​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๑ : ทำความดี ละเว้นชั่ว ใจผ่องใส "ต้องนำมาสะท้อน"


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๑ : ทำความดี ละเว้นชั่ว ใจผ่องใส "ต้องนำมาสะท้อน"

พึ่งเมื่อเดือนที่แล้วนี้เองที่เขียนบทความทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส อันเป็น "หลักการ ๓" ในโอวาทปาฏิโมกข์ แต่วันนี้จะเขียนในอีกมุมหนึ่ง

อันว่าประสบการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นกับเรานั้น เรายัง "ไม่ได้" ประสบการณ์นั้นมาเป็นของๆเรา มาประดับประดาชีวิตสติปัญญาของเราจริงๆ จนกว่าเราจะนำมา "ใคร่ครวญ" เสียก่อน

กระบวนการใคร่ครวญนี้สำคัญ ความสำคัญยิ่งเห็นชัดตอนที่เรา "ไม่ได้ทำ" เพราะประสบการณ์ที่ไม่ได้นำมาใคร่ครวญก็จะจืดจางหายไปจากชีวิต บางทีก็น่าเสียดาย เราจึงมีคำพังเพย "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน" นั่นคือขอเพียงเราไม่ตาย ใครๆก็แก่ได้ เฒ่าได้ ไม่ได้การันตีว่าจะฉลาดขึ้น เข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากขึ้นตามกาลเวลา เพราะขาดการลงทุนเรื่อง "การใคร่ครวญ"

ในหลักการ ๓ นั้น การทำความดีและการละเว้นความชั่วเป็นพฤติกรรม ผลของสองประการนี้เกิดขึ้นแก่คนรอบข้างและสังคมทันทีที่ได้กระทำลงไป แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ "ตัวเอง" นั้น ต้องใช้ประการที่ ๓ คือ "ทำจิตใจให้ผ่องใส" เราถึงจะได้อาราธนากรรมดีนั้นๆมาเป็นประโยชน์กับเราได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มิฉะนั้นแล้วจิตใจของคนเรานั้น มันแปลกประหลาด มันสามารถจะบิดเบือน "กรรมดี" ให้ส่งผลเสียก็ยังได้ และมักจะไม่ได้ส่งให้คนอื่น (ที่รับผลกรรมดีเราไปเรียบร้อยแล้ว) ผลเสียนี้กลับมักตกแก่คนทำกรรมดีเองอยู่เพียงผู้เดียว

@ เช่น การทำทาน ใส่บาตร แต่จิตใจก็สอดส่ายเปรียบเทียบ ชะโงกไปดูของบ้านโน้น บ้านนี้ ของฉันเริ่ดกว่า ของฉันดีกว่า เชอะ! ของบ้านอื่นดีกว่าของเรามันจะอวดร่ำอวดรวยไปถึงไหน ฯลฯ จิตใจเมื่อ "ไม่ผ่องใส" แม้กำลังกระทำกรรมดีอยู่ แต่ก็หมองหม่น ทำเสร็จก็อาราธนาจิตต่ำมาเต็มๆ

@ เช่น ละเว้นชั่ว เราถือศีล ถือกฎ ถือ ฯลฯ เพราะจะได้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่จิตใจก็สอดส่ายมองเห็นแต่ที่คนอื่นที่ไม่ได้ทำเหมือนเรา ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนเรา เกิดความเกลียดชัง อดไม่ได้ก็กระแนะกระแหน ประชดประชัน กระแทกแดกดัน ละเว้นกระทำชั่วก็จริง แต่จิตใจเรานั้นกลับอาราธนาจิตต่ำมาเต็มๆ

@ เช่น เรามีภูมิรู้ที่มีประโยชน์มากมาย ก็เรียนหมอมา เรียนโน่นนี่นั่นมา เต็มไปด้วยศาสตร์อันเป็นประโยชน์ ทักษะช่วยชีวิต แต่พอมาถึงตอนจะสื่อสาร กลับขาดความเมตตา กรุณา ขาดความสงสาร หรือเห็นอกเห็นใจ แทนที่จะช่วยคนที่กำลังทุกข์ คนที่กำลังหลงผิด ประพฤติผิด หลงทาง ก็ขอด่าก่อน ขอตำหนิก่อน ขอเหยียบย่ำก่อน แทนที่จะส่งแผนที่ กางแผนที่ทางเดินดีๆ ก็ขอม้วนแผนที่ฟาดกบาลมันเสียก่อน เช่นนี้ มีภูมิความรู้และทักษะแต่กลับนำไปทำร้ายคน จิตใจอาราธนาจิตต่ำมาเป็นเจ้าเรือนเต็มๆ

การมีจิตใจผ่องใส เป็นคนละเรื่องกันกับการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า การทำงานเป็นแพทย์นั้น การันตีว่ามีงาน มีเหน็ดเหนื่อย มีเมื่อยล้า แต่ในเวลาเดียวกัน เราสามารถที่จะ "มีจิตใจที่ผ่องใส" เพราะกรรมที่ทำนั้น เป็นการทำดี เป็นการละเว้นความชั่ว แพทย์จึงต้องมีทักษะในการใคร่ครวญกรรมดี เพื่อที่จะได้อาราธนาสิ่งดีๆมาเป็นของเรา เป็นต้นทุนในการทำงานต่อไป อย่าทำงานแบบเกียร์ออโต้ อย่าเผลอปล่อยให้จิตตก อาราธนาความเกลียดโกรธมาทำลายผลงานดีๆที่ได้กระทำ

อาชีพอื่นๆก็น่าจะคล้ายๆกัน

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๘ นาฬิกา ๒๓ นาที
วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 618760เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2016 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2016 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โห .... อ.คะ เห็นภาพ ฟาดกบาลด้วยแผนที่ ก่อนบอกทาง .... เตือนสติได้ดีมากเชียวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท