เสียงจากนิสิตวิชาภาวะผู้นำ : ติวแคลคูลัส 1 (สุดาพร พูลภูงา)


ตอนนี้หนูรู้สึกได้ว่าตัวเองกล้าที่จะคิดและพูดมากขึ้น กล้าสื่อสาร มีทักษะการพูดที่ดีขึ้น กล้าที่จะมอบหมายงานหรือไหว้วานให้สมาชิกแต่ละคนช่วยงานกัน สิ่งเหล่านี้หนูว่าหนูได้เรียนรู้และฝึกตัวเองมากขึ้น

โครงการ ‘ติวแคลคูลัส 1’ เป็นกิจกรรมในรายวิชา ‘ภาวะผู้นำ’ ที่หนูลงทะเบียนเรียนที่ภาคเรียนที่ 1/2559

กลุ่มของเรามีหลากหลายคณะ ส่วนใหญ่มาจากคณะในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตอนประชุมหารือว่าจะทำกิจรรมอะไรดีในมหาวิทยาลัย ส่วนมากก็มองมาในเรื่องการ ‘ติวเตอร์’ เพราะเห็นว่าเราน่าจะได้ใช้ความรู้และทักษะของเราไปช่วยคนอื่น โดยเฉพาะน้องๆ ปีที่ 1 ที่มีปัญหาเรื่องเรียน และเกรดไม่ดีในบางรายวิชา

สาเหตุที่เราเลือกวิชา ‘แคลคูลัส 1’ เพราะเป็นวิชาพื้นฐานที่นิสิตใน ‘สายวิทย์-เทคโน’ จะต้องเรียนกันทุกคน โดยล่าสุดนิสิตปี 1 สอบไม่ผ่านเยอะมาก หรือคะแนนลดลงกันเยอะมาก รวมถึงในกลุ่มมีเพื่อนหลายคนมีความรู้ (เรียนเก่ง) และมีประสบการณ์เรื่องติวเตอร์ซึ่งพร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงสอนน้องๆ ได้



สุดาพร พูลภูงา : หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทำงาน


โดยส่วนตัวของหนูจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับ ‘ฝ่ายปฏิคมสวัสดิการ’ จึงต้องวิ่งเต้นหยิบยืมอุปกรณ์จากสาขาและคณะมาใช้ในการจัดกิจกรรม ทั้งที่เป็นแก้วน้ำ กระติกน้ำ ถังน้ำ ถาดรอง ฯลฯ รวมถึงการจัดอาหารว่างคอยบริการน้องๆ ที่ ‘มาติว’ และบริการเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนั้นก็ทำหน้าที่อื่นๆ ร่วมกับเพื่อนๆ เช่น เป็นผู้ช่วยสอนคอยกระตุ้นการเรียนรู้ในกลุ่มย่อยของน้องๆ กระตุ้นการทำกิจกรรมหน้าชั้น เช่น ออกไปแสดงวิธีการหาคำตอบบนกระดานทั้งที่เป็นรายคนและรายกลุ่มในกึ่งการแข่งขัน มีการให้คะแนนไปด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่การแข่งขันอะไร เพียงแต่เป็นกลวิธีกระตุ้นการเรียนรู้ในชั้นเรียน หรือการกระตุ้นการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเฉยๆ โดยน้องๆ จะชอบมาก เพราะได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน รวมถึงได้ความสนิทสนมต่อกัน

และอื่นๆ ที่หนูเป็นส่วนหนึ่งกับการทำกิจกรรมก็คือ ‘ตรวจพรีเทส-โพสเทส’ รวมถึงการทำหน้าที่เป็น ‘ช่างภาพ’ บันทึกภาพนิ่งและวีดีโอเพื่อประเมินผลการเรียนรู้ของน้อง โดยสัมภาษณ์น้องและจะนำมาตัดต่อเป็นคลิป ซึ่งส่วนหนึ่งจะใช้เป็นสื่อประกอบการนำเสนอผลการเรียนรู้ในช่วงปลายภาคเพื่อประเมินการจัดกิจกรรม




การจัดกิจกรรมครั้งนี้ทำให้หนูได้คิดทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมาเมื่อครั้งที่เป็นคณะกรรมการนักเรียน แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคามก็ไม่ได้เป็น ‘ผู้นำ’ เหมือนแต่ก่อน ชีวิตก็เรียนหนัก มีเวลาก็ไปออกค่ายกับเพื่อนในสาขาบ้าง เป็นต้นว่า ชมรมครูอาสา หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น โครงการออกค่ายเปลวเทียนสู่ฝัน รวมไปจนถึงการเป็นสต๊าฟเชียร์ และอื่นๆ เป็นครั้งคราว

พอได้มาทำกิจกรรมนี้ ได้รับผิดชอบงานเอง ได้บริหารงาน ได้บริหารคน และได้บริการคน ก็ทำให้คิดถึงบรรยากาศเก่าๆ และได้รู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้ความเป็นผู้นำที่เด่นชัดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้การทำงานกับเพื่อนต่างสาขาที่ต่างกันทั้งวิธีคิดและวิธีการ ได้เรียนรู้การวางแผนงาน การลงมือทำอย่างเป็นขั้นตอนตามแผน พอทำตามแผนก็ไม่ค่อยวุ่นวายอะไรมาก

ที่แน่ๆ คือนอกจากเรียนหนักและมีงานมากอยู่แล้ว พอมาทำกิจกรรมในโครงการนี้ก็ยิ่งรู้สึกว่างานมันเยอะขึ้น ความรับผิดชอบเยอะขึ้น ต้องเรียนรู้ที่จะบริหารเวลาให้ได้ เพราะจะได้ไม่กระทบต่อการเรียนและงานของตัวเองและเพื่อนๆ ในกลุ่ม




เหมือนอีกเหตุการณ์หนึ่งที่หนูต้องขนอุปกรณ์มาจากสาขาคนเดียว ซึ่งจากคณะมาห้องติวเตอร์มันไกลมาก พอจะขนกลับหนูไม่สะดวกที่จะขนกลับคนเดียว จึงต้องขอให้เพื่อนแต่ละคนช่วยกันขนไปเก็บคนละชิ้นสองชิ้น พอวันถัดไปก็ให้เพื่อนขนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง สิ่งนี้ก็เป็นการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาและเรียนรู้ที่จะแบ่งสันปันส่วนหน้าที่ต่อกันอย่างเป็น ‘ทีม’ ซึ่งเพื่อนก็ช่วยกันดีมาก

การจัดกิจกรรมครั้งนี้หนูและเพื่อนรู้ว่าทุกคนต่างเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เหมือนเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตาม ถึงแม้หนูและเพื่อนอีกหลายคนจะไม่ใช่คนที่ทำหน้าที่ ‘ติวเตอร์’ แต่พอช่วงพักหนูและเพื่อนๆ ก็จะเข้าไปพูดคุยสอบถามน้องๆ ว่าเข้าใจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการประเมินผลการเรียนรู้ไปในตัว หากน้องไม่เข้าใจก็จะมอบหมายเพื่อนที่เรียนสายวิทย์-เทคโนมาช่วยดูแลน้องอย่างใกล้ชิดอีกทีหนึ่ง

เช่นเดียวกับการสังเกตว่าน้องๆ แต่ละคนใครเรียนเป็นอย่างไร เก่ง ไม่เก่ง กล้าแสดงออก หรือไม่กล้าแสดงออก บางคนกล้ายกมือถาม บางคนไม่กล้ายกมือถาม บางคนจดไม่ทัน ฟังไม่ทันแต่ก็ไม่กล้าถาม บางคนเก่งแต่ไม่กล้าไปทำโจทย์หน้าชั้นเรียน บางคนเก่งแต่ไม่กล้าสอนเพื่อน สิ่งเหล่านี้หนูและเพื่อนได้เรียนรู้ที่จะเฝ้ามอง สังเกตการณ์และติดตามน้องๆ ในช่วงพัก เพื่อกระตุ้นให้น้องๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันไปพร้อมๆ กัน รวมถึงการพยายามสื่อสารให้น้องรู้จักที่จะช่วยเหลือกัน




สำหรับปัญหานั้นก็มีบ้างแต่เราก็ช่วยๆ กันแก้ไขร่วมกัน เช่น ระยะแรกนัดประชุมกันยากมาก เพราะเรียนต่างคณะต่างสาขาเวลาว่างไม่ตรงกัน เราตั้งกติการ่วมกันว่าถ้าสมาชิกมาถึง 70 % ถึงจะเริ่มประชุมได้ จึงนัดหมายกันค่ำๆ จากนั้นก็สร้างกลุ่ม ‘เฟชบุ๊ค’ ขึ้นมาเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารและปรึกษากัน รวมถึงการ ‘อัพไฟล์งาน’ ให้แก่กัน

ครั้นพอเริ่มงานก็มาเจอกับปัญหาใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่น้องมาเรียนด้วยเยอะมาก ทำให้อาหารว่างและเอกสารไม่เพียงพอ ครั้งที่สองจึงต้องจัดซื้อเพิ่มเติม ซึ่งก็หมายถึงการระดมทุนเพิ่มเติมจากเพื่อนๆ และเพื่อนๆ ก็ให้ความร่วมมือด้วยดีเหมือนที่ผ่านมา

การจัดกิจกรรมครั้งนี้หนูใช้แนวคิดจากที่เรียนมาใช้หลายเรื่อง เช่น การทำงานเป็นทีม บุคลิกภาพที่ดีของผู้นำ คุณธรรมจริยธรรม การวางแผนและการทำงานที่เป็นระบบเหมือน PDCA เช่น

  • ความเป็นทีม : เน้นความสามัคคีและมีวินัย โดยตรงต่อเวลา แต่งกายให้เรียบร้อยด้วยชุดนิสิต ใครติดธุระให้แจ้งหัวหน้ากลุ่ม หรือแจ้งใน 'กลุ่มเฟช-กลุ่มไลน์’ เพื่อให้คนอื่นได้ทำงานแทน เพราะเข้าใจดีว่าช่วงนี้แต่ละคนมีงานเยอะ เนื่องจากใกล้สอบปลายภาคแล้ว
  • ความเป็นทีม : เน้นการมีส่วนร่วม โดยแบ่งสายกันทำ แต่ทำงานในแบบช่วยเหลือกัน ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน
  • คุณธรรมจริยธรรม : จิตอาสา รับผิดชอบหน้าที่





นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานบนฐานใจที่ไม่ย่อท้อ ท้าทายปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เพื่อนบางคนไม่สะดวกต่อการเดินทางมาทำกิจกรรม เราก็จะไปรับไปส่งกันอย่างไม่เกี่ยงงอนและไม่ถือเป็นภาระต่อกัน เพราะอยากให้แต่ละคนได้มาทำงานร่วมกัน

หรือกระทั่งการพยายามใช้ความรู้และปัญญาเฉพาะตน เฉพาะสาขาวิชาชีพมาทำงานในส่วนต่างๆ อย่างเต็มที่ มีทั้งที่ต้องไปชวนเพื่อนนอกกลุ่มที่ไม่ได้เรียนในวิชานี้มาช่วยติวเตอร์ หรือทำเอกสารประกอบการติวเตอร์ เพื่อให้น้องๆ ได้รับความรู้และมีความพร้อมที่จะเรียนที่จะสอบให้ได้ดีกว่าที่ผ่านมา




ตอนนี้หนูรู้สึกได้ว่าตัวเองกล้าที่จะคิดและพูดมากขึ้น กล้าสื่อสาร มีทักษะการพูดที่ดีขึ้น กล้าที่จะมอบหมายงานหรือไหว้วานให้สมาชิกแต่ละคนช่วยงานกัน สิ่งเหล่านี้หนูว่าหนูได้เรียนรู้และฝึกตัวเองมากขึ้น

และถึงแม้กิจกรรมนี้จะไม่ได้ออกไปจัดนอกมหาวิทยาลัย แต่หนูก็รู้สึกได้ว่าหนูและเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ว่ากิจกรรมที่ทำคือการบ่มเพาะความเป็นผู้นำได้เช่นกัน เพราะเป็นการช่วยเหลือคนอื่นเหมือนปรัชญามหาวิทยาลัยและอัตลักษณ์นิสิตที่กล่าวไว้ว่า “ช่วยเหลือสังคมและชุมชน” เพียงแต่ชุมชนที่หนูและเพื่อนๆ บริการนั้น เป็น 'ชุมชน มมส' ที่กลุ่มเป้าหมายคือ 'นิสิตรุ่นน้อง' เท่านั้นเอง





เรื่อง : สุดาพร พูลภูงา ปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์
ภาพ : เยาวภา ปรีวาสนา / นิสิตวิชาภาวะผู้นำ
วันที่ 6 พ.ย.2559

หมายเลขบันทึก: 618010เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2016 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รู้สึกมีความสุขที่นิสิตมองประเด็นปัญหาใกล้ตัว ซึ่งนิสิตได้โจทย์จากการที่มีนิสิตต้องการย้ายคณะและต้องออกก่อนตั้งแต่เทอมแรกๆนั้นมาคิดแก้ปัญหาให้กับเพื่อนๆ ส่วนตัวแล้วต้องคิดถึงระบบการสอนด้วยว่าเปิดอะไรในชั้นเรียน ทั่งนี้มีหลายปัจจัย อย่างไรก็ตามการคิดแก้ปัญหาของนิสิตกลุ่มรายวิชาภาวะผู้นำทีาต้องการแสดงเจตจำนงในการช่วยเพื่อน ก็แสดงเห็นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น ทีาจะทำงานบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งนิสิตได้ลงมือปฏิบัติ และรู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักการที่จะขอใช้ทรัพยากรของคณะ และมีภาวะผู้นำ ผู้ตาม สะท้อนการคิดเห็นว่าการจัดกระบวนการเรียนการสอนในรายวิชาภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไป ได้งอกเงยให้ความคิด อ่านให้กับนิสิตได้

ขอบพระคุณอาจารย์ Peddy มากๆ ครับที่แวะเวียนมาเสนอแนะและให้กำลังใจต่อการเรียนรู้ของนิสิต

การไปสังเกตการณ์และประเมินผลโครงการนี้ พลอยให้นึกถึงโครงการที่ตนเองเคยรับผืดชอบในช่วงมารับราชการใหม่ๆ และอีกครั้งหลังจากนั้นผ่านไป 5 ปี ก็จัดให้มีการติววิชาพื้นฐานแก่นิสิตชั้นปีที่ 1 แต่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายลักคือโควต้ากีฬา และศิลปวัฒนธรรม และมีอยู่ช่วงหนึ่งผลักดันให้องค์การนิสิตได้จัดกิจกรรมนี้ หรือบรรจุไว้เป็นแผนงานประจำปี เพิ่มกลุ่มเป้าหมายนิสิตทั่วไปเข้ามาด้วย....

ทุกวันนี้หายากมากครบองค์กรบริหารนิสิตจะลุกมาทำเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จ่อมจมอยู่กับกิจกรรมประเพณีนิยมภายในสถาบัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท