การเรียนร่วมสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ


การเรียนร่วมสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.



เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งจะต้องจัดอย่างมีคุณภาพและยึดหลักของความเสมอภาคและการกระจายโอกาสทางการศึกษา ครูซึ่งเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่เด็กโดยตรง จึงต้องคำนึงถึงโอกาสที่เด็กจะได้รับจากตนเอง โดยไม่มีการแบ่งหรือจำแนกเด็กให้เป็นกลุ่มต่าง ๆ และสนใจหรือให้ความสำคัญเฉพาะเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแนวคิดนี้ถือเป็นหลักการสำคัญของการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม (inclusive education)

ความหมายของการศึกษาแบบเรียนรวม คือ การจัดการศึกษาโดยให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ หรือมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากนักเรียนปกติ ทั้งในด้านสติปัญญา สังคม เชื้อชาติและวัฒนธรรม รวมถึงฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว สามารถเรียนหรือศึกษาด้วยกันไปได้ในทุกระดับการศึกษา โดยไม่มีการจำแนกหรือกีดกันออกมาเป็นการเรียนเฉพาะห้องหรือเฉพาะกลุ่ม ครูที่จัดการศึกษาแบบเรียนรวม ทั้งแบบที่ทราบศักยภาพของนักเรียนในห้อง และไม่ทราบมาก่อน จึงจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล และความต้องการเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้สามารถที่จะนำมาออกแบบการเรียนการสอนแบบเรียนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น มีภาวะการเรียนรู้ภาษาได้ช้ากว่านักเรียนในห้อง มีความพิการ หรือบกพร่องทางทางกาย อารมณ์ เกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ คือ การที่ครูผู้สอนจัดเตรียมวิเคราะห์เนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่จะสอน ให้เหมาะสมกับนักเรียนคนนั้น โดยศึกษาให้พบว่า ระดับความสามารถของนักเรียนในการศึกษาเนื้อหาสาระนั้นอยู่ในระดับใด เช่น ใช้การทดสอบ หรือการให้นักเรียนแสดงทักษะหรือความรู้ของตนเองออกมา จากนั้นครูประเมินโดยใช้หลักเกณฑ์เบื้องต้น แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์หนังสือ ตำรา หรือเอกสารต่าง ๆ ว่าเหมาะกับพัฒนาการของนักเรียนหรือไม่ จากนั้นจึงพัฒนาสื่อการเรียนการสอน หรือออกแบบกระบวนการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาโดยเฉพาะ โดยจัดทำไว้ในหลาย ๆ ลักษณะ ให้มีความสอดคล้องกับระดับพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งนี้ จะต้องไม่แยกนักเรียนคนดังกล่าวออกมาจากกิจกรรมการเรียนรู้ปกติ โดยครูยังคงสามารถสอนเนื้อหาหรือสาระการเรียนรู้เรื่องเดิม หรือวัตถุประสงค์ของการเรียนยังคงเดิม แต่นักเรียนจะได้รับสื่อหรือกิจกรรม
การฝึกหัดอื่น ๆ เพิ่มเติม ที่จะช่วยเสริมสมรรถนะที่ขาดหายไป หรือยังต้องการการพัฒนาให้เพิ่มสูงขึ้น โดยครูอาจเพิ่มเวลาในการฝึกหัดหรือเรียนรู้ให้แก่นักเรียนคนนั้นเพิ่มเติมจากในห้อง ขยายเวลาทำงาน เวลาส่งงาน รวมถึงเน้นการประเมินสิ่งที่เขาปฏิบัติในห้องมากกว่าการประเมินผลแบบทดสอบ

ครูจะต้องดำเนินการตกลงกับนักเรียนในชั้นและทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ครูพยายามจะจัด
การเรียนการสอนที่ช่วยเหลือนักเรียนแต่ละคนให้เรียนรู้ได้มากที่สุด ดังนั้น นักเรียนแต่ละคนก็อาจจะได้รับเอกสาร แบบฝึก หนังสืออ่านเสริม หรือชุดการเรียนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งครูได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับนักเรียนในแต่ละระดับพัฒนาการ เพื่อให้นักเรียนทุกคนในชั้นเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเรียนร่วม และไม่นำประเด็นเรื่องความแตกต่างดังกล่าว ไปกีดกันเพื่อนหรือมองเพื่อนว่าแตกต่าง ทั้งนี้ ครูควรใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มหรือการจับคู่กับเพื่อน โดยให้ทำงานหรือช่วยกันพัฒนาทักษะวิชาการของกันและกัน โดยไม่เน้นเรื่องคะแนน เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่าจะเป็นบรรยากาศของการแข่งขัน ซึ่งการเรียนแบบให้เพื่อนช่วยเพื่อนในลักษณะนี้ จะช่วยให้นักเรียนปกติสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับเพื่อนที่มีความแตกต่างจากตน ในขณะเดียวกันนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ก็จะได้สังเกตเพื่อน แล้วใช้เป็น “ตัวแบบ” ในการเรียนของตนเองอีกด้วย ดังนั้นจึงสามารถที่จะกล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเรียนร่วมประสบความสำเร็จ คือ การที่ครูสามารถสร้างความเข้าใจของนักเรียนทุกคนในชั้น ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเพื่อน ๆ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และเป็นวิธีที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคนให้ได้มากที่สุด

______________________________________________________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 615906เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2016 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2016 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากเลยครับ

ทำอย่างไรดี

ที่จะช่วยพัฒนาเด็กแบบนี้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท