การสอนอ่านโดยใช้แนวคิดวรรณกรรมเป็นฐาน


การสอนอ่านโดยใช้แนวคิดวรรณกรรมเป็นฐาน


เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.


กระบวนการสอนให้นักเรียนอ่านโดยส่วนใหญ่ มักเริ่มจากการสอนให้นักเรียนประสมเสียง ทั้งเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ กระทั่งเป็นคำ กลุ่มคำและประโยคสั้น ๆ จากนั้นนักเรียนจะได้อ่านข้อความที่ยาวขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อความจากหนังสือหรือตำราเรียน ซึ่งทุกคนจะต้องเรียนเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่จะพบว่า นักเรียนแต่ละคนมีศักยภาพในด้านการอ่านแตกต่างกัน บางคนอ่านได้เร็วและเข้าใจดี แต่ขณะที่บางส่วนอาจช้า และไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน การแก้ปัญหาการอ่าน จึงควรเริ่มต้นจากการให้นักเรียนได้เลือกหนังสือหรือวรรณกรรมที่มีคุณค่า และเหมาะกับระดับความสามารถของตนเองมาเป็นหนังสือสำหรับที่จะฝึกหัดการอ่านและการคิด ซึ่งแนวคิดการพัฒนาการอ่านนี้เรียกว่า แนวคิดวรรณคดีเป็นฐาน (literature – based approach)*





แนวทางของการนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติจะต้องเริ่มจากการที่ครูมาประชุมปรึกษาหารือ เพื่อเลือกหนังสือ หรือตัวบทวรรณคดีและวรรณกรรมที่มีคุณค่า และเป็นตัวบทที่ได้รับการยอมรับหรือคัดเลือกว่าเหมาะสมกับเด็กในระดับชั้นนั้น ๆ ซึ่งครูสามารถนำหลักเกณฑ์ที่มีนักวิชาการพิจารณาคัดเลือกหนังสือมาใช้ เช่น เลือกจากหนังสือดี 100 ชื่อเรื่อง ที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ซึ่งเป็นผลการศึกษาของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือเลือกจากหนังสือที่ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปี ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น การคัดเลือกหนังสือวรรณกรรมที่จะให้นักเรียนอ่านมีความสำคัญมาก โดยครูอาจจะต้องอ่านสำรวจเนื้อหาและพิจารณาว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับบทเรียนที่นักเรียนศึกษาในลักษณะต่าง ๆ รวมถึงศึกษาความเชื่อมโยงกับวิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานที่มุ่งพัฒนาทักษะการอ่าน

สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนการอ่าน จะเน้นการให้นักเรียนอ่านและคิดต่อประเด็นต่าง ๆ ในวรรณคดีและวรรณกรรมในลักษณะของกลุ่ม ครูสามารถให้นักเรียนเข้ากลุ่มย่อย จากนั้นจัดเตรียมประเด็นสำหรับให้นักเรียนอ่านและทำความเข้าใจตัวบท การจัดเตรียมประเด็น ทำได้โดยการเขียนประเด็น
การอภิปรายไว้บนกระดาน จัดทำเป็นบัตรคำถาม หรือจัดทำเป็นใบงานก็ได้ โดยคำถามหรือประเด็น
ควรเน้นไปที่การให้นักเรียนอธิบายข้อมูลรายละเอียด สาระสำคัญ และการตีความตามประสบการณ์ของตนเองในลักษณะต่าง ๆ โดยให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ จากนั้นแต่ละคนอาจจะเขียนบันทึกความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการฟังเพื่อน ๆ แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนตอบสนองต่อวรรณคดีและวรรณกรรมได้มากยิ่งขึ้น

การวัดและประเมินการเรียนรู้ทำได้โดยการสังเกตพฤติกรรมการสนทนาของนักเรียน การตรวจผลงานการเขียนตอบสนองประเด็นคำถามอภิปราย รวมถึงการให้นักเรียนทำกิจกรรมที่สะท้อนความรู้
ความเข้าใจจากการอ่าน เช่น การแสดงละคร การทำหนังสือ การนำเสนอรายงาน การแสดงบทบาทประกอบการอ่าน เป็นต้น เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพในการอ่านมากขึ้น ครูจึงควรนำแนวคิดวรรณกรรมเป็นฐานมาใช้ เพราะนอกจากจะพัฒนาผลสัมฤทธิ์การอ่านแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการอ่านมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความรู้ด้วยการอ่านของนักเรียนในอนาคต

________________________________________________________________________________

*ศึกษาแนวคิดวรรณกรรมเป็นฐาน ได้จาก Ruddell (2002) ในหนังสือ Teaching children to read and write

หมายเลขบันทึก: 615271เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2016 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2016 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณอาจารย์มาก

หายไปนาน

คิดถึงๆๆ

ขอบพระคุณครับอาจารย์ หลังจากที่กลับไปจัดการภารกิจด้านการศึกษาจนเสร็จสิ้นแล้ว ก็คิดว่าถึงเวลาที่จะได้กลับมาเผยแพร่ความรู้ให้กับท่านที่สนใจ โดยเฉพาะครูภาษาไทยต่อไปครับ คิดถึงอาจารย์และสมาชิกทุก ๆ ท่านเช่นกันครับ

ขอบพระคุณมากครับ

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

อย่างไรก็แจ้งความคืบหน้าด้วย อยากให้มาเผยแพร่ข้อมูลบ่อยๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท