ในวงเรียนรู้คุณอำนวยเมื่อวันที่27ต.ค.ที่ห้องสมุดประชาชนของกศน.
บรรยากาศการเรียนรู้สนุกมาก
แต่ละตำบลได้ทบทวนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านมาบอกเล่าให้คุณเอื้อฟัง
ท่านผู้ว่าสรุปประเด็นว่า มีเรื่องสำคัญคือ
รูปแบบบัญชีซึ่งทีมงานจะพัฒนาให้เป็นรูปแบบเดียวในการนำเสนอกลุ่ม
แต่ไม่บังคับ คือ ถ้าจะใช้ของชาวบ้านเองก็ได้
แต่หากเป็นของหน่วยสนับสนุนขอให้เป็นรูปแบบเดียว
เพื่อไม่ให้ชาวบ้านสับสน เรื่องนี้ที่ประชุมได้มอบให้อ.ยินดี เจ้าแก้ว
จากม.ราชภัฏนครศรีธรรมราชเป็นหัวหน้าทีม
ท่านได้ย้ำถึงวิสัยทัศน์ของนครศรีธรรมราชที่เริ่มต้นว่า
เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ใน3ส่วนคือ สถาบันการศึกษา นอกโรงเรียน
และการเรียนรู้ของชุมชนซึ่งสำคัญที่สุดเพราะมีคนเกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก
ซึ่งเมื่อท่านได้ทบทวนเรื่องการจัดการความรู้ที่พวกเรากำลังดำเนินการอยู่ก็เห็นว่าครอบคลุมการเรียนรู้ทั้ง3ส่วน
จึงเป็นเรื่องน่ายินดีมาก และท่านให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ผมเองเมื่อเห็นการลปรร.ในวงคุณอำนวยวันนั้นแล้ว ได้เสนอกับท่านว่า
หากเราทำให้หน่วยสนับสนุนทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานโดยมีชุมชนเป็นแกนกลางในรูปของนักเรียนจัดการความรู้อย่างนี้
โดยค่อยๆขยายอำเภอละ3ตำบลและขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้ง22อำเภอ
การทำงานพัฒนาชุมชนก็จะดำเนินไปอย่างสนุกสนาน
เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวาง
มีการเรียนรู้ภายในอำเภอและข้ามอำเภอ
เรียนรู้เชิงประเด็นและเชื่อมโยงประเด็น ซึ่งผมกลับมาคิดต่อว่า
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์น่าจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาทั้งหมดในนครศรีธรรมราชทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดระบบการเรียนรู้นี้
เราก็จะก้าวไปสู่สังคมบนฐานความรู้ตามที่ตั้งใจไว้
โดยมีวงเรียนรู้ของคุณกิจภายในชุมชนเอง คุณกิจเรียนรู้กับคุณอำนวย
คุณอำนวยเรียนรู้กับคุณเอื้อและในวงเรียนรู้ของคุณอำนวยเอง
รวมทั้งวงเรียนรู้ของคุณเอื้อเองด้วย
ท่านผู้ว่าวิชม ทองสงค์เสริมว่า บางครั้งอาจเรียนรู้ร่วมกันทั้งคุณกิจ
คุณอำนวยและคุณเอื้อด้วย
วัฒนธรรมในการทำงานพัฒนาชุมชนก็จะเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมความรู้
และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
นครศรีธรรมราชจึงจะบรรลุวิสัยทัศน์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตามที่วาดฝันไว้
และเป็นฐานให้กับวิสัยทัศน์ของประเทศที่ต้องการพัฒนาสังคมให้เติบโตบนฐานความรู้ด้วย