กับการบูรณาการศาสตร์ทั้งที่เป็นศาสตร์ภายในคณะศึกษาศาสตร์และศาสตร์ข้ามคณะ รวมถึงข้ามสถาบันไปโน่นเลย




เฉกเช่นกับวิถีของหลักธรรมอันเป็นอริยสัจ 4 ที่นิสิตชาวค่ายต่างเพียรพยายามที่จะเรียนรู้แนวทางการใช้หลักธรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสาในวิชาชีพความเป็นครูของตนเอง นับตั้งแต่การค้นหาพื้นที่การทำงานบนโจทย์ของชุมชน เช่น ปัญหาของนักเรียนในด้านการเรียน การไม่มีแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ โรงเรียนขาดโอกาสในเรื่องการแนะแนวการศึกษา ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ง่ายๆ ในวิถีของค่ายครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝันที่ดำเนินการกันมาต่อเนื่องและยาวนาน โดยใช้กระบวนการของการแนะแนวการศึกษาทั้งวิชาการและวิชาชีวิตเข้าไปจุดประกายความฝันให้กับน้องๆ นักเรียน –

รวมถึงหลักธรรมอื่นๆ ที่เข้าใจว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านของการพัฒนานิสิตและการพัฒนานักเรียนคู่กันไป โดยอาจใช้ทุกๆ ข้อในหลักธรรมนั้นๆ หรือไม่ก็เลือกใช้เพียงไม่กี่ข้อในหลักธรรมนั้นๆ เช่น อิทธิบาท 4 หลักพหูสูต สังคหวัตถุ 4 สัปปุริสธรรม เป็นต้น





หมุดหมายใหม่...

ด้วยเหตุที่โครงการ “ครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝัน ครั้งที่ 14” เป็นแผนงานประจำขององค์กรในชมรมสังกัดสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากต่อการที่จะขับเคลื่อนให้ต่อเนื่อง เพียงแต่ต้องชัดเจนและหนักแน่นกับการนำแนวคิดทั้งที่เป็นทางด้านการศึกษาและหลักพุทธธรรมไปใช้อย่างจริงจังและจริงใจ รวมถึงมีกระบวนการวัดผลที่เป็นรูปธรรมทั้งต่อนิสิตและนักเรียน เช่นเดียวกับการขยายผลให้ชมรมอื่นๆ ได้มีโอกาสดำเนินงานในทำนองนี้ไปพร้อมๆ กัน เช่น ชมรมครูบ้านนอก ชมรมพิมพ์หลากสี และชมรมอื่นๆ ที่มีอยู่หรืออาจกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในวาระถัดไป

ในทำนองเดียวกันก็อาจหมายถึงการหวนกลับมาขับเคลื่อนภายในมหาวิทยาลัยฯ หรือไม่ก็เขยื้อนขยับภายในคณะศึกษาศาสตร์เหมือนดังเก่าก่อน โดยการหยิบยกเอาประเด็นปัญหาใกล้ตัวมาเป็นโจทย์ในการจัดกิจกรรม สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับนิสิตว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะเหนือสิ่งอื่นใดโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ยังคงต้องดำเนินไปตามครรลอง “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน” อยู่ดีนั่นเอง ครั้นจะตีกรอบให้มากจนเกินไปก็ดูประหนึ่งจะเข้าข่าย “พ่อแม่รังแกฉัน” และกลายเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” ที่สุดแล้วก็ถอยหลังลงคลองกลับสู่วังวนปัญหาเดิมๆ เหมือนเคยเป็นมา !





ภาพ : ชมรมครูอาสา และสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์
เขียนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559

หมายเลขบันทึก: 618916เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2016 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2016 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านเรืื่องราว

-กิจกรรมแบบ"บันเทิงเริงปัญญา"เป็นกิจกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ดีทีเดียวครับ

-มาเริงปัญญาด้วยกัน..เมื่อเสาร์ที่ผ่านมาครับ..

อิ่มเอมทุกครั้ง ได้พลังทุกคราที่มาอ่านบทเรียนนอกฤดู

ครับ
อ.เพชรน้ำหนึ่ง

หนักแค่ไหน
ขอเพียงเรียนรู้ผ่านการลงมืทำ
และทำจริงๆ
ก็คืออีกหนึ่งมุมของการบันเทิงเริงปัญญาครับ
ที่สุดก็ตกผลึกเป็น ปัญญาปฏิบัติ

ปัญญา แห่ง ความสุข ...


ขอบคุณมากครับ คุณครูยอด

เป็นยังไง บ้าง -สบายดีไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท