​ชีวิตที่พอเพียง : 2764. สี่สหายย้อนอดีตกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร



สี่สหายนัดกันไว้เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ ว่านัดครั้งต่อไป ๑ กันยายน ๒๕๕๙ จะไปชมพระราชวังเดิม ที่เป็นวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทั้งชมสถานที่และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเป็น ๑๕ ปีแห่งรอยต่อระหว่างสมัยกรุงศรีอยุธยากับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


ที่สำคัญยิ่ง ได้มีคุณปรามินทร์ เครือทอง นักประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้มาก มาเป็นผู้นำชม ให้คำอธิบายเพิ่มเติม


มีเรื่องราวการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยพิสดาร ที่นี่


เรานัดกันเวลา ๑๑ น. ที่ล็อบบี้ของโรงแรมเพนนินซูล่า ถนนเจริญนคร ไปนั่งคุยกันจนเวลา ๑๑.๓๐ น. ภัตตาคารจีนที่ชั้นล่างของโรงแรมเปิดก็ลงไป โดย ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ ได้โทรศัพท์ไปจองไว้ก่อนแล้ว ท่านบอกว่าอาหารที่แนะนำพิเศษคือก๋วยเตี๋ยวหลอด ซึ่งอร่อยสมคำบอกเล่า เพราะข้างในกรอบ อาหารที่เรากินเป็นประเภทติ่มซำ สามสหาย (ยกเว้น ศ. ฉัตรทิพย์) สั่งเบียร์ Erdinger มาดื่มคนละขวดเล็ก รวมความว่าอาหารทุกจานอร่อย เบียร์ก็อร่อย


เมื่อพบกัน ศ. ฉัตรทิพย์ก็ยื่นซอง มีเอกสารสำเนาเรื่อง พระราชวังเดิม วังหลวงแห่งกรุงธนบุรี ศรีมหาสมุทร ซึ่งอยู่ในหนังสือ ธนบุรีมีอดีต โดย ป. บุนนาค ๒๕๕๓ กับเอกสารสำเนาเรื่องวัดอินทารามใต้ ในหนังสือ ศิลปกรรมในบางกอก (๒๕๑๔) โดย น ณ ปากน้ำ มีรายละเอียดบันทึกเหตุการณ์สมัย พระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เกี่ยวกับวัดนี้ ทำให้เข้าใจพิธีกรรมของกษัตริย์สมัย ๒๕๐ ปีก่อน


ศ. ฉัตรทิพย์ นัดเวลาเข้าชมพระราชวังเดิม ๑๓.๓๐ น. เราไปถึงทางเข้ากองทัพเรือหลังวัดอรุณฯ ก่อนเวลาเล็กน้อย มีเจ้าหน้าที่เป็นจ่าทหารเรือมารับพาเดินไปยังเรือนเขียว ซึ่งเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ที่อดีต เป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนายเรือ เพื่อชมวีดิทัศน์แนะนำสถานที่ ทำให้เราทราบว่าสถานที่ที่เป็น พระราชวังเดิมนี้ไม่เคยถูกทิ้งร้างเลยในสมัยรัตนโกสินทร์ มีกษัตริย์ถึง ๓ พระองค์ประสูติที่นี่ คือพระนั่งเกล้า พระจอมเกล้า และพระปิ่นเกล้า ทั้งหมดเป็นโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ รัชกาลที่ ๒ และมีเจ้านาย ประทับอยู่เรื่อยมาจนถึงสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระเจ้าน้องยาเธอของ ร. ๕ หลังจากนั้น กองทัพเรือจึงขอใช้สถานที่เป็น โรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ และต่อมาเป็น กองบัญชาการทัพเรือ มีผู้เขียนนำเที่ยวพระราชวังเดิม ที่นี่ และ ที่นี่


เราเดินไปชมตำหนักเก๋งคู่ ที่บางเอกสารว่าสร้างสมัย ร. ๒ และปรับปรุงโดยสมเด็จพระปิ่นเกล้า แต่ในหนังสือ ธนบุรีมีอดีตว่าเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เวลานี้เป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงอาวุธ สินค้าออก และเรื่องราวการสงครามของพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วไปไหว้ศาลพระเจ้าตากสิน และศาลศีรษะปลาวาฬที่อยู่ติดกัน ในศาลศีรษะปลาวาฬมีโครงกระดูกศีรษะของปลาวาฬสิททัง (Balaenoptera edeni) ที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “วาฬบรูด้า” เป็นวาฬท้องถิ่น เราวิจารณ์กันว่า ที่พบกระโหลกศีรษะวาฬนี้ฝังดิน อยู่บริเวณนี้ก็เพราะสมัยก่อนตรงนี้เป็นทะเล ชายทะเลเคยขึ้นไปสูงถึงลพบุรี


แล้วเดินไปท้องพระโรง เป็นอาคารเดียวในปัจจุบัน ที่สร้างสมัยสมเด็จพระเจ้าตาก แต่ก็มีการบูรณะภายหลังโดยคงสภาพคล้ายเดิม อาคารนี้ลักษณะรูปตัว T โดยท้องพระโรงด้านยาวเป็นอาคารว่าราชการ อาคารส่วนขวาง เป็นที่ประทับของพระเจ้าตาก เราได้เห็นว่าท้องพระโรงเรียบง่ายมาก ในสมัยพระเจ้าตาก ไม่มีการสร้างพระมหาปราสาท เหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ คุณปรามินทร์ ตีความว่า สะท้อนความถ่อมพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ว่าตนเองไม่ใช่เชื้อสายราชวงศ์หรือขุนนาง แต่ผมตีความว่า นี่คือเหตุผลอย่างหนึ่งที่ช่วงเวลาของรัชกาลและราชวงศ์สั้นเพียง ๑๕ ปี


จากนั้นเราไปชมบริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งสมัยอยุธยาเรียกว่าป้อมวิไชยเยนทร์ หรือ ป้อมบางกอกฝั่งตะวันตก สร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คู่กับป้อมบางกอกฝั่งตะวันออก ซึ่งเสียหายและรื้อไป ผู้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ ในหมู่พวกเราเล่าว่าบริเวณป้อมเป็นที่สู้รบและสำเร็จโทษ ในช่วงความไม่สงบปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากฯ


จากพระราชวังเดิม เรานั่งรถไปยังวัดอินทารามวรวิหาร เขตบางยี่เรือ เพื่อชมวัดที่ถือเป็นสันติสถาน ของพระเจ้าตาก ที่พระองค์นิยมไปนั่งสมาธิ หรือพักค้างคืนที่วัด เราไปชมเจดีย์คู่สีทอง ที่ริมคลองบางกอกใหม่ มีป้ายบอกว่า “พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (องค์ขวา) พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระมเหสี (องค์ซ้าย)” คุณปรามินทร์ เครือทอง อธิบายว่าสมเด็จพระเจ้าตากเสื่อมอำนาจตั้งแต่ปี ๒๑๑๙ ถึงหกปีก่อนถูกรัฐประหาร คุณปรามินทร์แต่งหนังสือเรื่องพระเจ้าตากไว้หลายเล่ม เช่น ปริศนาพระเจ้าตากและอื่นๆ รวม ๗ เล่ม ดังรายการ ที่นี่


เราแวะชมพระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ภายในมีพระแท่นที่บรรทมพักผ่อนพระอิริยาบถ และทำวิปัสสนาของสมเด็จพระเจ้าตาก และมีภาพวาดพระพักตร์ของท่านหลาย version ซึ่งผมเดาว่าคงไม่ เหมือนจริงสักแบบเดียว มีคนเขียนเล่าการไปวัดนี้และลงภาพถ่ายไว้ละเอียดดีมาก อ่านได้ ที่นี่


ในสายตาของผม สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ น่าจะเป็นนักการทหารที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ใช่นักการเมือง ที่มีความสามารถ รัชกาลของท่านจึงสั้น และจบชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่ม คืออายุ ๔๘ ปีเท่านั้น ผมมองว่า นักการเมืองต้องเน้นใช้ชีวิตเพื่อสร้างสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสังคมที่เป็นศูนย์กลางอำนาจ เน้นการสร้าง พิธีกรรมเพื่อให้ผู้คนยอมรับอำนาจของตน ไม่ใช่ปลีกตัว ไปหาความสงบอย่างพระเจ้าตาก


วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๙



1 สี่สหายที่ล็อบบี้โรงแรม



2 ก๋วยเตี๋ยวหลอดสุดอร่อย



3 ออส่วน



4 ผักโขม



5 ทางเข้าชมพระราชวังเดิม



6 อาคารท้องพระโรง ส่วนที่เห็นเป็นพระตำหนักขวางที่ประทับของพระเจ้าตาก



7 อาคารท้องพระโรง



8 ท้องพระโรงส่วนว่าราชการ



9 ที่ยกพื้นขึ้นไปเป็นส่วนพระตำหนักขวาง



10 ตำหนักเก๋งคู่



11 ศาลพระเจ้าตาก กับศาลศีรษะปลาวาฬ



12 โครงกระดูกศีรษะปลาวาฬสิททัง



13 ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้า



14 บนป้อมวิไชยประสิทธิ์



15 วัดอินทาราม เจดีย์บรรจุพระอัฐิ องค์ขวาพระเจ้าตาก องค์ซ้ายพระอัครมเหสี



16 พระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช



17 พระแท่นที่บรรทมของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ



18 พระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

หมายเลขบันทึก: 616655เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2016 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท