ความคลาดเคลื่อนในการใช้คำศัพท์ด้านหลักสูตรและการสอน: กรณีผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และผลการเรียนรู้


ความคลาดเคลื่อนในการใช้คำศัพท์ด้านหลักสูตรและการสอน: กรณีผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และผลการเรียนรู้

เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.






ปัญหาของการพัฒนาด้านหลักสูตรและการสอนที่สำคัญประการหนึ่งในประเทศไทย คือ การใช้คำศัพท์หรือการนิยามศัพท์จากคำศัพท์ภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย รวมทั้งการใช้คำเหล่านั้น ด้วยการกำหนดเงื่อนไขการใช้ที่ไม่ชัดเจน เป็นเหตุให้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับหลักสูตรและการสอน เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และเลือกที่จะใช้ความเข้าใจนั้นเป็นเกณฑ์ในการตัดสินเอกสารหลักสูตร รวมถึงวัสดุหลักสูตรอื่น ๆ ซึ่งในที่นี้จะได้ยกตัวอย่างคำว่า “ผลการเรียนรู้” และ “ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง” ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขการใช้คำโดยภาครัฐ
ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับคำทั้งสองที่ไม่ถูกต้อง

ผลการเรียนรู้คืออะไร ?

เมื่อพิจารณาในกรณีของที่มาของคำว่า “ผลการเรียนรู้” คำนี้ปรากฏในหนังสือนิยามคำศัพท์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์ในปี 2553 โดยได้กำหนดความหมายไว้ในหน้า 19

“เป้าหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในรายวิชาเพิ่มเติม
ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดขึ้น”

จากนิยามข้างต้น เจตนาของผู้กำหนดนิยาม คือ ต้องการให้เกิดความแตกต่างระหว่างการใช้คำเรียกเป้าหมายที่เกิดขึ้นตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดในรายวิชาพื้นฐาน แต่เนื่องจากในรายวิชาเพิ่มเติมของสถานศึกษา มิได้มีมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกำหนดไว้ เป็นแต่เพียงเป้าหมายด้านผู้เรียนที่นอกเหนือ
หรือต้องการเพิ่มเติมของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง ทำให้ต้องมีการกำหนดคำเรียกเป้าหมายในรายวิชาดังกล่าวว่า ผลการเรียนรู้ โดยจะเขียนไว้ในเอกสารคำอธิบายรายวิชา ซึ่งโดยนัยนี้ จึงทำให้เกิดกรอบ “เงื่อนไข” ของการใช้คำ ว่า ถ้าเป็นการจัดทำรายวิชาพื้นฐาน ให้ใช้คำว่ามาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ในขณะที่ หากเป็นการจัดทำรายวิชาเพิ่มเติม ให้ใช้คำว่า ผลการเรียนรู้ ดังตารางแสดงความหมายจากเอกสารคำศัพท์หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการต่อไปนี้


รายวิชาพื้นฐาน

รายวิชาเพิ่มเติม

รายวิชาที่เปิดสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด และสาระการเรียนรู้แกนกลางที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลาง ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งผู้เรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเรียนรู้ (หน้า 18)

ใช้คำว่า มาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด

รายวิชาที่พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะนอกเหนือจากที่ กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลาง สถานศึกษาแต่ละแห่ง สามารถเปิดสอนรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับจุดเน้น ความต้องการ และความถนัดของผู้เรียน หรือความต้องการ ของท้องถิ่น โดยมีการกำหนดผลการเรียนรู้เป็นเป้าหมาย ของการพัฒนาผู้เรียน (หน้า 19)

ใช้คำว่า ผลการเรียนรู้

นักการศึกษาส่วนหนึ่งเข้าใจว่า ในการจัดทำเอกสารหลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตรฉบับเขียน โดยเขียนเป็นคำอธิบายรายวิชานั้น เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทำให้เมื่อเขียนคำอธิบายของรายวิชาเพิ่มเติม จะไม่ใช้คำว่า มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด และให้ใช้คำว่า ผลการเรียนรู้ แทน

คำถามที่ควรจะพิจารณาในประเด็นนี้ก็คือ โดยนัยความหมายแล้ว คำทั้งสองคำ มีความหมายเหมือนกันหรือไม่ และหากนำเอาเงื่อนไขเรื่องบริบทการใช้ (มาตรฐานใช้ในวิชาพื้นฐาน ผลการเรียนรู้ใช้ในรายวิชาเพิ่มเติม) ออกไป คำทั้งสองคำจะมีความแตกต่างกันอย่างไร

เมื่อทดลองนำคำทั้งสองคำมาเทียบกันดังสมการต่อไปนี้

มาตรฐานการเรียนรู้ = ผลการเรียนรู้

เป็นที่น่าสนใจว่า เอกสารหลักสูตรของไทย โดยเฉพาะในหนังสือคำศัพท์หลักสูตร ไม่ได้อธิบายความหมายของคำทั้งสองลงไปในรายละเอียด เพียงแต่ไปกำหนดเงื่อนไขการใช้คำทั้งสองให้แตกต่างกัน ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากสมการข้างต้นแล้วจะเห็น คำทั้งสองมีความเท่าเทียมกันได้ ดังจะเห็นได้จากการที่เอกสารดังกล่าวกำหนดความหมายของคำว่ามาตรฐานการเรียนรู้ไว้ว่า “คุณภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเป็นสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน” (หน้า 2) ซึ่งจะเห็นได้ว่า มาตรฐานการเรียนรู้ ก็คือ ผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ของบุคคล ที่จะทำให้ตนเองเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ (พึงรู้) และมีทักษะ (พึงปฏิบัติ) จากการเรียนการสอน แต่จากการที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่า รายวิชาเพิ่มเติม เป็นรายวิชาที่มิได้มีมาตรฐานหรือตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง ฯ มาเป็นเป้าหมาย จึงไม่สามารถใส่คำว่ามาตรฐาน (ซึ่งเป้าหมาย) ลงในคำอธิบายรายวิชาได้ จึงได้กำหนดให้ใช้คำว่า ผลการเรียนรู้ (learning outcomes) ลงในคำอธิบายรายวิชาแทน ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ความหมายแล้วจะเห็นว่า คำทั้งสองมีความหมายเท่าเทียมหรือเหมือนกัน หรือเป็นสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ถูกกำหนดให้ใช้ในบริบทที่ต่างกัน (โดยกระทรวงศึกษาธิการ) ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถกล่าวย้ำลงไปให้ชัดเจนในที่นี้ว่า

มาตรฐานการเรียนรู้ คือ ผลการเรียนรู้ อันได้แก่ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ
ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวของผู้เรียน หรือคาดว่าผู้เรียนจะมี
/เป็น เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากทฤษฎีการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์ (outcome based education) การพัฒนาหลักสูตรจะต้องเริ่มจากการหา ผลลัพธ์ หรือผลการเรียนรู้ ที่ต้องการะให้ผู้เรียนมีหรือเป็นขึ้นมาก่อน เป็นเหมือนจุดหมายปลายทาง จากนั้นจึงนำมากำหนดมาตรฐานของการเรียนรู้ ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อความแสดงระดับพฤติกรรมที่ยอมรับได้ว่านักเรียนเกิดผลการเรียนรู้นั้นแล้ว จากกระบวนการดังกล่าวจึงสามารถสรุปได้ว่า
ผลการเรียนรู้ ก่อให้เกิดมาตรฐานการเรียนรู้ (Bingham,2002: 4) โดยนัยของคำตามกรอบทฤษฎีดังกล่าว คำว่าว่าผลการเรียนรู้ จึงมีความหมายกว้างและครอบคลุมคำว่ามาตรฐานเสียด้วยซ้ำ แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็ยังคงถือว่าคำว่ามาตรฐานการเรียนรู้ และ ผลการเรียนรู้ เป็นสิ่งเดียวกัน

ใช้ผลการเรียนรู้ หรือ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ?

เมื่อพิจารณาต่อว่า เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนิยามเงื่อนไขของการใช้คำว่าผลการเรียนรู้ไว้ว่า “เป้าหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน” และ “ในรายวิชาเพิ่มเติมที่สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดขึ้น” ในกรณีนี้ หากไม่ใช้คำว่า “ผลการเรียนรู้” ตามเงื่อนไขดังกล่าว และใช้คำว่า “ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง” จะสามารถใช้แทนกันได้หรือไม่ อย่างไรนั้น มีข้อประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า คำทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกันหรือไม่

ที่มาของคำว่าผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง หรือผลการเรียนรู้ที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในผู้เรียน มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า desired learning outcome หรือ desired results ซึ่งเป็นคำที่ Wiggins และ McTighe (2011) ใช้ในการออกแบบหลักสูตรแบบย้อนกลับ (backward design) นักวิชาการทั้งสองคน ได้ให้นิยามของคำว่าผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหรือพึงประสงค์นี้ว่า

“What should students know, understand and be able to do?” (หน้า 9)

ข้อความข้างต้นแปลความได้ว่า อะไรคือสิ่งที่นักเรียนควรรู้ มีความเข้าใจ และสามารถลงมือปฏิบัติได้?

ดังนั้น ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (หรือผลการเรียนรู้อันเป็นที่พึงประสงค์ ที่พึงปรารถนา) ตามนิยามของนักวิชาการทั้งสองคน จึงมีความหมายว่า พฤติกรรมที่คาดหวังหรือประสงค์ให้เกิดขึ้นในตัวของผู้เรียน ทั้งในด้านความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการปฏิบัติ ซึ่งเมื่อนำนิยามนี้ไปเทียบกับนิยามของคำว่า ผลการเรียนรู้ ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ว่า “เป้าหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน” โดยไม่ได้นำเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้นมาเองในเรื่องการใช้เฉพาะในรายวิชาเพิ่มเติมมาพิจารณา ก็จะสามารถแสดงความหมายของคำทั้งสอง หรือคำอื่นๆ ที่มีความหมายไปในทำนองเดียวกันในรูปสมการได้ว่า

ผลการเรียนรู้ = ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง /ผลการเรียนที่พึงประสงค์/ผลการเรียนรู้ที่พึงปรารถนา

จากสมการดังกล่าวจะเห็นว่า ทุกคำมีความหมายเหมือนกัน เท่าเทียมกัน แต่คำในด้านขวาของเครื่องหมายสมภาคนั้น เป็นลักษณะคำที่ใช้ขยายคำแรกให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถอธิบายจากนิยามของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้กำหนดไว้สั้น ๆ เพียงว่า “เป้าหมายที่กำหนดขึ้น” ให้ขยายขึ้นเป็น “พฤติกรรมอันเป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะให้เกิดจากการเรียนรายวิชาเพิ่มเติม” นั่นเอง สอดคล้องกับที่มีนักวิชาการด้านหลักสูตรอธิบายเรื่องแนวคิดการออกแบบหลักสูตรสรุปได้ว่า ในการกำหนดความรู้ความสามารถหรือผลลัพธ์ของการเรียนรู้ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกนั้น หมายถึงการที่ผู้พัฒนาหลักสูตรกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (learning outcome) ที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน (Identify desired results) ตามมาตรฐานการเรียนรู้ ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือคำอธิบายรายวิชาในหลักสูตร (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2552) จากคำอธิบายนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ในการพัฒนาหลักสูตร ต้องเริ่มจากการกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ผลการเรียนที่พึงต้องการ หรือจะเรียกว่าผลการเรียนรู้ที่ปรารถนาจะให้เกิด
ก็ได้ โดยตัดเรื่องจัดทำหลักสูตรรายวิชาพื้นฐานหรือเพิ่มเติม อันเป็นเรื่องเฉพาะหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานไปของกระทรวงศึกษาธิการของไทยไป คำว่า ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังนี้ ย่อมเป็นคำที่ใช้กันในการพัฒนาหลักสูตรโดยทั่วไป และไม่ได้เป็นคำที่ใช้ผิดในเชิงความหมายแต่อย่างใด

ดังที่ได้อธิบายความหมายของคำทั้งสองมานี้ จะเห็นได้ว่า คำว่าผลการเรียนรู้ และผลการเรียนที่คาดหวัง มีความหมายเหมือนกัน โดยคำที่สองมีส่วนขยาย (ที่คาดหวัง) เพื่อจะอธิบายให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น การเพิ่มดังกล่าวมิได้ส่งผลให้ความหมายของคำทั้งสองแตกต่างกันแต่อย่างไร และเมื่อนำคำว่า มาตรฐานการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังมาเขียนรวมกัน ก็จะสามารถเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ดังนี้

“ผลการเรียนรู้ (learning outcome) คือ ความรู้ ทักษะ เจตคติ หรือคุณลักษณะ ที่เกิดขึ้นจาก การได้รับการฝึกหัดหรือประสบการณ์ที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ โดยในการพัฒนาหลักสูตรด้วยการออกแบบ ย้อนกลับ จะนำผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (desired learning outcome/result) มากำหนดเป็นเป้าหมาย ของการพัฒนาผู้เรียน โดยเขียนเป็นมาตรฐาน หรือข้อความที่แสดงระดับพฤติกรรมที่มุ่งหวังว่าผู้เรียนจะ สามารถแสดงออกมาได้ รวมทั้งระบุตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงการบรรลุมาตรฐานนั้น ๆ ประกอบลง
ไปด้วย”

เมื่อคำต่าง ๆ สามารถนำมาสัมพันธ์กันในลักษณะนี้ ก็จะเห็นได้ชัดว่า ผลการเรียนรู้
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และมาตรฐานการเรียนรู้ ล้วนแต่มีความหมายถึงพฤติกรรมของผู้เรียน เหมือนกันทั้ง 3 คำ
และใช้เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมาย (goals) ของการพัฒนาผู้เรียน โดยคำแรกมีลักษณะที่กว้าง คำที่สองมีการขยายความ และคำที่สามเกิดจากการนำคำที่ 1-2 มากำหนดให้เป็นมาตรหรือระดับพฤติกรรม จากที่กล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า นัยความหมายของคำทั้งสามเหมือนกันทั้งหมด เพราะกำลังกล่าวถึงสิ่งเดียวกัน คือ สิ่งที่ผู้เรียนจะต้องมี
เป็นหรือเกิดขึ้นนั่นเอง

การที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้ไปกำหนดให้ใช้คำว่า “ผลการเรียนรู้” แทนมาตรฐานการเรียนรู้ตัวชี้วัด เฉพาะในรายวิชาเพิ่มเติมที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นนั้น แท้ที่จริงในการสร้างเอกสารหลักสูตรของสถานศึกษา อาจจะไม่จำเป็นจะต้องใช้คำดังกล่าวเพียงคำเดียวก็ได้ สถานศึกษาสามารถนำคำภาษาไทยที่สามารถใช้แทนคำว่า “learning outcome” มาใช้ได้อีกเป็นจำนวนมาก เพราะคำศัพท์ในภาษาไทยมีอยู่อย่างหลากหลาย ที่สามารถนำมาแทนคำภาษาอังกฤษดังกล่าว และสามารถเขียนขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นก็ได้ เช่น

ผลลัพธ์, ผลลัพธ์การเรียนรู้, ผลผลิตของการสอน, ผลของการเรียนรู้

ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์, ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนา, ผลการเรียนรู้ที่พึงประสงค์,

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่พึงปรารถนา, ผลการเรียนรู้ที่ต้องการ, ผลการเรียนรู้ที่พึงปรารถนา ฯลฯ

จากตัวอย่างที่ได้แสดงข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากสิ่งที่ผู้พัฒนาหลักสูตรต้องการให้มีความหมายถึงคำว่า learning outcome หรือ desired results ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายเหมือนกันแล้วล่ะก็ ผู้พัฒนาหลักสูตรก็สามารถเลือกใช้คำไทยได้อย่างหลากหลาย และไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพราะไม่ว่าคำใด ก็คงมีความหมายเหมือนกัน เพราะหมายถึงพฤติกรรมที่ต้องการหรือคาดหวังว่าผู้เรียนจะเกิดขึ้นหลังจากการเรียนการสอน ดังนั้น ที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดว่า ให้ใช้คำว่า “ผลการเรียนรู้” ในการจัดทำรายวิชาเพิ่มเติม แม้จะมีเจตนากำหนดเพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในเอกสารหลักสูตรสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้พัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ก็อาจจะใช้คำศัพท์ภาษาไทยคำอื่น ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นก็ได้ หรือแม้แต่จะใช้คำภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องผ่านการแปลให้เป็นไทยก็ย่อมกระทำได้เช่นเดียวกัน หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรเข้าใจความหมายสากลของคำว่า “learning outcome” ที่ไม่ใช่นิยามแบบจำกัดว่าใช้เฉพาะวิชาเพิ่มเติมแบบที่กำลังใช้ในประเทศไทย แต่หมายถึง
ผลการเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้นทั้งหมดในการเรียนรู้ของผู้เรียน อันเป็นคำที่กว้างและสามารถเลือกใช้คำไทยมาแทนได้อย่างหลากหลาย

ศัพท์ด้านหลักสูตรในประเทศไทย มักมีลักษณะเป็นการบัญญัติศัพท์ ซึ่งมักจะพบปัญหา ได้แก่ การไปกำหนดเงื่อนไขของการใช้คำ ว่าคำนี้ต้องใช้ในบริบทนี้ หรือคำนี้ใช้ในการเขียนเรื่องนี้ ในขณะที่คำอื่น ๆ ที่มีความหมายเดียวกันกลับใช้ไม่ได้ และกลายเป็นเรื่องผิดนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังที่ยกเหตุของคำว่า ผลการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง โดยมีการอ้างว่า เป็นคำที่ใช้ในหลักสูตรต่างฉบับกัน และใช้เฉพาะในรายวิชาเพิ่มเติมนั้น ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ผู้ใช้คำกำหนดขึ้นเอง โดยปราศจากข้อมูลรองรับ โดยมิได้คำนึงถึงความหมายของคำทั้งสอง ว่าล้วนแต่บัญญัติขึ้นจากคำภาษาอังกฤษคำเดียวกัน แต่มีลักษณะของการขยายความเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น และสามารถใช้ได้ทั้งคู่ตามหลักวิชาการ สาเหตุนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้คำศัพท์ทางด้านหลักสูตรและการสอน ทั้งนี้หากจะปรับให้มีความชัดเจนขึ้น ก็สามารถทำได้โดยการวงเล็บคำภาษาอังกฤษของคำดังกล่าวไว้ด้วย เช่น ผลการเรียนรู้ (learning outcome) ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง/พึงประสงค์ (desired learning outcomes) ก็จะทำให้สื่อความได้ชัดเจน และไม่ต้องมีปัญหานำไปสู่การถกเถียงกันระหว่างคำทั้งสอง ซึ่งคำที่สองนั้น เป็นการขยายด้วยคำคุณศัพท์ในภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องมีการต่อท้ายความขยายในภาษาไทย
แต่มิได้ทำให้คำทั้งสอง เมื่อใช้ในบริบทของการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ หรือการจัดทำคำอธิบายรายวิชามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

ผู้ที่เสนอประเด็นว่าคำทั้งสองแตกต่างกัน และการใช้คำว่า ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ในรายวิชาเพิ่มเติมตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นสิ่งผิด โดยอธิบายว่า เป็นคำที่ใช้ในหลักสูตรฉบับเก่า และการเขียนแบบนี้ในคำอธิบายรายวิชาเป็นสิ่งผิดนั้น นอกจากจะหาเหตุผลแค่ว่า “เอกสารนิยามคำศัพท์หลักสูตรกำหนดไว้แบบนี้” ก็สมควรที่จะต้องอธิบายในเชิงความหมายของคำทั้งสองเพิ่มเติมด้วยว่าแตกต่างกันอย่างไร เพราะนิยามในคู่มือดังกล่าว ก็ระบุไว้แต่เพียงสั้น ๆ พร้อมกำหนดเงื่อนไขบางอย่างลงไปเอง และในการอธิบาย จะต้องไม่อธิบายเพียงแต่ว่า หลักสูตรฉบับนี้ใช้คำนี้ หลักสูตรอีกฉบับใช้อีกคำ เพราะที่สุดแล้ว หากคำทั้งสองหมายถึงสิ่งเดียวกัน แล้วล่ะก็ ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าใช้คำผิด หรือแม้แต่กระทั่งจะส่งผลให้การจัดทำหลักสูตรผิดไปด้วย ประเด็นนี้จึงควรให้ความสำคัญ และพิจารณากันให้เข้าใจอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น มิเช่นนั้น จะทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรมองเพียงแต่เฉพาะ “หัวข้อ” (ซึ่งแทนคำในภาษาอังกฤษ) แทนที่จะพิจารณาว่า หมายถึงอะไรและมีอะไรภายใต้หัวข้อนั้นบ้าง อันจะส่งผลให้การประเมินหรือพิจารณาหลักสูตรเกิดความคลาดเคลื่อน เพียงเพราะการใช้ถ้อยคำ ซึ่งที่จริงแล้ว มิได้มีความแตกต่างกัน

___________________________________________________________________________________

รายการอ้างอิง

ภาษาไทย

รุ่งนภา นุตราวงศ์. (2553). นิยามคำศัพท์หลักสูตร : หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.

วิชัย วงษ์ใหญ่. (2552). การออกแบบการเรียนรู้ย้อนกลับ. ใน สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา.กรุงเทพฯ: ส านักงานเลขาธิการคุรุสภา. หน้า 141 - 148.

ภาษาอังกฤษ

Bingham, R. (2002). Learning outcomes and assessment criteria. Sheffield: Learning and Teaching Institute Sheffield Hallam University.

Wiggins, G., & McTighe, J. (2011). What is backward design?. Understanding by design, 7-19.

หมายเลขบันทึก: 618250เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2016 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2016 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท