​การลงมือทำ ให้อะไรมากกว่าการนั่งเรียนทฤษฎีอยู่ในห้อง (สุนินาถ แก้วนิสัย)


สอนให้หนูได้เรียนรู้เรื่องการจัดสรรเวลา การจัดแจงงาน การรับผิดชอบหน้าที่ตนเอง เพราะถ้างานเราไม่เสร็จ งานอื่นก็เดินต่อไม่ได้ รวมถึงการได้รู้จักนิสัยใจคอเพื่อน ได้เรียนรู้เรื่องน้ำใจ และการช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะการตระหนักว่าการทำงานเป็นทีมจะทำคนเดียวไม่ได้ ‘ต้องช่วยกัน ช่วยเตือน ช่วยสอน ช่วยทำและสามัคคีกัน’

โดยปกติแล้วหนูไม่ใช่ ‘นักกิจกรรม’ เรียกตัวเองแบบนั้นไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้นำองค์กรใดๆ เลย จะมีไปจัดค่ายกับชมรมบ้านฟิสิกส์บ้างเป็นครั้งคราว หรือไม่ก็ไปจัดค่ายพัฒนาจิตของสาขาบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าเวลาและโอกาสที่มี แต่ถ้าถามว่า ‘ร่วมกิจกรรม’ กับ ‘จัดกิจกรรม’ เราชอบอันไหนมากกว่า.... ก็ไม่ลังเลที่จะตอบว่า ‘ชอบจัดกิจกรรมมากกว่า เพราะชอบที่จะทำให้คนอื่นมีความสุข’






ครั้งนี้พอลงเรียนวิชาภาวะผู้นำก็จำต้องทำกิจกรรมและเป็นผู้รับผิดชอบโครงการในตำแหน่งรองประธานกลุ่ม โดยในกลุ่มของพวกเราจะแบ่งงานกันตามความถนัดที่เรียนมา จากนั้นจึงจะแบ่งงานกันตามความสมัครใจ เช่น ฝ่ายเหรัญญิกจะใช้ 2 คนจากคณะการบัญชีและการจัดการ ฝ่ายจัดทำสื่อและการประมวลผลที่ทำเกี่ยวกับนิทรรศการ บันทึกภาพและตัดต่อวีดีโอก็จะเป็นกลุ่มที่ถนัดเรื่องนี้และมีกล้องเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว จำนวน 3 คน ฝ่ายจัดทำรูปเล่มรายงาน จะเป็นกลุ่มคนที่เคยเขียนโครงการและขออนุมัติโครงการมาตั้งแต่แรก จำนวน 3-4 คน

เช่นเดียวกับฝ่ายประสานงานหลัก จะเป็นคนที่เคยมาทำบุญที่นี่ ค่อนข้างคุ้นเคยกับพื้นที่และสามารถคุยกับเจ้าอาวาสและชาวบ้านได้อยู่แล้ว รวมถึงคนที่มีรถยนต์ก็จะมอบหมายในเรื่องการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และการขนย้ายในส่วนที่เกี่ยวข้อง



สุนินาถ แก้วนิสัย : รองประธานกลุ่ม



ในระหว่างการจัดกิจกรรมเราจะนัดหมายกันช่วงเช้า มีการทำบุญร่วมกันตามศรัทธา ต่างคนต่างซื้อข้าวของมาถวายพระร่วมกัน จากนั้นก็แยกย้ายทำกิจกรรม เช่น แบ่งคนจำนวนหนึ่งไปปลูกต้นไม้ ซึ่งไม่ต้องใช้คนเยอะเพราะใช้ต้นไม้เพียง 10 ต้นเท่านั้น งานขนดินเข้าศาลาที่กำลังก่อสร้าง จะเน้นกลุ่มผู้ชาย เป็นงานที่ทำร่วมกับชาวบ้าน แต่ก็มีนิสิตหญิงเข้าไปช่วยจำนวนเยอะพอสมควร

ตรงกันข้ามกับงาน ‘ขูดสี’ และ ‘ทาสี’ ที่อุปกรณ์มีจำกัด เช่น มีแปรงทาสี เพียง 3 ด้าม ทาได้ครั้งละ 3 คน ก็ใช้วิธีสลับกันทำงาน ใครเมื่อยก็ออกมาพัก ที่เหลือก็กระจายไปกวาดลานวัด กวาดศาลาวัด ใครทำส่วนไหนเสร็จก็เข้าไปช่วยงานในฝ่ายอื่นๆ เน้นการร่วมมือร่วมใจกัน ไม่เกี่ยงกัน หรือใครเหนื่อยก็ไปนั่งพัก ไปเอาน้ำมาเสิร์ฟชาวบ้านและเพื่อนๆ

แต่สำหรับหนู – นอกจากได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานกลุ่มแล้วยังได้รับมอบหมายให้จัดทำนิทรรศการและประสานงานร่วมกับคนอื่นๆ แต่ก็มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทุกกิจกรรม เป็นการมีส่วนร่วมอย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่หลักๆ คืออยู่ในส่วนของงานทาสี





ในส่วนของการทำงานกลุ่มเราก็ไม่ได้ปิดกั้นทำกันแต่เฉพาะสมาชิกในกลุ่ม เราประชาสัมพันธ์เปิดกว้างให้นิสิตมาร่วมกิจกรรมอย่างไม่จำกัด จึงมีทั้งสมาชิกในกลุ่มอื่นๆ ที่เรียนวิชาเดียวกันมาช่วยทำงาน รวมถึงเพื่อนๆ ที่เป็นสมาชิกจากชมรมบ้านฟิสิกส์และชมรมสานฝันคนสร้างป่าก็มาช่วยด้วยเหมือนกัน

กรณีประเด็นปัญหานั้น ที่พบบ่อยที่สุดคือการนัดหมายสมาชิกกลุ่มให้ครบ ซึ่งเป็นปัญหาในระยะแรกๆ เนื่องจากมาจากหลายคณะ เวลาจึงไม่ค่อยตรงกัน ส่วนชุมชนก็อยู่ในช่วงของการเร่งรีบเกี่ยวข้าว จึงออกมาร่วมกิจกรรมไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านมีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านออกมาช่วยนิสิต เด็กๆ มาช่วยเก็บขยะนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งพี่นิสิตก็ให้ขนมเป็นรางวัลกลับไป เช่นเดียวกับในกลุ่มที่สร้างศาลา ชาวบ้านก็จะให้คำแนะนำในเรื่องของการทาสี หรือบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนให้ฟังประปรายเป็นระยะๆ








การได้จัดกิจกรรมโครงการ จิตอาสาพัฒนาวัด’ วัดศรีสุข (บ้านดอนหน่อง) ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2559 สอนให้หนูได้เรียนรู้เรื่องการจัดสรรเวลา การจัดแจงงาน การรับผิดชอบหน้าที่ตนเอง เพราะถ้างานเราไม่เสร็จ งานอื่นก็เดินต่อไม่ได้ รวมถึงการได้รู้จักนิสัยใจคอเพื่อน ได้เรียนรู้เรื่องน้ำใจ และการช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะการตระหนักว่าการทำงานเป็นทีมจะทำคนเดียวไม่ได้ ‘ต้องช่วยกัน ช่วยเตือน ช่วยสอน ช่วยทำและสามัคคีกัน’

หรือกระทั่งการทำงานแบบไม่ตึงจนเกินไป อย่างเช่นเวลานัดหมาย ไม่ใช่ว่าต้องมาครบทุกคน เพราะแต่ละคนมีความจำเป็นที่ต่างกัน เราก็ต้องประชุมกันให้ได้ ที่เหลือค่อยไปแจกแจงงานให้เพื่อน

นอกจากนี้แล้วยังได้เรียนรู้มิตรภาพจากคนทำงานร่วมกัน พร้อมๆ กับการได้เรียนรู้วัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ได้รู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รู้ว่าวัดกับชุมชนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันยังไง ยกตัวอย่างเช่น วัดไม่ได้เป็นแค่สถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชุมชน ไม่ได้เป็นแค่แหล่งวัฒนธรรมของหมู่บ้าน แต่วัดก็ยังเอื้อประโยชน์อื่นๆ โดยใช้ลานวัดเป็นสถานที่ตากข้าวของชาวบ้าน

สิ่งเหล่านี้ทำให้หนูได้เข้าใจความสัมพันธ์ของวัดกับหมู่บ้านที่ต่างก็พึ่งพากันและกันในหลายๆ เรื่อง






เอาจริงๆ เลยนะ หนูไม่รู้หรอกว่าตอนลงมือทำอยู่นั้นมันคือทฤษฎีอะไร เพราะบางทีทฤษฎีก็ใช้กับทุกสถานการณ์ไม่ได้ แต่รวมๆ แล้วมันคือการแสดงความคิดเห็น แล้วรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เราร่วมมือร่วมใจกัน เราไม่ไร้เหตุผล เรารับฟังคนอื่นเสมอ มันเลยทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม แล้วงานก็จะออกมาดี และทุกคนมีความสุขกับการทำงานที่ทำ หรือแม้แต่บางทีวางแผนไว้แบบนี้ แต่พอทำจริงๆ มันไม่ได้เป็นไปตามแบบแผน เราก็ปรับแก้กระบวนการเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายของกิจกรรม

เช่นเดียวกับไม่แน่ใจว่าอะไรบ้างคือความเป็นผู้นำ รู้แต่เพียงว่างานมีปัญหา งานไม่เดิน อยากให้คนที่เราไปทำกิจกรรมให้ (ผู้รับ) มีความสุข รู้ทั้งรู้ว่าไม่ใช่หน้าที่หลักของตัวเอง แต่ก็ต้องเข้าไปร่วมแก้ไขเพื่อให้ทุกๆ อย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

สิ่งเหล่านี้ หนูไม่อยากสรุปว่าเป็นผู้นำหรือไม่ รู้แต่เพียงว่าเป็นสิ่งที่หนูชอบทำ และมีความสุขที่ได้ทำ และมีความสุขที่เห็นคนอื่นมีความสุขกับสิ่งที่เราได้ทำให้




ท้ายที่สุดนี้หนูมีความรู้สึกว่าการเรียนในวิชานี้เนื้อหาวิชาไม่ยากนะค่ะ เพราะเหมือนจะเป็นเรื่อง common sense มากกว่า แต่ในทางปฏิบัติถือว่ายากค่ะ เพราะต้องใช้กระบวนการคิดเยอะแยะมากมาย การลงมือทำยากกว่าทฤษฎีอยู่แล้วค่ะ แต่ในทางกลับกันการลงมือทำกลับให้อะไรมากกว่าการนั่งเรียนทฤษฎีอยู่ในห้อง ซึ่งวิชาภาวะผู้นำก็เป็นเช่นนี้จริงๆ



หมายเหตุ :

เรื่อง :
สุนินาถ แก้วนิสัย ชั้นปีที่ 2 สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
ภาพ : เยาวภา ปรีวาสนา/นิสิตวิชาภาวะผู้นำ

หมายเลขบันทึก: 618240เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2016 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2016 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท